ของเล่นเด็กหรือเด็กเล่นของ...?


วันนี้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมรุ่นน้องสองท่านที่พบปะกับดร.ป๊อปที่ออสเตรเลีย จนได้เป็นพิธีกรงานแต่งงานให้น้องทั้งสอง และปัจจุบันน้องทั้งสองท่านมีลูกชายวัยสองขวบครึ่งที่น่ารักมากๆ ผมชื่นชมที่รุ่นน้องทั้งสองพูดกับลูกด้วยภาษาอังกฤษที่มีสำเนียงถูกต้อง (บางคำ ดร.ป๊อป ยังฟังไม่ออก...งงเลย) เพราะทั้งสองท่านไปอบรมเรื่องนี้เฉพาะของคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก โดยเฉพาะ ดร.ป๊อป เองก็เคยอบรมเรื่องนี้เฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษที่โครงการศึกษาต่อเนื่องคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ก็ไม่มีทักษะ จึงอยากนำมาเล่าให้เห็นถึงความตั้งใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้ลูก การเล่านิทานให้ลูก การเตรียมหาโรงเรียนให้ลูก และการซื้อของเล่นให้ลูก

ประเด็นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันน่าสนใจจึงอยากนำมาแชร์ให้คุณพ่อคุณแม่และคุณลูกรุ่นใหม่ในสังคมไทย

  • การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ที่มีการร่วมกลุ่มได้น่าสนใจ เช่น Homeschool Thailand  และกระบวนการที่ชัดเจน แต่การให้ความรู้ถึงกระบวนการพัฒนาเด็กระหว่างนักการศึกษา นักกิจกรรมบำบัดหรือนักวิชาชีพอื่นๆ ทางการพัฒนาเด็ก และผู้ปกครอง นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก การพัฒนาทักษะทางประสาทพัฒนาการของเด็ก การเตรียมบุคลิกภาพที่ประสมประสานบทบาทผู้ปกครองที่เป็นผู้สอนกับผู้เลี้ยงลูก การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพจิตของผู้ปกครองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจและอารมณ์ของลูกที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในระบบการจัดการศึกษาที่โรงเรียนทั่วไป ตลอดจนการสอนแบบสองภาษาควรมีรูปแบบอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ...ถ้าผู้ปกครองไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ คลิกศึกษาที่ผู้จัดการออนไลน์นี้
  • การเล่านิทานให้ลูก มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กอย่างยิ่ง รุ่นน้องของผมพยายามศึกษาข้อมูลของนิทานคุณภาพสำหรับลูก แต่ก็พบว่า ประเทศไทยเรายังขาดแคลนหนังสือนิทานเพื่อการพัฒนาเด็ก รุ่นน้องของผมจึงเลือกและสั่งซื้อหนังสือนิทานต่างประเทศที่มีรูปแบบน่าเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์-เหตุผลและมีข้อคิดฝึกคุณธรรมให้กับเด็กโดยธรรมชาติ ดร.ป๊อปจึงอยากให้ทุกท่านอ่านบันทึกการเสวนาที่น่าสนใจเรื่อง "ทำหนังสืออย่างไรให้ถึงใจเด็ก" ซึ่งผมประทับใจคุณหมออุดม เพชรสังหาร ประธานโครงการรักลูกอวอร์ดที่มุ่งมั่นพัฒนาให้เด็กไทยอ่านหนังสือคุณภาพ คุณหมออุดมฯ เคยแนะนำให้ผมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการรักลูกอวอร์ดอยู่สัก 2 ครั้ง และให้สมัครขอทุนไปเรียนการเขียนนิทานเพื่อพัฒนาเด็กโดยเฉพาะแต่ผมก็ไม่มีโอกาสด้วยตารางงานประจำ...ที่ Highlights Foundation - Chautauqua Writer's Workshop นอกจากนั้นผมจึงแนะนำโครงการนิทานทำมือเพื่อลูกรักที่ผลิตผลงานครอบครัวให้ลูกได้สร้างสรรค์นิทานด้วยตนเอง

  • การเตรียมหาโรงเรียนให้ลูก รุ่นน้องของผมวางเป้าหมายที่โรงเรียนสองภาษาที่ปัจจุบันค่าเล่าเรียนแพงมาก ผมเองก็ตั้งประเด็นว่า ทักษะทางสังคมผ่านการสื่อสารที่ดีของลูกน่าจะเป็นเป้าหมายที่เหนือกว่าทักษะทางภาษาหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลของโรงเรียนหลายรูปแบบของอนุบาลจาก www.momypedia.com แต่ถ้าต่อยอดในระดับประถมศึกษา ผมพยายามค้นดูเวปไซด์ในไทยก็พอนำมาขบคิดได้บ้าง แต่เวปไซด์ของออสเตรเลียของพอจะมีตัวอย่างคำถามแนะนำผู้ปกครองให้พิจารณารูปแบบของโรงเรียนได้บ้าง โดยสรุปคือ ลูกต้องการทั้งทักษะภาษาและสังคม ถ้าอนุบาลลูกได้รับทักษะภาษาและสังคมผ่านกิจกรรมการเล่นมาแล้ว ถ้าช่วงประถมต้นจะต่อยอดจากอนุบาลบ้างก็จะดีมาก แต่ถ้ามีการเสริมทักษะทางภาษาและสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ไม่บังคับวิชาการ ไม่บังคับการทำการบ้าน และไม่บังคับท่องจำ) แต่ใช้สื่อการเรียนรู้สร้างสรรค์ผ่านวิถีชีวิต มนุษย์ และธรรมชาติในชีวิตวัยเรียนประถมต้นก็น่าจะดีมากๆ ส่วนถ้าจะเน้นทักษะวิชาการผ่านกิจกรรมที่เสริมความคิดและเสริมแรงจูงใจและกิจกรรมพลเมืองดีในช่วงประถมปลายบ้างก็น่าจะดีกว่าประถมต้น ดังนั้นผู้ปกครองคงต้องศึกษาหลักสูตรของโรงเรียนนั้นๆ มากกว่ามุ่งเป้าภาษา วิชาการ สังคม หรือทั้งหมด
  • การซื้อของเล่นให้ลูก รุ่นน้องของผมซื้อมาครบถ้วนอย่างหลากหลายและเยอะมาก นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมอย่างผมเลยแนะนำว่า "หลักการสำคัญอยู่ที่การออกแบบให้ลูกเล่นของต่างๆ แล้วเกิดการเรียนรู้ในกิจกรรมการดำเนินชีวิต มากกว่า ให้ลูกได้รับของเล่นที่พ่อแม่ซื้อให้ทุกอย่าง" ซึ่งการเรียนรู้เชิงบูรณาการประสาทพัฒนาการ (มักได้ผลในช่วง 1-6 ปี) เริ่มจาก 1. การรับความรู้สึก (ซึ่งความรู้สึกพื้นฐานถูกกระตุ้นสมวัยแล้วในช่วง 1-6 เดือน) 2. การรับรู้ (ซึ่งถูกกระตุ้นสมวัยแล้วในช่วง 6-12 เดือน) 3. การคิดและเข้าใจ และ 4. การเรียนรู้ ...ผู้ปกครองศึกษาจากทฤษฎีของ Piaget เทคนิคการเพิ่มกิจกรรมการเล่นเพื่อส่งเสริมการรับรู้และการเคลื่อนไหวให้สมวัย และเทคนิคการเล่นเพื่อเชื่อมพื้นฐานของการรับความรู้สึกและการรับรู้ ได้ครับผม ยกตัวอย่าง ลูกชอบเข็นรถต่างๆ รอบบ้าน (ของเล่นเด็ก) ตรงข้ามกับ ลูกรู้จักกติกาที่เส้นเริ่มต้นแล้วเข็นรถแข่งกับรถของคุณพ่อไปที่เส้นชัย (เด็กเล่นของแบบรับความรู้สึกและรับรู้) แล้วถ้าลูกเข็นรถชนกับกำแพง...คุณพ่อก็สอนลูกให้ใช้ไขควงซ่อมรถให้ใช้งานได้ (เด็กเล่นของแบบคิดและเข้าใจและเรียนรู้) หรือ ลูกใช้พู่กันจุ่มสีทุกสีเลอะเทอะและพยายามวาดรูปอิสระบนกระดาษใหญ่ (ของเล่นเด็ก) ตรงข้ามกับ ลูกรู้จักขอบเขตที่คุณแม่วาดดาวใหญ่เป็นตัวอย่างให้ดู แล้วจับมือลูกค่อยๆ จุ่มหนึ่งสีเพื่อให้ระบายดาวสีหนึ่งให้เสร็จ (เด็กเล่นของแบบรับความรู้สึกและรับรู้) แล้วถ้าลูกเบื่อเพราะอยากจุ่มหลายสี คุณแม่ก็เปลี่ยนจากใช้พู่กันซึ่งอาจไม่ถนัดกับมือเล็กๆของลูกมาเป็นการใช้นิ้วมือจุ่มสีและระบายบนกระดาษในตำแหน่งที่ชัดเจน หรือใช้ฝ่ามือปั้มสีบนกระดาษในตำแหน่งต่างๆ แล้วค่อยล้างมือให้สะอาดพร้อมเก็บอุปกรณ์ต่างๆ (เด็กเล่นของแบบคิดและเข้าใจและเรียนรู้) และเมื่อทำความสะอาดเสร็จก็ให้สติกเกอร์เป็นรางวัลพร้อมติืดผลงานศิลปะนี้ที่บอร์ดให้ลูกได้ภูมิใจสลับไปเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ ถ้าเด็กโตขึ้นก็เปลี่ยนจากสติกเกอร์เป็นการเก็บออมเงินเหรียญใส่กระปุกก็ได้ 
หมายเลขบันทึก: 560119เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2014 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2014 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณอาจารย์มากครับ....ผมได้ความรู้ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้ดีมากครับ...จะนำไปใช้บ้างนะครับ

...ผู้ที่มีเด็กอยู่ในความดูแล หากความมีความรู้ความเข้าใจในจิตวิทยาพัฒนาการ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการช่วงวัยต่างๆของเด็กได้อย่างเหมาะสมนะคะ

ขอบคุณมากๆครับสำหรับความคิดเห็นและกำลังใจจากคุณทิมดาบ พี่ดร.พจนา อ.ดร.จันทวรรณ และคุณกุหลาบ

ส่งเสริมพัฒนาการ "สมวัย" ด้วยกิจกรรม กิน - กอด - เล่น - เล่า นะคะ

@ กิน ==> กินนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือนนะคะ

@ กอดลูก ==> การกอดลูกน้อยตั้งแต่เกิด การสัมผัส จะทำให้เกิด ความรัก ผูกพันธ์ สายใยแห่งรัก

@ เล่นกับลูก ==> การเล่นกับลูก การสอน การบอก ... "พ่อ - แม่" ที่เล่นกับลูก ลูกน้อยจะมีความสุข พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดต่างๆได้พัฒนา สมองได้คิด ได้ฝึก ตามที่ พ่อ แม่ ญาติ สอนให้เล่น สอนให้ทำ สมองและมือ สัมพันธ์กัน นะคะ

@ การเล่านิทาน ==> นิทานกับเด็กๆ โดยเฉพาะ เด็กแรกเกิด - 6 ขวบ นะคะ นิทานยังทำให้สมองเด็ก เกิดจินตนาการ ช่าง

คิด ช่างฝัน "จินตาการ ===>เป็นจริงได้" และ นิทาน ==> ยังทำให้ พ่อ-แม่ -ลูก เกิดความรัก ได้เล่น ได้สัมผัส ก่อให้เกิดความผูกพันธ์ ด้วย นะคะ

เขียนมายาวมากเลยค่ะ ขอบคุณ Dr. Pop มากๆค่ะ

ตามมาตอบเรื่องการเตรียมหาโรงเรียนให้ลูก

มีงานวิจัยบอกว่า การเรียนภาษาถ้าเด็กๆเล็กๆเข้มงาวดทางวิชาการมากเกินไปไม่ดี

นอกจากนี้พบว่า เด็กเล็กๆควรให้เขาได้เล่น ปรับการใช้มือ มากกว่าที่จะอัดวิชาการ

งานวิจัยบอกว่า เด็กที่เรียนภาษามากเกินไปในระดับอนุบาล เมื่อเข้าประถมศึกษาผลการเรียนจะต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้มงวดในระดับอนุบาล

ในความคิดเห็นของพี่ คิดว่า ควรให้นักเรียนมีความพร้อมแล้วให้เรียนภาษา โรงเรียนสองภาษาบ้านเราสอนมากเกินไปไหม ปรากฏว่า บางที่ภาษาไทยก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษแย่มากกว่าเดิม

ขอชื่นชมน้อง Dr.Popที่เขียนเรื่องดีๆให้สังคมไทยได้อ่านครับ

(จองดร.Pop เป็นพิธีกรแต่งงานนะครับ 555)

ขอบคุณมากๆ ครับพี่อ.ขจิต พี่ชายที่แสนดี ยินดีเสมอครับผม...ถ้าพี่แต่งงานเมื่อไร ผมเป็นพิธีกรให้ทันทีครับผม

ขอบคุณมากๆครับคุณครูวุฒิ คุณเพชรน้ำหนึ่ง และพี่โอ๋

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท