สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑. ผู้ทำนุบำรุง


 

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

ตอนที่ ๑ นี้ ตีความจากบท Introduction : Obviously not all teachers are parents, but all parents are teachers.   อ่านแล้วผมนึกถึง บ้านผู้หว่านที่สามพราน นครปฐม   ที่หมายถึงการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี   แต่คิดดูอีกที หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการสอน (ฝึก) เด็กให้เป็นคนดี   โดยที่เด็กแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว    ผมจึงตั้งชื่อตอนนี้ว่า ผู้ทำนุบำรุง” (เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ที่มีอยู่ในตัวเด็ก

ผู้เขียนบอกว่า นิสัยหรือบุคลิกที่ดี เช่นความเห็นอกเห็นใจ และเคารพผู้อื่น เป็นสิ่งที่สอน (ฝึก) ได้ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน   ครูและพ่อแม่ที่ฝึกเด็กให้เป็นคนดี เป็นผู้ช่วยให้ สังคมและโลก เป็นที่ปลอดภัย ร่มเย็น และเป็นธรรม สำหรับทุกคน   ผมอยากให้คนเราทุกคนมีสำนึกเช่นนี้ สำนึกพลเมือง

แต่พ่อแม่และครูที่มีความมุ่งมั่นทำนุบำรุง พันธุ์เทพในตัวเด็กในยุคปัจจุบัน   ต้องเผชิญความท้าทายอย่างหนัก   จากสภาพแวดล้อมรอบด้าน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชน   มักให้ความบันเทิงเจือกิเลส    ในขณะที่ครูและพ่อแม่พยายามสร้างนิสัยดี ที่เขาใช้คำว่า character building   แต่สื่อมวลชนทำ character assassination   คือทำฆาตกรรมนิสัยดี   เท่ากับสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นมลพิษต่อสุขภาวะของพวกเรา

ไม่ว่าในวัฒนธรรม online หรือ offline ทารุณกรรมมักถูกละเลยหรือยกย่อง    พ่อแม่และครูจึงต้อง ทำนุบำรุงความดีงามในท่ามกลางกระแสสังคมที่ไหลบ่าไปในทางตรงกันข้าม 

ผู้เขียนบอกว่า วัยรุ่นในสมัยนี้ถูกบีบคั้นจากเพื่อนๆ    และตกอยู่ในสภาพที่วิตกกังวล กับสภาพของตนเองยิ่งกว่าสมัยใดๆ    เขาใช้คำว่า status anxiety   ผมไตร่ตรองว่า นั่นเป็นสภาพสังคมอเมริกัน   ที่ไม่เหมือนสังคมไทยหรือเปล่า    ไตร่ตรองแล้ว ก็คิดว่าวัยรุ่นไทยก็ตกอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกัน   และทำให้วัยรุ่น  ต้องประพฤติตนตามเพื่อน   และบ่อยครั้งนำไปสู่ความเสื่อม   เป็นการเพาะ พันธุ์มารในตน   (มีผู้เขียนเล่าการสัมภาษณ์แม่วัยรุ่น ในประเทศไทย) ว่าที่ตนต้องมีเพศสัมพันธ์ ก็เพื่อให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ได้)

แต่ผู้เขียนก็บอกว่า เราสามารถทำนุบำรุงเยาวชนของเรา ให้เป็นคนดี   ที่มีใจช่วยเหลือผู้อื่น และมีความกล้าหาญทางสังคม ที่จะลงมือทำตามเจตนาดี

พวกเราเป็นเสมือนชาวสวน   ที่ทำหน้าที่ ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี   และหมั่นรดน้ำพรวนดิน ทำนุบำรุง ให้ส่วน พันธุ์เทพงอกงาม   แม้จะมีกระแสสังคมที่กระตุ้น พันธุ์มารก็ตามที  

ผู้เขียนฉลาดมาก หาวิธีนิยามคำว่าความดี จากการ ถามปวงชน” (crowdsourcing)   และได้คำตอบที่นำมาจัดหมวดหมู่ได้ ๘ คุณสมบัติ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence), จริยธรรม (ethics), ช่วยเหลือผู้อื่น (help), ให้อภัย (forgiveness), ความเห็นใจ (compassion), เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy), การยอมรับ (acceptance), และ ความกล้าหาญทางสังคม (social courage)

ผู้เขียนบอกว่า คุณสมบัติทั้ง ๘ ประการนี้ ฝึกได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปโตเกียว

 

 

หมายเลขบันทึก: 547284เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2013 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2013 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์  ที่กรุณา  นำ เรื่องราว   "การสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความดี"  โดยเฉพาะ  

นิยามแห่ง ความดี ที่น่าสนใจ  8 ประการ สร้างได้  /// ขออนุญาต  นำไปเผยแพร่  ต่อนะคะ

อยากชวน สคส. ทำ Crowdsourcing ทาง GotoKnow กันอีกค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท