พบวิศวกรสร้างคนที่งาน ThaiPod


 

สำหรับวันที่สองของ ThaiPod นะครับ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่าง เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังคือเรื่อง The Development of Authentic Assessment Method Application in Engineering Education โดยอาจารย์ ดร. ก่อศักดิ์ อาชวากร (ดูโปรแกรมการบรรยายเป็น PDF ได้ที่นี่นะครับ) ซึ่งท่านได้มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกระบวนท่าในการเรียนการสอนของท่านและผลตอบรับของนักศึกษาในวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์

เท่าที่ผมจำได้นะครับ ท่านบอกว่าสิ่งที่ท่านทำเป็น "มวยวัด" เพราะท่านไม่ได้จบมาสายการศึกษาก็ค้นหาข้อมูลเอาเองทั้งนั้น แม้แต่ rubric ที่ท่านใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลงานนักศึกษาแบบ authentic assessment ท่านก็สารภาพว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียกกันว่า rubric และท่านก็พยายามผลักเอาความรับผิดชอบในการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา โดยการให้เขาไปดูสื่อการสอนที่ท่านเตรียมไว้ เกี่ยวกับเนื้อหาต่างๆ เช่นวิดีโอหน้างานในโรงงาน (ที่อาจารย์ลงทุนไปถ่ายเองและเอามาใช้ในการสอน) (นี่เป็นวิธีที่เรารู้จักกันในชื่อ flipped class หรือห้องเรียนกลับทาง) พอถึงเวลาเรียน ก็ให้นักศึกษามาทดสอบออนไลน์และบอกคะแนนเด็กในห้องกันสดๆ แล้วก็เริ่มการบรรยาย แต่เป็นการบรรยายในห้องปฏิบัติการคือเด็กจะมีเครื่องไม้เครื่องมือให้จับให้เล่นไปด้วย ไม่ใช่นั่งฟังเฉยๆ ผลที่ได้จากวิธีการนี้ก็คือนักศึกษาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองทำได้ เริ่มมีส่วนร่วม เริ่มมีความสนใจและรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่น่าประทับใจคือเด็กที่เคยเกรงใจเพื่อนที่เก่งกว่าเริ่มไม่เกรงใจ เริ่มแสดงความคิดเห็น ตรงนี้ผมว่าเจ๋งมากๆ ครับ (นี่คือเท่าที่ผมจำได้นะครับ อยากให้ท่านอาจารย์มาเล่าเองน่าจะสนุกและละเอียดกว่านี้)

ขณะที่ฟังท่านอาจารย์ ดร. ก่อศักดิ์ ผมนึกถึงของโปรเฟสเซอร์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสองท่าน ซึ่งอยู่ๆ ก็ดังเป็นพลุแตกเพราะเกิดปิ๊งไอเดียว่าจะเปิดวิชาของเขาให้คนทั่วโลกได้เรียนและก็สมใจอยากเพราะมีนักเรียนแสนกว่าคนมาลงเรียน บทความประสบการณ์การเรียนการสอนแบบใหม่ของอาจารย์ทั้งคู่นี้ถูกตีพิมพ์ใน Wired Magazine ซึ่งผมอ่านครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า . . . อืมม์  . . .  ความผิดพลาดทั้งหมดที่ท่านทั้งสองเรียนรู้ระหว่างการสอนนั้น ผมซึ่งเรียนมาทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาก็รู้หมดแล้วนิหว่า พูดอีกอย่างก็คือข้อผิดพลาดทั้งหลายในการดีไซน์หลักสูตรออนไลน์นั้น มันมีคนเขาบอกเอาไว้ แจ้งเอาไว้แล้ว นึกขำว่าท่านทั้งสองต้องไปเจอด้วยตัวเองอีกแทนที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของคนอื่น

แต่พอคิดอีกที ผมว่ามันเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสียนะครับ ทั้งสองเรื่องนี้มีความคล้ายกันก็เพราะพวกเขาเป็นอาจารย์ในสาขาวิศวกรรม และไม่ได้มีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกให้เป็นนักออกแบบหลักสูตรมืออาชีพ แต่สิ่งที่พวกมีคือ (1) ความรู้ในสาขาวิชาหรือ Content Knowledge (2) ความรู้เรื่องเทคโนโลยี หรือ Technology Knowledge (3) ความรักและความหวังดีต่อผู้เรียน ซึ่งทั้งหมดนี้โดยเฉพาะข้อสุดท้าย นำพาให้เขาไปค้นหาทฤษฏี หลักปฏิบัติ หรือเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบการเรียนการสอน หรือ Pedagogy Knowledge รวมแล้วองค์ความรู้ที่พวกเขามีเรียกว่า TPACK 

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าอาจารย์ในสายวิศวกรรมศาสตร์หรือสายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งอาจารย์หมอนั้นได้เปรียบในแง่ที่ว่าพวกเขาไม่กลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ และไม่กลัวการใช้เทคโนโลยี อีกสิ่งเดียวที่ต้องการคือความหวังดีและอยากให้ลูกศิษย์ได้ดี ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ถึงหลักการเรียนการสอนที่ดีไประหว่างทาง

อย่าลืมนะครับว่าเมืองไทยไม่มีอาชีพที่ชื่อว่า Instructional Designer (ID) หรือนักออกแบบการสอน (ในภาพจะเห็นว่ามีตำแหน่งงานหมื่นกว่ารายการ แต่ไม่มี ID เลย) ซึ่งเป็นอาชีพที่มีจริง ทำมาหากินได้จริงในหลายประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา อาชีพการสอนหรือการหล่อหลอมให้เด็กมีความคิดความรับผิดชอบในบ้านเราถูกรวมศูนย์ที่ผู้สอน ความหวังเราจึงอยู่ที่ผู้สอนเท่านั้น

จบงาน ThaiPod ในวันที่สอง ผมเห็นความหวังเรืองรองส่องมาจากมหาวิทยาลัยแถวๆ เขตจตุจักรครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 543408เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2013 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะดร.วสะ...ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากๆนะคะ

เป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริม เสียดายเวลาที่ใช้ ลปรร น้อยไปนิดครับ

มา ลปรร กันบนอินเตอร์เน็ตต่อได้เลยครับอาจารย์ JJ 

"ไอดิน-กลิ่นไม้" เกษียณฯ และออกจากวงการศึกษาในระบบ (Formal Education) ไปแล้ว แต่ก็ยังสนใจติดตามความเคลื่อนไหวในวงการนี้อยู่ เพื่อให้รู้เท่าทัน ขอบคุณ "คุณแว้บ : ดร.วสะ" มากนะคะ ที่ Update ความเคลื่อนไหวในวงการศึกษาให้ได้รับทราบ

 

อาจารย์ยังมีไสตล์การเล่าเรื่องแบบสอดแทรกความเห็นส่วนตัวเป็นระยะๆ ได้อย่างน่าติดตามเช่นเคย นะคะ

 

"การจัดการเรียนรู้และการประเมินผลตามสภาพจริง "Authentic Learning Management and Assessment" เป็นรูปแบบที่ไอดินฯ ใช้แบบจริงจังมาตลอดจากปี 2542 จนถึงภาคเรียนสุดท้าย 1/2555 ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด เป็นการดำเนินการตามความเชื่อของตนเองว่า รูปแบบดังกล่าวจะนำไปสู่คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง (อิสรภาพทางวิชาการดูจะเป็นสิ่งเดียว ที่ไอดินฯ พึงพอใจ ในการทำงานเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา...การมีอิสรภาพที่จะออกแบบและพัฒนาการจัดการเรียนรู้และการวัด-ประเมินผล ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาแบบไม่มีคำว่า พอแล้ว สมบูรณ์แล้ว เพราะบริบทต่างๆ ทางการศึกษาและสังคมเปลี่ยแปลงตลอดเวลา)

 

ประสบการณ์ใน "การจัดการเรียนรู้และการประเมินผลตามสภาพจริง "Authentic Learning Management and Assessment" ไอดินฯ เคยเขียนไว้ในบันทึกผ่านมาแล้วประมาณ 1 ปี เรื่อง “ก้าวข้ามปัญหาเทคโนโลยีฯ ...เพราะมี "ใจ" ที่ http://www.gotoknow.org/posts/496309 ซึ่งได้อ้างอิงงานของ “คุณแว้บ” ด้วย ในการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว อาจารย์ต้องสละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาในการผลิตสื่อ ตัวอย่างเช่น สื่อประกอบการเรียนรู้เรื่อง "พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์" ในปีการศึกษา 2553 ไอดินฯ ต้องซื้อเครื่องบันทึก/เล่น DVD เอง (เพราะหน่วยเทคโนฯ กศ.ของคณะไม่มี มีแต่เครื่องเล่น) กว่าจะเรียนรู้วิธีบันทึกก็ใช้เวลานาน เพราะผู้ขายแนะนำให้ไม่ได้ พอรู้วิธีแล้วก็ต้องอดหลับอดนอนติดตามบันทึกรายการข่าว TV ที่นำเสนอเหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทเรียน และกว่าจะเรียนรู้วิธีนำไปใช้กับ Notebook เพื่อฉายขึ้นจอกับ Projector ได้ ก็อีกหลายขั้นตอน (ไม่ต้องการใช้กับเครื่องเล่น DVD ให้รุงรัง) แต่ผลตอบรับน่าพึงพอใจคือ นักศึกษาสนใจวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ เพราะเป็นพฤติกรรมจริงๆ และเป็นข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ (นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่หอพักหรือบ้านเช่า ไม่มีโอกาสดูข่าว TV ค่ะ)

 

คุณแว้บต้องการบริการของโครงการ "เพื่อนภาษา" ชี้แนะการพิมพ์ตกหล่นไหมคะ เท่าที่พบมีประมาณ 3 แห่งค่ะ ส่วนการใช้ถ้อยคำ เยี่ยมมากค่ะ ไม่มีผิดเลย 

 

http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/822/934/large_EducationalTechnologySolutions2.jpg?1343670420

ตามมาอ่านยังไม่ได้เขียนเพิ่มเลยขอเอาข้อมูลไป link นะครับ จะได้ไม่ต้องเขียน 5555

ขอบพระคุณสำหรับข้อคิดเห็นครับท่านอาจารย์วิไล ยินดีเข้าร่วมโครงการเพื่อนภาษาครับ ปกติผมจะพยายาม proofread แต่ก็มีตกหล่นอยู่ตลอดครับ ขอบคุณมากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท