Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางพรศรี เฉลิมพรและบุตร ตกอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ จนเข้าไม่ถึงสิทธิในสัญชาติไทย ทั้งที่เกิดในประเทศไทย


กรณีศึกษานางพรศรี เฉลิมพรและบุตร : ปัญหาการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของคนเชื้อสายเวียดนามในรุ่นที่ ๒ และ ๓ ซึ่งเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร,

งานฎีกาวิเคราะห์จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓

(นางพรศรี เฉลิมพร กับพวก โจทก์ พ.ต.ท.เติมศักดิ์ ช้างแก้ว จำเลย)

เผยแพร่ใน: วารสารนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๒๑ (๒๕๓๔) ๒, ๒๘๔-๒๙๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=41&d_id=41

-------------------------------

ข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟัง

-------------------------------

แม้ว่านางพรศรี เฉลิมพรจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายง้วมกับนางวิน แซ่เลียด คนต่างด้าวสัญชาติญวน แต่นางพรศรีก็เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด เมื่อปี พ..๒๕๐๙ นางพรศรีได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับนายไพบูลย์ เฉลิมพร คนสัญชาติ ไทย และให้กำเนิดบุตรชายคนแรกคือ ด..พิพักตร์ เฉลิมพร ในปี พ..๒๕๑๐

นางพรศรี และนายไพบูลย์ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี พ..๒๕๑๒ และได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่บ้านเลขที่ ๑๑๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีบุตร ด้วยกัน อีก ๒ คน คือเด็กชายพิสิทธิ์ และเด็กชายพิเชษฐ์ เฉลิมพร

ในปี พ..๒๕๑๙ เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานีแจ้งว่า บุตรทั้ง ๓ คน เป็นคนญวนอพยพ และขอทะเบียนบ้านเลขที่ ๑๑๑ หมู่ที่ ๖ ไป นอกจากนั้น ยังสั่งให้บุตรทั้ง ๓ คนไปที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ

เมื่อบุตรทั้ง ๓ คนไปที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ เจ้าหน้าที่ได้ออกทะเบียนบ้านคนญวนอพยพให้โดยใส่ชื่อบุตรทั้ง ๓ คนลงในทะเบียนดังกล่าว นางพรศรีได้โต้แย้งว่าบุตรทั้งสามมีสัญชาติไทย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเชื่อ

ในปี พ..๒๕๒๐ นางพรศรีกับนายไพบูลย์มีบุตรอีก ๑ คน กล่าวคือ เด็กชายพิชนม์ เฉลิมพร นายไพบูลย์ได้นำใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลไปแจ้งต่อพนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เพื่อออกสูติบัตร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าบุตรคนที่ ๔ เป็นคนญวนให้ไปแจ้งที่สำนักกิจการญวนอพยพ นายไพบูลย์ จึงไปแจ้งการเกิดที่สำนักงานกิจการญวนอพยพ เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการญวนอพยพจึงใส่ชื่อบุตรคนที่ ๔ ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ ๑๑๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลขามใหญ่

เมื่อบุตรทั้ง ๔ ถูกแจ้งว่าเป็นคนญวนอพยพ นายไพบูลย์ได้โต้แย้งต่อทางสำนักงานกิจการญวน อพยพแล้ว แต่ทางราชการไม่ยอมแก้ไข

ดังนั้น นางพรศรี และนายไพบูลย์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมขอบุตรทั้ง ๔ คน จึงฟ้องพันตำรวจ โทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว ต่อศาล การต่อสู้คดีทำกันในศาลทั้งสามขั้น

---------------------------

คำพิพากษาของศาล

---------------------------

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ ๑ กล่าวคือ นางพรศรี แต่ชึ้ว่า บุตรของนางพรศรีทั้ง ๔ คนมีสัญชาติไทย จึงให้จำเลยถอนชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ เลขที่ ๑๑๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิพากษายืน

-----------------------------------------------

การให้เหตุผลทางกฎหมายของศาล

------------------------------------------------

ประเด็นที่ศาลพิจารณาพิพากษาก็คือ (๑) โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ (๒) พวกโจทก์มีสัญชาติไทยหรือไม่ และ (๓) จำเลยต้องถอนชื่อพวกโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพหรือไม่

---------------------------------------------------

๑.            โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่

---------------------------------------------------

พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว ผู้เป็นจำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของพวกโจทก์มีมาตั้งแต่ใน พ..๒๕๑๙ ซึ่งหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพคือพันตำรวจโทแสวง พรหมจิตร มิใช่ตน เพราะตนพึ่งมารับหน้าที่นี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ..๒๕๒๖ ภายหลังจากที่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ กล่าวคือ บุตรทั้ง ๔ คนของนางพรศรี

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีสาระสำคัญขอให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานีคนปัจจุบัน ถอนชื่อบุตรทั้ง ๔ ของนางพรศรีออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ เพราะการลงชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่จดแจ้งชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในทะเบียนนั้น โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

---------------------------------------------------

๒.           พวกโจทก์มีสัญชาติไทยหรือไม่

---------------------------------------------------

จะเห็นว่าศาลแยกประเด็นนี้ออกเป็น ๓ ประเด็นย่อย กล่าวคือ

 

๒.๑.    นางพรศรีโจทก์ที่ ๑ มีสัญชาติไทยหรือไม่

นางพรศรีกล่าวอ้างตั้งแต่ต้นว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายวงมกับนางวิน แซ่เลียด คนสัญชาติญวน แต่เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงกล่าวอ้างว่าตนมีสัญชาติไทย

พันตำรวจโทเติมศักดิ์ จำเลยต่อสู้ว่า เมื่อบิดาและมารดาของนางพรศรีเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวในขณะที่นางพรศรีเกิด ดังนั้น นางพรศรีจึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ การเพิ่มชื่อของนางพรศรีในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพใน พ..๒๕๑๙ โดยพันตำรวจโทแสวง พรหมจิตรจึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะนางพรศรีไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอีกต่อไปนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมีผลกล่าวคือ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕

ศาลทั้งสามชั้นเห็นพ้องกับจำเลย จึงยกฟ้องของนางพรศรี โจทก์ที่ ๑

 

๒.๒.   เด็กชายพิพักตร์ เฉลิมพร บุตรคนที่ ๑ ของนางพรศรีและนายไพบูลย์ซึ่งเป็นโจทก์ที่ ๒ มีสัญชาติไทยหรือไม่

โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า บุตรผู้นี้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไพบูลย์ เฉลิมพร คนสัญชาติไทยกับนางพรศรีซึ่งเป็นโจทก์ที่ ๑

จำเลยให้การว่า นายไพบูลย์จะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไพบูลย์กับนางพรศรี จำเลยไม่ทราบและไม่รับรองเมื่อบุตรผู้นี้เป็นบุตรของนางพรศรีซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว บุตรคนที่ ๑ ของนางพรศรีจึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ จึงขอให้ศาลยกฟ้องของโจทก์ที่ ๒

ศาลทั้งสามชั้นเห็นฟ้องต้องการว่า บุตรคนที่ ๑ มีสัญชาติไทยแม้ว่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เด็กชายพิพักตร์เกิดจากการอยู่กินฉันท์สามีภรรยาของนางพรศรีกับนายไพบูลย์ในปี พ..๒๕๑๐ กล่าวคือ ก่อนที่บิดาและมารดาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายในปี พ..๒๕๑๒ ดังนั้นเด็กชายพิพักตร์จึงไม่อาจจะได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ศาลฎีกามีแนวความคิดว่า การสมรสตามกฎหมายของบิดาและมารดาภายหลังที่บุตรเกิด ไม่ทำให้บุตรได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗() แห่ง พรบ. สัญชาติ พ..๒๕๐๘

แต่ศาลก็ยังยืนยันว่าเด็กชายพิพักตร์มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗() แห่ง พรบ.สัญชาติ พ..๒๕๐๘ เพราะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑ เพราะเด็กชายผู้นี้มิใช่บุคคลที่จะถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ กล่าวคือ นางพรศรีมารดาของเด็กชายพิพักตร์มิใช่คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑()

๒.๓.    เด็กชายพิสิทธิ์ เฉลิมพร เด็กชายพิเชษฐ์ และเด็กชายพิชนน์ เฉลิมพร ซึ่งเป็นโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีสัญชาติไทยหรือไม่

ในคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้ง ๓ คน มีสัญชาติไทย เพราะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไพบูลย์ เฉลิมพร คนสัญชาติไทย กับนางพรศรีโจทก์ที่ ๑

จำเลยต่อสู้เช่นเดียวกับกรณีของเด็กชายพิพักตร์ ยืนยันว่า เด็กชายทั้งสามถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗

ศาลพิพากษาว่า เด็กชายทั้งสามเกิดภายหลังการจดทะเบียนสมรสระหว่างนางพรศรีและนายไพบูลย์ในปี พ..๒๕๑๒ จึงได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๗()

---------------------------------------------------

๓.            จำเลยต้องถอนชื่อพวกโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพหรือไม่

---------------------------------------------------

พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้วไม่จำต้องถอนชื่อนางพรศรี ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเพราะนางพรศรีไม่มีสัญชาติไทยนับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ มีผลเนื่องจากถูกถอนสัญชาติไทย

แต่จะต้องถอนชื่อบุตรของนางพรศรีทั้ง ๔ คน ออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว เพราะบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติไทย

---------------------------------------------------------------------
ฎีกาวิเคราะห์ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ใน: วารสารนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๒๑ (๒๕๓๔) , ๒๘๔-๒๙๓.

---------------------------------------------------------------------

--------------------------------------

๑.            คดีนี้เป็นคดีปกครอง

--------------------------------------

กล่าวคือ เป็นเรื่องที่เอกชนฟ้ององค์กรของรัฐ ได้แก่ สำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลและจัดทำทะเบียนบ้านคนญวนอพยพที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

ลักษณะการดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีปกครองอื่น ๆ ในศาลไทย การตั้งรูปคดีของฝ่ายเอกชนที่เป็นโจทก์มุ่งฟ้องตัวข้าราชการผู้รับผิดชอบในงานขององค์กรของรัฐที่มีการกระทำอันเป็นผลเสียหายต่อเอกชน ดังนั้น พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว จึงถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ แม้ว่าการกระทำของฝ่ายปกครองที่เป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติไทยของโจทก์เกิดใน พ.ศ.๒๕๑๙ อันเป็นช่วงเวลาที่จำเลยยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง รองหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ (จำเลยรับหน้าที่นี้ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๖) จะเห็นว่า จำเลยพยายามอธิบายว่า ตนมิใช่ผู้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่จะมีสัญชาติไทยของโจทก์ แต่ศาลฎีกาในคดีนี้มีความเห็นแตกต่างจากในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๔/๒๕๒๓ โดยศาลยอมรับว่าแม้จำเลยมิใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จดแจ้งชื่อของโจทก์ในทะเบียน แต่เป็นผู้ที่อาจถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพได้ เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พันตำรวจโทเติมศักดิ์ ช้างแก้ว เป็นจำเลยได้

------------------------------

๒.            บุตรของคนต่างด้าวที่ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗ ตกอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ หรือไม่ ?

-------------------------------

จะเห็นว่าคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ ได้ตอบปัญหาใหม่ของคดีสัญชาติที่ว่าหลานของญวนอพยพจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หลังจากยืนยันตามคำพิพากษาฎีกาก่อน ๆ ว่า บุตรของญวนอพยพไม่มีสัญชาติไทยโดยการยกฟ้องในส่วนของนางพรศรี ศาลฎีกาก็ตัดสินอย่างชัดเจนลงไปว่าหลานของญวนอพยพได้สัญชาติไทย เหตุผลของศาลฎีกาก็ยังเป็นการยืนยันองค์ประกอบทางข้อเท็จจริง ๒ ประการ อันทำให้บุคคลถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตามที่กำหนดใน ปว.๓๓๗ กล่าวคือ

องค์ประกอบแรกของข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของ ปว.๓๓๗ ก็คือบุคคลผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยที่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีมารดาเป็นคนต่างด้าวจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าในขณะที่เด็กชายพิพักตร์เกิด บิดาและมารดามิได้สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย กรณีของเด็กชายผู้นี้จึงเป็นเรื่องของบุตรซึ่งไม่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีมารดาเป็นคนต่างด้าว จึงสรุปได้ว่ากรณีของเด็กชายพิพักตร์ เข้าองค์ประกอบแรกของข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของ ปว.๓๓๗

ส่วนองค์ประกอบที่สองของข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของ ปว.๓๓๗ ก็คือ บิดาหรือมารดาตามองค์ประกอบแรก เข้าเมืองไทยมาโดยได้รับการผ่อนผันหรืออนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายหรือชั่วคราว หรือเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กชายพิพักตร์ นางพรศรีมารดามิใช่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่เป็นคนต่างด้าวที่เกิดภายในราชอาณาจักรไทย กรณีของเด็กชายพิพักตร์จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่สองของข้อเท็จจริงที่ ปว.๓๓๗ กำหนด บุคคลซึ่งอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ หมายถึง บุตรของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาคือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น มิได้หมายถึงคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จึงไม่อาจนำ ปว.๓๓๗ มาบังคับใช้ต่อเด็กชายพิพักตร์ ๖ ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กชายพิพักตร์เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยไม่เข้าข้อยกเว้นใด ๆ ของมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ จึงทำให้เด็กชายผู้นี้มีสิทธิที่จะมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๓) นี้เอง

------------------------------

๓.            บุตรของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีสัญชาติไทยและมารดาต่างด้าวที่ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗ ย่อมได้ทั้งสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

-------------------------------

ข้อเท็จจริงที่ว่าบิดาและมารดาของเด็กชายพิพักตร์จดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากการเกิดของเด็กชายพิพักตร์ จะมีผลให้เด็กชายพิพักตร์กลับมีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาในคดีนี้ยังคงยืนยันตามความเห็นของศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๒๐/๒๕๒๘ กล่าวคือ แม้บิดามารดาจะได้สมรสกันในภายหลัง ก็มีผลเพียงแต่ให้บุตรกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาขึ้นมาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ เท่านั้น แต่มิได้มีผลทำให้บุตรกลับได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ มาตรา ๗ (๑)๗ การจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาที่จะทำให้บุตรได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๗ (๑) นั้น ต้องเป็นการจดทะเบียนสมรสก่อนการเกิดของบุตรเท่านั้น

ดังนั้น จากข้อเท็จจริง จะเห็นว่า เด็กชายพิสิทธิ์ เด็กชายพิเชษฐ์ และเด็กชายพิชนม์ ซึ่งเกิดภายหลังการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายไพบูลย์และนางพรศรีจึงมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ตามมาตรา ๗ (๑)

คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ ได้ยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา โดยกฎหมายยอมรับว่า บุตร ๓ คนหลังของนายไพบูลย์และนางพรศรี ซึ่งเกิดภายหลังการจดทะเบียนสมรสมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๗ (๑) และจะเห็นว่ากฎหมายให้ความสำคัญแก่ความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นบิดาที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสนใจแก่ความเป็นคนต่างด้าวของมารดาหรือลักษณะการเข้าเมืองของมารดาแต่อย่างใด ความเห็นของศาลฎีกาในเรื่องนี้ก็เป็นการยืนยันแนวความคิดของศาลฎีกาที่เคยปรากฎในคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๔๙/๒๕๒๙, ๑๕๑๓ - ๑๕๑๔/๒๕๓๑ และ ๒๙๓๕/๒๕๓๒

สำหรับคำวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาการได้สัญชาติไทยของบุตรของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗ ข้อ ๑ ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ นี้ แตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๕/๒๕๓๒ หรือไม่นั้น พิจารณาได้ดังนี้

------------------------------

๔.            ความแตกต่างและความคล้ายคลึงระหว่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๕/๒๕๓๒ และคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓

-------------------------------

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๕/๒๕๓๒ มีข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ นี้มาก กล่าวคือ ชายไทยอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับหญิงลูกคนญวนอพยพที่เกิดในไทย หญิงผู้นี้จึงมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิด จนถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ อันเป็นวันที่ ปว.๓๓๗ มีผลใช้บังคับในประเทศไทย ชายไทยและหญิงผู้นี้มีบุตรด้วยกัน ๑ คนก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และเมื่อจดทะเบียนแล้วก็มีบุตรด้วยกันอีก ๒ คน ต่อมา ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ตัวหญิงผู้เป็นมารดาก็ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗ ข้อ ๑ เพราะบิดามารดาเป็นญวนอพยพซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ปัญหาที่เกิดในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๕/๒๕๓๒ ก็เหมือนกับปัญหาที่เกิดในคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ คือ ฝ่ายปกครองไม่ยอมรับว่าบุตรทั้งสามของชายหญิงข้างต้นมีสัญชาติไทย จึงไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนไทยให้

จะเห็นได้ว่าความเป็นผู้มีสัญชาติไทยของบุตรที่เกิดภายหลังจากการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาเป็นเรื่องที่ชัดเจนตรงตามตัวบทกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ บุตรที่เกิดภายหลังการจดทะเบียนสมรสถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา จึงสามารถมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา นอกจากนั้นยังมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗ (๓) เพราะเกิดในประเทศไทยด้วย

ยังไม่จบค่ะ หากต้องการอ่านต่อ โปรดคลิก 

https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSam54cGZWN3NYZ0U/edit?usp=sharing

-------------------

คำสำคัญ (Tags): #คนโดย ปว.๓๓๗
หมายเลขบันทึก: 548195เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท