BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๘ (คาถาที่ห้า)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๘ (คาถาที่ห้า)

ในตอนที่แล้ว มีประเด็นเรื่อง "ลูกจ้าง" ที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนวิจารณ์ว่า น่าจะหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อคือนายธนิยะกับบรรดาลูกๆ ของเขา จะช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นสายใยเชื่อมโยงอยู่ก็ด้วยอำนาจ "ค่าจ้าง" คือผลประโยชน์ แต่มิกล้ายืนยันว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เพราะไม่เห็นเค้าเงื่อนนี้จากคัมภีร์อรรถกถาเลย ดังนั้น เพื่อจะให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ต้องพิจารณาคาถานี้ ซึ่งนายธนิยะบอกว่า...

โคแก่ ลูกโคอ่อนที่ยังไม่ได้ฝึก แม่โคที่มีครรภ์

ลูกโคหนุ่ม แม่โคผู้ปรารถนาประเวณีมีอยู่

อนึ่ง แม้โคที่เป็นเจ้าฝูงแห่งโคก็มีอยู่ 

แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

เมื่อมาถึงคาถานี้ นายธนิยะกล่าวเฉพาะฝูงวัวของเขา โดยจำแนกเป็นชนิดต่างๆ นั่นคือ เขากล่าวถึงทรัพย์สมบัติของเขาเท่านั้น เพราะบรรดาวัวเหล่านี้ทั้งหมดเป็นทรัพย์สมบัติของเขาจริงๆ มิใช่ภรรยาหรือลูกๆ ที่อาจมีใจไม่แน่นอนหรืออยู่ด้วยเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน...

เมื่อพิจารณา ๓ คาถาที่ผ่านมา ซึ่งนายธนิยะยกมาโต้ เริ่มต้นที่ภริยาที่แสนดี สามารถจะพึ่งพิงฝากผีฝากไข้ได้ แต่สตรีมีใจโลเลความไม่แน่นอนและคาดไม่ถึง อาจเกิดขึ้นในอนาคต... บรรดาลูกๆ ของเขา สามารถพึ่งพิงฝากผีฝากไข้ได้ แต่ก็คล้ายกับจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนทำนองนายจ้างลูกจ้าง... ทรัพย์สมบัติต่างหากที่สามารถเป็นที่พึ่งได้ดีกว่า เพราะเมื่อยังมีทรัพย์สมบัติอยู่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีใครมาดูแล การจำแนกวัวออกเป็นประเภทต่างๆ นั่นคือ เขาแสดงให้เห็นว่า เขามีทรัพย์สมบัติมากมาย จึงไม่กังวลเรื่องนี้... ผู้เขียนคิดว่า ลำดับการโต้ตอบน่าจะเป็นไปตามทำนองนี้

มาดูสภาพความเป็นจริงปัจจุบัน ตามที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ยังคงเป็นจริงตามทำนองนี้ สตรีที่ทิ้งสามีของตนเองไปหาบุรุษอื่น เรื่องนี้ธรรมดามาก... ผู้สูงอายุที่แบ่งทรัพย์สมบัติให้ลูกหลานจนหมดเกลี้ยง ภายหลังถูกลูกหลานทอดทิ้ง บางคนก็ขับไล่ออกจากบ้านหรือพาไปทิ้งแล้วหนีกลับมา ก็ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ... ส่วนผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สมบัติมาก มีสตรีสาวบางคนยินยอมที่จะเป็นทั้งคนรับใช้ดูแลและเป็นทั้งภรรยาก็เพื่อหวังสมบัติ ผู้สูงอายุบางคนที่ลูกหลานมาเยี่ยมไปมาหาสู่มิได้ขาด เพราะหวังบางส่วนในมรดก ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ค่อยจะมีลูกหลานมาเยี่ยมเพราะไม่ค่อยจะมีทรัพย์สมบัติ เรื่องราวทำนองนี้ มิใช่เรื่องที่ลี้ลับอะไรเลย... ผู้เขียนจึงคิดว่า น่าจะเป็นไปทำนองนี้

นายธนิยะบอกว่าเขามีสมบัติมากมาย ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไร ซึ่งประเด็นนี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธสมบัติเหล่านั้นทั้งหมด ตามคาถาประพันธ์ว่า....

โคแก่ ลูกโคอ่อนที่ยังไม่ได้ฝึก แม่โคที่มีครรภ์ 

ลูกโคหนุ่ม แม่โคที่ปรารถนาประเวณีก็ไม่มี 

อนึ่ง แม้โคที่เป็นเจ้าฝูงแห่งโคก็ไม่มี 

แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

ทรัพย์สมบัติคือวัว นายธนิยะอ้างว่าเขามีมากมาย แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า ทรัพย์สมบัติเหล่านั้น พระองค์ไม่มีเลย ประเด็นนี้ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนที่สุด ในคัมภีร์อรรถกถาได้แก้ว่า บรรดาวัวทั้งหมดเหล่านี้ ทั้งวัวแก่ หรือลูกวัวอ่่อน เป็นต้น เป็นกิเลสชนิดต่างๆ ซึ่งพระบรมศาสดาได้ทรงสลัดออก คือไม่ทรงมีเลยโดยประการทั้งปวง

ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า พระบรมศาสดาทรงชี้ให้เห็นซึ่งการสลัดออกจากทรัพย์สมบัติทั้งปวงย่อมเป็นสุข ดังเช่นพระองค์เอง เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย ดังนั้น "แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด" นั่นคือ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับผู้มีทรัพย์สมบัติที่ต้องกังวลอยู่เสมอ ดังที่ได้ปรารภในตอนต้นๆ นั้นแล

คาถาต่อไป จะเป็นอย่างไร ก็ค่อยอ่านกันในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539726เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับผม พระอาจารย์สบายดีนะครับ.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ฤดูฝนแล้วรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท