ผ้าป่าสามัคคี...........ฮักษาป่าต้นน้ำน่าน


เมื่อวันก่อนท่านอาจารย์หมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร ได้โทรศัพท์มาว่าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม นี้ว่างไหม ปกติท่านไม่ค่อยโทรมาหรอกนะ แต่คงมีเรื่องสำคัญ ผมรีบตอบไปเลยแบบไม่ลังเลว่าว่าง อาจารย์ชวนให้ไปช่วยสรุปประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ผ้าป่าสามัคคี...........ฮักษาป่าต้นน้ำน่าน” ณ วัดเชียงแล อ.ท่าวังผา จ.น่าน มีแกนนำจากเครือข่ายลุ่มน้ำน่านตอนบน ตัวแทนองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชนรวมกว่า ๔๐๐ คน เข้าร่วมเวที 



“....แนวคิดของโครงการเอามื้อกันดาคัวตานผ้า...ป่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นน้ำน่านตอนบน โดยการรักษาป่าแลกน้ำ คือ ให้ชุมชนดูแลจัดการป่า แล้วทางโครงการฯ จะจัดผ้าป่าระดมทุนต่างๆ ทั้งภายในภายนอก มาช่วยในการฟื้นฟูปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ ภายใต้แนวคิดมีป่ามีน้ำ ชุมชนมีรายได้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความศรัทธาหรือปวารณาตนเองก่อนที่จะช่วยกันดูแลรักษาป่า และผ้าป่าสามัคคีนี้จะไม่ใช่ระดมเงินมาให้ แต่จะเป็นการระดมทีมงาน องค์ความรู้ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ มาช่วยพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำและป่าที่มีอยู่ของชุมชน โดยชุมชนต้องเป็นหลักในการดำเนินการ....” คุณณรงค์ อภิชัย ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ


นพ.บุญยงค์  วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาประชาคมน่านกล่าวว่า “......ดีใจที่เห็นชุมชนตื่นขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตนเอง ปัญหาสำคัญของเมืองน่านขณะนี้คือการตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมีสูงมาก การทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ รุนแรง ทำให้โลกร้อนขึ้น เหมือนตอนที่เราหนาวเราก็ไปตัดไม้มาทำฝาบ้าน พอหิวเราก็ไปเลาะฝาบ้านมาทำฝืนก่อไฟ พอหายหิวหายหนาวเหลียวกลับไปดูบ้านก็ไม่มีแล้ว ถ้าหนาวอีก หิวอีกจะทำอย่างไร บ้านก็ไม่มีแล้ว การแก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุให้คนอยู่กับป่าให้ได้ อยู่อย่างนบน้อมต่อสิ่งแวดล้อม การทอดผ้าป่านี้เป็นการทอดมิติใหม่ที่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่เป็นการทอดที่ทั้งผู้ให้และผู้รับได้ประโยชน์ด้วยกันการฟื้นฟูป่าน้ำนี้ ข้าราชการทั้งหลาย ผู้นำอปท. ผู้นำท้องที่ ต้องใส่ใจให้ความสำคัญเอามาเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการ องค์กรภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปิดทอง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง หรือหน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาช่วยด้านองค์ความรู้ ระบบการจัดการบางอย่าง ซึ่งสักวันก็ต้องไป เพราะมีพื้นที่อีกมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ คนในพื้นที่ หน่วยงานในพื้นที่จึงต้องเป็นเสาหลักในการดำเนินการ....”



พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่านได้พูดถึงผ่าป่าสามัคคีว่า “......คำว่าผ้าป่า ชาวบ้านเข้าใจว่าคนที่จะทอดผ้าป่าต้องเป็นคนมีเงินมีปัจจัยเยอะๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เดิมทีในสมัยพุทธกาล ประวัติของพระพุทธเจ้านั้นเกี่ยวข้องกับป่ามาตลอด ตั้งแต่ประสูติก็ประสูติในป่า ทรงผนวชและศึกษาแสวงหาทางหลุดพ้นก็ทำในป่า เมื่อทรงตรัสรู้ก็ตรัสรู้ขณะอยู่ในป่า แล้วเผยแพร่ธรรมะในป่า จนกระทั่งปรินิพพานก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในป่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีหลักคำสอนให้ดูแลป่ารักษาสิ่งแวดล้อม มีข้อบัญญัติของสงฆ์ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมอยู่หลายประการ

  ส่วนเรื่องผ้าป่านั้นในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์จะอยู่กับป่าเป็นส่วนใหญ่ ผ้านุ่งห่มของพระสงฆ์ นั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้าน ดังนั้นพระภิกษุจะต้องหาผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว ผ้าที่เปรอะเปื้อน ผ้าห่อศพ ที่ทิ้งไว้ตามป่า ซึ่งเรียกว่า ผ้าบังสุกุล แล้วนำมาซักทำความสะอาดตัดเย็บและย้อมสีทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ต่อมาชาวบ้านทราบถึงความยากลำบากจึงต้องการนำผ้ามาถวายแต่ยังไม่มีพุทธานุ ญาต ดังนั้นชาวบ้านจึงนำผ้าไปพาดไว้ตามต้นไม้ในป่าเช่น ตามทางเดิน ป่าช้า แล้วแต่ว่าพระภิกษุสงฆ์องค์ใดจะมาพบก็จะพิจารณาแล้วถาม ๓ ครั้ง ว่าผ้านี้มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่มีเจ้าของแล้วจึงนำผ้านั้นไปใช้ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่าผ้าป่า

  ส่วนในปัจจุบันญาติโยมเห็นว่าพระสงฆ์จำเป็นต้องมีปัจจัย เครื่องอุปโภคบริโภค จึงมีการเพิ่มปัจจัยพื้นฐานถวายและเงินสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ ต่อมามีการประยุกต์ใช้เป็นกุศโลบายในการสร้างพลังความสามัคคี เช่น การถวายผ้าป่าพันธุ์ไม้ต้นไม้ ผ้าป่าหนังสือ ผ้าป่าขยะ สามารถทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย อย่างท่านพระครูสุจิณนันทกิจ วัดโป่งคำ ก็มีการทำโครงการ “ซุบหมวกหื้อดอย ซุปแค๊บหื้อดอย” คือการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และป่าริมน้ำริมห้วย

  คำว่าผ้าป่าสามัคคี คำว่าสามัคคี มาจากคำว่า สา หรือเสมอ คือ ความพร้อมเพรียงสม่ำเสมอ กับคำว่า อังคะ คือ หัวใจ จึงเป็นการที่พร้อมใจร่วมกันทำอย่างสม่ำเสมอ......”



ตัวแทนกลุ่มบ้านบ่อหยวก อ.บ่อเกลือ ได้เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการว่า“.....อยู่ลุ่มน้ำว้า ได้ทราบข่าวจากบ้านนากื๋น ว่ามีการโครงการแล้วได้ผลดี ก็มีความศรัทธา จึงไปเรียนรู้จากบ้านนากื๋น ทำโครงการป่าแลกน้ำ คืนพื้นที่ป่า ร่วมกันเจ้าหน้าที่ป่าไม้สำรวจเขตป่ากำหนดเขตป่าชัดเจนโดยจัดเป็นแผนที่ จับพิกัด GPS เพื่อที่ เตรียมที่จะปรับปรุงระบบฝายที่มีอยู่เดิม.....”

ตัวแทนกลุ่มบ้านนากื๋น อ.บ่อเกลือ “.....อยู่ต้นน้ำน่าน ปัญหาคือป่าถูกลาย บุกรุกทำไร่ไปเรื่อยๆ แต่ก็มีตัวอย่างบางส่วนที่เขาทำการอนุรักษ์ป่าฟื้นฟูต้นน้ำไว้ ก็นำมาเป็นต้นแบบแนวทาง สืบสานต่อ ขยายผล ได้มีการปรับปรุงฝาย ลดตะกอนหน้าฝาย ชุมชนก็มีการอนุรักษ์ป่าต้น ช่วยให้อุ้มน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ ทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำ มีน้ำพอเพียงสำหรับทำการเกษตร.....”

กลุ่มบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ“....มีการปรับปรุงฝายเดิม ขุดลอกตะกอนหน้าฝาย ทำท่อส่งน้ำระบบน้ำ โดยความร่วมมือของชาวบ้าน ซึ่งกำลังรอขุดนา ซึ่งพอมีน้ำเพียงพอ ชาวบ้านก็พอทำกิน ทำการเกษตรได้ มีรายได้ขึ้นมา....”

กลุ่มบ้านส้อ-บ้านเด่นอ.เชียงกลาง....เดิมชาวบ้านทำไร่บนดอย มีการรุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ พอได้เข้าโครงการมีการปรับปรุงลำเหมืองฝาย ทำให้มีน้ำ ทำนาได้ ๒ ครั้ง/ปี ปลูกพืชหลังนาได้ สร้างรายได้ให้ชุมชน ๕-๖ ล้านต่อปี แต่ต้องการแหล่งน้ำเพิ่มในพื้นที่ยังขาดน้ำ โดยทำระบบท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ดอน ส่วนที่สูงก็จะเป็นพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ…..”




กลุ่มบ้านฮวก ลุ่มน้ำริม อ.ท่าวังผา“...นายฝายเป็นจิตอาสาที่มาดูแลเหมืองฝายของชุมชน ฝายบ้านฮวกให้พื้นที่การเกษตรกว่า๖๗๐ ไร่ แต่เดิมชาวบ้านสร้างเองโดยเป็นฝายไม้ ต้องไปตัดไม้มาทำฝาย ซ่อมแซมฝายทุกปี น้ำมาแรงฝายก็พัง ในปี ๒๕๑๙ ได้งบสส.มา ๑ แสนบาท สร้างเป็นฝายคอนกรีต ใช้แรงงานชาวบ้านช่วยในการทำฝาย แต่ในปี ๒๕๔๙ น้ำท่วมมาก ทำให้ฝายพัง ได้ของบไปยังอบต.มาซ่อมแซม แต่ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว จึงได้มีการทำโครงการเสนอมายังโครงการผ้าป่าสามัคคีฯ ซึ่งได้มีการประชาคมชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว จะมีการดำเนินการในเดือนมกราคมหน้า

  ชาวบ้านมีการดูแลป่าชุมชนพื้นที่กว่า ๓๐๐ ไร่ มาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการกำหนดมาตรการห้ามตัดไม้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ มีการสำรวจป่า ทำแนวกันไฟเป็นประจำทุกปี จะไม่มีการตัดไม้ในส่วนนี้ยกเว้นไม้ตายแล้วเท่านั้น และชุมชนได้มีการคืนผืนป่าที่เคยเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้กับเจ้าหน้าที่ป่ามากว่า ๗๐๐ ไร่ และได้มีการอนุรักษ์วังปลาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ระยะทางตั้งแต่หลังฝายไปจนถึงท้ายหมู่บ้านเป็นระยะทางกว่า ๑ กม. ซึ่งมีการห้ามจับ ฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ และนอกเขตอนุรักษ์ก็ห้ามจับปลาโดยวิธีการใช้ยาเบื่อ ใช้ไฟฟ้าช็อต ระเบิด หามฝ่าฝืนก็มีโทษปรับด้วยเช่นกัน.....”

กลุ่มลุ่มน้ำริม ฝายน้ำริมอ.ท่าวังผา “...เครือข่ายลุ่มน้ำริมได้เสนอในการประชุมครั้งแรกว่าในการดูแลรักษาป่าควรมีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนไว้ในโรงเรียนให้เยาวชนได้เรียนรู้ มีการกำหนดเขตป่าเขตที่ทำกินให้ชัดเจน เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าตรงไหนคือเขตป่า ซึ่งจนท.ป่าไม้กับชาวบ้านจะได้มีการสำรวจกำหนดเขตพื้นที่ร่วมกัน การจดทะเบียนของเครือข่ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะว่าอบต.ไม่สามารถอุดหนุนงบประมาณให้เครือข่ายได้ ถ้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มตามกฎหมาย

  ฝายน้ำริม ให้น้ำในพื้นที่ ๑๔ หมู่บ้าน ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลริม ป่าคา แสนทอง ผาตอ พื้นที่กว่า ๔๐๐๐ ไร่ ชาวบ้านมีการปลูกข้าวทั้งนาปี นาปรัง และพืชหลังนา ตลอดทั้งปี เมื่อปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมมาก ฝายพัง  ได้มีการซ่อมแซมเบื้องต้น ได้ประสานหน่วยงานอบต. และจัดทำโครงการผ่านประชาคมน่าน เพื่อปรับปรุงฝายและระบบส่งน้ำ....”


 



นพ.บุญยงค์  วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาประชาคมน่านกล่าวปิดเวทีว่า“....ทุนที่สำคัญ ๓ อัน ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน หนึ่ง คือ ศรัทธา หรือปวารณา ที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของชุมชนเอง สอง คือ ทุนการดูแลรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์ กำหนดเขต การสำรวจป่า การทำแนวกันไฟต่างๆ และ สาม คือ ฝายประชาอาสา เป็นเหมืองฝายที่จะเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนโดยการสนับสนุนผ้าป่าจากองค์กรต่างๆ เข้ามาหนุนเสริม…”


ขอบคุณที่ฝ่ายที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีดี  ขอบคุณที่มีโอกาสได้เรียนรู้  เพื่อป่า เพื่อน้ำ เพื่อชีวิต เพื่อชาวน่าน

เพราะเฮาฮักฟ้า ฮักป่า ฮักเขา ฮักภูมิลำเนา ฮักเมืองน่าน

....................................................................

บันทึกจากเวที “ผ้าป่าสามัคคี ฮักษาป่าต้นน้ำน่าน”

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖

ณ วัดเชียงแล ตำบลริม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

จัดโดย ศูนย์ประสานประชาคมจังหวัดน่าน มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และองค์กรภาคีเครือข่าย


หมายเลขบันทึก: 544070เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยินดีอย่างยิ่งที่เห็นคนเมืองน่าน  มีเครือข่ายองค์กรของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง  โดยเฉพาะกลุ่มฮักเมืองน่านนั้นได้ยินกิตติศัพท์มานานแล้ว   สามารถจัดการกับทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองได้อย่างดี  

โดยส่วนตัวผมเองอยากให้มีหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่แบบนี้อย่างจริงจังบ้าง  ไม่รู้ว่าอุตรดิตถ์ป่าเหนือเขื่อนสิริกิตติ์จะยังคงมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์อยู่หรือไม่  แถวเขตตำบลบ้านของผมก็รู้สึกว่า ป่าจะกลายเป็นไร่ข้าวโพด และสวนยางไปเป็นจำนวนมากแล้ว  วอนผู้มีหน้าที่ดูแลและช่วยปกป้องกันอย่างจริงจังด้วยครับผม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท