การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำอย่างยั่งยืนในอำเภอเวียงเชียงรุ้ง


ไก่พื้นเมืองถือว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวบ้านในชนบทที่มีราคาถูก หาง่ายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวเกษตรกร เนื้อของไก่พื้นเมืองยังมีรสชาติที่ดี เนื้อแน่นและไขมันน้อย ทำให้ไก่พื้นเมืองมีราคาสูงกว่าไก่กระทง เกษตรกรนิยมเลี้ยง เพราะสามารถปรับตัวในสภาพชนบทได้ดี หากินได้เองตามธรรมชาติ มีความต้านทานความเครียดจากความร้อน และทนทานต่อโรคได้ลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองดังกล่าว ทำให้ไก่พื้นเมืองยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยจนถึงปัจจุบันอย่างไรก็ตาม จากสังคมที่เปลี่ยนไป เกษตรกรในชนบทหันไปประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมหรืออาชีพอื่นมากขึ้น ทำให้ไก่พื้นเมือง มีแนวโน้มลดลงประกอบกับปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากไก่พื้นเมืองมากขึ้น แต่เป็นในรูปผสมข้ามพันธุ์กับไก่พันธุ์อื่น หรือคัดเลือกบางลักษณะ จนทำให้พันธุกรรมดีเด่นดั้งเดิม เช่นลักษณะแม่ที่ดี ของไก่พื้นเมืองลดน้อยลง ในขณะที่การอนุรักษ์เป็นฝูงที่มีขนาดใหญ่ ค่อนข้างใช้งบประมาณในการดูแลและจัดการจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถจัดการได้ หรือดูแลพันธุกรรมของไก่พื้นเมืองไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน อย่างไรก็ตามแนวทางหนึ่งที่สามารถ ที่จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองไว้ได้คือ การกระจายไก่พื้นเมือง ไปยังเกษตรกร แต่ต้องมีการกำหนดและศึกษาถึงรูปแบบที่มีความเป็นไปได้และยั่งยืนที่สุด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ ซึ่งเป็นไก่พันธุ์แท้ที่กรมปศุสัตว์ได้วิจัยสร้างพันธุ์ขึ้นมา ในพื้นที่อำเภอเวียงเชียงรุ้ง เพื่อผลักดันให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำเป็นอาชีพชุมชนอย่างยั่งยืน


อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่เป็นที่ราบตามแนวระหว่างภูเขากับแม่น้ำกก  แหล่งน้ำเป็นลำห้วยสายสั้นๆไหลลงแม่น้ำกก ประชาชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีสวนผลไม้เช่น ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ แก้วมังกร นอกจากนั้นปัจจุบันมีการปรับจากสวนผลไม้มาปลูกยางพาราจำนวนมาก

ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของอำเภอจึงเน้นอาชีพการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีให้ได้มากที่สุดเพื่อสุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประชาชน จากอาชีพในการปลูกพืชหลายอย่างสามารถนำมาต่อยอดทำอาหารสัตว์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาขนส่งลดต้นทุน จึงมีกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองซึ่งมีความเหมาะสมทั้งในด้านอาหารหาได้ง่าย ประชาชนเคยเลี้ยงอยู่แล้ว  เป็นการสร้างรายได้เสริมให้ประชาชน มีเนื้อไก่ ไข่ไก่ อาหารโปรตีนที่ปลอดภัยไว้รับประทานกันเองในชุมชน ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนำเข้าทั้งหมด  นอกจากนั้นไก่ยังช่วยกินหนอน แมลง มูลไก่ใช้ทำปุ๋ย ตลอดจนเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าครบวงจรตอบสนองนโยบายรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิตตามแนวทาง”เกษตรทฤษฎีใหม่”

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง นอกจากผู้เลี้ยงจะต้องชอบและเอาใจใส่แล้วหลักที่สำคัญคือ ต้องมีพันธุ์ดี อาหารดี การจัดการเลี้ยงดูดี มีโรงเรือนดี และมีการป้องกันโรคดี  เพื่อให้ประชาชนที่เลี้ยงไก่ประสบความสำเร็จ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง โดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงเชียงรุ้งจึง นำเสนอให้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ๑ ที่กรมปศุสัตว์ได้ทำการวิจัยสร้างพันธุ์จนเป็นไก่พื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะประจำพันธุ์ชัดเจนคือ เป็นไก่ที่มีขนลำตัวสีดำ ปากสีดำ และแข้งสีดำ ซึ่งเป็นลักษณะภายนอกของไก่พื้นเมืองที่ตลาดส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ เพราะแม้ชำแหละไก่แล้ว สีของขน และปากจะหายไป แต่แข้งของไก่สดที่วางจำหน่ายยังคงเป็นสีดำ ทำให้มั่นใจว่าเป็นไก่พื้นเมืองจริง

จากลักษณะที่ดีของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ซึ่ง เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม ให้เกิดความยั่งยืนในชนบท โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถผลิตพันธุ์เองได้ รวมถึงวิธีการเลี้ยงที่ใช้องค์ความรู้ และภูมิปัญญาแบบท้องถิ่นบูรณาการกับเทคโนโลยี วิชาการ การเลี้ยงไก่ที่ทันสมัยในปัจจุบัน ตลอดจนการปรับลักษณะการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรที่เดิมเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ให้เป็นการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย ให้อาหารที่เกษตรกรสามารถหาได้ในท้องถิ่นร่วมกับอาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงไก่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ไก่มีการเจริญเติบโตเร็ว เกษตรกรก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น  เป็นไก่พันธุ์แท้ที่สร้างโอกาสในการผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้ประชาชนและสร้างเอกลักษณ์ด้านรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศ

เมื่อมีแนวทางที่จะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำอย่างยั่งยืน อำเภอเวียงเชียงรุ้งได้เตรียมการ “เป้าหมายชัด คัดคนที่พร้อม”

·  เริ่มจากการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่สนใจอย่างจริงจัง มีประสบการณ์พอสมควรในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยเลือกกลุ่มไก่พื้นเมืองบ้านประชาร่วมใจ ตำบลป่าซาง และกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านห้วยห้าง เกษตรกรเหล่านี้สามารถพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและประยุกต์ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ให้เป็นอาหารหยาบเสริมกับการใช้อาหารสำเร็จรูปสามารถเลี้ยงโดยมีอัตราการรอดสูง (มากกว่า 95 % ของลูกไก่ที่ได้รับการส่งเสริม) และมีการรวมกลุ่มกันในการรับการฝึกอบรมจากกรมปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ

·  วางเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าจะสร้างกลุ่มเลี้ยงไก่ทั้งสองให้มีผลผลิตในปีแรก ๕๐๐ ตัว ปีที่สอง ๑๐๐๐ ตัว และปีที่สาม ๘๐๐๐ ตัว

·  การอบรมเพิ่มความรู้ ดูงานในแหล่งเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ

·  มอบไก่ประดู่หางดำให้ไปเลี้ยงในแบบมาตรฐานหลังบ้านของกรมปศุสัตว์เพื่อสัตว์ปลอดโรคผู้บริโภคปลอดภัย

ในการส่งเสริมปี ๒๕๕๔ นั้น อำเภอเวียงเชียงรุ้ง มีการบูรณราการกันระหว่างสำนักงานปกครองอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและวิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง จัดการอบรมมอบลูกไก่ประดู่หางดำแก่กลุ่มเกษตรกร ๑รุ่น กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านประชาร่วมใจ จำนวน ๔๐๐ ตัว และ

ในปี ๒๕๕๕ อบรมอีกครั้งให้กลุ่มบ้านห้วยห้าง มอบลูกไก่ให้ ๑๐๐๐ ตัว

ในปี ๒๕๕๖ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงเชียงรุ้งร่วมกับนักวิชาการสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด  ได้ทำโครงการขอทุนร่วมทำการวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงประดู่อย่างยั่งยืนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทำให้มีเกษตรกรที่ร่วมทำการวิจัยจำนวน ๗ ราย กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ   และผลิตลูกไก่ออกจำหน่าย ทั้งไก่ขุนและไก่พันธุ์อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

ในปีต่อไปได้จัดทำแผนที่จะประชาสัมพันธ์ และแผนการตลาดควบพร้อมกันไป เพื่อให้ไก่ประดู่หางดำอยู่คู่อำเภอเวียงเชียงรุ้ง  อยากได้ไก่พันธุ์ประดู่หางดำไปเลี้ยงต้องมาชื้อที่เวียงเชียงรุ้ง  มาเยี่ยมหรือมาเที่ยวเวียงเชียงรุ้งต้องได้ซิมอาหารที่ทำมาจากไก่ประดู่หางดำ


หมายเลขบันทึก: 544239เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท