มีอะไรในคำขอพร “ขอให้มีปัญญา”


การขอพรวันเกิด หรือ อวยพรวันเกิด ดูจะเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ซึ่งมักมีการทำบุญแล้วขอไปต่างๆ บางท่านขอให้ได้สมในสิ่งที่หวัง บางท่านขอ "ให้มีปัญญา"

สิ่งที่ควรสนใจคือ ความหมายของคำว่า “พร” และ “การเกิดของปัญญา”

พรนั้นคือสิ่งประเสริฐที่มนุษย์จะพึงให้แก่กันได้ ที่มนุษย์จะพึงบรรลุได้ด้วยความพยายามของตนเอง

ในความหมายของสิ่งที่มนุษย์จะพึงให้กันได้ ด้วยอำนาจ บทบาทที่มนุษย์มีตามสมมุติ เช่น ผู้คุมคุกขอพรจากพระเจ้าอโศกมหาราชว่า หากผู้ใดเข้ามาในคุกนั้น ขออย่าได้มีโอกาสออกไป หรือ อำมาตย์ขอพรพระราชาว่า หลังจากที่ตนตายไป หากบุตรตนทำผิดอะไร ขอพระราชเว้นโทษตายแก่บุตรตน

ในความหมายของสิ่งที่มนุษย์จะบรรลุได้ด้วยความพยายามของตนเอง เช่น เวลาที่เราใส่บาตรตอนเช้า พระท่านมักให้พรโดยยกพุทธพจน์ว่าบอกเราว่า

อภิวาทนสีลิสฺส                   นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ       อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.

ธรรมทั้งหลาย ๔ ประการเหล่านี้คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้กราบไหว้ ผู้นอบน้อม แก่บุคคลผู้เจริญเป็นนิตย์

จะเห็นว่าพรที่พระท่านให้นั้นมี ๒ ส่วน คือ ส่วนเหตุและผล

ส่วนเหตุคือการนอบน้อม กราบไหว้ ผู้เจริญอยู่เนืองนิตย์ อันเป็นการกระทำที่มาจากใจ ด้วยเห็นว่าท่านเจริญได้ด้วยคุณธรรมต่างๆ ด้วยความพยายามที่ท่านมี ถือท่านเป็นแบบอย่างและดำเนินรอยตาม

ส่วนผลคือ ผู้ที่กระทำส่วนเหตุข้างต้นเนืองนิตย์ ย่อมเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

หากเราหวังแต่ส่วนผล ไม่ประกอบส่วนเหตุ ก็ไม่สามารถได้รับสิ่งประเสริฐตามที่พระท่านกล่าวบอก

อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรสนใจคือ การเกิดของปัญญา

ปัญญามีชื่อเรียกหลายอย่าง บางที่เรียกว่า ภูริ เพราะความที่กว้างขวาง แผ่ขยาย ประดุจดั่งแผ่นดิน เกิดเพราะการหมั่นตามประกอบ ก็คือ ถ้าเราหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็สร้างเหตุปัจจัยให้ปัญญาคงอยู่และเจริญก้าวหน้า

มีคำตรัสว่า

โยคา เว ชาตเต ภูริ,         อโยคา ภูริสงฺขโย,

เอตํ เทฺวธาปถํ ญตฺวา       ภวาย วิภวาย จ

ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย;         ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ .

 

ปัญญา ย่อมเกิดเพราะการหมั่นตามประกอบ สิ้นไปเพราะการไม่ตามประกอบ

บัณฑิตรู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อมทั้งสองนั้นแล้ว

วิธีใดที่ทำให้ปัญญาเจริญทั่ว ก็พึงปฏิบัติตนตามนั้น

สมเด็จพระสังฆราชอธิบายไว้ประมาณว่า ปัญญาสามารถข้ามภพชาติได้ แต่ในชาติภพต่อไป ต้องมีการริเริ่ม จึงจะเท่ากับรื้อฟื้น คือเราอาจคิดว่าสิ่งที่จะทำเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราในชาตินี้เรายังไม่เคยทำสิ่งนี้ แต่เมื่อได้ทำก็เท่ากับเราได้เปิดฝาหีบออกดูว่ามีอะไรอยู่ภายใน เมื่อเห็นแล้วเราก็ใช้สิ่งที่มีเป็นพื้นฐานและสร้างสมต่อไป (ดังที่บางคนทำบางสิ่งได้เร็วกว่าคนอื่นทั้งๆที่หัดทำพร้อมๆกัน)

แต่ถ้าไม่มีการริเริ่ม ก็เป็นการ "มีเหมือนไม่มี" เหมือนหีบที่ฝาปิดอยู่ เราจึงไม่รู้ว่ามีอะไรในภายในบ้าง เมื่อไม่รู้ ก็ไม่มีการนำออกใช้ให้เกิดประโยชน์

ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นเรื่องของผลที่ใครๆก็สามารถมีได้ หากได้ปฏิบัติเหตุคือหมั่นตามประกอบ เช่น หมั่นค้นคว้า จดจำไว้ นำไปไตร่ตรองจนเข้าใจ นำไปใช้ในชีวิตจริง สอบสวนหาข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น

หากได้หมั่นตามประกอบ แม้ไม่ขอ ปัญญาก็มีขึ้น ค่อยๆแผ่ขยายขึ้น และหากไม่หมั่นทำให้เกิดขึ้น หมั่นใช้ ก็ค่อยๆเลือนรางจนราวกับไม่มี..ไปเอง

หมายเลขบันทึก: 540157เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นเรื่องของผลที่ใครๆก็สามารถมีได้ หากได้ปฏิบัติเหตุคือหมั่นตามประกอบ เช่น หมั่นค้นคว้า จดจำไว้ นำไปไตร่ตรองจนเข้าใจ นำไปใช้ในชีวิตจริง สอบสวนหาข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น

หากได้หมั่นตามประกอบ แม้ไม่ขอ ปัญญาก็มีขึ้น ค่อยๆแผ่ขยายขึ้น และหากไม่หมั่นทำให้เกิดขึ้น หมั่นใช้ ก็ค่อยๆเลือนหาย ......ไปเอง


มาอ่านช้า ๆ และัจดคัดลอกตรงนี้ไปค่ะ ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะพี่ตุ๊กตา

สวัสดีค่ะหมอเล็ก

ขอบคุณที่แวะมาและฝากความเห็นไว้

ชอบภาพโลโก้มากค่ะ น่ารักจัง


ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาด้วยค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท