Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

'พอ'...คำที่ จิตมารสะกดไม่เป็น!!‏


เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระ พุทธศาสนาวันเวลากำลังไหลไปดุจสายน้ำ หลากหลายเรื่องราวกำลังปรากฏ หลากหลายเรื่องราว ได้ผ่านไป บางเรื่องก็จบสิ้นไป... บางเรื่องก็ แปรรูปส่งต่อสืบเนื่องดุจเหมือนการดำรงอยู่อย่างไม่สูญหาย... จากอดีตจนถึงปัจจุ บัน ส่งตัวสู่อนาคต... และไม่ว่าจะมีสภาวธรรมเป็นอย่างไร... สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแจ้งประจักษ์ หากมองดูอย่างมี สติปัญญา ครบสมบูรณ์ คือ ความผกผันเปลี่ยนแปลงผันแปรไปไม่คงที่ แม้ส่งต่อสืบเนื่องดุจกำลังดำรงอยู่... สมดังคำพระที่กล่าวว่า... อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงหรอกโยม!!

แต่ปัจจุบันธรรม สิ่งที่ผันแปรไม่เที่ยงในยามนี้ ซึ่งเล่นเอาหลวงพี่ หลวงอา ไอ จาม น้ำมูกไหล ไข้ขึ้นกันบ้างตามพอสมควร ก็ด้วย อุตุนิยาม ที่แสดงฤทธิ์เดช เปลี่ยนอากาศจากปลายฝนไปหาต้นหนาว เล่นเอาต้องควานหาอังสะ ผ้าห่ม หมวกไหมพรม เพื่อสวมใส่บรรเทาความหนาวยามใกล้รุ่ง... ยิ่งตอนบิณฑบาตยามเช้า อากาศหนาวโชยมากระทบตามแรงลมที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วรถยนต์ ที่วิ่งแหวกผ่านไปให้คลื่นลมหอบความหนาวมาถวาย หลวงพี่ หลวงอา หลวงลุง ที่เดินบิณฑบาตอยู่สองข้างทาง จึงได้รับนิมนต์ฉันอากาศหนาวใน ยามเช้าตรู่กันถ้วนหน้า... เมื่อประสบอาการไข้หวัดจากปลายพรรษาที่ยังไม่สร่างจากฤทธิ์น้ำฝน เมื่อบวกกับต้นลมหนาว จึงสัมปยุตไข้ลงในขันธ์ ๕ ให้แสดงความอ่อนแอของสังขารที่เป็นพื้นฐาน อันสะท้อนความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย นั้นๆ...

วันนี้ ฉันภัตตาหารเสร็จ ออกเดินดูความเรียบร้อยในเขตวัด เพื่อบริหารกาย-จิตไปพร้อมกัน พลันได้ยินเสียงอ่านแถลงการณ์แว่วๆ มาทางสื่อทีวีว่า... ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาร่วม ๑๐ ปี ได้สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศอย่างมาก... และมีอีกหลายประโยคที่น่าสนใจ ดังเช่น... หากทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว... เชื่อว่าความขัดแย้งย่อมลดลง ประเทศเดินหน้าต่อไปได้...

เรามาติดหล่มจนประเทศชาติต้องอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งต่อไปอีกไม่ได้ และหากจะให้บ้านเมืองสงบ

การให้อภัยนั้นต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์ เปิดใจกว้าง ให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเข้าใจดีว่าทำได้ยาก แต่เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตัว..."...

จริงๆ แล้วไม่ใช่สารธรรมที่ควรพิจารณา ในขณะที่จิตละมายาไปสู่ความสงบ... แต่ด้วยข่าวสารบ้านเมืองที่เข้าหู-เข้าตามาโดยตลอด ในห้วงเวลาที่มีข่าวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ร่วมแสดงออกอย่างไม่เคยปรากฏในการขับเคลื่อน รวมตัวกันของประชาชนทุกองค์กร... ทุกสาขาอาชีพ จึงให้สนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง... ทำไมประชาชนจึงเดือดเนื้อร้อนใจกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จนต้องขนลูกหลานญาติมิตรมารวมพลังประท้วงกันอย่างยิ่งใหญ่อย่างไม่ค่อยจะ ปรากฏให้เห็น...

...ก็ให้แปลกใจเหมือนกันว่า... ทำไมการนิรโทษกรรม หรือ การยกโทษให้การทำโทษนั้นสิ้นไป เพื่อความไม่มีโทษต่อกัน มันผิดหรือไม่ดีตรงไหน... หากจะถามว่าขัดหลักพุทธศาสนาไหมในการ นิรโทษกรรม... เพื่อให้คนพ้นผิดไม่ต้องรับโทษทุกข์ภัย... ก็คงตอบได้ชัดว่า พุทธศาสนานั้นเป็นกระบวนการไม่จองเวร ละความพยาบาท สิ้นความเบียดเบียน...

ดังคำสุภาษิตที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร... การไม่จองเวร การไม่พยาบาท การไม่เบียด เบียนต่อกัน เป็นหัวใจของความมีเมตตาธรรม ซึ่งหวังให้สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีโทษทุกข์ภัย...

หลักการนิรโทษฯ จึงตรงต่อแนววิถีพุทธศาสนาอย่างแน่นอน ตามกระบวนการ อภัยทาน ที่ยึด หลักเมตตาธรรมค้ำจุนโลก... แต่ กระบวนการนิรโทษฯ ต้องเป็นไปตามกระบวนการแห่งธัมมะ ที่สามารถยุติปัญหาทั้งปวงได้อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า ยุติโดยธรรม... โดยกระบวนการยุติธรรมที่ชอบโดยธรรม ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นด้วยอำนาจของ สติและปัญญา (มิใช่ความโง่จากจิตโมหะที่ขาด สติปัญญา)...

สติปัญญา นั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความปกติแห่งจิตที่สามารถรู้เห็นในสรรพสิ่งได้อย่างปกติ รู้เท่าทันในสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อบริหารจัดการให้สรรพสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กันอย่างมีประโยชน์ เกิดคุณประโยชน์ต่อกันอย่างมีความเสมอภาคกันโดยธรรม...

สติปัญญา จึงเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ในการบริหาร จิตวิญญาณ เพื่อให้ดำเนินไปสมคุณค่าฐานะความเป็น มนุษย์ที่ประเสริฐ ด้วยการสร้าง ความเมตตากรุณา ขึ้นในจิตสำนึก ตลอดจน มุทิตาและอุเบกขา เรียกรวมทั้ง ๔ ว่า พรหมวิหารธรรม ซึ่ง พรหมวิหารธรรม นี่แหละจะขจัดทำลาย อคติ หรือ ความไม่ประเสริฐอันเกิดจากความลำเอียงแห่งจิตใจของสัตว์ด้วยอำนาจแห่ง ความอับปัญญา...

ดังนั้นพื้นฐานของผู้ที่จะกระทำหน้า ที่ นิรโทษกรรม... จึงต้องรู้จัก พรหมวิหาร ธรรม โดยสามารถเข้าถึงพร้อมความประ เสริฐ ๔ ประการดังกล่าว เพื่อเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ อันควรแก่การคิดทำการนิรโทษกรรมให้กับผู้อื่นด้วยจิตเจตนาที่บริสุทธิ์ ประเสริฐ... ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นละสิ้นไปใน อคติ ๔ อันเป็น อกุศลธรรมที่จะทำให้เกิด อกุศลจิต... ให้มีพฤติจิตไปในด้านเกาะเกี่ยวเนื่องกับโลก อย่างขาดความรู้เท่าทันในโลก จนสำคัญผิดในความหมาย...

ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปในการเข้าใจความจริง อันมีอยู่จริงในโลกที่เป็นไปตามหลักธรรมดา ที่เรียกว่า ความวิปลาส ซึ่งมี ๓ ประการ ได้แก่ จิตวิปลาส สัญญวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาสอาการวิปลาสแห่งจิต ที่เรียกว่า จิตวิปลาส นั้น จะนำไปสู่การมีความคิดเห็นที่ผิดทำนองคลองธรรม ผิดแบบแผนศีลธรรม... ผิดไปจากหลักธรรมที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ...

หากเป็นความเห็นผิดที่เที่ยงแท้... ความวิปลาส แห่งจิตก็เข้าขั้นถาวร หมายความว่ายากที่จะแก้ไข จนสร้างความวิบัติสมบูรณ์ ๔ ประการ ให้สะท้อนเห็นความเป็น ทิฏฐิวิปลาส ขั้นร้ายแรง อาจจะถึงขั้น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ได้ ซึ่งยากจะแก้ไข และเมื่อเข้าถึงความเที่ยงแท้แห่งความเห็นผิด (นิยตมิจฉาทิฏฐิ) เต็มรูปแบบ จึงถูกจัดประเภทจิตอยู่ในฝ่ายมาร ที่สามารถแสดงการกระทำถึงขั้น ครุกรรมฝ่ายอกุศล ได้อย่างไม่ยากลำบากเลย ซึ่งกรรมประเภทนี้จะให้ผลเกิดในทุคติ มีนรกเป็นเบื้องหน้าอย่างเดียว... อย่างไม่เป็นอื่นเลย เพราะจัดเทียบชั้นเดียวกับ อนันตริยกรรม นั่นเอง...สำคัญอย่างยิ่งแห่ง การคิด อ่าน พูด ทำ ของสัตว์ประเภทนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความริษยา มัจฉริยะ มักขะ ปลาสะ มายา สาเถยยะ อย่างเต็มกำลัง หากพูดแบบภาษาชาวบ้านคือ เต็มไปด้วยร้อยเล่ห์พันประการ ยากจะอ่านหน้าออกบอกใจได้ว่า คิด พูด นั้น ต้องการอะไรกันแน่... แม้พฤติจิตจะตรวจสอบได้ยาก แต่พฤติกรรมการ

แสดงออกนั้น หากรู้จักพิจารณาก็สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในเรื่อง ความเห็นแก่ตัว... เห็นประโยชน์แก่พวกพ้องน้องพี่

โดยหากไม่ได้ตามประสงค์หรือไม่สมประสงค์ตามปรารถนา สัตว์ประเภทนี้จะยกระดับการแสดงออกสู่ขั้นพยาบาท ความโกรธ อุปนาหะ (ความขังโกรธ) และปมาทะ ทันที

ซึ่งการแสดงออกในขั้นนี้จะนำไปสู่การวางแผนทำลาย-ทำร้ายกันได้อย่างไม่เกรง กลัวบาปกรรมใดๆ เลย ด้วยจิตใจเข้าถึง ปมาทะ คือ ความประมาท อย่างเต็มกำลัง จึงกล้าทำ กล้าคิด กล้าพูด ในสิ่งที่คนปกติเขาไม่กระทำกัน เพราะการไม่เกรงกลัวบาปกรรมเป็นวิสัย

ปกติ ซึ่งเมื่อพัฒนาจิตใจมาถึงขั้นนี้แล้ว อะไรๆ ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้อีกแล้ว ความอยากจึงทะยานเต็มกำลัง ให้สามารถกระทำได้ใน ทุกอย่างแม้จะต้องรบราฆ่าฟัน ประหัตประหาร กัน เพื่อหวังความได้มาตามประสงค์ สนองความต้องการ (ตัณหา) การจะฟังใครนั้นย่อมไม่มีอีกแล้ว เรียกว่าหลงตัวถึงขั้นไม่มีใครอยู่ในสายตา จึง พัฒนาอาการลบหลู่คุณท่าน ยกตนข่มท่าน ยกระดับจิตสู่ ความหัวดื้อ ความแข่งดี การยกตนถือตัว และเหยียดหยามดูหมิ่นผู้อื่น มองคนอื่นอย่างไม่ใช่คน...

จึงกระทำสัมพันธ์กับคนอย่างดูถูก ดูแคลน ดุจความเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เดรัจฉาน เรียกว่า คบคนไว้ใช้งาน ซื้อคนไว้เป็นทาส เสร็จสิ้นก็ฆ่าทิ้งไป...

ทั้งนี้ ด้วยจิตที่เข้าถึงขั้นมัวเมาสุดๆ เป็นความมัวเมาในโลกธรรมอย่างไม่มีที่สุด ยากที่จะอิ่ม ยากที่จะหยุด ยากที่จะสงบ และยากที่จะ "พอ" คำว่า "พอ" จึงไม่รู้จัก สะกดไม่เป็น ด้วยจิตที่มืดมน เมามายอยู่ในกระแสโลกียะ

คำว่า "แม่น้ำ เสมอตัณหา ไม่มี" สุภาษิตบทนี้จึงตอบแทนได้ในจิตสัตว์ที่ไม่รู้จักคำว่า "พอ"...

และเพราะไม่รู้จักคำว่า "พอ" นี่แหละ สัตว์เหล่านี้จึงใช้ศักยภาพเพื่อให้ได้มาตามความต้องการ...

กล่าวว่า ด้วยความอยากจึงทะยานสุดกำลัง เพื่อเข้าให้ถึงเป้าประสงค์ที่ต้องการยึดหมาย... การแสวงหา (ปริเยสนา)

จึงเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ให้ขับเคลื่อนไปอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่ไม่รู้จักคำว่า "พอ"...

ยิ่งได้มาก ยิ่งชอบมากจะยิ่งหมกมุ่นฝังใจมาก จนเพิ่มพูนโมหจิตให้กล้าแข็ง ให้ยิ่งพิสมัยในสิ่งที่ได้มานั้น

และยิ่งอยากได้มาอีกแม้จะมีอยู่มากมายแล้ว

ทั้งนี้ ด้วยสะกดคำว่า "พอ" ไม่เป็น... จึงนำไปสู่การคิดใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบ...

การใช้เครื่องมือศัสตราวุธทุกชนิดเพื่อแสวงหา...

เพื่อช่วงชิง... เพื่ออารักขาในสิ่งที่ต้องการและได้มา โลกจึงวุ่นวาย...

ประเทศจึงหายนะ... สังคมจึงฉิบหาย... หมู่ชนจึงเดือดร้อนกันไปทั่ว

เพราะมันเป็นเช่นนี้เอง คือไม่รู้จักคำว่า "พอ"...

เจริญพร

 

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 00:00:45 น.
คอลัมน์: ปักธงธรรม: 'พอ'...คำที่ จิตมารสะกดไม่เป็น!!
โดย...พระ อ.อารยวังโส
[email protected]
หมายเลขบันทึก: 559543เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2014 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2014 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท