พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ


เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติ ขาดไร้บุพการี วัย ๑๒ ปี ซึ่งปรากฏตัวในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อกฎหมายซึ่งกำหนด หน้าที่ของหน่วยงานในรัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับรอง คุ้มครองและไม่ละเมิดสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม ซึ่งสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ได้แก่ ๑. สิทธิที่จะไม่ตกอยู่ในข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย”ของน้องมูฮัมหมัด ๒. สิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทย” ของน้องมูฮัมหมัด ๓. สิทธิในการศึกษาของน้องมูฮัมหมัด ๔. สิทธิที่จะได้รับการดูแลในสถานแรกรับของประเทศไทย ในฐานะเด็กกำพร้าที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ ๕. สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือรับรองสถานะคนอยู่ในประเทศไทย เพื่อขจัดความไร้รัฐ ๖. สิทธิที่จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม หรือครอบครัวอุปถัมภ์

รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม
เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ (ตอนที่ ๒)
โดย โครงการบางกอกคลินิก
ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีดำเนินคดีกับน้องมูฮัมหมัดข้อหาคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ได้ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปกักตัวที่อาคารกักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เพื่อ “รอการผลักดันออกนอกราชอาณาจักร” โดยมีหนังสือส่งตัวเลขที่ ๐๐๒๙.๗๓(๙)/๑๔๑๙ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาได้รับตัวน้องมูฮัมหมัดไว้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖) จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาความผิดตามกฎหมายที่มีลักษณะโทษทางอาญาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

• วิเคราะห์ข้อกฎหมาย “สิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทย” ของน้องมูฮัมหมัด
เนื่องจาก การส่งกลับคนต่างด้าว ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น ย่อมหมายถึง “การส่งตัวคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย” แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้องเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แสดงให้เห็นว่าน้องมูฮัมหมัดไม่มีประเทศอื่นเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล ไม่เคยถูกยอมรับเป็นคนสัญชาติพม่า เราจึงไม่อาจจะสรุปได้ว่าน้องมีรัฐต้นทางให้เดินทางกลับไป เพราะฉะนั้นการส่งน้องมูฮัมหมัดออกนอกประเทศไทยในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในชีวิตรอดของน้องมูฮัมหมัด ตามข้อ ๓ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๖ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี ตลอดจนตามมาตรา ๔ ประกอบมาตรา ๓๒ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าน้องมูฮัมหมัดคือเด็กกำพร้าขาดไร้บุพการีตามข้อกฎหมาย การส่งน้องมูฮัมหมัดออกนอกประเทศไทยยิ่งจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิของเด็ก ประการสำคัญคือการกระทำดังกล่าว ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งถูกนำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๒๒

• ข้อสังเกตต่อประเด็นที่ ๕ การส่งตัวน้องไปยังจังหวัดสงขลา
การกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตรวจคนเข้าเมือง ตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งโดยหลักแล้วตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีย่อมมีอำนาจกักตัวน้องมูฮัมหมัด และส่งน้องเข้าคุ้มครองภายใต้การดูแลของสถานสงเคราะห์ภายในจังหวัดปัตตานีได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เนื่องจากครอบครัวของเด็กย่อมสามารถเดินทางมาเยี่ยมน้องได้โดยสะดวก

แต่ ตรวจคนเข้าเมืองสงขลากลับพิจารณาส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปยังจังหวัดสงขลา ซึ่งส่งผลให้เด็กต้องห่างจากครอบครัวโดยระยะทาง และส่งผลให้เด็กยิ่งรู้สึกอยากกลับบ้านและต่อต้านการเข้ารับการคุ้มครองในสถานสงเคราะห์จังหวัดสงขลา

ดังนั้น จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า การพิจารณาส่งตัวน้องมูฮัมหมัดนั้น เกิดจากเหตุจำเป็นใด ซึ่งหากไม่มีเหตุอันจำเป็นอย่างยิ่ง การส่งตัวเด็กไปยังจังหวัดสงขลานั้นย่อมเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖


๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ด้วยตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลามีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเด็กจึงได้ดำเนินการตาม มาตรา ๕๔ วรรคสาม ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้พิจารณาให้ น้องมูฮัมหมัดซึ่งเป็นเด็ก ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองแยกต่างหากจากคนต่างด้าวทั่วไป จึงส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปเข้ารับความคุ้มครองภายใต้บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)


• ข้อสังเกตต่อประเด็นที่ ๖ เรื่องระยะเวลาในการพิจารณาส่งเด็กเข้าไปอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา
อย่างไรก็ดี การใช้ระยะเวลาในการพิจารณาว่า น้องมูฮัมหมัดเป็นเด็ก และส่งตัวน้องไปยังสถานสงเคราะห์นั้น ใช้ระยะเวลาถึง ๓ วัน (วันที่ ๒๔ – ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖) จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าความล่าช้านั้นเกิดจากสาเหตุใด เป็นเหตุจำเป็นอันสมควรหรือไม่ เนื่องจากการคุ้มครองเด็กนั้น ยิ่งล่าช้า ยิ่งละเมิดสิทธิของเด็ก
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ น้องมูฮัมหมัดได้หนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา กลับไปอยู่กับอา คือ นายซุลกิฟลี ที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา ซึ่งนายซุลกิฟลี เล่าว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านพัก ฯ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อหลานชายของตน (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา แจ้งเรื่องการหลบหนีของน้องมูฮัมหมัดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา และแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ น้องมูฮัมหมัดถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีจับกุมและส่งตัวมายังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาซักถามปากคำน้องมูฮัมหมัด และน้องมูฮัมหมัดรับว่าตน คือ เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ซึ่งหลบหนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาจึงจับกุมดำเนินคดีน้องมูฮัมหมัด ในความผิดฐานหลบหนีจากการควบคุมตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยบันทึกว่า น้องมูฮัมหมัดรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา (รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖)

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา (ปรากฏรายละเอียดตาม คำร้องตรวจสอบการจับคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ตจ.๔๙๒/๒๕๕๖)

จากนั้น น้องมูฮัมหมัดถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาเป็นเวลากว่า ๒ เดือน

๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ยื่นฟ้องน้องมูฮัมหมัดในคดีอาญาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ในความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งในคำฟ้องระบุว่า บิดามารดาของน้องมูฮัมหมัดเสียชีวิต และ “ขณะนี้น้องมูฮัมหมัดอยู่ในความปกครองของตนเอง” (ปรากฏรายละเอียดตาม คำฟ้องคดีอาญา ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ๕๒๑/๒๕๕๖)

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาได้พิจารณาคดีและมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาปล่อยตัวน้องมูฮัมหมัดทันที ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษาว่ากล่าวตักเตือนน้องมูฮัมหมัดแล้ว ตามมาตรา ๗๔(๑) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (ปรากฏรายละเอียดตามหมายปล่อยที่ ๒๑๗/๒๕๕๖ ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๔๙/๒๕๕๖)

๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ส่งตัวน้องมูฮัมหมัดไปอยู่ภายใต้การควบคุมของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาซึ่งเข้าใจในข้อกฎหมายเรื่องการส่งกลับ ที่ต้องอยู่ภายใต้กระบวนการที่ปลอดภัยต่อผู้ถูกส่งกลับ และต้องพบว่าผู้ถูกส่งกลับมีประเทศต้นทางให้เดินทางกลับไปได้ ยิ่งในกรณีของเด็กที่ขาดไร้บุพการีการส่งกลับต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็ก เมื่อยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่กระบวนการส่งกลับตามกฎหมายได้ จึงได้ส่งตัวน้องมูฮัมหมัด ในฐานะของเด็กที่ขาดไร้บุพการี ไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสถานแรกรับในสังกัดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีภารกิจเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและผู้ด้อยโอกาสยากไร้

หมายเลขบันทึก: 546692เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท