คุณภาพ ความงาม และการเติบโต


เพราะนั่นคือ สุดยอดของคนทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพ เพราะได้เห็นความงามจากงานที่ทำ และเห็น การเติบโตของโรงพยาบาล ที่ได้ทุ่มเทมาตลอดเวลาของการทำงาน

ในอดึต นานแสนนานมาแล้ว.....
แม่ต้อยเคยมีโอกาสทำงานที่โรงพยาบาลเล็กๆแห่งหนึ่งในภาคเหนือ คือที่จังหวัดลำพูน

แม้ว่าจะมีระยะเวลาไม่นานนัก แต่การทำงานในครั้งนั้นนับได้ว่า มีส่วนหล่อหลอม อุดมการณ์อันแรงกล้าของแม่ต้อยเองที่อยากจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ ให้มีคุณภาพ มีความดี สำหรับตนรุ่นหลัง

งานเขียนชิ้นนี้แม่ต้อยได้เขียนให้คุณหมอกุ้ง พรพรรณ เนื่องในโอกาสที่คุณหมอจะเกษียณชีวิตราชการในเร็วๆนี้

คุณหมอกุ้ง คือคนหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในงานที่รับผิดชอบ

แม่ต้อยจึงเอาบทความนี้มาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านในบล้อกที่มีแต่กัลยาณมิตร ที่เปี่ยมด้วยน้ำใจ และมีความรักต่อกัน มีการเติบโตไปด้วยกัน ที่นี้



คุณภาพ ความงาม
และการเติบโต ที่
โรงพยาบาลลำพูน

หากใครที่ได้มีโอกาสได้ไปเยี่อมเยือนจังหวัดลำพูน
จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังคงเอกลักษณ์และความมีเสน่ห์ของชาวล้านนาไว้อย่างไม่เสือมคลาย
ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เร่งรีบ หล่อหลอมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมยังคงมีปรากฏให้เห็น

โรงพยาบาลลำพูนดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวลำพูนอย่างแท้จริง
เพราะ หลากหลายชีวิต ได้เกิด ได้แก่ ได้ป่วย และได้เสียชีวิต ณ ที่แห่งนี้

หลากหลายชีวิตได้มีโอกาสสร้างสรรค์
สิ่งที่ดีงาม ณ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้

ลูกหลานของ ชาวลำพูนเองหลายๆคนก็มีโอกาสสำคัญ
ได้กลับมาทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณให้กับบ้านเกิด ให้กับบรรพบุรุษของตัวเอง  และหลากหลายชีวิตที่แม้มิได้เป็นคนลำพูนโดยกำเนิด
แต่ก็ได้ใช้ชีวิตของตนเองทำหน้าที่อันสำคัญ คือการทำหน้าที่ดูแล
รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอันมีประวัติยาวนานแห่งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจ

โรงพยาบาลลำพูนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ขององค์กรที่เป็นผู้ให้การรักษาทั้งทางกาย
และทางใจ อย่างมั่นคงมาอย่างยาวนาน

จากโรงพยาบาลเล็กๆ มีอาคาร สองสามหลัง
มีแพทย์พยาบาล ไม่กี่คน  ค่อยๆเติบโต
พัฒนาทางด้านวัตถุ เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆมากมาย รวมทั้งบุคลากรด้านการแพทย์
ที่ครบถ้วนและมีคุณภาพ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงระดับประเทศ ในทุกวันนี้

หากย้อนกลับไปตั้งแต่พศ ๒๕๑๕
โรงพยาบาลลำพูนในสมัยนั้น บรรยากาศคล้ายๆบ้าน มีผู้อำนวยการโรงพยาบาล เปรียบดังคุณพ่อ ที่ทีมงานทุกคนรักและศรัทธา  หมอ พยาบาล   และทีมงานคนอื่นๆ คล้ายๆพี่น้องกัน มาทำงานร่วมกันตามความถนัดของแต่ละคน

ราวกับครอบครัวอันอบอุ่น

 

แม้ว่าตัวตึก อาคารที่ทำงานจะเก่า
แต่ความรักใคร่ และความเป็นพี่น้องได้หล่อหลอมให้บรรยากาศการทำงานมีความสุข
แม้ว่าจะมีภาระงานที่หนักและเกินกำลังในช่วงนั้นก็ตาม

 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสมัยนั้น นายแพทย์ จำรูญ ศิริพันธ์
จะลงมาตรวจคนไข้ด้วยตนเอง เมื่อคนไข้หรือญาติพี่น้องเห็นก็รู้สึกอบอุ่นใจ

“หมอใหญ่มารักษาแล้วต้องหายแน่นอน”
พร้อมยกมือไหว้ท่วมหัวด้วยความศรัทธา  เป็นภาพที่งดงาม เพราะเป็นภาพของผู้ให้ที่มีเมตตา

และผู้รับที่เห็นเห็นคุณค่า และมีความชื่นชมผู้ที่ทำให้พ้นจากความทุกข์ยาก

เป็นภาพที่หล่อเลี้ยงซึ่งกันอย่างแทบไม่ต้องบรรยายเลยทีเดียว

 

ทีมงานจะเดินตามเป็นขบวน เพื่อเรียนรู้
ในคนไข้ทุกราย ท่านชอบตั้งคำถามให้พวกเราตอบ ในระหว่างการตรวจผู้ป่วย พยาบาลจึงต้องทบทวนประวัติคนไข้ไว้ล่วงหน้า

 

ความรู้จึงเกิดขึ้นทุกวันจากการปฏิบัติงาน
แบบง่ายๆ และจากการเรียนรู้จากตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ และด้วยความเมตตาจากผู้บริหาร ที่ให้ความสำคัญกับทุกคน และสร้างการเรียนรู้ระหว่างการทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ

 

แม้ว่าจะมีแพทย์ เพียงสาม สี่คน  พยาบาลเพียงสิบกว่าคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ไม่ถึงร้อยคน
ที่รับผิดชอบทั้งโรงพยาบาล แต่เรารู้จักคำว่า Grand round กันแล้ว
คือการทำงานเป็นสหสาขาวิชาชีพ มาเดินเยี่ยมคนไข้พร้อมๆกัน เพื่อดูว่าคนไข้คนนี้
ควรจะ เสริมการดูแลรักษาอย่างไรให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้  หรือสิ่งที่ควรระมัดระวัง ร่วมกัน

 

คำว่า Grand round เป็นเรื่องสนุกมากมาย
เพราะไม่มีใครมากำหนดหรือบังคับ  แต่พวกเรากำหนดและคัดเลือกคนไข้ขึ้นมาเอง

ร่วมกันกำหนดเพราะเห็นว่ามีประโยชน์

เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ที่มีความสำคัญ
เกิดอาการแทรกซ้อนในช่วงกลางคืน ที่มีเพียงพยาบาลและแพทย์เวร ที่ต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง
การดูแลคนไข้ร่วมกัน จึงสามารถปิดรอยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดไว้ล่วงหน้าได้  เตรียมยาที่สำคัญไว้ได้

การดูแลคนไข้ร่วมกันจึงสนุก
เพราะเกิดจากเป้าหมายที่ดี คือให้คนไข้ปลอดภัย
และให้ทีมงานในยามวิกาลทำงานได้อย่างมั่นใจ

 

ในยามค่ำคืน มีพยาบาล หนึ่งคน
รับผิดชอบทั้งโรงพยาบาล แต่ละตึกมีผู้ช่วยพยาบาล
พนักงานช่วยเหลือคนไข้ทำหน้าทีดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยตามตึกต่างๆที่มีเพียงห้าตึก

พยาบาลที่อยู่เวรจะต้องเดินไปดูแลคนไข้ทุกๆตึกและประเมินว่าควรจะประจำที่จุดใด
ที่มีคนไข้ที่จะเกิดความเสี่ยงมากที่สุด ระบบรายงานผู้ป่วยจึงสำคัญมากพอๆกันระบบการประเมินและสังเกตุอาการเปลี่ยนแปลง

 

การประเมินผู้ป่วยจึงเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด ในยามนั้นๆ
ซึ่งก็เกิดจากการเรียนรู้จากพี่น้องทีมงานทั้งสิ้นที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน

 

บางครั้งเป็นเรื่องยากลำบาก ในการทำงาน
เหมือนกัน ที่บางเวลามีคนไข้ที่กำลังจะคลอด
และคนไข้ที่กำลังจะเสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกัน การตัดสินใจ
การแก้ไขปัญหาบนความขาดแคลน เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ไม่มีในตำราแต่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์


 

การส่งต่อในยามค่ำคืนก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเครียมการ
อาจจะไม่สมบูรณ์เช่นทุกวันนี้ แต่ต้องเตรียม ทั้งการสื่อสาร การส่งต่อที่ปลอดภัย
การประเมินอาการผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

การทำงานบนความขาดแคลน จีงสร้างการทำงานเป็นทีมได้
ทีมงาน เกิดขึ้นตรงนี้ เราจึงเห็น พี่ยาม มาช่วยเข็นคนไข้ มาช่วยยกเสาน้ำเกลือ
เราเห็นคนงาน มาช่วยเช็ดตัวผู้ป่วย และคอยพูดคุยทำความเข้าใจกับญาติ 

 เห็นแม้กระทั่งพยาบาลเดินไปตีระฆังแทนยาม ที่ม่อยหลับไปเพราะความเหน็ดเหนื่อยในยามดึก ทำงานแทนกันด้วยความเข้าใจกัน  ไม่เกี่ยงว่านั่นคืองานที่ด้อยกว่า หรืองานของคนอื่น

และพี่ยามนั่นเอง ตอบแทนด้วยกาแฟหอมร้อนๆ และปาท่องโก๋ทอดใหม่ๆในตอนเช้า หรือคอยระมัดระวังให้เรากลับบ้าน ที่พักได้อย่างปลอดภัยในยามวิกาล

เตียงคนไข้ที่ขาหัก
เราสามารถใช้ก้อนอิฐมาเสริมให้ขาเตียงเท่ากันได้
เรามีนวตกรรมใหม่ๆในการทำงานให้คนไข้ตลอดเวลาท่ามกลางความขาดแคลนเหล่านั้น

คนไข้ของโรงพยาบาล นอกจากคนท้องถิ่นแล้ว
ยังมีพี่น้องชาวเขาเผ่าต่างๆ อีกมากมาย เวลาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลสักคนหนึ่ง บรรยากาศ
ไม่แตกต่างจากงานปอย คือมีคนมามากมาย ด้วยความรักและความเป็นห่วงคนที่เขารัก

พี่ๆที่เป็นคนงาน ยาม จะเข้ามาช่วยสือสาร พูดคุย
ขณะที่ทีมทำงานอยู่กับคนไข้ 
การสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นของชาวเขาบางครั้งก็เรียกเสียงหัวเราะจากพวกเราได้มากมาย



 

สามล้อถีบหน้าโรงพยาบาลดูจะเป็นสัญลักษณ์
ยามใดที่เราเห็นสามล้อผ่านหน้าประตูโรงพยาบาลมา
ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีงานที่ต้องดูแลอีกในช่วงเวลานั้น



 

เนื่องจาก บ้านพักของแพทย์ พยาบาล
อยู่ในรั้วโรงพยาบาล ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น  หรือได้ยินเสียงดัง เอะอะ จากญาติผู้ป่วย พี่ๆน้องๆชาวรพ. จะแวะมาช่วยกันอย่างเต็มใจ และอย่างเข้าใจ
การทำงานเป็นทีม สมัยนั้นจึงไม่มีเอกสารกำกับ ไม่มีคำสั่ง แต่มาจากใจ
ใจที่ผูกพันระหว่างกัน

 

แพทย์ พยาบาลที่ทำงานเวลากลางคืน
จะมีเถาปิ่นโตจากโรงครัวมาให้ เพราะไม่มีอาหารจำหน่าย ไม่มีร้านค้าใดใด  การกินอาหารร่วมกัน คือความผูกพันอีกด้านหนึ่ง
ดังคำกล่าวที่ว่า “ กินข้าวหม้อเดียวกัน” 
ความผูกพันอันนี้ จึงทำให้งานที่ยาก และลำบาก กลับเปลี่ยนเป็นงานที่สนุก
และดูมีคุณค่า

 

ระบบรายงานแพทย์ ต้องชัดเจน
ประเมินผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
และมีการทบทวนอีกครั้งในตอนเช้าพร้อมกับรายงานอาการของผู้ป่วย

 

ไม่ใช่เพียงแค่การทำงาน แต่ในด้านของสังคม
เราจะถูกหล่อหลอมให้เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
ดังนั้นงานสังคมต่างๆ พวกเราจะต้องเรียนรู้ในการพูดคุย ความรู้ของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประสานการทำงาน  การแต่งตัว บุคลิกภาพ การเข้าสังคม
แม้กระทั่งการลีลาศ อย่างถูกต้องเหมาะสม

เพราะคนทำงานในโรงพยาบาล
คือแบบอย่างที่ดีในสังคม
และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอย่างทัดเทียมกันและมีศักดิ์ศรีของวิชาชีพ  ไม่ใช่คนแถวหลัง

อันที่จริงแล้วเมื่อมาทบทวนย้อนหลัง สิ่งนี้แหละ  นี่คือการพัฒนาคุณภาพแบบง่ายๆ
ตามบริบทของเราเอง และด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย การทำงานที่มีเมตตาต่อกันเป็นพื้นฐาน
และการสร้างคุณค่าให้กับคนทำงาน  และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอย่างบูรณาการ



 

เมื่อคนรุ่นเก่าหมดหน้าที่ไป
คนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่อย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลลำพูนเองก็ค่อยๆพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า
อยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นความโชคดีของชาวลำพูนเป็นยิ่งนัก

 

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลลำพูน
นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลระดับต้นๆของประเทศที่ได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) รวมทั้งหน่วยงานรับรองด้านอื่นๆ ว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีระบบคุณภาพอันน่าเชื่อถือและไว้วางใจ
และรวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำมิติจิตใจมาบูรณาการกับการดูแลผู้ป่วยอย่างชัดเจน
จนเป็นที่เรียนรู้  และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานในระบบสุขภาพอยากมีโอกาสทำความดี ในการ ทำงาน  ดังเช่นที่ได้ปรากฏขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลลำพูนแห่งนี้

 

เป็นการทำงาน บนพื้นฐานของคุณภาพ ความงาม
และการเติบโต อย่างแท้จริง

และเป็นการต่อยอด สืบสานจากอิฐก้อนแรกที่พี่พี่
รุ่นบุกเบิกได้ร่วมแรงร่วมใจอย่างงดงาม จนผลิดอกออกผลให้ปรากฏเป็นที่ยอมรับ

เป็นที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่ชัดเจนว่า ทีมงานทุกๆคนของโรงพยาบาลนี้ในปัจจุบัน
คือผู้ที่มีความสำคัญในการสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบนพื้นฐานการเรียนรู้ บนพื้นฐานแห่งทีม และระบบงานที่ดี
มีความรักและเอื้อเฟื้อกันจึงย่อมนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและยาวนาน

 

โดยคนสำคัญของทีมงานนี้ที่ควรจะกล่าวถึง
คือคุณหมอ พรพรรณ์ วรรณฤทธิ์ หรือคุณหมอกุ้ง ผู้รับผิดชอบด้านงานคุณภาพของโรงพยาบาลโดยตรงมาอย่างยาวนาน

คุณหมอกุ้ง 
เป็นผู้ที่มีมีเจตนารมณ์ และมีความรักในการสืบสานสิ่งที่ดีงามให้โรงพยาบาลลำพูนแห่งนี้อย่างมั่นคง
คุณหมอได้ทุ่มเทการทำงาน โดยมีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน
ที่จะทำให้โรงพยาบาลลำพูนมีความงามในทุกมิติอย่างไม่ยอมย่อท้อ

จนส่งผลถึงความสำเร็จอย่างงดงาม

จึงนับว่าเป็นอิฐ
อีกก้อนที่มาต่อยอด การพัฒนาของโรงพยาบาลลำพูน และสุขใจที่จะได้เห็นคนรุ่นใหม่
หรือ อิฐก้อนต่อไปมาต่อยอดในสิ่งที่คุณหมอได้ทุมเทไว้อย่างมีปิติ และเบิกบานใจ

 

เพราะนั่นคือ สุดยอดของคนทำงานด้าน
การพัฒนาคุณภาพ  เพราะได้เห็น
ความงามจากงานที่ทำ  และเห็น การเติบโต
ของโรงพยาบาล ที่ได้ทุ่มเทมาตลอดเวลาของการทำงาน

ขอให้คุณหมอกุ้ง หรือคุณหมอพรพรรณ์ วรรณฤทธิ์
ได้ภาคภูมิใจ ในการที่มีโอกาส สร้างสิ่งที่ดีงามให้คนลำพูน

และความดีงามเหล่านี้เองจะทำให้คุณหมอมีความสุข
มีพลังกาย และมีพลังใจในการทำความดีอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

เพราะคนทำความดี คนสร้างความงาม และคนคุณภาพ ย่อมไม่มีวันเกษียณตนเองจากสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน

ด้วยความรัก

ดวงสมร บุญผดุง

แม่ต้อย

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน)

๓๐  กรกฎาคม ๒๕๕๖.





 

หมายเลขบันทึก: 541648เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณภาพ ความงาม ... และการเติบโต .... ของ โรงพยาบาลลำพูน .... เยี่ยมจริงๆ ค่ะ

เป็นกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพงานรพ.ที่สร้างสรรค์และงดงามมากครับผม

Dr. Ple


<p>
    ขอบคุณมากคะ ดร.เปิ้ล
</p>
<p>
    คนลำพูนยอดเยี่ยมนะคะ
</p>
<p>
    รักคะ
</p>
<p>
    แม่ต้อย
</p>

ดร เปิ้ลคะ

ขอบคุณมากคะ

ว่างๆไปแอ่วลำพูนบ้างนะคะ

แม่ต้อย

ดร. POP คะ

ยินดีมากคะ ที่มาร่วมให้กำลังใจ

มีกำลังใจเพียบเลยนะคะ

แม่ต้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท