๑๔๙.วาดการ์ตูนบนผนังวอร์ดพิเศษผู้ป่วยเด็ก : สื่อและสภาพแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพ



 

 

 

 


ผมไปร่วมอาสาวาดรูปให้กับหอผู้ป่วยเด็กพิเศษ ของโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนแรกว่าจะวาดฉากภูเขาชาวดอย มีเด็กๆหลากหลายชนเผ่าและหลากหลายสังคมวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมทางเหนือ แต่หลังจากศึกษาและร่างภาพบนกระดาษ พอลงตัวก็ร่างขยายภาพลงผนังขนาด ๓x๔ เมตรหน้าวอร์ดพิเศษผู้ป่วยเด็ก ก็มีพ่อแม่เด็กบอกว่าเด็กอยากได้รูปปลาโลมา 

ผมก็เลยต้องออกแบบและจัดวางองค์ประกอบภาพบนผนัง แทนที่จะเป็นดอยและเทือกเขาซับซ้อน เต็มไปด้วยเด็กๆและตัวการณ์ตูนสัตว์ ก็ให้ครึ่งหนึ่งเป็นทะเลและปลาโลมา ผมต้องขออาศัยนั่งสตั๊ดดี้อยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ค่อยซ้อมเขียนและออกแบบตัวการ์ตูนให้พอเหมาะกับลักษณะของพื้นที่ผนังสำหรับวาด 

หลังจากร่างภาพ ก็เริ่มระบายสี เท่านั้นแหละครับ ได้เห็นอานุภาพของสื่อศิลปะสำหรับเด็กขึ้นมาในบัดดลเชียว โดยพอเริ่มลงสีเท่านั้น หนูแพน ผู้ป่วยวัยเด็กน้อยในหอดูแลพิเศษ ซึ่งมาผ่าตัดหัวใจและอยู่ในระยะฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัด ก็เดินมาเป็นเพื่อนทักทายกับพี่ๆโลมาของเด็กๆเลยทีเดียว คุยจ้อไปกับผมในขณะวาดรูป จนคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยนั่งเป็นเพื่อน

สีที่ใช้เขียนรูปแบบนี้ นอกจากจะต้องคำนึงถึงผลกระทบและความเป็นมลภาวะต่อผู้ป่วยแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของสีที่นำมาใช้เป็นสภาพแวดล้อมของเด็ก โดยเฉพาะที่เด็กและผู้ดูแลจะเกิดการสัมผัส ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กๆด้วย ดังนั้น จึงทำให้ต้องศึกษาคุณสมบัติของสี ทั้งดูจากฉลากข้างกระป๋องและคุยหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็พบว่าสีที่นำมาใช้ในครั้งนี้ เป็นสีอะครายลิค สามารถผสมและละลายกับน้ำ แต่เมื่อแห้งแล้วจะมีคุณสมบัติเหมือนการเคลือบพลาสติก ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติมันวาวเหมือนสีน้ำมัน 

ขณะเดียวกัน ก็มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ที่ป้องกันผลต่อการปนเปื้อนที่จะสร้างมลพิษและมลภาวะ จากการได้สัมผัสและการอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่นำเอาสีมาใช้ ของเด็กด้วย เลยนอกจากจะทำให้เป็นโอกาสที่ผมเองก็ได้วาดรูปและทำสื่อศิลปะสำหรับเด็กๆแล้ว ก็เป็นโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าของสีและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ทางศิลปะอย่างนี้ ว่ามีความก้าวหน้ากว่ายุคก่อนมาก

ผมทำไปก็นึกถึงบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ที่การวาดรูปการ์ตูนบนผนังสำหรับเด็กและสื่อศิลปะในลักษณะนี้ จะช่วยเป็นเงื่อนไข กระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดขึ้นไปด้วย นึกถึงการที่แม่พ่อ รวมทั้งหมอพยาบาล และบุคลากรทางสุขภาพในวอร์ด จะต้องได้อุ้มผู้ป่วยเด็กเดินหมุนเวียนอยู่ในวอร์ดเด็กด้วยสภาพที่มีเวทนาการจากความเจ็บไข้ได้ป่วยและมีความกระจองงองแงไปตามวุฒิภาวะและธรรมชาติของเด็ก ซึ่งถ้าหากมีผนังอันว่างเปล่า นำมาวาดรูป และทำให้กลายเป็นพื้นที่ของเทพนิยายและสื่อศิลปะที่สื่อและเข้าถึงจินตภาพของเด็กๆได้ ก็จะทำให้พ่อแม่และผู้ที่ดูแลเด็กๆ ได้มีเงื่อนไขและสื่อ สำหรับใช้พูดสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ทำให้เด็กๆมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับการเสริมพลังจากความสนใจที่ถูกต้อง ได้ความอบอุ่นและยาขนานวิเศษ ได้ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ให้ความร่วมมือเพื่ออดทนและรับการดูแลสุขภาพ ได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถเกิดความสุขเพลิดเพลิน และดำเนินชีวิตเหมือนเป็นปรกติ ไปในระหว่างที่พักฟื้นอยู่ในวอร์ดได้

                          

ผมเริ่มวาดรูปตั้งแต่สักประมาณ ๑ ทุ่ม ไปเสร็จเอาเมื่อตี ๓ กว่า ในขณะที่วาดนั้นก็รู้สึกสนุก เพลิดเพลิน ระหว่างที่มือวาดและใจจดจ่อไปกับเรื่องราวในรูปที่กำลังวาด ตัวผมเองก็เลยเป็นทุกอย่างที่เห็นภาพในใจแล้วก็ไหลผ่านมือสู่ปลายพู่กันไปปรากฏขึ้นบนผนังตรงหน้า เมื่อวาดเด็กๆอยู่บนดอยบนภู ก็รู้สึกเหมือนตนเองกำลังเดินเข้าไปอยู่ในกลุ่มเด็กท่ามกลางสภาพแวดล้อมป่าเขานั้นไปด้วย วาดหมีนั่งอ่านหนังสือบนต้นไม้ ก็รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเงาร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ไปด้วย 

ผมก็เลยได้ท่องไปกับโลกบนปลายพู่กัน จึงไม่ใช่เพียงทำให้ลืมเหนื่อยเท่านั้น แต่เหมือนกับเสียดายที่เสร็จและต้องหยุดทำอีกด้วย แต่พอเสร็จแล้ว ก็ขับรถกลับบ้านที่สันป่าตองกันกับภรรยาแทบไม่ไหว พาลจะจอดรถเพื่อหลับข้างทางกันเสียให้ได้ มันให้แสนจะเหนื่อยล้า เจ็บส้นเท้าและข้อเข่า ซึ่งก็คงจะเกิดจากการนั่งคู้ขาเขียนรูปติดต่อกันหลายชั่วโมง แวะซื้อข้าวและน้ำเย็นๆจากร้านข้างทาง แต่พอถึงบ้านแล้วก็หมดแรงคิดที่จะกินกัน เลยอาบน้ำเสร็จก็นอนหลับสลบไสลรวดเดียว ตื่นขึ้นมากินข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ซื้อเมื่อตอนขากลับนั้น เอาเมื่อตอนเกือบ ๑๐ โมงเช้าเลยเชียว รวบอาหารมื้อเช้ากับมื้อเที่ยงให้กลายเป็นมื้อเดียวกันไปเลย !!! 

ผ่านไปสองสามวัน ทางวอร์ดเด็กก็มอบให้ตัวแทน ๒ ท่านตามมากล่าวขอบคุณอีก พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยการบอกเล่าแบบสบายๆว่าทั้งหัวหน้าวอร์ด แพทย์ พยาบาล และบุคลากรของวอร์ดเด็ก ชอบใจรูปการ์ตูนที่ผม ภรรยา และคนอื่นๆ ได้ช่วยกันวาดบนผนัง ซึ่งก็นับว่าเป็นเสียงสะท้อนที่ดีแก่การได้ทำสิ่งต่างๆออกไป 

เพราะไม่เพียงทำให้ได้วาดและมีความสุขไปแล้วอย่างเดียวเท่านั้น แต่การที่ได้ทราบว่า สิ่งที่ได้ทำกันด้วยแรงกายแรงใจ ได้มีส่วนทำให้กลุ่มคนที่ทำกิจดังกิจของโพธิสัตว์แก่สังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ดังเช่นแพทย์ พยาบาล และกลุ่มคนทำงานในวอร์ด ที่ต้องดูแลเด็กๆและอยู่กับความทุกข์จากความเจ็บความไข้ ครั้งนี้ ได้มีความสุขความพอใจเล็กๆน้อยๆ พอได้มีพลังใจและได้สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานเพื่อผู้อื่นในทางอ้อมขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งสำหรับตนอย่างนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งมากแล้ว

หมายเลขบันทึก: 543664เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • สวยงามมากๆครับ
  • เด็กๆคงชอบ ได้ผ่อนคลาย

สวัสดีครับ Mr_Jod ครับ
ยังวาดไม่ทันไรเลย ระหว่างที่วาด ก็มีเด็กตัวเล็กๆมายืนคุยจ้อด้วยแล้วครับ 

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ดร.จันทวรรณครับ
อาจารย์สบายดีนะครับ รำลึกถึงอาจารย์และอาจารย์ดร.ธวัชชัยเสมอครับผม

แวะมาชื่นชมงานศิลปะจิตอาสา...เด็กๆมีความสุขกันมากแน่นอน ขอบคุณมากครับผม

เมื่อนึกถึงในยามวัยเด็กของเราและมีสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ให้นี่
ก็มีความสุขมากนะครับอาจารย์ การได้พากันทำให้แก่เด็ก อย่างที่เราเองก็เคยได้รับจากคนรุ่นก่อนหน้านั้นนี่
เป็นความดีงามและเป็นหลักประกันความมั่นคง ที่มาจากวัฒนธรรมของสังคมเหมือนกันนะครับนี่
เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ในสังคมมีการพากันทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

สวยงามจริงๆและเป็นการบำบัดไปด้วยครับ..

ภาพน่ารักเป็นขวัญกำลังใจอย่างดีของเด็กๆ ค่ะ
ชื่นชมค่ะอาจารย์

สวยงามและขอบคุณสำหรับไอเดียดีๆๆ ครับผม

สวัสดีครับลูกหมูเต้นระบำครับ
สนุกดีด้วยมากๆครับ

สวัสดีครับคุณครู noktalay ครับ
มีแหล่งให้ได้ทำสื่อศิลปะไว้เป็นสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดเด็กๆอย่างนี้ตามแหล่งต่างๆของสังคม ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าดีมากเลยนะครับ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ในพื้นที่สาธารณะนอกบ้าน สถานศึกษา ครัวเรือน และแหล่งที่แวดล้อมวงจรชีวิตของเด็ก เด็กๆจะมีโอกาสซึมซับและอยู่กับสภาพแวดล้อมที่กล่อมเกลาความละเมียดละไม รวมทั้งทำให้เกิดเงื่อนไข สร้างวาระความสนใจ ให้ได้ใช้ความคิดและจินตนาการ ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการพัฒนาตนเองอีกหลายอย่างตามมา เราน่าจะเรียกพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างนี้ว่า เป็นพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ความสร้างสรรค์ - Creative Learning Space ที่หน่วยงาน ครอบครัว และชุมชนต่างๆ ควรนึกถึงการจัดสรรให้เป็นการสร้างทุนมนุษย์และการลงทุนเพื่อการสร้างพลเมืองเด็ก ให้มากยิ่งๆขึ้นบ้าง

สวัสดครับคุณบุญเลิศครับ
ขอบพระคุณเช่นกันครับผม

ความสุขอบอวล

แววตาปลาโลมา  รอยยิ้มร่าเริง  ดูใจดีเหมือนอาจารย์เลยค่ัะ

กราบคารวะท่านอ.ค่ะ สุขใจไปด้วย

โลกสวยด้วย 2 มือจริงๆ 

เป็นสองมือจากผู้ให้ และผู้สร้าง

อีกทั้งยังชวนให้เห็นภาพเด็กน้อย

หัวใจที่โบยบินเป็นอิสระของเด็ก

ขอให้ท่านอ.และครอบครัว

มีความสุขกายสุขใจมากๆนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ดูแล้วได้บรรยากาศ มองเห็นความอิ่มเอมใจของผู้วาด ความใสซื่อของเด็กๆ ดีมากๆเลยครับ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

ตอนที่วาดนี่ ก็นึกถึงเด็กๆกับพ่อแม่และผู้ที่คอยดูแล ก็เลยทำรูปโลมาออกมา โดยมีโลมาตัวใหญ่ๆตามด้วยกลุ่มโลมาตัวเล็กๆ
ก่อนที่จะวาดนั้น หันซ้ายหันขวา ก็ได้พ่อแม่ที่กำลังอุ้มและพาลูกน้อยมาเดินพักผ่อนอยู่แถวหน้าวอร์ดนั่นแหละครับเป็นเค้าโครงความคิด
พอเห็นพ่อแม่และเด็กๆแล้ว ก็พอจะจินตนาการออก ว่าบรรยากาศและอริยาบทต่างๆของเด็กๆจะมีสภาพอย่างไร
ระหว่างอยู่โรงพยาบาล เด็กๆต้องได้รับการแวดล้อมด้วยผู้ที่คอยแสดงความรักความห่วงใย
ในสภาพที่เด็กๆกำลังป่วยและกำลังพักฟื้นฟูกายใจ หากเด็กๆได้สัมผัสกับความรักความห่วงใยที่อบอวลอยู่รอบข้างได้
ก็จะทำให้พลังใจและพลังชีวิต มีกำลังอดทนและร่วมดูแลตนเองจากข้างใน ลดความห่วงใยของพ่อแม่และหมอพยาบาล
เลยทำให้สภาพแวดล้อมที่มักเป็นสภาพความเคลื่อนไหวอย่างนี้ในบริเวณที่จะวาดรูป ปรากฏสิ่งที่ให้ความรู้สึกอย่างนี้
ออกมาเป็นรูปโลมาตัวใหญ่ๆกับกลุ่มโลมาตัวเล็กๆ ๒-๓ ตัวนี่แหละครับ 

ขนาดใหญ่โต เมื่อเด็กเข้าไปยืนใกล้ๆแล้ว ก็จะเหมือนตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฝูงโลมา 
มองเลยขึ้นไป ก็มีเพื่อนเด็กๆกำลังรอเล่นด้วยอยู่ตามป่าตามเขา
แววตา ตำแหน่งการวางบนผนังระดับที่เด็กๆเข้าไปใกล้แล้วจะรู้สึกโลมาตัวใหญ่จะเข้ามากอด 
โลมาตัวเล็กๆ ก็เหมือนเด็กๆจะเข้าไปกอด และเป็นเพื่อนกันได้
วาดไปก็นึกภาพให้สื่อความรู้สึกได้ทำนองนี้แหละครับ เลยก็ได้สนุกไปด้วยดีมากเลยละครับ 

สวัสดีครับคุณครู krutoiting ครับ

แง่มุมหัวใจที่โบยบินเป็นอิสระของเด็ก ที่ krutoiting ช่วยมองและกล่าวเน้นด้วยนี่
เป็นส่วนที่ทำให้เห็นความหมายและความสำคัญของการวาดรูปอย่างนี้ 
ที่พอทราบแล้วก็ยินดีที่ได้ไปมีส่วนร่วมทำกับเขาทันทีเลยละครับ
ในผู้ใหญ่ เราอาจจะผ่านการได้ฝึกฝนตนเองให้มีความอดทน และสามารถให้เหตุผลตนเอง
จึงพอจะมีวิธีมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองเมื่อยามเจ็บป่วย ที่สื่อสารกับคนรอบข้างได้
แต่เด็กๆมีข้อจำกัดในการสื่อสารประสบการณ์และความรู้สึกที่ซับซ้อนที่ตนเองประสบขณะเจ็บป่วย
การช่วยกันดูแลโดยพ่อแม่ หมอ พยาบาล และคนรอบข้าง ก็คงได้ระดับหนึ่ง
แต่หากมีเงื่อนไขช่วยทำให้ดูแลตนเองได้จากข้างใน ก็จะสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กๆ
ครอบคลุมกับความจำเป็นที่เกิดขึ้นกับเด็กๆได้ดีกว่า วิธีหนึ่งก็คือทำให้เด็กๆมีกำลังก้าวข้ามความเจ็บไข้และทุกข์ทรมาน
ได้แยกจิตใจที่ร่าเริง อยากเล่น อยากรู้ อยากสัมผัสและสร้างประสบการณ์กับโลกรอบข้าง
ให้อิสระและแยกเป็นคนละส่วนกับด้านที่เป็นความเจ็บป่วย ซึ่งธรรมชาติของเด็กมีสิ่งนี้อยู่เป็นพื้นอยู่แล้ว
เหมือนกับเวลาหกล้ม เพียงได้เห็นสิ่งอื่นน่าสนใจกว่า เด็กๆก็ก้าวข้ามความเจ็บปวด หยุดร้องไห้และเล่นได้ทันที
สื่ออย่างนี้ ก็ทำงานบนกลไกอย่างนี้ในธรรมชาติของเด็กๆได้เหมือนกัน ...
ช่วยเป็นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เงื่อนไข ที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กๆมีจิตที่มีกำลังแห่งอิสรภาพ
สามารถก้าวข้ามความเจ็บป่วย คุยกับพ่อแม่ หมอ พยาบาล และผู้ที่ให้การดูแล ด้วยจิตที่สดใส ร่าเริง
อยู่ในโลกของความสุขสดใสแบบเด็กๆ มีคุณภาพชีวิต และเป็นโอกาสในการพัฒนาอื่นๆ แม้ยามเจ็บป่วยอยู่
ทำนองนี้แหละครับ

ระหว่างที่วาดและเมื่อเสร็จแล้ว พอเห็นเด็กๆมาพร้อมกับพ่อแม่ เล่นและคุยกัน
เชื่อมโยงออกไปจากการได้เห็นรูปที่วาดให้ เห็นการถามโน่นถามนี่ แล้วก็เล่นกับการ์ตูนในรูปวาดไปเลย
ก็พอจะรู้เลยครับว่า มันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราเข้าไปดูแลชีวิตด้านในของเด็กๆ
แล้วก็ผ่านเลยไปถึงพ่อแม่และคนรอบข้างได้อย่างนี้จริงๆ

สวัสดีครับท่าน ศน.อาจารย์สมานครับ
ให้ประสบการณ์ที่ดีมากเลยละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท