Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ภัยพิบัติสังคมที่ต้องร่วมกันเผชิญ.!!


ตัณหาพาโศกเศร้า หมองมัว
เหตุก่อภัยน่ากลัว จ่อจ้อง
ตัณหาหมดเปลื้องตัว หมดจด
หมดโศกหมดภัยต้อง สะดุ้ง หวาดกลัว

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในโลกมีอยู่ ๒ ประการ คือ โทษปัจจุบัน และโทษในอนาคต..."

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั
่นคงด้วยสติปัญญาอบรมจิตไว้ดีแล้ว

ให้เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันนี้เป็นสัตถุศาสตร์ ที่มุ่งหมายเพื่อความสิ้นทุกข์ ด้วยความรู้อันหมดจด...

ความรู้อันหมดจดจะเกิดขึ้นได้ จากการพัฒนาจิตใจให้มีสติปัญญา รู้เท่าทันใน สัจจะ (ความจริง) ที่ปรากฏใน โลก (รูปนาม) ...ความรู้เท่าทัน เมื่อถูกพัฒนาให้เกิดการรู้ แจ้ง จนมีปัญญาเห็นชอบด้วยการหยั่งรู้ลงไปในการรู้นั้น ย่อมทำให้เกิด วิชชา

หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้อง ชอบโดยธรรม (ขั้นอริยสัจ) อันให้เห็นแจ้งจริงในเรื่องของโลกว่ามีแต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้น...มีแต่ความทุกข์ที่ดับไป ไม่มีอะไรเป็นอย่างอื่นเลยในโลกใบนี้

ผู้ที่เข้าใจ สามัญลักษณ์ของโลก ตามที่กล่าว ย่อม ไม่หลงโลก...ไม่ยึดติดยึดถือในโลก

เพราะไม่มีสัตว์ใดอยากเข้าหาความทุกข์ ด้วยความทุกข์เป็นของที่แลเห็นน่าเกลียด อันไม่ควรเข้าไปเสพ

สัตว์ทั้งหลายจึงขวนขวายหนีความทุกข์ด้วย ความไม่รู้ (อวิชชา) จึงไม่สิ้นทุกข์ มิหนำซ้ำยิ่งมากทวีความทุกข์ด้วยอำนาจความไม่รู้ (อวิชชา) ที่ให้เห็นผิดไปจากสัจธรรม และให้ถือปฏิบัติผิดๆ ไปจากทำนองคลองธรรม

ปฏิเสธศีลธรรม ไร้จริยธรรม ไม่รู้คุณค่าคุณธรรม...สัตว์ทั้งหลายจึงดำเนินชีวิตไปสู่ความหายนะ

มีความฉิบหายปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ได้ลิ้มชิมรสเพื่อเสวยผลทุกข์อันเกิดจากการกระทำของตน ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

ดังพุทธดำรัสที่กล่าวไว้ว่า "โลกมีแต่ทุกข์โทษภัยอันให้ผลติดตามผู้กระทำสืบเนื่องไปตลอด อันปรากฏโทษทั้งในปัจจุบันและโทษในอนาคต..."

จึงเป็นธรรมดาที่สัตว์ทั้งหลายจะไม่มีโอกาสว่างเว้นจากการรับผลที่ตนได้ก่อกระทำไว้เลย ด้วยการกระทำที่สืบเนื่องส่งต่อมายาวนาน มากภพมากชาติ

...กาลว่างเว้นจากการรับผลของกรรมหรือวิบากนั้นไม่มีเลย โดยเฉพาะกรรมฝ่ายอกุศลย่อมมากกว่ากุศลกรรมเป็นปกติ ในทุกยุคสมัยแม้ปัจจุบัน

ด้วยอำนาจกิเลสที่ก่อร่างจิตในรูป "สังขารธรรม" ซึ่งให้ดำเนินวิถีจิต ไปตามแรงขับเคลื่อนของกิเลสที่ยึดติดอยู่ในอารมณ์รัก-ชัง อันให้ก่อคืนกลับเพิ่มพูนกิเลสมากยิ่งขึ้น

คำว่า พอดี พอเหมาะ พอควร จึงเกิดไม่ได้เลยใน จิตกิเลส ทุกดวง มิหนำซ้ำยังไม่รู้จักคำว่า พอเพียง ไม่ว่าจะมี เกินพอ มากทวีคูณอย่างไรก็ตาม...ปัญหาในโลกใบนี้จึงไม่มีคำว่า "หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด"

ตราบใดที่โลกยังดำรงความเป็นโลกอยู่ สัตว์ทั้งหลายยังเสพกามอยู่ ความมัวเมาในกามจึงนำไปสู่การโกงกินไม่รู้จบ ซึ่งยากที่จะขจัดปัญหาฉ้อ โกงให้หมดไปจากสังคมได้

...กฎศาสนา กฎหมาย กฎสังคม จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างนิยามคุ้มครองสังคมให้พ้นจากความหายนะ ด้วยน้ำมือของสัตว์สังคมด้วยกัน

...ยามใดที่ กฎศาสนา เข้มแข็ง สัตว์สังคมสร้างความสำนึกถูกต้องตรงธรรม ใช้ชีวิตเข้าใจในธรรมชาติ ขวนขวายพากเพียรในสิ่งที่ควร ด้วยศรัทธาปสาทะใน ศาสนา ได้แก่ คำสั่งสอนที่ถูกต้อง ชอบโดยธรรม

สังคมก็ผ่อนใช้กฎหมาย กฎสังคม โดยอนุวัติตาม กฎศาสนา ที่สัตว์สังคมใช้ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สังคมก้าวสู่ยุค อารยธรรม ความสงบสุขปรากฏเกิดขึ้นในหมู่สัตว์ประพฤติธรรมเหล่านั้น

แต่ยามใดที่ สัตว์สังคมหมางเมินกฎศาสนา ไร้การศึกษา ปฏิบัติ ใช้ชีวิตทวนกระแสธรรม ไหลไป ตามวิถีโลก ภาระหนักแห่งสังคม

จึงต้องพึ่ง พิงกฎหมาย-กฎสังคม ที่สัตว์สังคมผู้มีภูมิ ความรู้ทางโลกสร้างขึ้นโดยพยายาม อ้างอิงกฎศาสนา

แต่ใช้มาตรการอนุวัติตามกฎสัง คม คือ การสร้างบทลงโทษขึ้นมา เพื่อป้องปรามสมาชิกในสังคมนั้นให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบแบบแผนแห่งสังคมนั้นๆ...

กฎหมาย-กฎสังคม จึงต้องออกแบบให้เกิดความเหมาะควร เพื่อประโยชน์แห่งสังคมที่ถือบังคับใช้ ซึ่งจะต้องให้ความรู้สึกว่า 'ยุติธรรม' ต่อทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน ไม่หลากหลายมาตรฐาน

นั่นหมายความว่า มิได้ ยึดถือเสียงข้างมากแห่งสังคม แต่จะต้องยึดถือความยุติธรรมในสังคม ซึ่งเกิดจากความถูกต้องโดยธรรมเป็นหลักสำคัญ โดยต้องยึดมั่นในความถูกต้องยิ่งกว่าความถูกใจของสังคมเป็นเกณฑ์พิจารณา ซึ่งตราบใดที่สังคมยังยึดความถูกต้อง ไม่ไหลโน้มไปตามกระแสความถูกใจ

แม้จะมีพลังมากกว่า อำนาจธรรมย่อมจักปรากฏขึ้นอภิบาลสังคมนั้นให้รอดพ้นภัยมารทั้งปวงได้อย่างแน่นอน ด้วยอำนาจแห่งธรรม

ในด้านตรงข้าม หากเมื่อไหร่กระแสพลังความถูกใจ ด้วยคลื่นเสียงข้างมากแห่งสังคมแสดงฤทธิ์เดชอย่างขาดความถูกต้อง เพื่อการสนองตัณหาของกระแสสัตว์สังคมนั้น ก็ให้นับวันเวลาถอยหลังคืนกลับไปสู่ความหายนะได้เลย

...นี่คือสัจธรรมที่เป็นไป ตามอำนาจกฎเกณฑ์กรรม ที่ทรงพลังอย่างแท้จริงอย่างไม่สามารถขอต่อรองได้เลย

...เป็นอำนาจที่ให้ความยุติธรรมอย่างไม่ต้องเรียกร้องเรียกหา ซึ่งสัตว์ทั้งหลายจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์กรรมอย่างถาวร ตราบที่ยังคงเวียนว่ายอยู่ในสง สารวัฏนี้...

วันนี้อีกก้าวหนึ่งและอีกก้าวหนึ่งของ สังคมไทย กำลังเดินทางผ่านเข้าสู่วิกฤตการณ์ สังคมที่สัตว์ในสังคมสร้างขึ้น

อันส่งผลต่อ สมาชิกในสังคมถ้วนหน้า แม้ว่าจะไม่เกี่ยว ข้องโดยตรงก็ตาม แต่ด้วยความเสมอภาคแห่งอำนาจ กฎเกณฑ์กรรม ทำให้ทุกชีวิตต้องเผชิญคลื่นอำนาจอำมหิตที่เข้าโจมตี จึงส่งผลให้ทุกชีวิต

...ทุกฝ่าย ได้ลิ้มรสชาติอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า จะรับทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น...อาการแห่งความเฉยดุจการวางอุเบกขา ใช้ไม่ได้ผลกับวิกฤตการณ์คลื่นภัยในครั้งนี้

...หนทางออกจากภัยร้ายนั้น ไม่มีเลยโดยวิถีภูมิความรู้ทางโลก ซึ่งหากสัตว์สังคมไม่คืนกลับสู่แผ่นดินธรรม คงจักยากที่จะพ้นภัยนาวาที่ติดร่องน้ำร้าย ติดกับพายุเลวโจมตีพัดกระหน่ำเพื่อให้ล่มสลาย

...ดังนั้นการจะใช้กำลังเพื่อตัดกระแสวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ จึงหนักนักและยากนัก จักไม่ง่ายอย่างที่คิด หรือดังที่เคยประสบและผ่านพ้นมา...

ใน วิกฤตการณ์ เช่นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สัตว์สังคมต้องใช้ สติปัญญา...

พึ่ง พา อำนาจสมาธิ สูงมาก และต้องก่อการกุศลครบถ้วน "ทศพลธรรม" อันเป็นอำนาจเพื่อการขจัดทุกข์ภัยให้สิ้นไป

ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อสัตว์สังคมมีความเป็น สัมมาทิิฏฐิ...สัมมาปฏิบัติ ถูกต้อง ตรงตามหลักธรรมใน พระพุทธศาสนา และประพฤติอยู่ใน สามัคคีธรรม อย่างเป็นเอกภาพความเป็น เอกภาพ ด้วยอำนาจ เอกธรรม ที่สำเร็จด้วยความเป็น เอกจิต ของสัตว์สังคม ย่อมจะก่อให้เกิดอำนาจแห่ง พลังธรรม ที่จะนำนาวาสังคมออกจากห้วงความหายนะได้

แต่หากสัตว์ในสังคมขาด ความสามัคคีธรรมกัน ไร้วัตรปฏิบัติอารยธรรม ด้วยความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่นำชีวิตดำเนินไปสู่ มิจฉามรรค ประกอบมิจฉาธรรมยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้นในทุกหมู่เหล่า

...ถ้าเป็นอย่างนี้เชื่อมั่นได้เลยว่า นาวาสังคมเหล่านี้ที่กำลัง เผชิญวิกฤตการณ์ อันเป็นไปตาม สภาพการณ์ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมดา ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะรอดพ้นภัยพิบัติหรือไม่

...ก็จักย่อมถึงความสูญสลายหายนะเร็วกว่ากำหนดแน่นอน ด้วยการก่อสร้างวิกฤตการณ์ซ้อนขึ้นในวิกฤตการณ์

...การก่อสร้างสถานการณ์ซ้อนสถานการณ์ของเหล่าสัตว์สังคม ที่ประพฤติตนดุจ อาภัพบุคคล ตามวิถีปุถุชนที่หมกมุ่นอยู่ในโลกียกามอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แม้ภัยพิบัติจะมาจดจ่ออยู่ถึงประตูบ้านแล้ว ก็ยังประพฤติตนประมาท ก่อการทะเลาะวิวาทกันอยู่ภายใน จนสังคมขาดพลังธรรมที่จะช่วยขจัดปัดป้องภัยพิบัติที่กำลังถาโถมมาจากภายนอก

...การแย่งชิง เบียดเบียน ทำร้าย ทำลาย ทุบตี ด่าทอ กันอย่างหยาบคาย จึงเกิดขึ้นปรากฏให้เห็นในลักษณะสังคมที่กำลังจะก้าวสู่ความหายนะ อันเป็นภาพลักษณ์ปกติที่หากสัตว์ในสังคมนั้นไม่รู้จักหยุด ยับยั้ง ปล่อยวาง ด้วยอำนาจสติปัญญา ในฐานะสัตว์ประเสริฐ ความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

...ที่สุด ไม่มีใครชนะ...ไม่มีใครในสังคมนั้นได้ประโยชน์ มีแต่รับโทษภัยกันไป

อันสืบเนื่องจากการกระทำแห่งตนและหมู่คณะ ซึ่งแม้จำแนกกันไปตามปัจเจกชน

แต่เป็นกรรมร่วมกันของคณะบุคคล ที่ต้องร่วมรับผิดชอบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะการมีวิบากสืบต่อร่วมกันมาจากกรรมเดิม...

เจริญพร
[email protected]


ภัยพิบัติสังคมที่ต้องร่วมกันเผชิญ.!!
โดย.. พระ อ.อารยวังใส
 
คำสำคัญ (Tags): #ทศพลธรรม
หมายเลขบันทึก: 548155เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท