Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ที่สุดแห่งชีวิต...มรณัง...ที่สุดแห่งธรรม...อัปปมาท..


เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ผู้ดำเนินชีวิตอยู่ในแนว สันติธรรม ด้วยความเชื่อมั่นใน กฎแห่งกรรมตามวิถีพุทธ วันเดือนผ่านพ้นไปให้รู้ว่า เบื้องหน้าแห่งชีวิตเริ่มใกล้ชิดมัจจุมารที่แสดงบทบาท ธรรมทูต แท้จริง...ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นในวาระสุดท้ายก่อนปรินิพพานว่า ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอเป็นครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด...

ปัจฉิมพุทธพจน์ดังกล่าวแสดงความเป็นอริยสัจขั้นสุดยอด หมายถึง รวมที่สุดแห่งความจริงไว้ที่มรณะ คือ ความตายแตกสลายเสื่อมไปของรูปนามหรือขันธ์ ๕ นี้ อันสัตว์ทุกข์ทั้งหลายไม่ควรทะยานอยากเข้าไปยึดถือว่า เป็นตัวกูของกู!!

การรู้แจ้งจริงจนเกิดความเบื่อหน่ายให้นำไปสู่การจางคลายออกจากความชอบ-ความชัง ให้ดับสิ้นความกำหนัดยินดีได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรถูกประโยชน์โดยธรรมตามหลักคำสั่งสอนในพุทธศาสนา อันให้ผลสัมฤทธิ์ถึง ความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ดังนั้น คำสั่งสอนในพุทธศาสนาของเรา จึงสรุปลงในความไม่ประมาทต่อการดำเนินชีวิตไปตามอายุขัยที่มีอยู่ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งสรุปในกาลปัจจุบันอายุขัยของสัตว์อยู่ที่ประมาณ ๗๐-๗๕ ปีเป็นที่สุด

หากอยู่ได้มากกว่านั้นก็นับว่าเป็นกำไรชีวิตที่ยมทูตแถมให้ หวังว่าให้สัตว์มนุษย์ประกอบกุศลกรรมให้มากยิ่งเท่าที่พึงจะทำได้ เพื่อประโยชน์ต่อยอดกุศลธรรมสืบไปในสัมปรายภพ

แม้สัตว์มนุษย์เราจะเข้าใจกันดีว่า ไม่มีใครมีชีวิตอยู่ค้ำฟ้าได้ (เพราะจริงๆ แล้วแม้ฟ้าก็ยังมีกาลอวสาน) แต่การใช้ชีวิตโดยประมาทนั้นให้ดูเหมือนเราไม่ใส่ใจกับ วันสิ้นแห่งอายุขัยของชีวิตตน

จึงมีปรากฏการณ์บุคคลในสังคมที่มีวัยแก่ชรามากมาย ยังใช้ชีวิตท่องเที่ยวไปตามกระแสโลก อย่างมิยอมหยุดพักดุจดังหนุ่มน้อย ดรุณีแรกรุ่นทั้งหลายที่อยู่ในวัยเพลิดเพลินหลงใหลอยู่กับโลก ที่จินตนาการว่าสวยงามน่าชื่นชมยินดี

พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย จึงได้ทรงตรัสกับภิกษุสงฆ์ ณ อุปัฏฐานศาลา (กรุงเวสาลี) ว่า

พวกเธอจงไม่ประมาท มีสติ มีศีลด้วยดีจงมีความดำริตั้งมั่น ตามรักษาจิตของตนเถิด และทรงตรัสต่อไปว่า ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสังขาร จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ใน อัปปมาทธรรม หรือ ธรรมเพื่อความไม่ประมาทนั้น ทรงย้ำเตือนภิกษุมิให้ตั้งอยู่ในความประมาทอยู่เสมอ ดังที่ทรงตรัสเป็นพระคาถาหนึ่ง แปลความได้ว่า

คนเหล่าใดทั้งเด็กผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า.......ภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้น ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบทุกชนิด

มีความแตกทำลายเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

นอกจากพระภาษิตที่ทรงแสดงให้เป็นธัมมานุสติแก่ภิกษุและบริษัททั้งหลายแล้ว ยังได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักการเจริญภาวนาอบรมจิต

ใน มรณานุสติกรรมฐานวิธี โดยทรงตรัสว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะ ที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า ภิกษุปฏิบัติได้อย่างนี้ชื่อว่า ย่อมไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งปวง"

และทรงได้สั่งสอนเพิ่มต่อมาว่า... ให้มีฉันทะ วิริยะ สติ และสัมปชัญญะ เพื่อละธรรมบาปอกุศล ....โดยให้เจริญสติสัมปชัญญะ อย่างมีฉันทะและความเพียรชอบ เพื่อนำไปสู่การมีปัญญาอันชอบในการรู้แจ้งเห็นจริงตามอริยสัจทั้ง ๔ ประการ...

นี่คือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ชี้ให้เห็นเป้าหมายจัดวางวัตถุประสงค์ให้ถูกตรงตามเป้าหมาย และจัดแนวปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ที่มีเป้าหมาย คือสัจจะเป็นธงที่จะต้องไปให้ถึง... อันได้แก่ พระนิพพานนั่นเอง...

เมื่อพระนิพพานเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงอันหมายถึง ความดับทุกข์สิ้น จึงเป็นธรรมดาที่พุทธศาสนาจะต้องวางหลักการเรียนรู้ไปสู่ ตัวทุกข์ อันปรากฏเป็นสามัญลักษณะที่วางควบคู่อยู่กับ อนิจจัง...ซึ่งชี้แจงแสดงให้เห็นความจริงขั้นสุดยอดในธรรมชาติที่รวมลงใน กฎอนัตตา...

เราจึงพบการสั่งสอนให้เข้าใจ-เข้าถึง เพื่อรู้แจ้งจริงในสามัญลักษณะธรรมทั้ง ๓ ตามที่กล่าว ซึ่งไม่ว่าหยิบข้อธรรมอันใดมาพิจารณา ก็จะพบเห็นอีก ๒ ส่วนติดมาด้วย เพื่อการเข้าใจในความเป็นจริงของความมีอยู่จริงในธรรมชาติ อันเป็นกฎความจริงแท้ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม

เราจึงเห็นคำสั่งสอนส่วนใหญ่ แสดงแจกแจงลงไปที่ อนิจจัง.. ทุกขัง.. อนัตตา โดยการแสดงให้เห็นว่า รูปนามที่เรายึดถือเป็นตัวตนนั้นแท้จริงแล้ว...ไม่เที่ยง (อนิจจัง) โดยแสดงให้เห็นจริงว่า...ความไม่เที่ยงที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานั้น เพราะไม่มีความเป็นว่า ธรรมนิยาม

เราจึงเห็นคำสั่งสอนส่วนใหญ่ แสดงแจกแจงลงไปที่ อนิจจัง.. ทุกขัง.. อนัตตา โดยการแสดงให้เห็นว่า รูปนามที่เรายึดถือเป็นตัวตนนั้นแท้จริงแล้ว...ไม่เที่ยง (อนิจจัง) โดยแสดงให้เห็นจริงว่า...ความไม่เที่ยงที่มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานั้น

เพราะไม่มีความเป็นตัวตนบุคคลเราเขา อันสามารถถือครองเป็นใหญ่ หรือบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนี้ได้ และที่สุดแห่งความจริงคือ ว่างเปล่า (สุญญโต)

ในเวลาแห่งชีวิตที่ยังมีเหลืออยู่ ณ วันนี้ หากยังพอมี สติสัมปชัญญะที่สามารถพากเพียรเรียนรู้ เพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้นั้น... อาตมาใคร่แนะนำให้รู้จักการเพียรระลึกถึงความตายให้มากๆ ให้บ่อยๆ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท การประกอบแต่การอกุศลอย่างไม่ลืมหูลืมตา...คงไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับทรัพย์สินเงินทอง บริวารญาติมิตร แม้ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือเกียรติยศชื่อเสียงที่โลกปั้นแต่งขึ้นมาไว้หลอกลวงพวกสัตว์โง่งมที่มีจิตอ่อนแอเล่น เพื่อผูกยึดสัตว์เหล่านั้นไว้เป็นทาสบริวารของโลก...

ทั้งนี้ เพราะการไม่ได้ระลึกถึงความตายเป็นอนุสติ จึงทำให้ขาดสติปัญญา ดำเนินชีวิตไปอย่างประมาท สุดท้ายจึงไม่มีสาระธรรมอะไรเลยในชีวิตที่เกิดมาครั้งหนึ่งเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า เป็นการเกิดมาอย่างสูญเปล่า มีแต่โทษ หาคุณไม่ได้เลย จึงไม่ต้องพยากรณ์ผลที่จะเกิดปรากฏในเบื้องหน้าให้เสียเวลาเจริญสติ... เพราะจะมีแต่ความหายนะส่วนเดียวอย่างแน่นอน

วันนี้อาตมาให้ระลึกถึงการลาจากไปของโยมพ่อ ซึ่งได้ลาจากโลกนี้ไปขณะอาตมานั่งแสดงธรรมนำมหาชนปฏิบัติภาวนา ณ ลานอนุสาวรีย์พระนางเจ้าจามเทวี โดยมีพลตำรวจตรีกริช กิติลือ ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดลำพูน ดร.นิรันดร ด่านไพบูลย์ คุณนิชาดา สุริยเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้นำข้าราชการตำรวจและประชาชน ร่วมประกอบศาสนกิจในงานไหว้สา-บูชาธรรม ครั้งที่ ๒ เนื่องในงานเทศกาลเดือนสิบ โดยมีจุดมุ่งหมายของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อการพลีบุญอุทิศกับญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยมีการถวาย สังฆทานในรูปมตกภัต ซึ่งในห้วงเวลาที่อาตมากำลังกล่าวประกาศ ปัตติทานคาถา  ท่ามกลางที่ประชุมของสาธุชน โยมพ่อของอาตมาได้ลาจากไปจากโลกนี้ในห้วงเวลาที่อาตมากำลังประกาศพลีอุทิศกุศลด้วยความหมายที่ว่า

สัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ จงมีส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วในบัดนี้ และแห่งบุญอื่นที่ทำไว้ก่อนแล้ว คือจะเป็นสัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นที่รักใคร่และมีบุญคุณ เช่น มารดาบิดาของข้าพเจ้าเป็นต้นก็ดี... สัตว์เหล่านั้น รู้ส่วนบุญที่ข้าพเจ้าแผ่ให้แล้ว จงอนุโมทนาเองเถิด...ฯลฯ

จึงขออนุญาตบันทึกไว้เป็นอนุสติในเหตุการณ์ดังกล่าวที่สอดคล้องกันโดยธรรม ให้อาตมาได้กระทำการกุศลอันยิ่ง

โดยการนำมหาชนแผ่ส่วนบุญกุศลอุทิศให้กับพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบที่ชาวพุทธเรานิยมทำทานอุทิศบุญแผ่กุศล... ซึ่งแม้อาตมาก็ยังต้องกระทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งสัตว์ทั้งหลายที่ควรแก่การระลึกถึงกัน...

นี่คือวิถีพุทธที่สะอาดสวยงาม ยากที่จะหาคำสั่งสอนในศาสนาใดมาเสมอได้.

 

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 00:00:32 น.

โดย...พระ อ.อารยวังโส
 
เจริญพร
 
หมายเลขบันทึก: 548889เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2013 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2013 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านอาจารย์ฯ และ อาจารย์แพร เป็นบทบันทึกที่ให้กำลังในการปฏิบัติในเส้นทางแท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท