บันได 10 ขั้นในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เจ็บป่วย(ตอน1)


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน

บทสรุปบันได 10 ขั้นในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เจ็บป่วย เขียนสรุปโดยอาจารย์ ดร.สุดาภรณ์ พยัคฆเรืองอาจารย์ ดร.พรรณรัตน์ แสงเพิ่มศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็กคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แปลจาก Prof. Dr. Diane L. Spatz

บันไดขั้นที่ 1 การให้ข้อมูล (Informed decision)

ในขั้นตอนนี้ Prof. Diane ได้เน้นในเรื่องของการให้ข้อมูลแก่มารดาในระยะตั้งครรภ์และครอบครัวเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเตรียมความพร้อมของมารดา การตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในขั้นตอนนี้ ผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและดูแลมารดาในระยะตั้งครรภ์ โดยก่อนที่จะให้คำปรึกษาหรือข้อมูลใดๆ แก่มารดา ผู้ให้คำปรึกษาควรที่จะซักประวัติภาวะสุขภาพ ประเมินภาวะเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ ประเมินความรู้ความเข้าใจของมารดาในระยะตั้งครรภ์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งควรต้องประเมินไปถึงประวัติการเลี้ยงลูกของย่า ยาย ด้วย

ในคลินิกที่ให้การดูแลมารดาในระยะตั้งครรภ์ ควรมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น เครื่องปั๊มนม อุปกรณ์เก็บรักษาน้ำนม ถุงสำหรับละลายน้ำนม (Medula microwave bag) น้ำยาที่ใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้มารดาได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับข้อมูลที่ควรให้แก่มารดาในระยะตั้งครรภ์มีประเด็นดังต่อไปนี้

1.ทำไมต้องเป็นนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลควรตั้งเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ามารดาและครอบครัวมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความสำคัญของนมแม่ คุณค่าของนมแม่ที่มีต่อลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นคือช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล ช่วยในเรื่องการย่อยของทารก เป็นต้น ส่วนคุณค่าในระยะยาวคือการมีภาวะสุขภาพที่ดี มีการเจริญเติบโตที่สมวัย ห่างไกลจากภาวะโรคเบาหวาน ส่วนประโยชน์แก่มารดาคือการลดภาวะเสี่ยงต่อการตกเลือด การเป็นมะเร็ง และช่วยในเรื่องการคุมกำเนิด เป็นต้น

2.นมแม่เป็นเสมือนยารักษาโรค บุคลากรทางการแพทย์สามารถให้การดูแลทารกอย่างดีที่สุดได้ แต่สิ่งที่สำคัญและต้องการเป็นอย่างมากคือนมแม่ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันโรค ในการให้ข้อมูลแก่มารดา ควรให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษาต่างๆ ดังเช่น นมแม่ช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบหายใจได้ 72% ระบบทางเดินอาหารได้ 64% การติดเชื้อในช่องหูได้ 23-50% นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงและความรุนแรงในการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ การติดเชื้อแบคทีเรียในสมอง ในเลือด และการติดเชื้อในทารกชนิด late-onset sepsis นมแม่ยังช่วยทำให้ทารกสามารถรับนมได้ดีและครบตามจำนวนที่ต้องการในแต่ละวันได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้กระเพาะอาหารว่างได้เร็ว ย่อยได้ดี ลดการติดเชื้อในลำไส้ได้ 77% ทำให้ลดต้นทุนในการรักษาพยาบาลลดความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการเป็น Retinopathy of prematurity (ROP) เพิ่มการพัฒนาของสมอง นมแม่ยังช่วยลดความเจ็บปวดในทารกที่เจ็บป่วยได้ ลดความเสี่ยงต่อการเกิด Sudden Infant Death Syndrome ในช่วง 1 ปีแรกได้ถึง 36% ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหืดได้ถึง 26-40% (ในการให้นมแม่อย่างเดียวใน 3-4 เดือนแรก) ลดการอักเสบติดเชื้อของลำไส้ได้ 31% ลดการเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ 30% (ในการให้นมแม่อย่างเดียวใน 3 เดือนแรก) ลดการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ 40% และป้องกันการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้ 15-30% นมแม่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด leukemia และ lymphomaโดยลดการเกิด ALL ได้ 20% ลดการเกิด AML ได้ 15% ในการให้นมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกลดค่ารักษาพยาบาลและลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล

3.นมแม่เป็นเสมือน intervention และนมแม่ไม่ใช่ทางเลือก บุคลากรทางการแพทย์ควรปรับทัศนคติของมารดาและครอบครัวในการให้ความหมายของนมแม่ ทำให้เห็นว่านมแม่มีส่วนต่อการทำงานของร่างกาย ทั้งทางด้านสารอาหาร พัฒนาการ และภูมิคุ้มกัน ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารในนมแม่ทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรต Oligosaccharides โปรตีน สารที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการที่นมแม่ช่วยทำให้เกิดการผ่อนคลาย ส่งเสริมให้เกิดสาร anti-oxidantsได้

บันไดขั้นที่ 2 การกระตุ้นการหลั่งน้ำนมและให้มีน้ำนมอย่างต่อเนื่อง (Establishment maintenance of milk supply)

ในขั้นตอนนี้ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำมารดาในเรื่องการปั๊มนมหรือบีบน้ำนมหลังคลอด หากคลอดปกติควรมีการปั๊มนมหรือบีบน้ำนมภายใน 2 ชั่วโมง หากคลอดโดยการผ่าตัดคลอด ควรมีการปั๊มนมหรือบีบน้ำนมภายใน 4 ชั่วโมง หรือควรให้ข้อมูลและกระตุ้นให้ครอบครัวของมารดาแนะนำให้มารดาปั๊มนมให้เร็วที่สุดหลังคลอด และควรปั๊มนม 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนม โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมารดาที่มีการปั๊มนมภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดและมารดาที่ไม่ได้ปั๊มนมภายใน 1 ชั่วโมง พบว่ามารดาที่ปั๊มนมภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดจะมีน้ำนมใน 7 วันแรกมากกว่า มีน้ำนมในสัปดาห์ที่ 3 มากกว่า และมีการสร้างน้ำนมในขั้นตอน lactogenesis stage II เร็วกว่ามารดาที่ไม่ได้ปั๊มนมใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

ในช่วง 4 วันแรกหลังคลอด อาจได้น้ำนมจำนวนน้อยแต่เป็นน้ำนมที่มีคุณค่าสีเหลือง (colostrum) ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ทารกต้องการนมเพียงแค่ 15 กรัมใน 24 ชั่วโมง บุคลากรทางการแพทย์ควรแนะนำมารดาให้มีการบันทึกจำนวนนมที่ได้จากการปั๊มนมหรือการบีบน้ำนมในแต่ละครั้งจนกว่าจะได้น้ำนมในช่วง transitional milk หรือประมาณ 20 ml ต่อการปั๊มหรือบีบในแต่ละเต้า หรือประมาณ 320 ml ต่อวัน ส่วนเป้าหมายของการปั๊มนมหรือบีบน้ำนมคือ ควรได้ 440-1,220 ml ต่อวันในมารดาที่มีภาวะสุขภาพดี นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ยังควรให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวเกี่ยวกับสรีรวิทยาของเต้านม กระบวนการสร้างและการหลั่งน้ำนม เพื่อให้มารดาเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

บันไดขั้นที่ 3 การจัดการเกี่ยวกับนมแม่ (Human milk management)

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการจัดการกับนมแม่ที่ปั๊มหรือบีบออกมาได้ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำแก่มารดาในเรื่องการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับนมบีบ การเก็บน้ำนม การเคลื่อนย้ายน้ำนม วัสดุที่เหมาะสมกับการเก็บน้ำนม และการทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนม ในการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับนมที่ปั๊มหรือบีบได้ ควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนทั้งวันเวลา จำนวนน้ำนมที่ได้ ส่วนการเก็บน้ำนมนั้น น้ำนมที่ปั๊มหรือบีบออกมาใหม่ ควรให้แก่ทารกภายใน 4 ชั่วโมง ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บได้ 96 ชั่วโมง ถ้าเก็บไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นสองประตู จะเก็บได้ 6 เดือน ตู้เย็นประตูเดียว เก็บได้ 3 เดือน ถ้าเก็บในตู้แช่แข็งเฉพาะ จะเก็บได้ 1 ปี ส่วนนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว เก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ในการเคลื่อนย้ายน้ำนมนั้น มารดาควรมีที่เก็บความเย็นหรือใส่ในภาชนะที่เก็บความเย็น

บันไดขั้นที่ 4 การทำความสะอาดช่องปากและการให้นมแม่แก่ทารก (Oral care Feeding Human milk)

ขั้นตอนนี้เน้นในเรื่องประโยชน์ของนมแม่ในการทำความสะอาดช่องปากของทารกและการให้นมแม่แก่ทารกที่มีความเจ็บป่วย นมแม่ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยชีวิตทารก แต่ช่วยให้ทารกมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต นมแม่ที่เป็น colostrum เมื่อได้มาแล้วควรแบ่งไปทำความสะอาดช่องปากของทารกก่อน แล้วจึงค่อยให้แก่ทารก หากมีเหลือค่อยเก็บไว้ให้ทารก การทำความสะอาดช่องปากทารกด้วยนมแม่ ควรทำทุกครั้งที่แม่ปั๊มหรือบีบน้ำนมจนกว่าทารกจะดูดนมแม่หรือกินนมทางปากได้ด้วยตนเอง

บันไดขั้นที่ 5 การส่งเสริม skin-to- skin (Skin-to-skin in care)

การทำ skin-to- skincontact มีประโยชน์สำหรับทารกที่เจ็บป่วยหลายประการ เช่น ช่วยให้การเต้นหัวใจสม่ำเสมอ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ควบคุมอุณหภูมิกายทารกให้เหมาะสม ช่วยในการเพิ่มน้ำหนักตัว การเจริญเติบโตของสมอง ลดจำนวนวันในการอยู่โรงพยาบาล ช่วยให้ทารกหลับได้นานขึ้นและหลับลึกขึ้น ช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียดของทารก รวมทั้งช่วยทำให้ทารกสามารถเปลี่ยนผ่านไปกินนมแม่จากเต้าได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม มักพบว่าทารกที่เจ็บป่วยมักไม่ค่อยได้รับโอกาสในการทำ skin-to- skincontact เนื่องจากข้อจำกัดทั้งจากทางมารดาและบุคลากรทางการแพทย์

ข้อจำกัดทางด้านบุคลากรทางการแพทย์มักเกิดจากการพิจารณาข้อกำหนดความเหมาะสมในการทำ skin-to- skincontact ของทารก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์มักกำหนดเกณฑ์ในการทำ skin-to- skincontact ว่าทารกต้องมีอายุเหมาะสม น้ำหนักตามเกณฑ์ ไม่ต้องได้รับการรักษาในตู้อบ ไม่ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรืออาการอื่นๆ ซึ่งทำให้ทารกที่เจ็บป่วยโดยเฉพาะทารกที่อยู่ในหออภิบาลทารกไม่สามารถทำ skin-to- skincontact ได้

ข้อจำกัดทางด้านมารดานั้น มารดาบางรายอาจไม่สะดวกใจในการทำ skin-to- skincontact เนื่องจากไม่ต้องการเปิดเผยร่างกาย พยาบาลควรช่วยโดยการจัดสถานที่ให้มิดชิด อาจใช้ม่านบังให้เป็นสัดส่วน หรือจัดหาเสื้อคลุมที่สามารถปกปิดร่างกายของแม่ได้เมื่อเอาทารกเข้าไปทำ skin-to- skincontact แล้ว

Prof. Diane ได้เสนอตัวอย่างโครงการส่งเสริมการทำ skin-to- skincontact ในหออภิบาลทารกแรกเกิดที่ท่านทำงานอยู่ โดยในขั้นแรกมีการให้ความรู้แก่พยาบาลและพ่อแม่ทารกเกี่ยวกับการทำ skin-to- skincontact และให้ความมั่นใจแก่พยาบาลว่า การทำ skin-to- skincontact เป็นกิจกรรมการพยาบาลที่เราตัดสินใจได้ว่าทารกจะสามารถทำ skin-to- skincontact ได้เมื่อไรซึ่งแตกต่างจากบทบาทของพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งกิจกรรมการพยาบาลอื่นๆ ก็สามารถทำได้เมื่อทารกอยู่ระหว่างการทำ skin-to- skincontact เช่น การให้อาหารทางสายให้อาหาร การบันทึกสัญญาณชีพต่างๆ โดยก่อนการทำ skin-to- skincontact จะต้องอธิบายให้แม่หรือพ่อเข้าใจถึงวิธีการทำและสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในขณะทำเพื่อให้แม่หรือพ่อไม่รู้สึกกลัว รวมทั้งต้องมีการสอนสาธิตการเคลื่อนย้ายทารกมาสู่อกของแม่หรือพ่อด้วยตุ๊กตาก่อนจนมั่นใจ

ขั้นตอนในการทำ skin-to- skincontact เริ่มจากการให้แม่หรือพ่อล้างมือ โดยแนะนำว่าไม่ควรใส่น้ำหอมหรือสูบบุหรี่ เมื่อพร้อมแล้วจึงเคลื่อนตัวทารกมาที่อกของแม่หรือพ่อที่จะทำ skin-to- skincontact โดยมีการทำได้ 2 ท่า คือ ท่ายืน และท่านั่ง

การทำ skin-to- skin contact ท่ายืน ให้แม่หรือพ่อสอดมืออุ้มทารกจากเตียงด้วยตนเองโดยมีพยาบาลคอยช่วยเหลือและติดตามบันทึกอาการของทารก กรณีที่ทารกใส่ท่อหลอดลมคอต้องปลดข้อต่อกับเครื่องช่วยหายใจออกก่อนแล้วจึงต่อเครื่องใหม่หลังจากที่ทารกอยู่ที่อกแม่หรือพ่อแล้ว

การทำ skin-to- skincontact ท่านั่ง ให้แม่หรือพ่อนั่งเก้าอี้ในท่าที่สบาย จากนั้นพยาบาลจะเป็นผู้อุ้มทารกมาส่งให้กับแม่หรือพ่อที่นั่งอยู่พร้อมทั้งช่วยเหลือในการจัดตำแหน่งของทารกที่อกแม่หรือพ่อให้เหมาะสม และติดตามบันทึกอาการของทารกเช่นกัน

ในกรณีทารกที่ต้องผ่าตัดอาจไม่สามารถทำ skin-to- skincontact ได้ทันทีหลังเกิด ให้ทำให้เร็วที่สุดที่สามารถทำได้ หากจำเป็นอาจให้ทำ skin-to- skincontact โดยให้ทารกนอนตะแคงบนอกแม่ก็ได้

บันไดขั้นที่ 6 การดูดเต้านมเปล่า (Non-nutritive sucking)

การให้ทารกดูดเต้านมเปล่าของแม่ เป็นการช่วยให้ทารกได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการดูดนมแม่ สามารถเริ่มให้ทารกดูดเต้านมเปล่าได้เร็วที่สุดที่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์และน้ำหนักตัวของทารก ในกรณีที่ทารกต้องใส่ท่อหลอดลมคอให้ทารกได้ดูดเร็วที่สุดภายหลังที่ถอดท่อออก และสามารถทำได้แม้ในขณะที่ทารกยังคงได้รับนมแม่ทางสายให้อาหารอยู่ สามารถทำได้โดยการให้แม่ปั๊มหรือบีบน้ำนมออกจากเต้าให้เกลี้ยงที่สุดก่อน จากนั้นจึงให้ทารกดูดเต้าเปล่าซึ่งบางครั้งอาจมีน้ำนมออกแต่เพียงเล็กน้อยซึ่งจะช่วยให้ทารกได้รู้จักน้ำนมแม่แต่ไม่คาดหวังว่าทารกจะกลืนกินน้ำนมนั้น หากทารกเรียนรู้วิธีการดูดได้ดีอาจวางแผนในการเปลี่ยนเป็นการดูดนมแม่จริงๆ ได้เมื่อทารกได้รับนมมากกว่า ของปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละวัน โดยการให้ทารกดูดนมแม่จากเต้าก่อนแล้วจึงให้ทางสายให้อาหารหากยังได้รับน้ำนมไม่ครบ ในกรณีที่มารดาไม่สามารถอยู่หรือมาเยี่ยมเพื่อให้ทารกดูดเต้านมเปล่าได้อาจพิจารณาให้ทารกดูดจุกนมหลอกแทนการดูดเต้านมเปล่าได้เป็นกรณีๆ ไป

สำหรับบันไดข้อที่ 7-10 ขอต่ออีกบันทึกนะค่ะ ^^

หมายเลขบันทึก: 549960เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บันได 7 ขั้นสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  จริงแท้แน่นอน

น้องอาร์ม หน้าตาเปลี่ยน เกือบจำไม่ได้แน่ะ

บันทึกนี้มีประโยชน์สำหรับแม่กำลังเลี้ยงลูกมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท