ก้าวไปข้างหน้ากับผลการพูดคุยกับสถานทูตพม่า ตอนที่ ๑ เด็กเกิดไทย


          วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ผม เจ้าหน้าที่ IRC, World Education และองค์กรคาทอลิกในกรุงเทพฯ ได้เข้าพบกับ Director, Incharge of MyanmarTemporary Passport Issuing Centers in Thailand ณ สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย, กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการขอพิสูจน์สัญชาติพม่าให้กับลูกแรงงาน เพื่อขอ C of I

          ผมยอมรับว่าเหนือความคาดหมายกับพูดคุยในวันนั้น และยังไม่พบปัญหาหรือคำถามใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ของไทยจากทางสถานทูต มีแต่ผมที่ขอถามและอธิบายเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ยื่นพิสูจน์สัญชาติของเด็ก

          เจ้าหน้าที่ของทางสถานทูตรับเรื่องและรับปากว่าจะจัดทำบัญชีรายชื่อของเด็กเพื่อส่งไปยังศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานที่จังหวัดระนองเพื่อจัดทำ C of I ให้แก่เด็กที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปี

          ผมยังไม่ทราบเลยว่าเมื่อถึงศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ระนองแล้วจะประสบปัญหาอะไร

          เอกสารที่ใช้ในการพิสูจน์สัญชาติเด็กแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป บางคนก็หาเอกสารทางทะเบียนราษฎรของประเทศพม่าเพื่อใช้ในการพิสูจน์ได้ครบถ้วนบางคนก็ไม่ เอกสารที่ใช้ในการพิสูจน์สัญชาติของเด็กมีดังนี้

          ๑.หนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ จำนวน ๑๕ คน

          ๑.๑.เด็กที่มีแต่ท.ร.๑/๑ ยังไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่า ยังคงเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ
จำนวน ๙ คน พบ ๑ คน ที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ของแม่ในการยื่นขอพิสูจน์ยื่นแต่เอกสารของพ่อ

          ๑.๒.เด็กที่มีท.ร.๑/๑ และมีท.ร.๓๘/๑ แต่วันเดือนปีเกิดของทั้ง ๒ เอกสารนี้ไม่ตรงกัน จำนวน ๔ คน

          พบ ๓ คน ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่า และ ๑ ใน ๓นี้ไม่มีเอกสารของแม่ในการยื่นพิสูจน์มีแต่เอกสารพ่อ อีก ๑ คนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่าซึ่งวันเดือนปีเกิดในทะเบียนบ้านตรงกับท.ร.๑/๑ แต่ไม่ตรงกับ ท.ร.๓๘/๑  

          ๑.๓.เด็กที่มี ท.ร.๑/๑ และมีท.ร.๓๘/๑ ซึ่งวันเดือนปีเกิดของเอกสารตรงกัน จำนวน ๒ คน ๑ ใน ๒
มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรพม่าแล้ว

          ทั้งหมดนี้ยังไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑

ข้อสังเกตตามกฎหมายไม่อนุญาตให้คนมีหมายเลขประจำตัวคนละ ๒ ชุด หากคนที่เกิดในประเทศไทยมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักแล้ว สามารถแจ้งเกิดโดยขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ ได้ แต่ไม่สามารถขอสูติบัตรได้ ในทางปฏิบัติยังพบว่าเด็กที่มีท.ร.๓๘/๑ ซึ่งวันเดือนปีเกิด ไม่ตรงกันกับท.ร.๑/๑ ถือว่าเด็กมีเลข ๑๓ หลักแล้วไม่สามารถแจ้งเกิดขอสูติบัตรได้ ก็มีคำถามว่าข้อเท็จจริงวันเดือนปีเกิดในเอกสารทั้ง ๒ ไม่ตรงกัน ท.ร.๓๘/๑ จะถือว่าเด็กมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักแล้วหรือยังไม่มี

          ๒.สูติบัตรบุตรคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ท.ร.๐๓ จำนวน ๒๐ คน

          ซึ่งสูติบัตรประเภทนี้เด็กจะได้รับหมายเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๐๐ ซึ่งในขณะนั้นพ่อแม่จะมิได้รับการปรับสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

          ๒.๑.สูติบัตรสามารถเชื่อมโยงหมายเลข ๑๓ หลัก จากท.ร.๓๘/๑ ของทั้งพ่อและแม่สู่หนังสือเดินทางชั่วคราวของพ่อแม่ได้ กล่าวคือชื่อพ่อแม่ตรงกันไม่ผิดเพี้ยน จำนวน ๑๓ คน  ๒ ใน ๑๓ คนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่าแล้ว แต่ ๑ ใน ๒ นั้นไม่มีเอกสารของพ่อมาแสดงแต่มีชื่อพ่อปรากฏในทะเบียนบ้านที่แสดงต่อสถานทูต ๑ ใน
๑๓ คนกล่าวอ้างว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านพม่าแต่ไม่มีพยานหลักฐาน

          ๒.๒.สูติบัตรไม่สามารถเชื่อมโยงหมายเลข ๑๓ หลัก จากท.ร.๓๘/๑ ของพ่อหรือแม่สู่หนังสือเดินทางชั่วคราวของพ่อหรือแม่ได้อย่างสมบูรณ์เพราะชื่อคนใดคนหนึ่งยังผิดเพี้ยนจากหนังสือเดินทาง ฯจำนวน ๖ คน ๑ ใน ๖
มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่าแล้ว, ๑ ใน ๖ ชื่อของพ่อผิดไปเป็นคนละคน, ๑ ใน ๖ ชื่อของแม่ผิดเป็นคนละคนเนื่องจากเลข ๑๓ หลักของแม่สลับตัวเลขทำให้ชื่อของแม่ผิดพลาด

          ๒.๓.สูติบัตรไม่สามารถเชื่อมโยงกับหนังสือเดินทางชั่วคราวของพ่อแม่ได้ ๑ คน สันนิษฐานว่าเป็นรุ่นปู่ย่าตายายไม่ทราบสถานะของพ่อแม่ในปัจจุบัน (ยังไม่ได้สัมภาษณ์เคสถึงสาเหตุเป็นการตรวจพบในขณะที่ตรวจเอกสารของเด็ก)

          ๓.สูติบัตรบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะชั่วคราว
จำนวน ๑ คน

          ซึ่งได้รับการแจ้งเกิดในขณะที่พ่อและแม่ได้รับการปรับสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แต่ชื่อของพ่อแม่ยังคงเป็นชื่อตามท.ร.๓๘/๑ มิใช่ชื่อตามหนังสือเดินทางชั่วคราว แต่ยังสามารถเชื่อมโยงชื่อตามท.ร.๓๘/๑ กับชื่อในหนังสือเดินทางชั่วคราวที่เป็นชื่อไทยได้ นอกจากนี้ในบันทึกเพิ่มเติมได้ระบุหมายเลขของหนังสือเดินทางชั่วคราวตรงกับเอกสารที่ยื่นต่อสถานทูต

          จากลูกของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในจังหวัดระนอง ๓๖ คน นี้มีอายุตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๔ ปี

          ซึ่งผมคิดว่าคงจะต้องมีการสอบปากคำพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย เพิ่มเติมในกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยในพยานหลักฐาน และเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่ยื่นไปนั้นมีเพียงท.ร.๓๘/๑ เท่านั้นที่ทางสถานทูตพม่าคุ้นเคยอันเนื่องมาจากการพิสูจน์ลูกแรงงานที่เหลือไม่อาจทราบได้ว่าคุ้นเคยหรือไม่ ในวันที่ไปพบทางสถานทูต ยังไม่พบว่าสถานทูตไม่เข้าใจเอกสารทางทะเบียนราษฎรของไทยหรือจะต้องให้ไปทำการแปล และรับรองนิติกรก่อน

หมายเลขบันทึก: 542635เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คำว่า "กฎหมาย" ที่เพ้งกล่าวถึงในบันทึกนั้น เป็นกฎหมายไทย หรือกฎหมายพม่าคะ

ประเด็นที่เพ้งตั้งนั้น เพื่อการใช้สิทธิต่อรัฐใดคะ

กฎหมายไทย เพื่อใช้สิทธิต่อรัฐพม่า ครับซึ่งนอกจากจะยื่นสูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิดของแต่ละกรณีแล้ว ผมยังได้แนบสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวของพ่อแม่ สำเนาบัตรประชาชนพม่าของพ่อแม่ สำเนาทะเบียนบ้านพม่าที่มีชื่อเด็กเข้าเพิ่มเติม ซึ่งพ่อแม่บางคนก็มีเอกสารไม่ครบ เช่นมีแต่เฉพาะสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือมีแต่สำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวของพ่อหรือแม่อย่างเดียว ซึ่งบางคนก็ยังแนบสำเนาบัตรประชาชนพม่าเพราะอีกฝ่ายไม่มีสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว

แบ่งประเภทตามเอกสารของทางประเทศพม่า เพราะใช้สิทธิกับทางพม่า(กรณีเกิดประเทศไทย) ๓๖ คน ดังนี้

๑.พ่อและแม่มีหนังสือเดินทางชั่วคราวทั้ง ๒ คน จำนวน ๓๑ คน

๑.๑.มีสำเนาบัตรประชาชนพม่าทั้ง ๒ คน แสดงเพิ่มเติมด้วย ๑๖ คน

๑.๑.๑.โดยลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่าแล้ว ๔ คน

๑.๑.๒.ลูกยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่า ๑๒ คน

๑.๒.พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีบัตรประชาชนพม่าแสดงเพิ่มเติม ด้วย ๔ คน ลูกทั้งหมดไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่า ๑ ใน ๔ สันนิษฐานว่าเป็นปู่ย่าหรือตายาย

๑.๓.พ่อและแม่ไม่มีสำเนาบัตรประชาชนพม่าแสดงเพิ่มเติมเลย ๑๑ คน ลูกทั้งหมดไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่า

๒.พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีหนังสือเดินทางชั่วคราว อีกคนไม่มี จำนวน ๔ คน

๒.๑.แม่มีหนังสือเดินทางชั่วคราวจะมีบัตรประชาชนพม่าแสดงเพิ่มเติม พ่อไม่มีหนังสือเดินทางชั่วคราว แต่มีบัตรประชาชนพม่า ซึ่งลูกมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพม่าแล้ว ๑ คน

๒.๒.ไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ ของพ่อหรือแม่แสดง จำนวน ๓ คน ๒ ใน ๓ คนมีบัตรประชาชนพม่าแสดงเพิ่มเติม อีกคนไม่มีบัตรประชาชนพม่าแสดง สาเหตุที่ขาดเอกสารของพ่อหรือแม่ เนื่องจากหย่าร้าง หรืออีกฝ่ายเสียชีวิต จึงไม่ได้เก็บสำเนาเอกสารประจำตัวอีกฝ่ายหนึ่งไว้

๓.พ่อแม่ไม่มีหนังสือเดินทางชั่วคราว มีแต่พ่อที่มีบัตรประชาชนพม่า ส่วนเด็กก็มีแต่ท.ร.๑/๑ ไม่ได้แจ้งเกิด จำนวน ๑ คน

เพ้งคะ พี่คิดว่า เราคงต้องทราบกฎหมายการทะเบียนราษฎรพม่าค่ะ

เอกสารที่เราใช้น่าจะมี ๒ ชุด กล่าวคือ

๑.เอกสารตามกฎหมายพม่าที่ออกให้แก่บุพการีของเด็ก

๒.เอกสารตามกฎหมายไทยที่ได้รับการรับรองจาก MOU

เราคงต้องตั้งหลักว่า ปัญหานั้นเกิดในช่วงไหนค่ะ เพื่อที่จะเจรจากับทางราชการพม่า หรือโต๊ะเจรจาตาม MOU

ดังนั้น ประเด็นที่จะเจรจาในแต่ละเรื่อง คงต้องตั้งหลักให้ชัดเจนก่อนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท