บันได 10 ขั้นในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เจ็บป่วย(ตอน2)


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน

ต่อจากบันทึกเมื่อวานบันได 10 ขั้นในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เจ็บป่วย(ตอน1)เรามาดูต่อข้อที่ 7-10 กันเลยค่ะ

บันไดขั้นที่ 7 การเปลี่ยนผ่านสู่การให้นมจากเต้า (Transition to breast)

สัญชาติญาณในการดูดนมแม่เริ่มขึ้นตั้งแต่ทารกเกิด โดยทารกแรกเกิดทั่วไปจะแสดงสัญชาติญาณในการดูดนมแม่ผ่านทางพฤติกรรมต่างๆ 9 ระยะ คือ Birth cry, Relaxation, Awakening, Activity, Rest, Crawling, Familiarization, Suckling, Sleep โดยจะใช้เวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เราจึงควรให้เวลาทารกในการเรียนรู้การดูดนมแม่ผ่านสัญชาติญาณเหล่านี้ด้วยการทำ skin-to- skincontact ทันทีหลังคลอด แต่ในทารกที่เจ็บป่วยที่ไม่สามารถทำ skin-to- skincontact ทันทีหลังคลอดได้ การทำ skin-to- skincontact เมื่อทารกดีขึ้นร่วมกับการให้ทารกได้ดูดเต้าเปล่าบ่อยๆ จะช่วยให้ทารกสามารถเปลี่ยนผ่านมาดูดนมแม่จากเต้าได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่อาจต้องดูแลเป็นพิเศษดังนี้

1.การเคลื่อนไหวของลิ้นและการดูดอย่างเป็นสุญญากาศ จากการศึกษาโดยการใช้อุปกรณ์พิเศษพบว่าเมื่อทารกดูดนมจากเต้านมแม่อย่างถูกต้องจะเกิดแรงดันสุญญากาศในช่องปากทารกประมาณ -14558 mmHg ซึ่งแรงดันในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ทารกดูดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดี ดังนั้นทารกที่มีแรงดูดน้อยทำให้แรงดันสุญญากาศไม่ถึงระดับที่เหมาะสมจึงได้รับน้ำนมแม่น้อยหรือไม่ได้รับเลย เช่น ทารกที่มีปัญหาพังผืดใต้ลิ้น ทารกกลุ่มนี้จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการทำ Frenulotomy เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวลิ้นขณะดูดนมแม่ทำให้เกิดแรงดันสุญญากาศที่เหมาะสมได้ อีกกรณีหนึ่งเป็นข้อเสียของการที่ทารกมีแรงดูดสุญญากาศมากเกินไปจนทำให้แม่เกิดความรู้สึกเจ็บหัวนม ทำให้เกิดการยับยั้งการหลั่งน้ำนมทารกจึงดูดได้น้ำนมน้อยกว่าทารกที่แม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม

2.การให้ดูดเต้านมเปล่า การดูดเต้านมเปล่าจะช่วยให้ทารกเรียนรู้วิธีการดูดนมแม่ได้เป็นอย่างดี

3.Feeding cues ควรให้ทารกได้ดูดนมแม่ในช่วงที่ทารกแสดงอาการหิว (มี feeding cues)

4.Latch on ควรประเมินทุกครั้งว่าทารกมี Latch on ที่เหมาะสมหรือไม่ในขณะที่ให้ทารกดูนมแม่

5.การจัดท่าและการใช้หมอนช่วย ควรให้คำแนะนำและดูแลให้แม่ให้นมในท่าที่เหมาะสมและสบาย ส่วนใหญ่ในทารกแรกเกิดที่เจ็บป่วยมักให้นมในท่า Cross cradle และท่าฟุตบอล แม่บางคนอาจจำเป็นต้องใช้หมอนช่วยในการจัดท่าให้นม เช่น แม่ที่มีเต้านมใหญ่ เป็นต้น

6.การเปลี่ยนผ่านสู่เต้านมแม่ ทารกที่จะเริ่มให้นมทางปากควรให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่เต้านมแม่ในทุกกรณี หากจำเป็นต้องให้นมจากขวด ควรจะมีความพยายามให้นมแม่จากเต้าจนแน่ใจจริงๆ ว่าไม่สามารถดูดจากเต้าได้จึงจะให้กินนมจากขวด

7.การช่วยจับท่าทารกให้สามารถ Latch on ได้ ทารกบางรายอาจยังไม่แข็งแรงทำให้การดูดเต้านมแม่ยังไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการดูดในครั้งแรกๆ แม่จึงต้องเรียนรู้การจัดท่าทารกเพื่อช่วยให้ทารกสามารถอมหัวนมได้ลึกพอที่จะดูดให้เกิดสุญญากาศได้

8.การใช้ Nipple shield มีงานวิจัยพบว่าการใช้ Nipple shield สามารถช่วยให้ทารกดูดได้น้ำนมแม่ในแต่ละมื้อมากขึ้นเนื่องจาก Nipple shield จะช่วยให้เกิดแรงดันสุญญากาศเร็วขึ้นทารกจึงดูดได้น้ำนมแม่มากขึ้น โดยเฉพาะทารกที่เจ็บป่วยซึ่งมักมีแรงดูดน้อยหรือดูดได้ไม่นาน อย่างไรก็ตามการใช้ nipple shield นี้จะแนะนำเป็นกรณีไปไม่ได้ใช้กับแม่ทุกคน

9.การใช้อุปกรณ์ช่วย ในกรณีที่แม่มีปริมาณน้ำนมค่อนข้างน้อยการใช้อุปกรณ์ช่วยกระตุ้นให้ทารกดูดเต้านมก็จะช่วยกระตุ้นให้แม่มีการสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้นไปด้วย แต่จะใช้ได้ผลในกรณีที่ทารกสามารถ Latch on และดูดเต้าได้อย่างดี ซึ่งอาจใช้เป็นอุปกรณ์สำเร็จรูป สายยางให้อาหาร หรือ syringe ขนาดเล็กก็ได้

10.การให้นมโดยวิธีอื่นๆ ในระหว่างที่ทารกยังไม่สามารถดูดได้น้ำนมจากเต้านมแม่ได้อย่างเพียงพอ อาจต้องใช้วิธีการให้นมโดยวิธีอื่นๆ ควบคู่ไป เช่น การให้นมจากขวดที่ทารกต้องดูดอย่างเป็นสุญญากาศจึงจะได้น้ำนม (Dr. Diane แนะนำให้ทำวิจัยเกี่ยวเรื่องนี้) การให้ด้วยการป้อนถ้วย การให้ด้วย syringe หรือใช้เทคนิค finger feeding เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าวิธีการให้นมด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการดูดเต้านมแม่จะช่วยเหลือให้ทารกได้รับน้ำนมแม่ได้ดีกว่า ดังนั้น จึงควรให้ทารกดูดเต้านมแม่ให้เร็วที่สุดและบ่อยครั้งที่สุดที่จะทำได้

บันไดขั้นที่ 8 การวัดปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับ (Measuring milk transfer)

เมื่อทารกดูดนมจากเต้าของแม่ เราจะรู้ได้เพียงวิธีเดียวว่าทารกได้รับน้ำนมแม่ไปเท่าไรก็ด้วยการชั่งน้ำหนักทารกก่อนและหลังการดูดนมแม่แต่ละครั้ง (test weight) ไม่ใช่การดูจากน้ำหนักตัวของเด็กที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละวัน เนื่องจากขณะที่แม่จะคลอด แม่บางคนอาจได้รับสารน้ำเพิ่มขึ้นซึ่งสารน้ำนี้จะถูกส่งผ่านไปที่ทารกในครรภ์มีผลทำให้น้ำหนักตัวของทารกเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรเป็น เมื่อทารกคลอดจะขับน้ำส่วนเกินนี้ออกไปทางปัสสาวะทำให้ดูเหมือนทารกได้รับน้ำนมแม่มากแต่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มหรือน้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก ทั้งแม่และบุคลากรทางการแพทย์จึงค่อนข้างกังวลว่าทารกอาจได้รับน้ำนมไม่พอ ดังนั้นการทำ test weight แต่ละครั้งจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันว่าทารกได้รับน้ำนมพอหรือไม่และช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าจะต้องให้นมด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มหลังจากที่ทารกดูดนมแม่หรือไม่ด้วย อย่างไรก็ตาม การทำ test weight ไม่ควรเริ่มทำในขณะที่แม่ยังไม่เกิด Lactogenesis II เนื่องจากแม่ยังไม่มีน้ำนมหรือมีน้ำนมในปริมาณน้อย

ข้อควรคำนึงถึงในการทำ test weight คือต้องทำอย่างถูกต้องที่สุด อุปกรณ์ที่ติดตัวทารกต้องเหมือนเดิมและเท่าเดิม เช่น สายให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำจะต้องมีการทำเครื่องหมายบอกตำแหน่งของสายที่ถูกวางบนเครื่องชั่งเพื่อให้วางในตำแหน่งเดิมเมื่อทำการชั่งหลังจากดูดนม เป็นต้น สำหรับเครื่องชั่งควรใช้แบบดิจิตอลเพื่อความสะดวก อย่างไรก็ตามควรมีการตรวจสอบความถูกต้องและปรับเครื่องชั่งให้ได้มาตรฐานเป็นระยะๆ รวมทั้งความละเอียดในการชั่งควรเป็นระดับ 2 กรัม

บันไดขั้นที่ 9 การเตรียมจำหน่าย (Preparation for discharge)

เมื่อทารกสามารถเปลี่ยนมาเริ่มดูดนมแม่จากเต้าได้แล้วควรให้แม่มาอยู่ที่โรงพยาบาล (มาเยี่ยมแล้วอยู่ทั้งวันหรือให้อยู่นอนกลางคืนด้วยก็ได้) เพื่อเพิ่มโอกาสในการให้นมแม่ตามความต้องการของทารก หากทารกจำเป็นต้องให้นมเพิ่มด้วยวิธีอื่นๆ ควรให้โดยมีระยะห่างประมาณ 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรให้ตามทุกมื้อเพราะจะทำให้ทารกดูดนมแม่น้อยลง

ควรกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมที่จะต้องทำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกันระหว่างแม่และบุคลากรทางการแพทย์เมื่อทารกจะกลับบ้าน โดยจะต้องเป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง มีการประเมินความสามารถในการดูดนมและได้รับน้ำนมของทารกเพื่อให้ทราบว่า แม่จำเป็นต้องปั๊มนมให้ทารกต่อหรือไม่ และแม่จำเป็นต้องใช้เครื่องชั่งในการประเมินการได้รับน้ำนมของทารกหรือไม่ ซึ่งในโรงพยาบาลที่ Dr. Diane ทำงานอยู่ บางครั้งจำเป็นต้องจำหน่ายทารกกลับบ้านทั้งๆ ที่ยังคงให้นมทางสายให้อาหารอยู่ หรือบางรายก็ยังไม่สามารถดูดน้ำนมได้ดี ในกรณีเหล่านี้ทางโรงพยาบาลจะให้แม่ยืมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยในการให้นมแม่ เช่น เครื่องปั๊มนม เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น กลับไปบ้านด้วย และนำมาคืนเมื่อทารกดูดนมแม่ได้ดีแล้ว หรือไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว โดยจะต้องมีการสอนแม่ให้เข้าใจวิธีการใช้อย่างถูกต้องก่อนทุกครั้ง โดยเป้าหมายของปริมาณน้ำนมที่ทารกควรได้รับจะต้องกำหนดให้เป็นเป้าหมายของแต่ละวันหรือรอบ 24 ชั่วโมงไม่ควรกำหนดเป็นแต่ละมื้อ และควรกำหนดเป้าหมายของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของทารกเป็นแบบรายสัปดาห์ เพื่อไม่ให้แม่เป็นกังวลเกินไป

บันไดขั้นที่ 10 การเยี่ยมติดตาม (Appropriate follow-up)

การติดตามหลังจากจำหน่ายทารกกลับบ้านในอเมริกาแตกต่างจากในประเทศไทย โดยในประเทศไทยมักกลับมาที่โรงพยาบาลที่คลอดหรือหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐ แต่ของอเมริกานั้นแม่มีโอกาสในการพาทารกกลับไปตรวจสุขภาพหรือติดตามหลังจำหน่ายได้หลากหลายที่ จึงต้องเน้นให้แม่นำทารกไปพบบุลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับทารกที่เจ็บป่วยเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลโดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

โทร 02-354-8404

หมายเลขบันทึก: 550036เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท