2556 ภาคใต้เขาปลูกยางกันอย่างไร


       สืบเนื่องมาจากที่เขียนบทความเรื่อง "สมัยก่อนภาคใต้เขาปลูกยางกันอย่างไร"   ซึ่งเป็นเนื้อหาเล่าอดีต  ก็เลยมีคำถามว่า พศ. นี้ เขาทำกันอย่างไร  เลยจะเล่าสู่กันฟังครับ


        ปัจจุบันการปลูกยาง ทำได้ง่ายมากๆ เพราะเดี๋ยวนี้เครื่องมือมีครบ  อย่างที่แปลงนี้ผมขอทุนสงเคราะห์ฯ เพื่อปลูกใหม่  เป็นยางรุ่นแรกที่ผม "แปลงนาข้าวเป็นสวนยาง"  ปลูกไว้เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

        เล่าสภาพพื้นที่สักนิดนะครับ  ที่ตรงนี้เป็นที่เชิงเขาและอยู่ใกล้คลองน้ำกร่อย เราเรียก "นาป่าหลอด" เนื้อที่รวมประมาณ 4 ไร่ เศษ  เป็นที่นาที่ต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำที่สะเด็ดจากภูเขาสำหรับทำนา ดินมีสภาพเป็นดินเปรี้ยว  หน้าน้ำหลาก (ธค-มค) น้ำจะท่วมตั้งแต่ระดับ 0.40 - 2.50 เมตร  เดิมที่ตรงนี้พ่อแม่เคยทำนา ซึ่งไม่ค่อยจะได้ผลดีนักเพราะเป็นดินเปรี้ยวดังกล่าว   ต่อมาพ่อแม่ก็ยกที่ดินแปลงนี้ให้ลูกๆ 3 คน โดยแบ่งเท่าๆ กัน พอแบ่งเสร็จพี่และน้องเขาตกลงกันว่าเขาจะปลูกยางพารา  ผมซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ตกกะไดพลอยโจน ปลูกยางพาราไปด้วย โดยปลูกแบบไถยกร่องด้วยแทรคเตอร์  หลังจากปลูกเสร็จ เจอปัญหาเมื่อถึงหน้าน้ำหลากน้ำท่วมพันธุ์ยาง  ต้องแก้ไขโดยการยกปลวกสูงประมาณ 50 -100 ซม. เพื่อเอาต้นพันธุ์ยางหนีน้ำ  แล้วบำรุงรักษาจนกรีดได้  ผลผลิตยางก็พอใช้ได้ ไม่ดีมาก แต่ก็ให้ผลผลิตดีกว่าทำนา  ก็กรีดเรื่อยมาประมาณ 15- 20 ปี สวนของพี่สาวและน้องสาว โดนคนกรีดกรีดแบบ "ข่วน" จนหน้ายางเสียหาย  กรีดต่อไปไม่ได้  ต้องโค่นปลูกใหม่สถานเดียว พอดีแปลงยางข้างเคียงเขาโค่นปลูกใหม่ พี่และน้องลงมติกันว่าจะต้องโค่นเพิ่อปลูกใหม่  ทั้งๆที่ของเรายังกรีดต่อได้อีกหลายปีก็ตกกะไดพลอยโจน(อีกแล้ว)โค่นปลูกใหม่ไปด้วย

        การปลูกยางพาราใน พศ. 2556  จึงต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง หลังจากขายไม้ยางและคนซื้อตัดไปหมด เหลือกิ่งเล็กๆขนาดไม่เกิน 1 นิ้ว เขาให้เราเก็บกวาดเอง  เจ้าของรถแบคโฮมาเสนอราคารับจ้างเก็บกวาดให้ในราคาไร่ละ 1,500 แล้วจึงใช้แบคโฮขุดยกดินขึ้นให้สูงกว่าเดิมประมาณ 50 ซม.  ซึ่งจะได้ร่องน้ำเพื่อระบายน้ำออกด้วย ในราคาไร่ละ 10,000 แต่เมื่อจะขุดพบว่าถ้าไม่ขุดตอเก่าออก รถแบคโฮทำงานไม่ได้  ต้องจ่ายเพิ่มอีกไร่ละ 4,000 เป็นค่าขุดตอ  งานนี้ต้นทุนตกไร่ละ 15,500 บาท ครับ  การขุด เราแบ่งแถวอย่างน้อย 7.00 เมตร  ขุดลึกประมาณ 1.50 เมตร จากดินเดิม  ท้องร่องกว้างประมาณ 1.00 เมตร  ปากร่องกว้างประมาณ 2.50 เมตร  เมื่อยกร่องขึ้นจะได้ร่องสูงประมาณ 2.00 เมตร ผิวหน้าดินที่ร่องกว้างประมาณ 4.50 เมตร  ซึ่งถือว่าน้อยมาก  ขอแนะนำให้ปลูกแถวละ 8.00 เมตร จะดีกว่าเพราะจะได้ผิวดินกว้างกว่า  ปัญหาที่ตามมาก็คือดินที่อยู่ลึกซึ่งเป็นดินคุณภาพไม่ดีจะถูกขุดขึ้นมาอยู่หน้าดิน ต้องปรับปรุงดินกันเยอะจึงจะปลูกยางได้ผลดี

        ต้องทำอย่างนี้จึงจะหนีน้ำท่วมต้นยางได้ครับ  เหตุผลที่ต้องเอาต้นยางหนีน้ำเพราะยางพาราไม่ชอบให้รากแช่น้ำครับ ถ้ารากแช่น้ำ การเติบโตชะงักและไม่ให้น้ำยาง  นี้คือเหตุผลที่ต้องยกระดับดินปลูกยางในพื้นที่ลุ่ม

หมายเลขบันทึก: 541780เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท