ความสัมพันธ์ของเพลี้ยจักจั่นกับเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลงนา


ในห้วงช่วงสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินแต่เรื่องการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไปทั่วทั้งภูมิภาค โดยจะมีการระบาดมากที่สุดก็คือภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเกือบทั้งหมด  และระหว่างหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมานี้ก็เริ่มมีข่าวลุกลามไปทางฝั่งภาคตะวันออกแถบจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ก่อให้เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านโดยมีงบส่วนกลางจากรัฐบาลส่งตรงไปยังหน่วยงาน อบต. เทศบาลต่างๆ ให้ไปช่วยเหลือจัดการพี่น้องประชาชนชาวไร่ชาวนาที่ประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติจากศัตรูพืชเหล่านี้


ความจริงแล้วศัตรูของต้นข้าวยังมีอีกชนิดหนึ่งที่น่าสะพรึงกลัวไม่แพ้กัน นั่นก็คือเพลี้ยจักจั่น ที่พบเห็นในแปลงนาข้าวบ่อยๆ ก็มีอยู่สองชนิดคือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก สำหรับข้อมูลตัวแรกคือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (green rice leafhopper)      เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) (ชี่อวิทยาศาสตร์)  และ Nephotettix nigropictus (Stal) (ชื่อวิทยาศาสตร์)  ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิดมีสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ขนาดลำตัวยาวไม่แตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ N. nigropictus (Stal) มีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ N. virescens (Distant) ไม่มี ตัวเต็มวัยไม่มีชนิดปีกสั้น เคลื่อนย้ายรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน  สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร  ชอบบินมาเล่นไฟตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว  วางไข่เป็นกลุ่ม 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ๆมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน
ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง  ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน  ตัวอ่อนมี 5 ระยะ  ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน

และสำหรับตัวที่สองคือ เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก (zigzag leafhopper)    เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Recilia
dorsalis  (Motsuchulsky))  ตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แต่ขนาดเล็กกว่า  ลำตัวยาวประมาณ 2
มิลลิเมตร สีขาว ปีกสองข้างมีลายหยักสีน้ำตาลเป็นทาง เพศเมียวางไข่บริเวณเส้นกลางใบ  ประมาณ
100-200 ฟองในระยะตัวเต็มวัยนาน 10- 14 วัน  วางไข่เดี่ยวๆระยะไข่นาน 4-5 วัน ตัวอ่อนมีสีขาว ในขณะที่เพลี้ยจักจั่นมีสีเขียวอ่อน  ตัวอ่อนมี  5 ระยะ   (ข้อมูลกรมการข้าว)

เพลี้ยจักจั่นนี้สามารถเข้าทำลายต้นข้าวได้ตั้งแต่ระยะเตรียมกล้า ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจนใบพืชซีดเหลือง  ถ้ามีปริมาณมากๆ ก็จะทำให้ข้าวต้นและใบแห้งไหม้ ตัวของเพลี้ยจักจั่นสามารถที่จะเป็นพาหะนำโรคใบสีส้ม คือมีอาการสีแสดจากปลายใบที่ใบล่าง และจะเป็นสีแสดทั่วทั้งใบยกเว้นเส้นกลางใบ ใบที่เป็นโรคทั้งใบจะม้วนจากขอบใบทั้งสองช้างเข้ามาหาเส้นกลางใบทำให้ใบแห้งในที่สุด และโรคหูด ซึ่งมีอาการต้นเตี้ย แคระแกร็น ใบมีสีเขียวเข้ม และสั้นกว่าปกติ จะมีอาการคล้ายโรคจู๋อยู่มาก ที่บริเวณหลังและกาบใบจะปรากฏปุ่มปมขนาดเล็ก สีเขียวซีดหรือขาวใส ลักษณะคล้ายเม็ดหูด เม็ดหูดนี้ก็คือเส้นใบที่บวมปูดออกมานั่นเอง 
เมื่อเกิดโรคทั้งสองชนิดนี้ขึ้นกับข้าวจะทำให้การแตกกอช้า ใบเหลืองซีด สังเคราะห์แสงได้น้อย ต้นเตี้ยแคระแกร็น ส่งผลให้รวงไม่สมบูรณ์ผลผลิตลดน้อยถอยลง

เป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า เพลี้ยจักจั่นจะเข้าระบาดมากที่สุดในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวหนาแน่น และต้นข้าวอวบอ้วนเขียวมากเกินปรกติ ซึ่งจะตรงกับลักษณะหรือพฤติกรรมของเกษตรกรที่ชอบใช้เมล็ดข้าวมากกว่า 1 ถังครึ่งและชอบใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินไปและไม่มีการผสมกับหินแร่ภูเขาไฟ (Vocanic  Rock) ซึ่งช่วยทำให้เป็นปุ๋ยละลายช้า โดยที่บางครั้งยังไม่ถูกช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
มักใส่ในระยะที่ข้าวยังไม่สู่กระบวนการแตกกอทำให้เนื้อปุ๋ยมีความเข้มข้นและมากเกินไป เมล็ดข้าวเม็ดเดียวที่ยังไม่แตกกอจึงดูดกินเข้าไปมาจนเฝือใบ  และสังเกตได้ชัดเจนว่าจะมีการระบาดของเพลี้ยเหล่านี้น้อยในพืขที่มีการสะสมซิลิก้า (H4Sio4) (1. พัชนี ชัยวัฒน์  2544,  ผลของซิลิก้าในต้นข้าวต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2. Effect of Silicon Application on Corn Plants Upon the Biological Development of the Fall ArmywormSpodoptera frugiperda (J.E. Smith) (Lepidoptera: Noctuidae) ที่ผิวใบมากเพียงพอจนทำให้การดูดกินน้ำเลี้ยงของเพลี้ยเหล่านี้ทำได้ยาก

 

มนตรี  บุญจัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

 

หมายเลขบันทึก: 546658เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท