เข้าค่าย GRANSHAN 2013 ตอนที่ 1


งานออกแบบจึงไม่ใช่แค่เพียงงานที่ทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่คือการออกแบบเพื่อให้ความสบายแก่สรีระร่างกายของคนเรา ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของการอ่าน

24/07/56

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในงาน GRANSHAN 2013 ซึ่งงานนี้เป็นงานประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติในหัวข้อเกี่ยวกับตัวอักษรประเภท Non-Latin Typefaces โดยเน้นตัวอักษร Non-Latin ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในงานนี้มีทั้งส่วนที่เป็นการจัดแสดงนิทรรศการ ส่วนสัมมนาเชิงปฎิบัติการ (Workshop) ส่วนการประชุมว่าด้วยตัวอักษรประเภทที่ไม่ใช่ละติน (Conference) และส่วนประชุมอภิปรายหัวข้อทางวิชาการ (Symposium) เฉพาะในส่วนจัดแสดงนิทรรศการก็มีงานที่น่าสนใจให้เข้าชม เช่น นิทรรศการประกวดตัวอักษรประเภท Non-Latin Typefaces และนิทรรศการเกี่ยวกับงานต้นฉบับการร่างแบบตัวอักษรที่ไม่ใช่ละติน สำหรับผู้เขียนแล้วนิทรรศการในส่วนนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากไม่ได้นำมาจัดแสดงสู่สาธารณชนในวงกว้างมากนัก ส่วนใหญ่จะมีแค่เพียงนักวิจัยและนักศึกษาเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เห็น ต้นฉบับภาพร่างตัวอักษรที่นำมาจัดแสดงมีภาพร่างตัวอักษรไทยตั้งแต่ปี 1984 เป็นงานออกแบบตัวอักษรไทยสำหรับ CRTronic (ซึ่งเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ)

(ภาพคอมพิวเตอร์ CRTronic และตัวอย่างแบบอักษรไทยแบบดิจิตอลที่ออกแบบในปี 1984)


วันแรกของการเวิร์คช็อปในโครงการฯ เหล่าอาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้เลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในหัวข้อ Minisigns for Megacommunication (สัญลักษณ์ขนาดเล็กเพื่อการสื่อสารและการออกแบบตัวอักษรขนาดเล็กสำหรับสมาร์ทโฟน) สอนโดย Professor Gerard Unger ซึ่งท่านเป็นศาสตราจารย์จาก The University of Reading, UK. ภาควิชา Computer Graphic and Communication โดยท่านมีผลงานที่สำคัญๆ ตั้งแต่การออกแบบป้ายบอกทาง ออกแบบเหรียญ และที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมากที่สุดคือ การออกแบบตัวอักษร Gulliver ซึ่งตัวอักษรชุดนี้ได้ถูกนำไปใช้ในหนังสือพิมพ์ของอเมริกาและหนังสือพิมพ์อีกหลายหัวในยุโรป

ถึงแม้ว่าในตอนแรกพวกเราจะหลงห้องเรียน ไปโผล่ห้องของ Mr.Gerry Leonidas ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสจาก The University of Reading, UK. เช่นกัน และท่านทำการฝึกอบรมในหัวข้อ Type and Typography Masterclass ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน แต่เราเลือกที่จะไปศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษร เพื่อรองรับสื่อดิจิตอลประเภทสมาร์ทโฟนแทน

สิ่งที่เราได้รับคำแนะนำจากศ.เจอราร์ดในระหว่างการปฏิบัติการออกแบบตัวอักษร คือ การออกแบบตัวอักษรที่จะนำไปใช้สำหรับสื่อดิจิตอลประเภทสมาร์ทโฟนนั้น ควรออกแบบให้ตัวอักษรมีความเรียบง่าย (Simplify) โดยท่านย้ำว่า ขนาดของตัวอักษรไม่สำคัญเท่ารูปร่างของตัวอักษร (Legibility) เพราะรูปร่างของตัวอักษรทำให้เราอ่านอักษรได้ง่าย สบายตา ไม่ว่ามันจะมีขนาดเล็กใหญ่เท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งข้อนี้ท่านได้พิสูจน์มาแล้วในการออกแบบ Typeface Capitolium News โดย Typeface นี้ ได้ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับเป็นตัวอักษรทั้งขนาดใหญ่ (((Headlines) และเป็นตัวอักษรขนาดเล็ก (Body Text) บนหนังสือพิมพ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.gerardunger.com/allmytypedesigns/allmytypedesigns22.html)

การออกแบบตัวอักษรสำหรับใช้บนหนังสือพิมพ์นี้ นอกจากการออกแบบให้เป็นตัวใหญ่และหนา ให้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านได้แล้ว เมื่อใช้เป็นตัวอักษรขนาดเล็กก็ควรที่จะสามารถอ่านได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากตัวอักษรบนนสพ.นี้ ไม่ควรจะต้องใช้เวลาในการอ่านให้มาก สามารถอ่านแบบเร็วๆ ได้ และสามารถอ่านแบบกลับไปกลับมา (กรอกสายตาไปมาได้) ดังนั้นรูปร่างของมัน จึงควรที่จะออกแบบให้มีลักษณะการทิ้งช่องว่างให้ใหญ่ (Big workspace)

และการออกแบบตัวอักษรที่มี Serif (ขาของตัวอักษร) ก็ควรออกแบบให้มีขนาดที่บางลง และเพิ่มบริเวณช่องว่างด้านในของตัวอักษร (Counter) ให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดช่องว่างที่ทำให้อ่านง่ายเมื่อตัวอักษรมีขนาดที่เล็ก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของจังหวะในการอ่าน จังหวะในการแบ่งวรรคตอน ช่องว่างของตัวอักษร (Kerning) ฯลฯ ซึ่งในเรื่องนี้บางอย่างอาจไม่สามารถนำมาปรับใช้กับตัวอักษรภาษาไทยได้ เนื่องจากการเขียนภาษาละตินกับภาษาไทย มีลักษณะแตกต่างกันในเรื่องวรรคตอนอยู่มากพอสมควร

เราจบการสัมมนาเชิงปฎิบัติการในวันนี้ที่กินเวลาไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง (10.00-16.00 น.) ซึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก และอาจารย์ท่านเดินให้คำแนะนำทุกโต๊ะอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้พวกเราได้รับความรู้เกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรเพิ่มเติมเป็นอย่างมาก ก่อนที่ท่านจะจบการบรรยายเชิงปฏิบัติการนี้ ท่านยังได้ให้ข้อมูลสำหรับนำไปศึกษาต่อเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบต่อการรับรู้ โดยเฉพาะเรื่องของสายตา (Eye Function) และลักษณะการอ่าน เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ มีผลต่อการออกแบบตัวอักษรให้สอดคล้องกับการรับรู้ด้านการอ่านของมนุษย์ งานออกแบบจึงไม่ใช่แค่เพียงงานที่ทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่คือการออกแบบเพื่อให้ความสบายแก่สรีระร่างกายของคนเรา ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของการอ่าน

(ภาพบรรยากาศในห้องเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


(กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ นานาชาติมาก บางคนบินมาจากมาเลเซีย / 

ภาพตัวอย่างงานที่ทำในห้อง)



เว็บไซต์แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Professor Gerard Unger

http://www.youtube.com/watch?v=9ELRILZkqTc

http://www.gerardunger.com/


หมายเลขบันทึก: 544037เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยครับอาจารย์ ได้ศัพท์ภาษาไทยหลายคำที่ผมสงสัยมานานด้วย เช่นคำว่า ขาตัวอักษร :)

ขอบคุณค่ะ ^^

ไหนๆ คุณแว้บก็สนใจในเรื่องศัพท์ของตัวอักษร เลยอยากขอเพิ่มเติมให้ทราบอีกนิดว่า ตัวอักษรจะแบ่งเป็น 2 แบบ ซึ่งเราเรียกว่า แบบมีขา (Serif) กับแบบไม่มีขา (Sans Serif) รูปร่างหน้าตาก็จะเป็นแบบในภาพตัวอย่างนะคะ (เผื่อว่าคุณแว้บจะเคยเจอคำว่า San Serif ด้วย คำนี้บางท่านอ่าน แซนเซอรีฟ บางท่านอ่าน ซองเซอรีฟ ค่ะ)

(ภาพประกอบจาก http://alexpoole.info/blog/which-are-more-legible-serif-or-sans-serif-typefaces/)

(ภาพประกอบจาก http://www.thepixelboutique.com/wp-content/uploads/2009/03/serif.jpg)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท