Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาลุงเป็งแห่งจังหวัดอุบลราชธานี - ตัวอย่างหนึ่งของคนต่างด้าวในประเทศไทย -คนต่างด้าวซึ่งเป็นราษฎรไทยแต่ไร้สัญชาติ


กรณีศึกษานายเป็ง แห่งอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
: ตัวอย่างหนึ่งของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นราษฎรไทยในทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘/๑)
แต่มิใช่แรงงานโดยข้อเท็จจริง
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖
https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151853842443834
----------------
โดยข้อเท็จจริง นายเป็ง ให้ปากคำว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ เขาเกิด ณ หมู่บ้านหนองแต้ใหญ่ แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในขณะที่เขาเกิด ไม่มีการแจ้งการเกิดของเขาในทะเบียนราษฎรของประเทศลาว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ในยุคนั้น ก็ยังไม่มีทะเบียนราษฎรลาว และต่อมา ก็มีปัญหาความไม่สงบในประเทศลาว จึงไม่มีใครในหมู่บ้านที่เขาเกิด ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนลาว

ต่อมา ในราว พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลาวในท้องที่ที่นายเป็งอาศัยอยู่มากขึ้น เขาและครอบครัวจึงอพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยทางด่านช่องเตาอู ใกล้บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่าพรานกระต่าย และมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพแก่งยางในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ในราว พ.ศ.๒๕๑๘

เขาไม่เคยได้รับการสำรวจจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครองไทยเลย นับแต่เขามาอาศัยในประเทศไทย เขาจึงไม่มีชื่อปรากฏในแบบพิมพ์ประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทยที่มีชื่อว่า “ลาวอพยพ” ดังเช่นที่เพื่อนบ้านมี

ใน พ.ศ.๒๕๔๗ มีการประกาศให้คนสัญชาติลาวที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ไปแสดงตัวเพื่อขึ้นทะเบียนบุคคลในสถานะของ “แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน” นายเป็งและครอบครัวจึงไปแสดงตนที่อำเภอและขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว โดยผลของการนี้ นายเป็งถูกระบุในแบบรับรองทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ที่ออกโดยอำเภอบุณฑริกว่า มีสัญชาติลาว เอกสารดังกล่าวระบุว่า เขาอาศัยอยู่ ณ บ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งครอบครัวนับถือศาสนาพุทธ

นายเป็งมีความรู้ทางภาษาไทยในระดับฟังและพูดได้เท่านั้น ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เลย

อนึ่ง โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ รัฐบาลไทยกำหนดเกณฑ์ที่จะให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่คนต่างด้าวจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา หากบุคคลดังกล่าวไปแสดงตนขึ้นทะเบียนกับเขตหรือเทศบาลหรืออำเภอหรือกิ่งอำเภอ แล้วไปรับใบอนุญาตทำงานตามมาตรา ๑๒ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ และไปตรวจสุขภาพตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
จะเห็นว่า นายเป็งได้ไปขึ้นทะเบียนบุคคลกับอำเภอบุณฑริกเท่านั้น แต่มิได้ไปรับใบอนุญาตทำงานและไปตรวจสุขภาพ

นายเป็งได้อยู่กินกันฉันท์สามีภริยากับนางเผิง ซึ่งอพยพมาด้วยกันจากแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว และมีบุตรด้วยกัน ๗ คน คนแรก ก็คือ นางภูวรซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ ณ บ้านแก่งยาง (ศูนย์อพยพแก่งยาง) จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นทำคลอดกันเองในป่า จึงไม่มีเอกสารรับรองการเกิดที่ออกโดยผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล
นางภูวรได้แต่งงานตามประเพณีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ นายประสิทธิ์ และ มีบุตร ๒ คน คือ ด.ญ.นิดา อายุ ๔ ปี และ ด.ช.อำคา แก้วมั่น อายุ ๒ ปี

นายเป็งและครอบครัวประกอบอาชีพด้วยการทำงานหัตถกรรม เช่น กระติบข้าวเหนียว ฮวดนึ่งข้าว หาของป่า เพื่อนำไปแลกข้าวสาร
โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เมื่อนายเป็งไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยอันทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลกฎหมาย และข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดกับประเทศไทยอันทำให้นายเป็งได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย กล่าวคือ เขาไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยข้อกฎหมาย

นอกจากนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเป็งยังไม่ได้รับการรับรองความเป็นคนสัญชาติลาวจากรัฐลาว แม้ว่า เขาจะยอมรับว่า เกิดในประเทศลาวจากบุพการีที่เกิดในประเทศดังกล่าว และแม้มีเอกสารของทางราชการไทยระบุว่า นายเป็งมีสัญชาติลาว ก็ไม่อาจทำให้นายเป็งมีสถานะเป็น “คนสัญชาติลาว”

โดยข้อเท็จจริงซึ่งฟังได้ว่า นายเป็งยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลก นายเป็งจึงยังตกเป็น “คนไร้สัญชาติ”

แต่เมื่อฟังได้ว่า ใน พ.ศ.๒๕๔๗ นายเป็งได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ครอบครัวของนายเป็งตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย โดยผลของมาตรา ๓๗ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย จึงต้องถือว่า นายเป็งย่อมมีภูมิลำเนามีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และเมื่อเขาประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกกันในปกติประเพณีการปกครองของกรมการปกครองว่า เขาไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กรมการปกครองไทยจึงมีหน้าที่บันทึกเขาในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร เขาจึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายในประเทศไทยเป็น “คนมีรัฐ” มิใช่ “คนไร้รัฐ” แต่ยัง “ไร้สัญชาติ”

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายเป็งจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวใน ท.ร.๓๘/๑ แต่เขาก็ยังมีสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองเป็น “คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย” ทั้งนี้ เพราะในขณะที่เขาหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เขาไม่มีโอกาสร้องขออนุญาตเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

ขอให้ตระหนักว่า เมื่อนายเป็งมีชื่อใน ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งใช้ในการบันทึก “แรงงานจากพม่าลาวกัมพูชา” ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและมาแสดงตนเพื่อขอขึ้นทะเบียนแรงงานใน พ.ศ.๒๕๔๗ เขาจึงอาจถูกเรียกว่าเป็น “แรงงานต่างด้าวจากประเทศลาว” ทั้งที่ในความเป็นจริง เขาเป็น “ผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตายจากประเทศลาว” ที่ตกหล่นการสำรวจทะเบียนประวัติประเภท “ลาวอพยพ” ซึ่งออกให้แก่คนหนีภัยความตายให้แก่คนลาวในราว พ.ศ.๒๕๓๐

แต่หากเราเชื่อว่า “แรงงาน” จะต้องมีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” และต้องมี “นายจ้าง” ลุงเป็งก็ไม่มีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวแต่อย่างไร ลุงเป็งทำงานรับจ้างอิสระทั่วไป ในทางนิติศาสตร์ ลุงเป็งก็คือผู้รับจ้างทำของหรือผู้ขายเครื่องสานต่างๆ ที่ลุงเป็งสร้างสรรค์ในแต่ละวัน ลุงเป็งจึงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการอิสระ แต่เมื่อลุงเป็งมีชื่อในทะเบียนประวัติที่ใช้บันทึกแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ กล่าวคือ ท.ร.๓๘/๑ ลุงเป็งจึงถูกเรียกว่า แรงงานสัญชาติลาวไปด้วย ทั้งที่ไม่บัตรประชาชนลาว และไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐลาวแต่อย่างไร

เรื่องราวของลุงเป็งจึงเป็น “ตัวอย่างหนึ่งของมายาคติของความเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย” ที่ผู้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประเทศไทยมักใช้สอนในปัจจุบัน

ลุงเป็งมาแบ่งปันเรื่องราวในห้องเรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

 


นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในวันนั้น พูดคุยกับลุงเป็งด้วยภาษาอิสาน
และหลายคนมีน้ำตาซึมด้วยความสงสารลุงเป็ง

หมายเหตุ

(๑) เป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยได้เข้าศึกษาในราว พ.ศ.๒๕๔๙ – ๒๕๕๒ ลุงเป็งซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องประสงค์ที่จะให้ผู้เขียนใช้ในการทำความเข้าใจกับสังคมไทยเกี่ยวกับคนตกหล่นจากการทำทะเบียนประวัติคนลาวอพยพใน พ.ศ.๒๕๓๔

(๒) ตามนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ ๒ ลาวอพยพ หมายถึง คนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องของตนในประเทศไทย (มิได้หมายถึงลาวอพยพที่องค์การสหประชาชาติส่งเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบแล้วไม่ได้กลับประเทศลาว) สาเหตุเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และมาแต่งงานกับคนไทยจนกระทั่งมีบุตรด้วยกัน โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัด ๑. หนองคาย ๒. อุบลราชธานี ๓. เลย ๔. นครพนม ๕. มุกดาหาร ๖.พะเยา ๗. เชียงราย ๘.อุตรดิตถ์ และ ๙. น่าน มีการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔

โปรดศึกษา พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คนเคยถือบัตรลาวอพยพ : พวกเขาคือใครกันแน่ ?, เอกสารอธิบายความเป็นมาของทะเบียนประวัติคนลาวอพยพและบัตรลาวอพยพ, เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ http://www.gotoknow.org/posts/269498 <วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

 

หมายเลขบันทึก: 546453เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท