BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๔ (ทรงแก้คาถาแรก)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๔ (ทรงแก้คาถาแรก)

เราเป็นผู้ไม่โกรธ มีกิเลสดุจหลักตอปราศไปแล้ว
เรามีการอยู่สิ้นราตรีหนึ่งที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
กระท่อมมีหลังคาอันเปิดแล้ว ไฟดับแล้ว
แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

เราเป็นผู้ไม่โกรธ ... ดังได้เกริ่นไว้แล้วว่า คำนี้แปลมาจากบาลีว่า อกฺโกธโน ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแปลงมาจากคำบาลีว่า ปกฺโกทโน (มีข้าวหุงสุกแล้ว) จัดว่าเป็นพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์ที่ทรงล้อนายธนิยะ ทำให้เขาสะดุดและสนใจยิ่งขึ้น...

เฉพาะคำนี้ คัมภีร์อรรถกถาได้อธิบายถึงความโกรธว่ามีหลายระดับ เบื้องต้นก็เกิดความรุ่มร้อน อึดอัด หรือหงุดหงิดขึ้นในใจ แต่ก็อาจสงบไปได้ไม่ยาก... ถ้าแรงกว่านั้นก็อาจแสดงออกมาภายนอกเช่นหน้าสยิ้ว คิ้วขมวด ตาขวาง... แรงกว่านั้น ก็อาจสบถออกมาเป็นคำหยาบคาย ดุด่า ว่าร้าย ถากถาง... แรงกว่านั้น ก็อาจปากสั่น คางสั่น ถึงกับพูดไม่ออก บอกไม่เป็น... แรงกว่านั้น คือเมื่อพูดออกมาได้ ก็จะเป็นคำดุด่าที่หยาบคายอย่างยิ่งโดยปราศจากการอดกลั้น... แรงกว่านั้น ก็มองไปรอบข้าง คว้าท่อนไม้ ศาสตรา อาวุธ (ปัจจุบันอาจชักปืน) เพื่อหวังทำร้าย... แรงกว่านั้นก็อาจทำร้ายใครบางคนให้บาดเจ็บล้มตาย หรือแม้แต่ทำร้ายทำลายตัวเอง ก็ย่อมจะเป็นไปได้... พระอรรถกถาจารย์สรุปว่า ความโกรธทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงละได้เด็ดขาดไม่อาจกำเริบได้อีกแล้ว ในสมัยที่พระองค์ตรัสรู้ ณ โคนต้นโพธิ์เป็นที่ตรัสรู้นั่นเอง

ย้อนกลับมาที่นายธนิยะ การบริหารกิจการวัวนมสามหมื่นตัวของเขานั้น มีอุปสรรคและปัญหามากมาย ซึ่งเขาต้องจัดการ เมื่อประสบกับสิ่งไม่เป็นที่พอใจ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ ความโกรธระดับต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นเสมอในแต่ละวัน นายธนิยะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี เมื่อฟังว่า "เราเป็นผู้ไม่โกรธ" จริงอยู่ แม้ขณะนี้เขากำลังสบายในในผลงานของตน แต่ความเป็นผู้ไม่โกรธ นับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ซึ่งยากที่เขาจะประสบได้ในชีวิตประจำวัน

มีกิเลสดุจหลักตอปราศไปแล้ว ... คำนี้ก็เลียนเสียงมาจากบาลีเช่นกัน คือจาก ทุกฺขขีโรหมสฺมิ  (มีน้ำนมจากโครีดแล้ว) มาเป็น วิคตขิโลหมสฺมิ  (มีกิเลสดุจหลักตอปราศไปแล้ว) การล้อคำโดยออกเสียงคล้ายกัน แต่เนื้อหาต่างกันนั้น ทำให้นายธนิยะสะดุดใจ รู้สึกทึ่งและยกย่องผู้ที่แต่งบทกลอนนี้ยิ่งขึ้น

เฉพาะคำนี้ คัมภีร์อรรถกถาได้อธิบายว่า หลักตอ คือสิ่งที่ทิ่มแทงปักตรึงเข้าไปในจิตใจของเรา ทำให้จิตใจนั้นแข็งกระด้างและอาจก่อให้เกิดความโหดร้าย มีอยู่ ๕ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส นั่นเอง แต่หลักตอเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงไปปราศแล้ว กล่าวคือ ไม่อาจรบกวนหรือกระทบทั้งต่อพระองค์ได้โดยประการทั้งปวง

นายธนิยะคนนี้ นอกจากเป็นผู้บริหารที่เฉลี่ยวฉลาดแล้ว ยังเป็นกวีอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงเข้าใจสำนวนเปรียบเทียบนี้ รู้สึกทึ่งและชมเชยบุคลลึกลับที่ยืนอยู่บนหลังคากล่าาเลียนเสียงบทกลอนของเขา

เรามีการอยู่สิ้นราตรีหนึ่งที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี ... ข้อความนี้ พระพุทธเจ้าตรัสล้อและแย้งข้อความว่า "มีการอยู่กับชนผู้เป็นบริวารผู้มีความประพฤติอนุกูลเสมอกันที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี " นั่นคือ พระองค์เสด็จมาโปรดนายธนิยะเพียงคืนเดียวแล้วก็ไป ไม่ได้มีภารกิจอื่นที่ต้องแบกรับ ซึ่งต่างกับนายธนิยะ ซึ่งต้องทนอยู่ถึง ๔ เดือน ตลอดฤดูฝน ต้องแบกรับภารกิจมากมาย แม้เขาจะปลอบใจตัวเองว่าคณะของเขาคือครอบครัวและคนงานทั้งหมดจะอยู่กันอย่างสมัครสมานกลมเกลียวไม่มีปัญหาก็ตาม ประเด็นนี้ชัดเจนว่า นักกวีลึกลับบนหลังคามีความลึกซึ้งยิ่งกว่า...

กระท่อมมีหลังคาอันเปิดแล้ว ... นายธนิยะบอกว่า กระท่อมของเขามุงหลังคาไว้ดีแล้ว ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่ว แต่นักกวีลึกลับคนนี้กลับมาแต่งล้อว่า กระท่อมของเขามีหลังคาเปิดแล้ว ประเด็นนี้เป็นอย่างไร ?

กระท่อมเปรียบดังร่างกายและจิตใจนี้ ฝนคือกิเลส จะคอยรั่วรดอยู่เสมอ สำหรับคนทั่วไปนั้น ตัณหา มานะ และทิฎฐิ ก็คือสิ่งที่จะคอยปกปิดกิเลสเหล่านั้นไว้ แต่พระพุทธเจ้าปราศจากกิเลสทั้งปวง นั่นคือ ฝนคือกิเลสไม่อาจรั่วรดพระองค์ได้ อีกทั้งเครื่องปกปิดคือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ พระองค์ก็ทรงกำจัดได้แล้วโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงไม่ต้องทรงกังวลเรื่องนี้ พระบรมศาสดาทรงแปลงข้อความจากรูปธรรมคือ "กระท่อมมุงหลังคาแล้ว" มาเป็นปริศนาธรรมเชิงเปรียบเทียบโดยนัยตรงข้ามว่า "กระท่อมมีหลังคาเปิดแล้ว" นับได้ว่าเป็นพระปรีชาญาณอย่างยิ่ง

ประเด็นข้อเปรียบเทียบนี้จะไม่ขยายความโดยละเอียดเพราะจะนอกประเด็นเกินไป เพียงแต่คาดหมายว่านายธนิยะคงจะเข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นข้อเปรียบเทียบปรากฎทั่วไปในวรรณคดียุคโน้น ดังตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์อุทานว่า

ฝนคือกิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด
 ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พึง
 เปิดสิ่งที่ปกปิดไว้เสีย เมื่อเป็นอย่างนี้
 ฝนคือกิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดไว้นั้น

ไฟดับแล้ว ... นายธนิยะบอกว่า "ไฟก่อแล้ว" หมายถึง ไฟล้อม ไฟควัน และไฟผิง สำหรับฝูงวัว ซึ่งต้องจัดการอย่างรัดกุม แต่นักกวีลึกลับบนหลังคากลับบอกว่า "ไฟดับแล้ว" ซึ่งเขาย่อมเข้าใจทันทีว่า มิใช่ไฟชนิดเดียวกัน ไฟที่ดับแล้ว หมายถึงอกุศลมูล ๓ กอง ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ หรือที่พวกเรามาเรียงลำดับใหม่ในภาษาไทยว่า ความโกรธ ความโลภ และความหลง นั่นเอง กล่าวได้ว่ากวีลึกลับคนนี้ฉลาดยิ่งนัก

ส่วนวรรคสุดท้าย พระพุทธเจ้าทรงลอกมาจากนายธนิยะ คือ "แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนาก็เชิญตกลงมาเถิด" บ่งบอกว่าพระองค์นั้นเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทรงเสร็จภารกิจแล้ว ไม่มีภารหน้าที่อื่นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อการบำเพ็ญบารมียิ่งขึ้นไปอีกแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีอุปสรรคเพื่อภารหน้าที่นี้โดยประการทั้งปวง

นายธนิยะ ครั้งแรกที่ได้ยินก็รู้สึกโกรธเคือง แต่ก็ต้องยับยั้งไว้ เพราะกวีลึกลับบนหลังคา ขึ้นต้นก็บอกว่า "เราเป็นผู้ไม่โกรธ" ประเด็นนี้ ก็ทำนองเดียวที่เราจะบอกเรื่องสำคัญบางอย่างแก่ใครบ้างคน มักจะบอกว่า "อย่าโกรธนะ" หรือ "ตกลงกันก่อนว่าจะไม่โกรธ" อะไรทำนองนี้ เพื่อเค้าจะได้ยับยั้งฟังต่อไป... นายธนิยะก็เช่นเดียวกัน จึงต้องทนยับยั้งฟังจนจบ (แสดงว่าสำนวนและกลวิธีพูดทำนองนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้มาก่อน และแม้ปัจจุบันพวกเราก็ยังใช้อยู่ แสดงว่ายังคงทันสมัยอยู่)

หลังจากฟังจนจบ นายธนิยะแม้จะรู้สึกโกรธเคือง แต่ก็รู้สึกทึ่ง ชมชอบ ในสำนวนโวหารบทกลอนของกวีลึกลับบนหลังคา แต่ไม่ได้รีบออกไปดูว่าเป็นใคร ได้แต่งกลอนอีกบทหนึ่งโต้ออกไป เพื่อจะดูว่ากวีลึกลับจะว่าอย่างไร ซึ่งจะนำเสนอในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539561เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระเดชพระคุณเจ้า

อ่านข้อเขียนของพระคุณเจ้าแล้ว

รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และพระปัญญาธิคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้า

ทำให้ลูกรู้สึกขนลุก...ปิติ ตื้นตันในพระปัญญาอันยิ่งแล้วของพระพุทธองค์
กราบอนุโมทนาพระคุณเจ้ามาด้วยความเคารพอย่างสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท