เล่าแลกเปลี่ยนงานเขียนข่าว (1)


คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษ แก่บุคลากรและผู้สนใจ หัวข้อ BOOK to BLOG และการประชาสัมพันธ์ เชิญฉันและพี่ที่ทำงานอีกหนึ่งคนไปช่วยเป็น วิทยากรกระบวนการ ในวันที่ 10 กันยายน 2556  เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิควิธีการเขียนข่าวในรูปแบบต่างๆ  สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กร   ตลอดจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในเชิงปฏิบัติการด้านการเขียนข่าว เพื่อประชาสัมพันธ์คณะเภสัชศาสตร์   โดยคาดหวังว่าผู้เข้ารับฟังการบรรยาย สามารถนำไปปรับใช้ปฏิบัติงานด้าน การประชาสัมพันธ์ได้

ในภาคการเขียนข่าวนั้น...

“เวลา เขียนข่าว ฉันมองที่คนและเนื้อหาสาระข่าว ค่ะ ส่วนเรื่องการเผยแพร่ จะมองดูสื่อและช่องทางการสื่อสาร บันทึกนี้พูดแต่เรื่องการเขียนข่าวนะคะ”

ตามประสบการณ์ทำงานของฉัน จุดเริ่มต้นและจบลงอยู่ที่ “ตัวบุคคล”  คือ คนเขียนข่าว และ คนอ่านข่าวหรือคนที่เราต้องการให้ได้รับข่าวสาร และตรงกลางคือ “ข้อมูล” ที่ต้องการนำเสนอเผยแพร่

“ตัวบุคคล”  

·       ตัวผู้สร้างข่าว เขียนข่าว ต้องทำ 4 ประการ

  1.  ต้องศึกษาทำความเข้าใจองค์กรอย่างละเอียดรอบด้าน
  2. ต้องศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภทแต่ละสำนัก
  3. ต้องสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง
  4. ต้องสามารถประมวลผลความเคลื่อนไหวของข่าวสาร/เหตุการณ์รอบตัวมาใช้ประโยชน์ในการสร้างประเด็นข่าวได้อย่างเหมาะสม

·       ตัวคนรับสาร เป็นใคร และเรามีวัตถุประสงค์จะให้เขาทำอะไรหลังจากรับรู้แล้ว  ศึกษา ผู้รับสาร ดูความชอบ ไม่ชอบ ความต้องการ(อยาก) ไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่ เป็นต้น เพราะว่าเราอาจต้องใช้พลังการคิดน้อยไปถึงมาก ที่จะสร้างแรงจูงใจ

สำหรับ “ข้อมูล” เนื้อหาสาระข่าว  ฉันมองว่า สั้น เข้าใจง่าย มีประเด็น(ไม่ควรเกินสองประเด็น) ค่ะ

ประสบการณ์การเรียนรู้ ต่อยอดจากผู้รู้ก่อนหน้า(กลุ่มพีอาร์มืออาชีพ)  บอกเราว่า การสร้างประเด็นข่าว มีหัวใจสำคัญ ๆ คือ  1ทันสถานการณ์    2มีความน่าสนใจของประเด็นที่จะสื่อสารออกไป จะเขียนจะพูดอะไรเขาบอกว่าต้องให้คลิกตั้งแต่ในกลุ่มคนทำงาน  ส่วนองค์ประกอบสำคัญในประเด็นข่าว จะต้องมี   1 ความแปลก  2 คุณค่าหรือความสำคัญ  เช่น นวัตกรรม  3 ความโดดเด่น  4 ความรวดเร็ว

ทีนี้ประเด็นที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับน้องๆ ทีมงานคณะ เภสัชศาสตร์ ประมาณ 30 คน โจทย์ของผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ คือ การเขียนข่าวเพื่อให้มีข่าวแจ้งไปยังศิษย์เก่า และผู้สนใจทั่วไป ทั้งเรื่องราวเพื่อการ "ก่อ" "กัน" "แก้" อันเป็นวัตถุประสงค์หลักๆ ของการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์

สิ่งแรกจะบอกว่า  “ปัจจุบันนี้การทำงานพีอาร์ไม่มีกรอบอีกแล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดทฤษฎีวิชาการที่เรียนมา  นักพีอาร์ส่วนมากเริ่มมองว่างานเขียนข่าว บทความข่าว  เป็นศิลปะไม่ตายตัว เวลาเขียนก็ให้เหมาะกับเรื่องและกลุ่มผู้รับสาร ส่งไป ได้ลง ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วค่ะ  แต่อาจจะมีบ้างที่นักพีอาร์อาชีพต้องมองให้ลึกไปกว่านั้น เช่น ถ้าเราเขียนข่าวแล้วผู้สื่อข่าวนำไปเผยแพร่ให้ทั้งหมด เราสอบผ่าน แต่ถ้ามีการเขียนเนื้อข่าวเรานิดเดียว หรือนำไปแทรกในข่าวอื่นๆ ตรงนี้ต้องกลับมาคิดใหม่ วางแผนใหม่ค่ะ  เป็นเรื่องงานพีอาร์เชิงกลยุทธ์ ตัวอย่างของ มหาวิทยาลัยเรามีเยอะค่ะ”

อย่างไรก็ตาม มีหลักสูตรการเขียนข่าวที่เราควรทราบไว้บ้าง  ที่ได้ปรากฏเป็น Explicit Knowledgeมากมาย (ถ้าจะลองสืบค้นผ่าน search engine)  สรุปหลักๆ ดูกัน 5 ข้อค่ะ
    1.  โครงสร้างข่าว มี 5W+1H
    2.  ประเด็นของข่าวน่าสนใจ
    3.  มีจุดมุ่งหมายของการเขียนชัดเจนว่า เพื่ออะไร และในโอกาสใด
    4.  เลือกหัวข้อเรื่องให้เหมาะสมกับผู้รับสาร
    5.  เรียบเรียงหัวข้อต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง

กลับมาที่ประสบการณ์ทำงานจริงๆ กันบ้างค่ะ ทีมงานพีอาร์ของมหาวิทยาลัยเรามีผู้จบการศึกษาหลากหลาย ไม่เฉพาะนกน้อยในไร่ส้ม อย่างไรก็ตามการเขียนข่าวเป็นงานหลักของทุกคนที่อยู่ในทีม ข่าวเขียนไม่ยาก แต่บทความข่าวอาจจะต้องใช้เวลา ประสบการณ์ทำต่อเนื่องจะช่วยให้แต่ละคนเชี่ยวชาญชำนาญขึ้นมาได้

กิจกรรมครั้งนี้ฉันมีพีอาร์ภาคปฏิบัติ 1คน มาเล่าประสบการณ์เขียนข่าวให้ฟัง จากที่เรียนจบมาทำงานไม่เคยเขียนข่าวมาก่อน แต่ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานข่าวปฏิทินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้ทำ  เธอจึงต้องเรียบเรียงเขียนข่าวอย่างน้อย 20-25 ข่าวต่อสัปดาห์ ขึ้นกับกิจกรรมที่คณะและส่วนงานในมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ข่าวทุกข่าวมีกำหนดเผยแพร่รายสัปดาห์ เธอปฏิบัติงานนี้มาเป็นเวลา เกือบ 20 ปีค่ะ

หลังจากให้ฟังเรื่องเล่าประสบการณ์เขียนข่าวแล้ว ฉันมีสรุปหลักง่ายๆ ในการเขียนเรื่องให้เป็นข่าว ก่อนที่เวที Book to Blog จะเปลี่ยนฉากใหม่ให้ทุกคนได้ลงมือปฏิบัติจริงกับปฏิบัติการเขียนข่าวจากเนื้อหาที่เตรียมมา แล้วมาร่วมวงคุยใหม่ในรายละเอียดค่ะ

หลักการเขียนข่าว 5 ข้อค่ะคือ

  • เตรียมข้อมูลที่จะเขียนข่าวให้พร้อม มีรายละเอียดพอสมควร คือ 5W+1H  (อย่างน้อย ควรตอบได้ 3 ข้อคือ Who/What/When

Who=ใคร , What=ทำอะไร , When=ทำเมื่อไหร่ , Where=ทำที่ไหน , Why=ทำทำไม , How=ทำอย่างไร

  • เมื่อเริ่มเขียนข่าว ลำดับแรก ตั้งคำถามถามตัวเราเองว่าอะไรสำคัญที่สุด หรือน่าสนใจมากที่สุด จากนั้นพยายามแปลงจุดที่น่าสนใจที่สุดนั้นออกมาเป็น W ตัวใดตัวหนึ่ง จากนั้นผูกประโยคโดยมี W ตัวนั้นเป็นหลักสำคัญของประโยคที่ผูกขึ้น เช่น Who เป็นประธานของประโยค What เป็นกริยาของประโยค  เมื่อเขียนประโยคเสร็จแล้ว เราอาจจะได้ประโยคสั้นๆ  เป็นข่าวได้แล้ว แต่เราลองดูว่าจะเขียนประโยคต่อจากนั้นต่อไปว่าอย่างไร จากข้อมูลที่เรามี ซึ่งในขั้นตอนนี้เราก็อาจจะได้ข้อความที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของข่าวแล้ว คือ ความนำหรือวรรคนำ (Lead) เป็นการสรุปประเด็นสำคัญ หรืออาจจะเป็นข่าวที่เสร็จสิ้นภายในตัวของข่าว (บรรยายประกอบภาพ)  เป็นต้น

  • องค์ประกอบข่าว ในแง่ของกายภาพ มี 3 ส่วน คือ  พาดหัวข่าว (Headline)  ความนำหรือวรรคนำ (Lead) 2-4 บรรทัด , เนื้อข่าว (Body)
  • การเขียนเนื้อข่าว มีหลักการง่ายๆ  คือ บอกเรื่องที่เหลือจากที่บอกไว้แล้วใน ความนำหรือวรรคนำ (Lead) โดยมีหลักการว่า ข่าวคือข้อเท็จจริง  เนื้อข่าวที่เขียนจะสนับสนุนหรือขยายความนำ ช่วยทำให้ความนำกระจ่างชัดมากขึ้น การเขียนข่าวที่มีหลายย่อหน้า จะเรียงลำดับความสำคัญย่อหน้าแรกสำคัญที่สุด เช่น ข่าวย่อหน้าที่สอง เขียนข่าวโดยมีบุคคลอ้างอิงประกอบในเนื้อข่าว ย่อหน้าสุดท้ายอาจเป็นการปิดท้าย เรียกร้องความสนใจ สรุปประเด็น เช่น การขอเชิญชวนร่วมกิจกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ไหน เป็นต้น
  • รูปแบบการเขียนข่าว มี 3 รูปแบบ คือ แบบปิรามิดหัวกลับ (inverted pyramid) แบบปิระมิดหัวตั้ง (upright pyramid)แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงยืนแบบผสม (combination)  

รูปแบบแรกส่วนใหญ่นิยมใช้เขียนเป็นสกู๊ปข่าว เรียงลำดับความสำคัญมากมาก่อน รูปแบบที่สองปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ ส่วนมากเป็นเรื่องราวการสืบสวนสอบสวน เล่นข่าวให้ดูน่าตื่นเต้น ต้องติดตาม  ส่วนรูปแบบที่สามเป็นข่าวสั้นๆ มีความสำคัญเท่าๆ กัน หรือเป็นการเล่าข่าวตามลำดับเหตุการณ์ค่ะ

ยังมีต่อค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 547808เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2013 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชื่นชมครับ คณะเภสัชศาสตร์ น้าอึ่งอ๊อบ กลับมาใน G2K อีกครั้ง

เดินสายมาบางกอกด้วยสิคะ. คิดถึงจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท