ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

วิศวกรสันติภาพ มหาจุฬาฯ ย้ำรอยสันติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ


พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

        สังคมโลกในยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย และแตกต่างทั้งชาติพันธุ์ ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และภาษา จึงเป็นการยากที่มนุษย์จะสามารถหลีกหนีความจริงของธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก บนฐานของความอดทน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเปิดใจกว้างที่จะรับฟังอย่างมีสติ ตามหลักการที่ว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ในความเป็นพี่เป็นน้องทำให้มนุษย์จำเป็นต้อง “รักคนอื่นและสิ่งอื่น” เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกนี้ได้ ดังนั้น การที่มนุษย์รักคนอื่น หรือสิ่งอื่น จึงมีค่าเท่ากับมนุษย์รักตนเองด้วยเช่นกัน

        จากความมุ่งมั่นที่จะเห็นมนุษย์รักกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า จึงได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาหลักสูตร “สันติศึกษา” ขึ้นมา โดยเน้นหลักสูตรบูรณาการพัฒนาสันติภาพแบบผสมผสานทั้งภายในและภายนอก โดยเริ่มต้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสันติภาพขึ้นภายในใจ โดยการใช้หลัก “ภาวนาเพื่อสันติ” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากล่อมเกลาสติ และปัญญาให้เกิดความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถทนต่อกระแสของอคติ มีใจกว้าง อดทนและยอมรับต่อความแตกต่างอย่างมีสติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้เรียนจะสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงโดยสันติวิธีได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดรับกับสถานการณ์และความเป็นไปของโลกและชีวิต

        การที่วิศวกรสันติภาพจะเข้าใจและตระหนักรู้คุณค่าและความสำคัญของสันติภาพนั้น ตัวแปรที่สำคัญประการหนึ่งคือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่าน “ต้นธาตุต้นธรรมของสันติภาพ” ที่เป็นแบบอย่างในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน เพราะแบบอย่างที่ดีจะนำไปสู่การกระตุ้นเตือนให้นิสิตได้เกิดแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่  ด้วยเหตุนี้ โครงการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ รุ่นที่ ๑  จึงได้นำนิสิตที่กำลังได้รับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ โดยการเดินทางไปแสวงหาสันติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา ๑๐ วัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ ๑๖ จนถึง ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ ตามโครงการ "จาริกแดนพุทธภูมิตามรอยสันติธรรม" ผลจากการดำเนินตามโครงการฯ นั้น ทำให้นิสิตได้พบ “รอยแห่งสันติภาพ” ที่พระพุทธเจ้าทรงจารึกเอาไว้เป็นหลักปฏิบัติกว่า ๒,๖๐๐ ปี ดังนี้

   

       รอยที่ ๑ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี   พุทธคยาเป็นจุดแรกที่วิศวกรสันติภาพได้ศึกษาและเรียนรู้จากสันติภายนอกสู่สันติภายในใต้ต้นโพธิ์ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ พระองค์ทรงใช้ความเพียรจนสามารถเอาชนะมารภายนอก และกิเลสมารภายใจ แล้วค้นพบสันติสุขอย่างยั่งยืน และทรงชี้ให้ชาวโลกได้ตระหนักว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”   พระองค์พบว่า ทางสุดโต่งทั้งสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็น “การหมกมุ่นอยู่ในกามสุข” ที่ผ่านมายั่วยวนทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเป็นกับดักให้เราหลงเพลินเพลิน และมั่วเมา ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ “การหมกมุ่น และจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ที่เข้ามาพิสูจน์ท้าทายใจ” อันนำไปสู่การย้ำคิดย้ำทำจนทำให้ใจติดหล่มกับความทุกข์ทรมาน  ทางสายกลางที่ไม่ติดหล่มความสุข และอยู่เหนือความทุกข์ที่เข้ามาทดสอบ จึงเป็นทางที่ทำให้พระองค์ค้นพบสันติภาพภายในอย่างแท้จริง จะเห็นว่า รอยยิ้มแห่งความรู้ ตื่น และเบิกบานจาก “พระพุทธเมตตา”  ได้ทำให้ผู้ที่เข้าไปกราบได้รู้ซึ้งถึงสันติสุขอย่างแท้จริงจากภายในของพระองค์

 

        รอยที่ ๒ รักของพระพุทธองค์เป็นรักที่ไร้ขอบเขตและไร้เงื่อนไข   คณะวิศวกรสันติภาพเดินทางไปกราบรอยสันติภาพของพระพุทธองค์ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ  ซึ่งเป็นดินแดนแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร และปัจจุบันเรียกว่ารัฐพิหาร  ทุกรอยที่พระองค์เหยียบย้ำไปนั้นอุดมด้วยความรักโดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็นศัตรู มิตร หรือสัตว์เดรัจฉาน ทั้งๆ ที่พระเทวทัตลอบปลงพระชนม์ของพระองค์โดยการกลิ้งหินลงไปทับ  และให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีไปทำร้าย แต่พระองค์ได้ทรงแสดงเห็นทุกคนได้ประจักษ์ว่า “พระองค์รักราหุลฉันใด ทรงรักพระเทวทัต และช้างนาฬาคีรีฉันนั้น”  วิธีการทำลายศัตรูของพระองค์ คือการดึงศัตรูมาเป็นมิตร พระองค์ไม่เคยชี้นำให้สาวกของพระองค์ทำลายศัตรู ดังจะเห็นได้จากการย้ำเตือนในโอวาทปาติโมขก์ วัดเวฬุวนาราม ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาว่า “จงอดทนอย่างถึงที่สุด ไม่เบียดเบียน หรือทำลายคนอื่นหรือสัตว์อื่น ไม่ว่าใครจะทำร้าย หรือว่าร้ายก็ตาม” 

 

        รอยที่ ๓ ขันติธรรมนำสังคมให้พ้นทุกข์    วิศวกรสันติภาพได้ใช้เวลา ๑๓ ชั่วโมง เดินทางจากนาลันทาซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระสารีบุตรเพื่อไปตามรอยสันติภาพของพระองค์ ณ กรุงกุสินารา ซึ่งเป็นดินแดนที่พระองค์ทรงปรินิพพาน   แม้ว่าร่างกายของพระองค์จะกลับคืนไปสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม และไฟ และพระองค์ได้ส่งต่อลมหายใจแห่งสันติภาพให้แก่ชาวโลกตราบจนทุกวันนี้  อย่างไรก็ดี กษัตริย์เมืองต่างๆ มุ่งหมายที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ไปกราบไหว้บูชาจึงทำให้เกิดความขัดแย้งและแย่งชิง โทณพราหมณ์ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยโดยการย้ำเตือนให้กษัตริย์ชนผู้นำทางการเมืองว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศ “ขันติวาทะ” คือ ให้มีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งโดยไม่ไม่แสดงออกต่อกันด้วยสงครามและความรุนแรง  จนทำให้หมู่กษัตริย์และผู้นำทางการเมืองได้ร่วมกันเจรจา และร่วมกันแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุอย่างสันติ

 

        รอยที่ ๔  จุดเริ่มต้นประทีปแห่งสันติภาพ   วิศวกรสันติภาพได้พากันข้ามจากประเทศอินเดีย มุ่งสู่ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นแคว้นสักกะ ซึ่งมีชื่อว่า “ลุมพินี”  อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ การเกิดขึ้นของพุทธองค์คือทอประกายแสงหาแห่งสันติภาพ อันเป็นที่มาของการประกาศความเสมอภาพ การมอบคืนอิสรภาพ และความเป็นใหญ่แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะยากดีมีจนสักปานใดก็ตาม  ความยิ่งใหญ่เช่นนี้ จึงทำให้องค์การยูเนสโกได้ตัดสินใจประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “มรดกโลก” เพราะการถือกำเนิดบุคคลของโลก อีกทั้งองค์การสหประชาชาติได้การเชิญ “ประทีปแห่งสันติภาพ” (Eternal Peace Flame) จากยูเอ็นมาประดิษฐานเพื่อย้ำเตือนว่า “เมื่อไฟแห่งสันติภาพได้จุดขึ้นแล้ว โลกใบนี้จะเต็มไปด้วยแสวงสว่าง” เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติขึ้นแล้ว ย่อมทำให้โลกทั้งโลกสว่างไสวเพราะพลังแห่งสันติภาพ

 

      รอยที่ ๕  ความขัดแย้งจบได้ด้วยการเจรจา   คณะวิศวกรสันติภาพได้ใช้เวลากว่า ๑๐ ชั่วโมง ย้อนกลับเข้ามาในอินเดียเพื่อตามรอยสันติภาพในพื้นที่ของกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงครอบครอง  ณ เมือหลวงแห่งนี้ อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้สร้างเชตวันมหาวิหารวิหารถวาย และนางวิสาขา มหาอุบาสิกาได้สร้างบุพผารามถวาย โดยพระองค์ได้ทรงจำพรรษา ณ เมืองแห่งนี้ ๒๕ พรรษา  ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงใช้ธรรมสภาในวัดเชตวันเป็นพื้นที่ให้พระสงฆ์จากเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะประเด็นเรื่องธรรมวินัย จนเป็นที่มาของพระพุทธรูปปาง “ปาลิเลยยกะ” ที่ช้างกับลิงทำหน้าที่อุปัฏฐากพุทธองค์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จจากเมืองโกสัมพีไปเมืองสาวัตถี  และเมื่อชาวโกสัมพีได้กระทำการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) โดยการไม่ถวายอาหารบิณฑบาต จึงทำให้พระสงฆ์กลุ่มนี้ตัดสินใจเดินทางไปเมืองสาวัตถีเพื่อขอโทษพุทธองค์ และเป็นที่มาของการเจรจาพูดคุยหาทางออกให้แก่ข้อขัดแย้งดังกล่าว

 

 

      รอยที่ ๖  ส่งทูตสันติภาพไปหวานเมล็ดพันธุ์สันติภาพ  การตามรอยสันติภาพของพุทธองค์มาบรรจบครบรอบ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหลด้วยแสงแห่งการบูชาเทพเจ้าริมแม้น้ำคงคา และเป็นเมืองที่ไฟแห่งการเผาซากศพริมแม่น้ำไม่เคยมอดไหม้ เพราะเมืองแห่งนี้เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์มากว่า ๓,๐๐๐ ปีถึงกระนั้นพระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จมาใช้พื้นที่ภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวันประกาศ “พุทธสันติวิธี” ซึ่งเป็นวิธีแห่งทางสายกลางตามที่ปรากฏใน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”ตัวแปรที่ทำให้องค์ตัดสินใจเดินทางมาเมืองแห่งนี้ เพราะปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เกิดความผิดหวังที่เห็นพระพุทธองค์ละทิ้งแนวทางการปฏิบัติแบบสุดโต่ง และผละหนีการสนับสนุนแล้วเดินทางมาปฏิบัติธรรมในพื้นที่ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ปัญจวัคคีย์จึงเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่สามารถยืนยันว่า “มัชฌิมวิถีสันติวิธีวิถีพุทธ” เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาชีวิตและสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และอยู่ร่วมกันกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างสันติสุขด้วยหลังจากนั้น พระพุทธองค์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศให้พระภิกษุ ๖๐ รูป ทำหน้าที่เป็น “พระธรรมทูตสันติภาพ” เดินทางไปหวานเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ ของชมพูทวีปดังปฐมบรมพุทโธวาทว่า “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก”

 

      ตลอดระยะเวลา ๑๐ วันของการจาริกเพื่อ “ย้ำรอยสันติภาพ” ของพระพุทธองค์นั้น ทำให้วิศวกรสันติได้ตระหนักว่า “พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระกรุณาคุณเสียสละชีวิตของพระองค์เพื่อทำหน้าที่ในการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ และส่งต่อลมหายใจแห่งสันติภาพตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งทรงชี้ให้มนุษยชาติได้ตระหนักว่า "ในบรรดาความสุขต่างๆ ในโลกนี้ ไม่มีความสุขอื่นใดที่จะยอดเยี่ยมไปกว่าสันติสุข" จากปณิธานเช่นนี้ จึงทำให้ทุกตารางนิ้วที่พระองค์เสด็จไปอุดมไปด้วยความสุขอันเกิดจากสันติภาพ และอยู่ร่วมกันด้วยความรัก เคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลาย และแตกต่าง

        พร้อมกันนี้ โครงการฯ เชื่อมั่นว่า การจาริกสันติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิตลอดเวลา ๑๐ วัน จะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมหาศาลในการจุดประกายแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ผ่านการเรียนรู้จากแบบอย่างที่ทรงคุณค่า ผลดีที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้ สังคมไทยจะมีวิศวกรสันติภาพรุ่นใหม่จำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ ที่ผ่านการบ่มเพาะ และพัฒนาทักษะชีวิตทั้งด้านกายภาพ พฤติภาพ จิตภาพ และปัญญาภาพ อีกทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคม สอดรับกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการที่ว่า "สันติศึกษา พัฒนาชีวิตและสังคม อุดมสันติ"             

 

 

นายสุรวุฒิ  บูลกุล 
กรรมการเครือมาบุญครอง
นิสิตโครงการปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา

 

            “การที่ผมเลือกมาเรียนที่นี่ เพราะผมมุ่งมั่นว่า หลักสูตรนี้จะทำให้ผมได้รับความรู้และมีประสบการณ์พร้อมทั้งทักษะในการสร้างสันติภายใน ผมมั่นใจหลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาชีวิตของผมให้รู้ ตื่น และเบิกบานมากยิ่งขึ้น  หลังจากนั้น จะนำความรู้และประสบการณ์ไปช่วยเผยแผ่ และช่วยเหลือสังคมได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 

 

นางวิไลวรรณ  ทวิชศรี 
รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นิสิตโครงการปริญญาโท  สาขาวิชาสันติศึกษา

 

"ในตัวหลักสูตรเองนี้นะคะ เนื้อหาของหลักสูตรนั้นก็มีความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ เพราะว่าสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเมืองไทยตอนนี้นะคะ เราจะเห็นในเรื่องของปัญหาของความขัดแย้ง ความุรนแรง การแบ่งฝ่าย  และก็เรื่องของการปรองดองก็จะเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกล่าวขวัญถึงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องของหลักสูตรของสันติศึกษาเนี่ยก็จะเป็นตัวที่จะมาตอบโจทย์หรือตอบคำถามในเรื่อง ของแนวทางที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมนะคะ ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับโลก สังคมของประเทศไทยเรา หรือแม้แต่ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในครอบครัว เรื่องของสันติศึกษาเนี่ยจะเรียกว่านำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตปัจจุบันของเราได้ เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์และก็นำมาใช้ได้จริงในชีวิตปัจจุบัน ก็เลยสนใจนะคะ แล้วก็สมัครมาเข้าเรียนโครงการนี้ค่ะ"

 

พระมหาจรูญโรจน์  ทีปังกโร  ช่อปทุมมา
เจ้าอาวาสวัดบ้านห้วยน้ำขาว
นิสิตโครงการปริญญาโท  สาขาวิชาสันติศึกษา

 

"สันติศึกษาทำให้ อย่างแรกนะครับ ทำให้คนอย่างน้อยในสังคมที่อยู่ใกล้ตัวเราได้รับไอเย็นจากตัวเรา จากการที่เราร้อนเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ใครได้ เราจะเอาความเย็นที่พุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ว่า เราต้องมีพรหมวิหาร 4 เป็นธรรมคู่โลก เป็นธรรมที่ทำให้คนอื่นรักเรา เรารักเขา อยู่ด้วยกันอย่างมีสันติ มีความสงบสุข เป็นสิ่งที่ดีต่อกัน เราจึงได้จากการเรียนสันติในครั้งนี้ครับ"

 

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา

            “หลักสูตรสันติศึกษาของเราจึงเน้นอุดมการณ์สันติภาพโดยปลูกฝังวิธีคิด แง่มุมเหล่านี้เข้าไปใส่ในใจของวิศวกรสันติภาพทุกท่าน โดยการย้ำเตือนให้รักเพื่อนมนุษย์ เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เห็นจเพื่อนมนุษย์ แล้วก็มุ่งหวังที่จะไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเรา จากตัวแปรเหล่านี้   หลักสูตรของเราจึงมีสันติปณิธานขึ้นมา สันติปณิธานคือ “ข้าพเจ้าทั้งหลายขอตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าขอบำเพ็ญสันติบารมี พัฒนาชีวีให้รู้ ตื่น และเบิกบาน ร่วมประสานมนุษย์และสังคม ให้อุดมด้วยสันติสุขในทุกลมหายใจตลอดไปเทอญ

             ขณะนี้  หลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา กำลังเปิดรับสมัคร "วิศวกรสันติภาพ" รุ่นที่ ๒ ตั้งแต่วันนี้จนถึง ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ผู้สนใจเข้าร่วมศึกษาในหลักสูตรฯ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ ๐๘๑ ๘๗๕ ๙๑๕๔, ๐๘๐ ๒๗๙ ๔๑๘๔, ๐๓๕ ๒๔๘ ๐๙๘ หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.ps.mcu.ac.th

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 561455เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2014 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2014 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

งดงามครับท่านอาจารย์ ธมฺมหาโส ผมศิษย์เก่าพธ.ม.๑๘/๒๕๕๑

ในนามของโครงการปริญญาโท สันติศึกษา ขออนุโมทนาขอบใจท่านดาบเพชรมากครับ สำหรับกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท