ราคาของความรู้ กับมวลมหานักวิชาการ


เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว (เมษายน 2555) มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับสิทธิของนักวิชาการเกิดขึ้น ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการผลิตงานวิชาการในโลกเลยก็ว่าได้

[ ก่อนจะเข้าเรื่องต้องอธิบายเล็กน้อยเพื่อเป็นข้อมูลนะครับ ปกติเวลานักวิชาการจะทำผลงานวิชาการนั้น ต้องมีการเขียนส่งไปให้วารสารทางวิชาการพิจารณา หากกรรมการของทางวารสารเห็นควรว่ามีคุณภาพเพียงพอ หรือส่งให้แก้ไขจนได้คุณภาพที่เพียงพอแล้ว ก็จะได้รับการตีพิมพ์ โดยนักวิชาการจะต้องเซ็นยินยอมมอบสิทธิในการเผยแพร่ (Copyright) ให้กับทางสำนักพิมพ์ นั่นหมายความว่า โดยกฎหมายผู้เขียนไม่สามารถจะเอางานของตนเองไปเที่ยวแจกใครต่อใครได้อีกแล้ว ถ้าใครอยากได้ต้องไปซื้อเอาจากสำนักพิมพ์ครับ สำนักพิมพ์ก็หารายได้ด้วยการขายวารสารให้กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ และพวกเรานักวิชาการก็ต้องภาวนาให้ห้องสมุดต้นสังกัดของเราซื้อวารสารทางวิชาการที่เราอยากอ่านมาไว้ในห้องสมุด ถ้าไม่มีก็ต้องไปซื้อเองหรือขอหยิบขอยืมเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่พอจะมี ในปัจจุบันงานวิชาการขึ้นไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตหมดแล้ว จากที่เคยต้องไปค้นไปดูบนชั้นหนังสือ ก็เป็นการเข้าถึงฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยผ่านจากระบบห้องสมุดของเราไปนั่นเองครับ ]

กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า เรื่องมีอยู่ว่า นักคณิตศาสตร์นายหนึ่งที่ชื่อ ทิม โกวเวอร์ (Tim Gowers) เขียนบล็อก เล่าถึงความหงุดหงิดเกี่ยวกับ “ราคา” ของความรู้ ที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับสำนักพิมพ์ทางวิชาการยักษ์ใหญ่อย่าง Elsevier โดยให้เหตุผลสี่ประการคือ (1) ราคาที่แพงเอาๆ (2) ทางเลือกในการสมัครสมาชิกวารสารทางวิชาการที่มีอย่างจำกัด บังคับขายเป็นชุดใหญ่ในราคาแพง ทำให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทำงานลำบาก (3) ถ้าห้องสมุดพยายามจะต่อรอง ทางสำนักพิมพ์ก็จะปิดช่องทางการเข้าถึงวารสารอย่างไม่ใยดี (4) ข้อนี้สำคัญที่สุด คือการที่สำนักพิมพ์ Elsevier สนับสนุนร่างกฎหมาย Research Work Act ซึ่งหมายถึงการจำกัดสิทธิการเข้าถึงงานวิชาการอย่างเสรี นั่นหมายถึงทางเลือกที่ตีบตัน (ยิ่งกว่าเดิม) ของนักวิจัยและนักวิชาการ

elsevier

นายทิม โกวเวอร์ ออกแถลงการว่าจะไม่ขอร่วมงานกับ Elsevier อีกต่อไปนับ จบกับแค่นี้ แต่สิ่งที่นายทิมนึกไม่ถึงก็คือเสียงตอบรับอย่างท่วมท้นจากมวลมหานักวิชาการครับ เพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น เว็บไซต์ร้องเรียนที่ชื่อ The Cost of Knowledge ก็ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้นักวิชาการลงชื่อประท้วงแนวทางการดำเนินธุรกิจของ Elsevier ซึ่ง ณ วันนี้มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า 14,000 ราย (ใครอยากร่วมลงชื่อประกาศเจตนารมณ์ ขอเชิญที่ http://thecostofknowledge.com/index.php นะครับ) กลายเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Academic Spring (ตามอย่างเหตุการณ์ Arab spring) ที่เกิดขึ้นในช่วงปีเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวนี้ทำเอายักษ์ใหญ่อย่าง Elsevier สะดุ้งเอาเหมือนกัน ถึงกับต้องออกจดหมายเปิดผนึก เพื่อแถชี้แจงเจตจำนงว่าทางสำนักพิพม์ไม่ได้คิดจำกัดสิทธิการเข้าถึง เพียงแค่อยากให้งานคุณภาพได้มีการจัดหมวดหมู่และมีความน่าเชื่อถือ และอ้างว่าราคาของการเข้าถึงงานวิชาการในปัจจุบันถูกกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก (แน่ละครับ อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยให้เกิดการเข้าถึงโดยเฉลี่ยมากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสทำกำไรแบบทวีคูณของสำนักพิมพ์ด้วยทุนที่ต่ำลง เพราะไม่ได้เสียค่ากระดาษ ค่าขนส่งอีกแล้ว) ธรรมชาติของธุรกิจอินเตอร์เน็ตนั้นหมายถึงการเข้าถึงที่มากขึ้น บวกกับต้นทุนที่ต่ำลง การอ้างเหตุผลนี้ก็เลยไม่มีน้ำหนักเท่าไร และลงท้ายจดหมายเปิดผนึกว่าทางสำนักพิมพ์ยุติการสนับสนุนร่างกฎหมาย Research Works Act เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดที่แสดงให้เห็นว่ามวลมหานักวิชาการได้แสดงพลังให้ Big Brother อย่าง Elsevier เห็นว่าถ้ามากไปพวกเราก็ไม่เอาเหมือนกัน อำนาจต่อรองของนักวิชาการก็คือการหยุดส่งงานให้สำนักพิมพ์ การงดทำงานบริการวิชาการเช่นการคัดกรองบทความ การเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นการต่อรองที่มีพลังอยู่พอสมควร

อย่างที่ทราบกันว่าชื่อเสียงของนักวิชาการ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลงานเพียงอย่างเดียว แต่จำนวนการอ้างอิงถึงผลงาน (citation) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะเรียกว่าเป็น KPI หลักของนักวิชาการก็ว่าได้นะครับ เราเขียนงานก็อยากให้คนอ้างถึง อยากให้เกิดประโยชน์กับวงวิชาการที่เราสังกัดอยู่ นักวิชาการหลายคนจึงทำการเผยแพร่งานของตนทั้งๆ ที่มีการเซ็นส่งมอบสิทธิไปให้สำนักพิมพ์แล้ว บางคนก็ส่งให้นักวิชาการคนอื่นเมื่อมีการขอร้องกันมาทางอีเมล บางคนก็เอาไปแปะไว้ในเว็บไซต์ตนเอง หรือฝากไว้ตามเว็บที่ให้บริการฝากไฟล์ต่างๆ เช่น academia.edu ResearchGate หรือ arXiv.org

ทาง Elsevier ก็รู้ปัญหาข้อนี้ดี จึงมียุทธการไล่บี้เจ้าของเว็บไซต์ที่ให้บริการเหล่านี้ให้เอาไฟล์งานวิชาการที่ทางสำนักพิมพ์ถือสิทธิอยู่ออกไปเสีย ซึ่งผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านี้ก็ต้องคอยตามลบงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้อยู่ร่ำไป ล่าสุดก็เป็นข่าวขึ้นมาว่านักวิชาการนายหนึ่งที่ชื่อคุณ กาย เลนนาด (Guy Leonard) ได้รับเมลจาก academia.edu [1] ว่าจำเป็นต้องเอางานของเขาออกจากระบบเพราะละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นของ Elsevier ซึ่งทางผู้ก่อตั้ง academia.edu เองก็ออกมาเปิดเผยว่าสำนักพิมพ์หลายแห่งส่งอีเมลมาหาร้องขอให้ทางเว็บไซต์ลบไฟล์ PDF อยู่อย่างต่อเนื่องและถือเป็นเรื่องปกติ แต่ Elsevier เป็นสำนักพิมพ์เดียวที่ส่งอีเมลมาเป็นปึก ถึงวันนี้ได้รับอีเมลรวมแล้วกว่า 2,800 รายการ

เรื่องนี้คงไม่มีข้อสรุปง่ายๆ ครับ นักวิชาการหลายคนที่ทราบปัญหานี้ก็พยายามเลือกส่งงานไปให้สำนักพิมพ์ที่ใช้ทางเลือก Open Access ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการตีพิมพ์ คือใครๆ ก็สามารถมาอ่านงานเราได้ แม้ว่าในบางกรณีเราต้องเป็นคนจ่ายค่าจัดพิมพ์เอง (ซึ่งก็แพงอยู่) บางคนก็ตั้งอกตั้งใจเผยแพร่งานของตนตามช่องทางต่างๆ อย่างไม่แยแสต่อลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่ของตน

อย่างว่าละครับ นักวิชาการส่วนใหญ่แม้จะเลี้ยงชีพด้วยเงินเดือนเหมือนอาชีพอื่น แต่เราเลี้ยงวิญญาณด้วยความภูมิใจว่าเราได้มีส่วนช่วยสร้างสังคมภูมิปัญญาให้แตกหน่อออกผลออกไปเรื่อยๆ (แม้จะเอาเงินแลกก็ยอม ฮา!)

ข้อมูล

[1] http://chronicle.com/blogs/wiredcampus/posting-your-latest-article-you-might-have-to-take-it-down/48865
[2] http://www.theguardian.com/science/2012/apr/09/frustrated-blogpost-boycott-scientific-journals
[3] http://www.elsevier.com/wps/find/intro.cws_home/elsevieropenletter

เครดิตภาพ
http://knowledgeutopia.wordpress.com/2013/10/10/opening-the-pod-bay-doors-elsevier-and-the-future-of-open-access/

หมายเลขบันทึก: 556684เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากให้ใคร(บางคนในไทย)สะดุ้งเป็นบ้างแบบElsevier

เราอ่านแล้ว เราชอบมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท