beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

Living Management กลุ่ม ๕๐๑ <๑> เรื่องเล่าจากสมุดบันทึกการเรียนรู้ ณ ห้อง Self Study ๓๑๐


ออมคนละ ๑ บาทต่อวัน จำนวน ๘ คน ในจำนวนวันที่ออม ๓๒ วัน จะได้เงินจากกระปุกออมเงิน ๑ พันกว่าบาท จริงหรือไม่ ใครคิดผิดคิดถูกผู้อ่านช่วยบอกที

๗ มกราคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๐๕ ถึง ๑๘.๓๔ น. (เริ่มเขียนเมื่อ ๒๐.๓๐ น.-เขียนเสร็จ ๒๓.๐๐ น. ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงครึ่งครับ)

  • หลังจากประชุมรายวิชาวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันเสร็จแล้วได้เดินทางไปสำนักหอสมุด วันนี้ไม่ได้เอาบัตรสมาชิกมา เลยเดินผ่านประตูไม่ได้ (เหมือนทางเข้าสถานีรถไฟฟ้า) ต้องให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูให้
  • ขึ้นลิฟท์ไปชั้น ๓ มีนิสิตรออยู่แล้ว ๓ คน และมาเพิ่มเติมอีก ๒ คน รวมเป็น ๕ คน (รออยู่หน้าห้อง ๓๐๑)
  • ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ชั้น ๓ เพื่อขอใช้ห้อง Self Study เจ้าหน้าที่ถามว่า ต้องการห้อง ๑๐ คน หรือ ๕ คน บอกว่าต้องการ ๑๐ คน เจ้าหน้าที่บอกมีให้เลือก ๓๑๐-๓๑๓ ตอนแรกจะขอห้อง ๓๑๓ แต่ว่าห้อง ๓๑๐ ใกล้ห้องน้ำมากกว่าเลยเลือก ๓๑๐
  • เจ้าหน้าที่จองห้องในระบบ และมอบซองใส่กุญแจห้องพร้อมกับรีโมทควบคุมแอร์..มอบให้นิสิตเปิด บีแมนไปเข้าห้องน้ำ
  • เริ่มบทเรียนโดยเช็คชื่อนิสิต เรียงลำดับการลงทะเบียน มี ๗ คน มาเรียน ๕ คน ดังนี้
    1. นางสาวสุกัญญา เบี้ยจรัส (เมย์)
    2. นายพีรวัฒน์ ไชยมงคล (อูม)
    3. นางสาวศันสนีย์ มีบุตร (จิน)
    4. นายอิทธิพงศ์ คงมั่น (แซม)
    5. นางสาวมัลลิกา อภิคหบดี (พลอย)
  • เริ่มแรกบีแมน พูดถึงการเรียนรู้ใน ศตวรรษที่ ๒๑ ว่า ครู ทำหน้าที่เป็น Facilitator
  • เราจะเรียนกันแบบเน้นภาคปฏิบัติโดยมีการคุยกัน แบบ สุนทรียสนทนาหรือ Dialouge
  • สมุดบันทึกการเรียนรู้หรือ Journal ว่าให้เขียนทุกคนเขียน โดย การ Capture หรือ จับประเด็นในชั้นเรียน ค่อยๆ ฝึกฝนและเรียนรู้ไป
  • ตกลงเรื่องเวลาเรียนตอนเย็น ระหว่างเวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. ถึง ๑๘.๓๐ น. เรียนจันทร์ถึงพฤหัส สัปดาห์ละ ๔ วัน
  • มัลลิกา (พลอย อาสาเรื่องจะเอาปากกาเขียนไวท์บอร์ดมา ๓ สี ทุกวันที่มีการเรียนรู้..อุปกรณ์อำนวยความสะดวก มีห้อง มีแอร์ มีโต๊ะ ๑ ตัว เก้าอี้ ๑ ตัว และกระดานไว้บอร์ด แปรงลบกระดาน ๒ อัน แต่ขาดปากกาเขียนไวท์บอร์ด)
  • สุนทรียสนทนา who are you เริ่มจาก
    • เมย์-สุกัญญา (พูดไม่ค่อยเก่ง) เล่าว่า ตัวเองมาจากนครสวรรค์ ครูเก่าแนะนำให้มาเรียนคณิตศาสตร์ ตอนนี้เรียนคณิตศาสตร์ (วิทยาศาสตร์) ปีที่ ๔ ที่มาเรียนวิชาการจัดการการดำเนินชีวิตนนี้ คือ ลงทะเบียนตอนปี ๑ และต้องถอนเนื่องจากชนกับวิชาเอก จึงมาเรียนแบบภาคฤดูร้อน ๒ เดือน (๖ มกราคม ถึง ๗ มีนาคม ๒๕๕๗)
    • จิน-ศันสนีย์ เดิมอยู่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ตอนหลังย้ายมาเรียน คณะศึกษาศาสตร์ คู่ขนานวิทยาศาสตร์ ไปเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ ได้มีโอกาสไปฝึกสอน และเข้าใจว่าสมัยก่อนเรียนหนังสือ แล้วครูดุเราเพราะอะไร (เพราะว่าคุยกันในห้อง)
    • พลอย-มัลลิกา เล่าเรื่องได้น่าสนใจ เป็นคนกำแพงเพชร เดิมเรียนอยู่่คณะสหเวชศาสตร์ ที่เรียนคณะนี้เพราะพ่อและแม่เรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมาและคิดว่าถ้าเรียนสายนี้ แล้วจะได้รับราชการมีงานทำแน่นอนอาชีพมั่นคง เลือกเรียนตามที่พ่อแม่และญาติแนะนำมา...พอเรียนจริงๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวเราน๊ะ แต่ฝืนเรียนมาจนถึงปี ๓ เทอม ๒ จึง ย้ายมาเรียนสายศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์เอกภาษาไทย (เกรดไม่ค่อยดีนักประมาณ ๑,๙๒) ที่ย้ายมาเรียนสายนี้ เพราะที่ปรึกษาที่คณะสหเวช สังเกตแล้วว่า เธอเรียนสายศิลป์ได้ดี โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ได้แนะนำมาตั้งแต่นั้น แต่ก็ฝืนเรียนมาเรื่อยๆ  มาอยู่ที่ภาษาไทยมี อ.วนิดาเป็นที่ปรึกษาแต่ท่านเกษียณแล้ว ได้อาจารย์สถิตพรเป็นที่ปรึกษา..(ระหว่างเล่าเรื่องทุกคนต้องถือปากกา เป็นเหมือนไมค์ที่จะต้องเป็นคนเล่าเรื่อง) บีแมนถามแบบ Apreciative inquiry เพื่อให้เล่าเรื่องต่อว่า แล้วย้ายคณะ เคลียร์กับพ่อแม่อย่างไร..เธออธิบายว่า ก็เราเรียนแบบเครียดและไม่มีความสุข..ฝืนต่อไปอาจจะไม่จบก็ได้ ต้องอธิบายพ่อแม่อยู่นานจนกว่าจะเข้าใจ..สุดท้ายเราก็มาเรียนใน ที่ชอบที่ชอบ (ที่เราชอบ)
    • แซม-อิทธิพงศ์ เล่าว่า ตัวเองอยู่ขอนแก่น เดิมตอนม.ต้น เกเร เล่นเกม "แร็คนาร็อก" พอ ม.๓ ก็เรียนสายอาชีพ เทคนิค เป็นช่างยนต์ ต่อมาก็ย้ายมาเรียนที่เทคโน.ขอนแก่น จบปวช. พี่สาวที่อยู่พิษณุโลกชวนมาเรียนที่มน. มาอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้องที่พิษณุโลก..เข้ามาโดยใช้วิธีพิเศษทางการเล่นดนตรี มาแบบโควต้า เข้ามา ๑ ปี ก็เรียนไม่ไหว รู้สึกว่าเรียนเป็นวิชาการมากไปปรับตัวไม่ได้ (เทอมที่ ๑ ได้เกรด ๑.๒๕ เอง) ตอนแรกจะย้ายไปประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็มาเรียนเอกภาษาไทย (จะจบได้ภายใน ๔ ปี เพราะก่อนย้ายเอกได้เลือกลงทะเบียนในรายวิชาที่จะไปนับหน่วยกิตในสาขาที่ย้ายไป)
    • อูม-พีรวัฒน์ เล่าว่า เดิมตัวเองเรียนในรหัส ๕๐ สาขาย่อยวัสดุ ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (ภาคปกติ) เรียนไป ๒ ปี เกรดไม่ถึง ๒ เป็นเพราะว่าปี ๒ เกเร ไม่มาเรียน..พอเกรดไม่ดีคิดว่าจะย้ายเอก แต่พอดีมีเปิดเรียนวิศวกรรมโยธาภาคพิเศษ (เรียนรวมกับภาคปกติแต่จ่ายเงินแพงกว่า) จึงมาสมัครใหม่ และโอนหน่วยกิตที่ได้ตั้งแต่ C ขึ้นไป ประมาณ ๒๐ หน่วยมาด้วย แต่ก็มาติดเพื่อนอีก (อายุ ๒๐ แล้ว) มี ๔-๕ คน จนเพื่อนรีไทน์ไปหมด จึงได้คิด กลับมาตั้งใจเรียน พ่อแม่ไม่ได้รู้ความจริง ถามว่าทำไมยังเรียนไม่จบ- ตอบว่าทีไม่จบเพราะว่าเรียนไปช้าๆ เรียนไม่ทันเพื่อน แต่เดี๋ยวก็จบ ตอนนี้เหลือแค่ ๒ วิชา และเกรดได้เกิน ๒.๐๐ ไม่มีปัญหา Summer นี้จบแน่นอน
  • บีแมนเปิดประเด็นใหม่-พูดถึงเรื่องไปพบท่าน ว.วชิรเมธี และท่านว.พาไปถ่ายรูปกับพระน็อต-ถามว่า แต่ละคนเข้าใจว่าพระน็อตคืออะไร
    • อูม/และแซม บอกว่า น่าจะเป็นดาราแล้วไปบวชพระ...เฉลยว่า คือ น็อตตัวเมียที่นำมาสร้างเป็นพระพุทธรูป ให้แต่ละคนวิพากย์วิจารย์ว่า ทำไมท่านว.จึงพามาถ่ายรูปกับพระน็อต
    • อูมบอกว่าพระน็อต เป็น (Keyword )ค่านิยม ความเชื่อ
    • แซมบอกว่าพระน็อต เป็น (Keyword ) เรื่องที่คนสร้าง ต้องมีจิตศรัทธา
    • พลอยบอกว่าพระน็อต เป็น (Keyword ) เป็นอะไรก็ได้ มีคุณค่า เพราะการเจียรนัยของผู้สร้าง
    • จินบอกว่าพระน็อต เป็น (Keyword ) เป็นอะไรก็ได้ ต่อให้เป็นดิน เมื่อนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปก็มีคนกราบไหว้ เป็นเรื่องของค่านิยมและคุณค่า
    • เมย์บอกว่าพระน็อต เป็น (Keyword ) พูดสุดท้ายไม่มีอะไรพูด สรุปว่า คนไทยนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นพระน็อตเป็นเรื่องของ ศรัทธาและความเชื่อ

กระปุกออมบุญ 

  • เรื่องเดิม ก่อนวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ บีแมน เล่าเรื่องไปโรงเรียนฉือจี้ และเล่าเรื่อง "กระปุกออมบุญ" ให้ เมย์และจิน ฟัง สุดท้ายเมย์รับอาสาไปทำกระปุกออมบุญมาให้กลุ่ม และได้นำมาเป็นอุปกรณ์การเรียนในวันนี้
  • บีแมน จึงมอบหน้าที่ให้เมย์เล่าเรื่องการสร้างกระปุกออมบุญ ซึ่งเมย์ได้เล่าว่า หลังจากที่คุยกันวันที่มาขอลงทะเบียน แล้วได้โทรไปหาแม่เพื่อปรึกษาเรื่องการสร้างกระปุกออมบุญ ซึ่งแม่ก็ได้โทรไปหาพ่อเพื่อไปตัดไม้ไผ่ พ่อไปทำนาต่างอำเภอ ตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่มา ๒ ข้อ และอาเขยช่วยเจาะรูหยอดสตางค์ให้ พร้อมกับแนะนำวิธีขูดผิวไม้ไผ่ให้เรียบโดยใช้แก้วแตกขูดผิวไม้ไผ่ (เป็นขุมความรู้-ประสบการณ์ของคนสมัยก่อน) แล้วเมย์ได้เอากระบอกไม้ไผ่กลับมาที่หอพักหลังปีใหม่ ให้เพื่อนวาดรูปคนแก่หญิงชายจับมือกัน ด้านล่างเป็นเห็ดใส่หน้าตาคน เสร็จแล้วเคลือบด้วยแลคเกอร์
  • ต่อจากนั้นก็ได้พูดถึง การออมเงิน ซึ่งให้ทุกคนในห้องเรียนซึกถามเมย์ ซึ่งอูมถามว่า ที่เรียกว่ากระปุกออมบุญหมายถึงออมเงินเพื่อไปทำบุญโดยค่อยๆ ออมใช่ใหม่ ตอบว่าใช่
  • พลอยบอกว่า ออมบุญคือเราออมทุกวันพฤหัสบดี (วัดสุดท้ายของสัปดาห์) ใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ ต้องออมทุกวัน
  • บีแมน ขอแจมว่า ที่ต้องให้ออมทุกวันเพื่อฝึกความมีวินัย และให้ได้อธิษฐานจิตด้วย
  • อูมถามว่า ออมขั้นต่ำเท่าไร ขั้นสูงเท่าไร เมย์ตอบว่า ไม่มีขั้นต่ำขั้นสูง แต่ออมทุกวัน วันละ ๑ บาท
  • บีแมนอธิบายว่า ๑ บาท เป็นเหรียญเล็กที่เราพบบ่อยกว่า เหรียญห้าสิบหรือเหรียญสลึง พร้อมถึงเชื่อมโยงให้เห็นประวัติศาสตร์ในเหรียญ โดยถามนิสิตว่า ด้านหลังเหรียญ ๕๐ เป็นภาพวัดอะไร นิสิตช่วยกันหาคำตอบ โดยสุดท้ายตอบว่า เป็น "วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ
  • บีแมน ตั้งโจทย์ต่อไปว่า บริจาค ๑ บาทต้อวัน เหมือนว่าไม่ยากอะไร แต่ว่าที่มาของเงิน ๑ บาท ต้องมาจากการหาวิธีประหยัด ทุกคนจะประหยัดเงินอย่างไร เพื่อนำมาหยอดกระปุกออมบุญ..
    • พลอยบอกว่า ปกติทานอาหารเช้า กับข้าว ๒ อย่าง ๒๕ บาท กับข้าว ๓ อย่าง ๓๐ บาท เราก็ลดความอยากลง ทานกแค่ ๒๕ บาท ก็ประหยัดได้วันละ ๕ บาท
    • แซมบอกว่า ปกติทานน้ำอัดลม ๑ แก้ว ร้านเซเว่น แก้วละ ๒๘ บาท ก็งดทาน ๑ วัน ประหยัดไป ๒๘ บาท
    • อูมบอกว่าชอบทานไอศครีม ซึ่งร้านอยู่ใต้หอ ดังนั้น ก็จะงดทานไอศครีม ก็ประหยัดเงิน ๑๐ กว่าบาท
    • ส่วนเมย์กับจิน นั้นบีแมนได้แนะไปก่อนหน้านั้นว่า เราไปกินข้าวร้านไหนตอนกลางวัน ก็ไปบอกแม่ค้าลดข้าวลดกับ แล้วทอนให้เรา ๑ บาท เพื่อร่วมออมบุญกับเรา เป็นการไปชักชวนคนอื่นร่วมทำบุญกับเราด้วย
    • สุดท้าย การออมบุญได้ช่วยลดตัณหา คือ ความอยากของเราด้วย (คนส่วนมากเข้าใจว่า ความอยาก คือ กิเลส)
  • ตกลงว่า นิสิตทุกคนที่มาเรียน จะต้องออมวันละ ๑ บาท ๔ วันต่อสัปดาห์ ถามว่าเราต้องเรียนกัน เดือนละ ๑๖ วัน ๒ เดือนเป็น ๓๒ ครั้ง ให้ทำนายว่าเมื่อผ่ากระปุกออมเงินจะได้เงินสักเท่าไร.. อูมบอกว่า ๓๐๐ บาทขึ้นไป ส่วนแซมบอกว่า มากกว่า ๔๐๐ 
  • สุดท้าย แซมรับอาสาว่า จะเอาเหรียญ ๑ บาท มาให้พวกเราแลกเพื่อออมบุญวันละ ๑ บาท
  • พอเลิกชั้นเรียน ก็เลือกหัวหน้าห้อง ได้พลอยเป็นหัวหน้า แล้วพลอยก็ให้จังหวะ "สามสี่" ปรบมือ บน ล่าง บน "แปะ แปะ แปะ" "เยี่ยม" 
  • บีแมนเห็นใบหน้าเปื้อยยิ้ม ของนิสิตทุกคน เป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขทุกคน
  • สุดท้ายบีแมนเอากุญแจมาคืนที่เคาน์เตอร์ และบอกว่าวันนี้เจอแจ็คพอท คือ แอร์ที่ห้องไม่เย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า ท่อแอร์รั่ว ครั้งต่อไปให้มาใช้ห้อง ๓๑๑ แทน..
  • ก่อนกลับ เมย์ กระซิบบอกว่า ถ้าเรามี ๘ คน ออมในกระปุกวันละ ๑ บาท รวม ๒ เดือน เท่ากับ คนละ ๓๒ บาท จะได้เงินรวมทั้งหมด พันกว่าบาท...ใครคิดผิดคิดถูก ผู้อ่านช่วยเฉลยให้หน่อย
หมายเลขบันทึก: 558492เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2014 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่อง กระปุกออมบุญ เรียนทั้งหมด 32 ครั้งมีสมาชิก 7 คน จะได้เงินทั้งหมด 224 บาทค่ะ

  • เป็นคำตอบที่ถูกต้องครับ
  • แต่ในทางปฏิบัติ ผมคิดว่า วันที่ผ่ากระปุกออมบุญนับสตางค์ผมคาดว่าน่าจะได้ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท เพราะว่ามีหลายคนอยากออมมากกว่า ๑ บาท..อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท