BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑ (นำเรื่อง)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑ (นำเรื่อง)

ธนิยสูตร อยู่ในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ (ผู้สนใจ... (คลิกอ่านที่นี้)) เป็นเรื่องราวที่พระบรมศาสดาทรงแต่งฉันท์โต้ตอบกับนายธนิยะ ซึ่งเป็นคนเลี้ยงวัว ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ คำฉันท์ที่โต้ตอบกันนั้น ค่อยๆ แปรจากการเล่นคำสำนวน การประลองปัญญาโดยใช้เหตุผลหักล้าง ไปสู่ข้อคิดการมองโลก ปัญหาที่แท้จริงของมนุษย์ ผลสุดท้ายนายธนิยะพร้อมภรรยาก็ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า มิใช่เฉพาะเนื้อหาในคำฉันท์เท่านั้นที่น่าสนใจ แม้บริบทคือเรื่องราวข้างเคียงที่เชื่อมโยงกับพระสูตรนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่า ขยายความ และสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัว แต่ไม่ยืนยันว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงตามที่คิดเห็นหรือไม่ เรามาเริ่มกันเลย

นายธนิยะคนนี้ เป็นคนเลี้ยงวัวก็จริง แต่มิใช่คนรับจ้างเลี้ยงวัวกระจอกต่ำต้อย เพราะเขาเป็นเจ้าของโคนมถึงสามหมื่นตัว เทียบปัจจุบันก็น่าจะระดับพ่อเลี้ยงเจ้าของไร่ปศุสัตว์ขนาดมหึมาโน้นแหละ แต่สมัยพุทธกาลสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนโน้น คนยังน้อย ที่ดินจึงไม่มีราคาค่างวดให้จับจองเป็นเจ้าของดังเช่นปัจจุบัน นายธนิยะพร้อมครอบครัวและบริวารซึ่งเป็นคนงานจึงเร่ร่อนเลี้ยงวัวไปตามสถานที่เหมาะสม โดยในฤดูฝนก็หาทำเลที่เหมาะสมซึ่งก็เป็นที่ดอนที่เนินน้ำท่วมไม่ถึงและมีหญ้าเพียงพอที่จะเลี้ยงวัวสามหมื่นตัวได้ ส่วนนอกฤดูฝนอีกประมาณแปดเดือนก็ต้องหาทำเลที่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งอาจแม่น้ำหรือสระน้ำขนาดใหญ่ที่เพียงพอจะรองรับวัวสามหมื่นตัวได้...

เฉพาะประเด็นนี้ คัมภีร์อรรถกถาเพิ่มเติมแต่เพียงว่า บรรดาวัวสามหมื่นตัวนี้ มีแม่วัวสองหมื่นเจ็ดพันตัวที่ต้องรีดนมทุกวัน เราลองมาพิจารณาตามความเป็นจริงที่จะให้กิจการนี้ดำเนินไปได้ นั่นคือต้องมีระบบจัดการที่เหมาะสม เช่น ต้องมีแผนกคนงานรับคนเข้าออก แผนกโรงครัวเลี้ยงคนงาน ต้องมีสัตว์แพทย์ดูแลสุขภาพของวัว แม่วัวแก่หมดหมดน้ำนมแล้วหรือลูกวัวตัวผู้ที่เกินความต้องการ ก็ต้องมีการจำหน่ายออกไป น้ำนมวัวที่ได้มาก็ต้องมาแปรรูปส่งขาย เป็นต้น

นอกประเด็นนิดหน่อย อาหารหลักของคนไทยคือข้าว มิใช่นมวัว ดังนั้น พวกเราจึงรู้เรื่องนมวัวน้อย ไม่รู้จักปัญจโครสซึ่งเป็นรสชาติที่ได้จากน้ำนมวัว ๕ ประการ นั่นคือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยใส และเนยข้น ขยายความว่าตามธรรมชาติของน้ำนมนั้น เมื่อรีดมาจากแม่วัวใหม่ๆ จะเป็นนมสด และถ้าทิ้งไว้ ๑-๓ วันก็จะบูดเรียกกันว่านมส้มหรือนมเปรี้ยว เมื่อทิ้งไว้ต่อไปนมส้มนี้ก็จะแปรสภาพเป็นเปรียง คือเลยจากการเป็นนมส้มแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเนย ต่อมาเปรียงก็จะแปรสภาพเป็นเนยใส และจะแปรสภาพเป็นเนยข้นหรือชีตในที่สุด ซึ่งแต่ละอย่างนี้ สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ตามความเหมาะสม กิจการเลี้ยงวัวนมของนายธนิยะ ต้องมีอุตสาหกรรมการแปรรูปทำนองนี้ด้วยแน่นอน

มาเข้าเรื่องก่อนที่นายธนิยะจะพบพระพุทธเจ้ากันดีกว่า นายธนิยะเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองธรรมโกรัณฑะ ตอนกลางของแคว้นวิเทหะ ต่อมาก็ได้สืบต่อกิจการของครอบครัว จึงต้องพาฝูงวัวเร่รอนไปเรื่อย จนกระทั้งสมัยหนึ่ง มาพักอยู่ที่เกาะกลางแม่น้ำมหามหี ตรงปากแม่น้ำที่แยกออกไปอีกสายหนึ่งเรียกว่าแม่น้ำกาฬมหี ซึ่งเกาะกลางแม่น้ำนี้มีพื้นที่กว้างพอที่จะรองรับวัวสามหมื่นตัวได้ ก็คงทำนองเดียวกับเกาะเกร็ดซึ่งอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนนทบุรี

ใกล้จะถึงฤดูฝนแล้ว นายธนิยะก็ต้องคาดการณ์อนาคตว่าปีนี้ฝนจะน้อยหรือมากเพื่อจะได้ตระเตรียมตามความเหมาะสม สมัยนั้นยังไม่มีกรมอุตุฯ แต่นายธนิยะก็มีวิชาที่บอกเล่ามาตามสมัยโบราณ กล่าวคือ ถ้าปีใดนกทำรังบนยอดไม้สูงๆ ปูปิดรูใกล้ริมน้ำแล้วไปขุดรูในที่ไกลออกไป แสดงว่าปีนั้นฝนมาก แต่ถ้าปีใดนกทำรังเหนือพื้นน้ำในที่ต่ำๆ ปูทิ้งรูที่ห่างไกลน้ำ มาขุดรูอยู่ใกล้ริมน้ำ แสดงปีนั้นฝนน้อย เขาตรวจดูตามหลักวิชาแล้วก็คาดคะเนว่า ปีนี้ฝนคงจะมาก น้ำน่าจะท่วม จึงจัดการอพยพฝูงวัวและคนงานออกจากเกาะ มาอยู่บนที่ดอน โดยกะระยะว่า ถ้าฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืนแล้ว น้ำในแม่น้ำจะท่วมมาไม่ถึงที่นี้แน่นอน

ภาระกิจการย้ายฝูงวัวจากเกาะ โดยข้ามแม่น้ำไปอยู่บนที่ดอนนี้ ยุ่งยากมาก เพราะต้องรื้อถอนคอกวัวและอาคารชั่วคราวเช่นโรงครัวเป็นต้นจากบนเกาะมาปลูกสร้างใหม่ ขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดมาไว้ที่ใหม่ ต้องไล่ต้อนฝูงวัวสามหมื่นตัวจากคอกเก่าบนเกาะ พาข้ามแม่น้ำ มาอยู่คอกใหม่บนที่ดอน อีกทั้งต้องตระเตรียมอาหารและปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้อยู่ได้ตลอดฤดูฝนที่จะถึงซึ่งคาดหมายว่าน้ำจะท่วม อย่างไรก็ตาม นายธนิยะก็สามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างเรียบร้อยด้วยความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ของตน

ค่ำคืนนั้น หลังจากเสร็จภาระกิจทุกอย่างแล้ว เขาก็เข้านอนพร้อมภรรยาในกระท่อมส่วนตัว เมื่อได้ยินเสียงฟ้าคำราม นั่นคือ ฝนกำลังจะมา เขาก็ทบทวนภาระกิจอีกครั้งว่ายังมีอะไรบกพร่องอยู่บ้าง ก็ไม่เห็นว่าอะไรบกพร่อง จึงอิ่มเอิบใจและได้แต่งบทกลอน(คำฉันท์)ขึ้นในเวลานั้น ซึ่งสมัยนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระคันธกุฏี วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี ทรงสดับบทกลอนนั้น จึงเสด็จมาทรงประพันธ์โต้ตอบ ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539530เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รออ่านตอนต่อจากนี้อยู่ค่ะ พระคุณเจ้า

กราบอนุโมทนา
ด้วยว่าเป็นสะใภ้สทิงพระ!
โชคดีได้มาพบปะ
แม้แค่จะGO TO KNOW
ขอพระคุณเจ้า
โปรดช่วยเล่าอย่าพลิกโผ
โปรดสัตว์ด้วยธรรมโม
และพุทโธแสดงเทอญ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท