Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ระดมแรงสมองมาสนับสนุนคุณเก๋ในการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่น้องภคพรแห่งอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี


กรณีศึกษาน้องภคพร... เด็กไร้รัฐในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี...ฤๅกฎหมายของรัฐสภาไทยจะไม่ศักดิ์สิทธิ์

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

-----------

ข้อหารือ

----------

เมื่อวานนี้ (๒๗/๘/๒๕๕๖) คุณเก๋ นักศึกษาในวิชาหลักวิชาชีพของนักกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเล่าให้ทราบว่า  คุณเก๋และเพื่อนพบว่า น้องภคพร อายุ ๑๐ ปี ประสบปัญหาความไร้รัฐหรือปัญหาความไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

และในวันนี้ (๒๘/๘/๒๕๕๖) คุณเก๋อีเมลล์มาเล่าอีกว่า

“ทางกลุ่มได้พาเจ้าบ้านจะไปขอทำสูติบัตร และย้ายเข้าทะเบียนบ้านให้เด็ก แต่ทางเขตบางใหญ่ อ้างว่าเด็กเกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖  แจ้งเกิดเกินกำหนด ทางเขตไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะต้องมีการเสนอเรื่องต่อนายอำเภอ เพื่อพิจารณา สอบสวน แต่ทางเขตก็เงียบไปไม่ดำเนินการต่อ (เจ้าบ้านไปติดต่อหลายครั้งแล้ว ก่อนที่เราจะพาไปติดต่อ)

วันนี้ ได้ติดต่อไปอีก เพื่อที่จะขอความคืบหน้า แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าตามระเบียบเดิม ไม่สามารถทำได้ แต่ไม่รู้ว่ามีระเบียบใหม่ออกมาหรือไม่ ทางเราบอกว่ามีระเบียบจากทางสำนักทะเบียนกลาง ว่าสามารถทำได้

ทางเขต ให้เราอ่านระเบียบให้ฟัง และให้ fax ระเบียบไปให้ แล้วจะโทรกลับถ้าได้เอกสารแล้ว แต่ก็ไม่ติดต่อกลับมา เราจึงโทรกลับไปอีก ทางเขตอ้างว่ายังไม่ได้รับ fax ถ้าได้รับแล้วจะติดต่อกลับมา แต่ก็ยังคงเงียบเช่นเดิมค่ะ

คุณเก๋เล่าอีกว่า น้องภคพรเพิ่งเข้าเรียนชั้น ป.๑ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ที่โรงเรียนวัดสังวรพิมลไพบูลย์ บางใหญ่ค่ะ

-----------

ข้อเท็จจริง

----------

นอกจากนั้น พร้อมกับอีเมลล์นี้ คุณเก๋ยังแนบเอกสารรับรองตัวบุคคลของบิดาและมารดาของน้องภคพรมาด้วย ๕ ฉบับ กล่าวคือ (๑) หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ออกโดยโรงพยาบาลบางใหญ่ระบุว่า ด.ญ.ภคพร ไม่มีนามสกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๖ ที่โรงพยาบาลบางใหญ่ โดยมีบิดาชื่อว่า “นายอารี ชาวกะเหรี่ยง” และมีมารดาชื่อว่า “นางหวา ชาวกะเหรี่ยง” เอกสารนี้ระบว่า น้องภคพร ตลอดจนบิดาและมารดามีสัญชาติพม่า (๒) สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ซึ่งสำนักทะเบียนอำเภอบางใหญ่ออกให้แก่นายอารี เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (๓) สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ซึ่งสำนักทะเบียนอำเภอบางใหญ่ออกให้แก่นางหวา เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒  (๔) สำเนาหนังสือเดินทางคนสัญชาติพม่าที่ออกโดยทางราชการพม่าให้แก่ Hi A Wor Awor เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ และ (๕) สำเนาหนังสือเดินทางคนสัญชาติพม่าที่ออกโดยทางราชการพม่าให้แก่ Saw Ma Hmite Phaung เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

-----------------------------------------------

คำตอบและคำถามต่อไปของ อ.แหวว

-----------------------------------------------

อ.แหววจึงถามคุณเก๋กลับไปว่า “เราก็ส่งจดหมายเป็นทางการซิคะ เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องชื่ออะไรคะ มาลุยกันค่ะ”

เรื่องนี้จะต้องกราบเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เสียแล้วค่ะ

นอกจากนั้น ขอแนะนำให้คุณเก๋ลองหารือคุณพ่อและคุณแม่ของน้องว่า มีพยานบุคคลสัก ๒ คนที่รู้จักคุณพ่อและคุณแม่มาตั้งแต่น้องเกิดไหมคะ คงต้องเอามาสืบประกอบเอกสารนะคะ

แผนการคร่าวๆ นะคะ เราคงต้องสอบปากคำพยานบุคคลทั้ง ๒ คนนี้ และเตรียมเขียนคำร้องเพื่อขอทำหนังสือรับรองการเกิดให้กับน้องภคพรค่ะ ซึ่งเอกสารนี้ก็มีผลทางกฎหมายเหมือนสูติบัตร และถือเป็นเอกสารที่นำไปสู่การจดทะเบียนคนเกิดให้แก่น้องภคพร และทำให้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

อ.แหววคงต้องอธิบายหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรค่ะ นัดมานะคะ จะช่วยติวให้เพื่อเตรียมคำร้องนี้ค่ะ

พอยื่นคำร้องแล้ว งานของพวกคุณให้วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายก็น่าจะจบนะคะ ถ้าอำเภอบางใหญ่ไม่ยอมจัดการจดทะเบียนคนเกิดให้กับน้องภคพร ก็ให้ “ครูหยุย อาจารย์วัลลภ ตังคณานุรักษ์” ซึ่งทำหน้าที่กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ หรือ “คุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” ซึ่งทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดการต่อแล้วกันค่ะ หรือพวกคุณจะย้อนมาฟ้องศาลปกครองหลังสอบเสร็จก็ได้ค่ะ

อยากขอแรงรุ่นพี่ที่เคยฝึกทนายความกับ อ.แหวว มาสนบับสนุนคุณเก๋หน่อยนะคะ

-----------------------------------------------

ข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------------------

ข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑

           ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด. (Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.)

 

ข้อ ๒๔ (๒) แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

เด็กทุกคนย่อมมีหลักฐานทางทะเบียนทันทีที่ถือกำเนิดและย่อมได้รับการตั้งชื่อ (Every child shall be registered immediately after birth and shall have a name.)

 

ข้อ ๗ (๑)  แห่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒

           เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน (The child shall be registered immediately after birth and shall have the right from birth to a name, the right to acquire a nationality and. as far as possible, the right to know and be cared for by his or her parents.)

-----------------------------------

ข้อกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

-----------------------

หมวด ๓ คนเกิด คนตาย

-----------------------

--------------

มาตรา ๑๘

--------------

เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดดังต่อไปนี้

(๑)      คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(๒)      คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (๑) และ (๒) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

------------------

มาตรา ๑๙/๓

------------------

ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา ๑๘ อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด และให้นำความในมาตรา ๑๙/๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองแจ้งแทนได้ แต่สำหรับกรณีของบิดามารดา ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการให้ต่อเมื่อได้ชำระค่าปรับตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๗ (๒) และมาตรา ๕๑ แล้ว

------------------

มาตรา ๒๐

------------------

เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ หรือมาตรา ๑๙/๓ ทั้งกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งโดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถจะทราบได้

สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยให้ระบุสถานการณ์เกิดไว้ด้วย

------------------

มาตรา ๒๐/๑

การกำหนดหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎรที่จะออกหนังสือรับรองการเกิด

------------------

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

--------------

มาตรา ๒๓

--------------

เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) หรือการตาย (ท.ร.๔/๑) ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 546897เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2013 00:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท