เข้าค่าย GRANSHAN 2013 ตอนที่ 2


ในการทำอะไรก็ตาม “พื้นฐาน” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และที่สำคัญที่สุดคือ การได้ทดลองทำในหลายๆ รูปแบบ

25/07/56

Workshop วันที่สอง พวกเราได้ร่วมกิจกรรมของ Granshan ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท โดยมี Professor MyungJin Kim ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาที่สถาบัน SADI (Samsung Art and Design Institute) เขตกังนัม สาธารณรัฐเกาหลี เป็นผู้นำการ Workshop ในวันนี้

ศาสตราจารย์ MyungJin Kim ท่านสอนนักศึกษาในหลากหลายสาขาวิชา อาทิ สาขาแฟชั่นดีไซน์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการออกแบบเพื่อการสื่อสาร โดยเริ่มสอนมาตั้งแต่ปี 2544 นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัล Excellence Award (1996) จาก American Corporate Identity และยังมีจัดแสดงงานศิลปะที่แกลเลอรี่อีกหลายแห่ง เช่น Stenerson Museum ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และ Chicago Cultural Center ประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งที่เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเกาหลี ปัจจุบันท่านมีสตูดิโอของตนเองและสอนหนังสือไปด้วย



ในวันนี้ศ.คิม ได้ทำ Workshop ในหัวข้อ “องค์ประกอบ 2 มิติในการออกแบบอักษรเกาหลี (ด้วยวิธีของ Joseph Albers)” ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะศ.คิมเริ่มที่องค์ประกอบศิลปะแบบ 2 มิติ (2D Element) อันได้แก่ Dot / Line / Plane / Shape / Pattern / Texture โดยในโจทย์เริ่มอุ่นเครื่องกำหนดให้มีเส้นนอน 1 เส้น เส้นตั้ง 1 เส้น และจุดวงกลมทึบ 1 จุด พร้อมกับเวลา 10 นาที และกระดาษขนาดเล็กๆ 1 แผ่น ให้เราเริ่มลงมือเขียนองค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ โดยไม่ได้จำกัดความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้แต่ละคนลงมือวาดกันอย่างขะมักเขม้นภายใต้ฐานความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และเมื่อเวลาผ่านไปครบตามกำหนด ศ.คิมจึงถามพวกเราว่า มีใครได้ตัว i บ้าง (คือวิธีการต่อเส้น) / ใครเล่นกับ Shape & Form / ใครใช้วิธีการทับซ้อนกันของเส้น และใครที่ใช้ลักษณะการต่อภาพเป็นอย่างอื่น ฯลฯ


ลักษณะของการให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ภายในระยะเวลาที่กำหนดแบบนี้ ทำให้ผลงานของผู้เข้าร่วม Workshop ปรากฎออกมาได้อย่างหลากหลาย สิ่งที่ศ.คิมถามก็คือการแบ่งแยกประเภทของความคิดสร้างสรรค์ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เห็นว่า แต่ละฐานความคิดนั้นได้ทำให้เกิดภาพและสัญลักษณ์ในรูปแบบใดขึ้นมาบ้าง จากนั้นจึงได้เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นฐานของการเขียนตัวอักษรเกาหลี ซึ่งก็เริ่มมาจากเพียงจุดและเส้นเช่นกัน

เมื่อเราเริ่มรู้จักพื้นฐานของการเขียนตัวอักษรเกาหลีในเบื้องต้นแล้ว ศ.คิมได้นำเราไปรู้จักกับเส้นอีก 2-3 เส้น และจุดอีก 1-2 จุด รวมถึงให้โจทย์ใหม่ในรูป Plane & Shape โดยเริ่มที่สี่เหลี่ยมธรรมดา สามเหลี่ยม และวงกลม โดยให้ลองลากเส้นเขียนตามรูปทรงดังกล่าวอย่างไรก็ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ซึ่งกำหนดไว้ให้อย่างสั้นๆ) และนั่นคือ การสอนถึงลักษณะโครงสร้างพื้นฐานของตัวอักษรเกาหลี ที่ศ.คิมแนะนำให้เรารู้จักกับตัวอักษรของเกาหลีภายใต้โครงสร้างแบบรูปทรงเรขาคณิต (Geometric Shape)

และในตอนบ่ายศ.คิมได้อธิบายให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างของตัวอักษรเกาหลีที่ถูกนำไปใช้ในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ป้ายร้านอาหาร ป้ายบอกทาง ตัวอักษรบนบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งตัวอักษรแต่ละแบบนั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้งานและกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานและโครงสร้างมาในลักษณะของรูปทรงเรขาคณิต (Geometric Shape) ทั้งสิ้น



โครงสร้างของตัวอักษรเกาหลีส่วนใหญ่มีความผูกพันกับความเป็นสัญลักษณ์ โดยคนเกาหลีได้สร้างสัญลักษณ์ที่งดงามและสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา คติธรรม วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ไว้ โดยเห็นได้จากสัญลักษณ์ที่อยู่บนธงของประเทศเกาหลี อันมีที่มาจากปรัชญาความเชื่อในเรื่องของสมดุลย์ (คือหยิน-หยาง) โดยสัญลักษณ์จากปรัชญาความเชื่อนั้นมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของความรัก (Love) โชคลาง (Luck / Fortune) ความอุดมสมบูรณ์ (Fertivity) และอายุที่ยืนยาว (Longivity) กอปรกับความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและญี่ปุ่น เช่น คติธรรมความเชื่อเรื่องเทพอสูรศักดิ์สิทธิ์ปกครองทิศและธาตุทั้ง 4 ซึ่งได้แก่ มังกรฟ้า (Dragon ในความเชื่อเกาหลีหมายถึง เพศชาย) – ธาตุไม้ / เสือขาว (White Tiger) – ธาตุลม / เต่าดำ (Black turtle) – ธาตุน้ำ และหงส์แดง (Vermilion Bird หรือเทียบเท่ากับนกฟีนิกซ์ (Phoenix) ตามความเชื่อของชาวตะวันตก โดยหงส์แดงนี้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่สื่อถึงความเป็นอมตะ และหมายถึงเพศหญิง) – ธาตุไฟ โดยมีจุดศูนย์กลางคือ พระอาทิตย์ (Sun)



หลังจากบรรยายเกี่ยวกับโครงสร้างตัวอักษรเกาหลี คติธรรม วัฒนธรรมประเพณีและปรัชญาความเชื่อต่างๆ ที่คนเกาหลีมีเป็นที่เรียบร้อย ศ.คิม ได้ให้เราคิดสร้างสรรค์ต่อยอดขึ้นไปอีก ด้วยการเล่นกับกระดาษที่มีรูปตัวอักษรเกาหลีพื้นฐาน ในคราวนี้ได้กำหนดให้เราทำอะไรก็ได้กับกระดาษที่ให้ไป จะพับ ตัด ดัด งอ ทำให้เป็น 2 มิติหรือ 3 มิติก็ได้ ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์จะปั้นแต่งขึ้นมา ซึ่งทำให้พวกเราสนุกกันมาก มัวเมาอยู่กับการตัด พับ และพิจารณาดูว่า มันจะเป็นอะไรได้บ้าง เล่นอะไรได้บ้าง และแทบไม่น่าเชื่อว่า ภายในระยะเวลาอันสั้นที่ศ.คิมให้เราได้ลองเล่นกับกระดาษ ได้ช่วยสร้างชีวิตให้กับตัวอักษรเกาหลีให้กลายเป็นอย่างอื่นๆ ได้อีกสารพัด เมื่อพวกเราบวกความคิดสร้างสรรค์ลงไปให้กับกระดาษแผ่นนั้น





ภายหลังจากการร่วมทำกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้แล้ว ศ.คิมได้สรุปให้พวกเราเห็นว่า ในการทำอะไรก็ตาม “พื้นฐาน” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และที่สำคัญที่สุดคือ การได้ทดลองทำในหลายๆ รูปแบบ จากเพียงแค่กระดาษแผ่นธรรมดาๆ ก็อาจทำให้เรามองเห็นมิติของงานสร้างสรรค์ได้หลากหลายขึ้น ดังนั้นการทำงานจากคอมพิวเตอร์หรือขึ้นต้นแบบในคอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว (แบบที่นักศึกษารุ่นใหม่ชอบทำกัน) อาจเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของคนเราไปเสียก็ได้ เพราะมองไม่เห็นทุกมิติของความน่าจะเป็น ซึ่งแตกต่างจากการทดลองทำด้วยมือ ที่จะทำให้สมองของเราได้มองเห็นและสามารถจำลองมิติของความน่าจะเป็น ให้เราได้ไอเดียไปต่อยอดและประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีได้มากกว่าที่เคย


(ขอขอบคุณศ.คิมในการจัดกิจกรรม Workshop ในครั้งนี้ กิจกรรมที่ทำให้พวกเราได้รับความรู้เพิ่มเติมและสนุกกันมากๆ ค่ะ)

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

http://www.granshan.com/th/myungjin-kim

http://www.sadi.net/

http://th.wikipedia.org/wiki/อสูรปกครองศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4



หมายเลขบันทึก: 544513เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะคุณพิสูจน์ ^^

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท