ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด วิถีสู่ชีวิตที่พอเพียงตามรอยพระยุคลบาท


 

บทนำ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตพอเพียงอันเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวคือ ชีวิตที่พอเพียงนั้น เป็นการใช้ การบริโภคทรัพยากรของโลกอย่างเห็นคุณค่า และประหยัด เพื่อให้มีทรัพยากรเหลือไปยังชนรุ่นหลัง หรือเป็นการเบียดเบียนโลกน้อยลงนั้นเอง เป็นวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ  พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อเตือนสติประชาชนให้มีความพอเพียง พออยู่พอกิน พอดี พอเหมาะตามอัตภาพ ทรงชี้ให้เห็นว่าความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนเป็นจุดที่ควรเริ่มต้นก่อน และเมื่อมีพื้นฐานมั่นคงแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำให้ประชาชนในชนบทที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพอมี พอกิน เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งก่อนที่จะพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

การประหยัดว่าเป็นพื้นฐานความประพฤติที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ และดังลายพระหัตถ์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานจุฬาฯ วิชาการ ครั้งที่ ๑๔ -- “เสาหลักแห่งปัญญา สืบราชมรรคาพัฒนาแผ่นดิน : PILLAR OF WISDOM Following in His Majesty’s footsteps for the country’s development” เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้หัวข้อ "เสาหลักแห่งปัญญา สืบราชมรรคาพัฒนาแผ่นดิน: ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง" (Pillar of Wisdom – Developing the Country in the Footsteps of His Majesty the King: Towards a Self – Sufficiency Economy) บริเวณศาลาพระเกี้ยว ด้วย

ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชจริยวัตรที่พอเพียง ประหยัด และมัธยัสถ์โดยได้ทรง แนะแนวทางปฏิบัติตนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดว่าเป็นพื้นฐานและหลักประกัน สำคัญในการสร้างความสมบูรณ์และมั่นคงให้กับผู้ประหยัดและครอบครัวด้วยดัง แนวพระราชดำริ ดังนี้

  • สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสอนพระราชโอรส พระราชธิดาให้ดำเนินชีวิต และบริโภคด้วยปัญญา โดยทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างสามัญชน มัธยัสถ์อดออม ใฝ่หาความรู้ มีความ รับผิดชอบต่อสังคม แบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่น
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชจริยวัตรที่พอเพียง ประหยัดและมัธยัสถ์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังจะเห็นได้จากการศึกษาพระราชประวัติและพระราชจริยวัตร พบว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บออมเงินที่เหลือจากค่าขนม เพื่อนำไปซื้อของเล่น ตามพระราชประสงค์ หรือไม่ทรงซื้อของเล่นที่มีราคาสูงกว่าทรัพย์ที่มี รวมทั้งทรงมีพระราชจริยวัตรที่ พอเพียง อาทิ ทรงจักรยานไปโรงเรียนแทนการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง

เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงประหยัดในเรื่องส่วนพระองค์ อาทิ หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้อย่างคุ้มค่า หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน และในยามปฏิบัติพระราชภารกิจ ทรงใช้ดินสอไม้ราคาไม่แพง มียางลบ ติดอยู่ตรงปลายดินสอเพื่อลบคำที่เขียนผิด ออกได้ง่าย ไม่เปลืองกระดาษเหมือนใช้ปากกา และจะทรงเหลาดินสอด้วยพระองค์เอง เหน็บไว้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์เดือนละ หนึ่งแท่ง ใช้จนกุดสั้น ทรงถ่ายรูปจนสุดม้วนฟิล์ม และทรงเลือกใช้ยานพาหนะที่ไม่ใช้ เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ยามน้ำมันมีราคาสูง ตลอดจนทรงชี้แนะให้ยึดแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการดำเนิน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวถึงพระราชดำริและพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์มากว่า ๖๗ ปี ว่าทรงเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียง ดำเนินชีวิตอย่างประหยัด เรียบง่ายว่า

“...กองงานในพระองค์ โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บอกว่าปีหนึ่งพระองค์ทรงเบิกดินสอ ๑๒ แท่ง เดือนละแท่ง ใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะจะกริ้วเลยโดยทรงประหยัดทุกอย่าง เป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างนี้มีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุกสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง จะสั่งให้เราปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ...”

       และ “...หากนำพระบรมฉายาลักษณ์เก่าๆ มาเปรียบเทียบกันในระยะเวลาห่างกันสิบปี ยี่สิบปี จะสังเกตเห็นได้ว่า ฉลองพระองค์และสนับเพลาหลายองค์ก็ยังทรงใช้อยู่ ดังเช่น ฉลอง
พระบาทใบ (ร้องเท้าผ้าใบ) ก็ยังทรงใช้แบบเดิม ราคาไม่กี่ร้อยบาท หรือเวลาเสวยเครื่องเสวย ก็เรียบง่าย ธรรมดา ไม่ทรงใส่พระราชหฤทัยว่า บนโต๊ะเสวยมีอะไรบ้าง ไม่ทรงเคยปรุงหรือแต่งเติมอะไร ทรงเหมือนพระ ละซึ่งสิ่งต่างๆ แล้ว เสวยของที่เรียบง่าย และด้วยวิถีแห่งพระชนม์ชีพแล้ว ก็ถือว่า ทรงดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย เวลามีปัญหาอะไรก็ทรงค้นพบวิธีการที่เรียบง่ายเสมอในการหาทางออก ทรงใช้ความเรียบง่ายหรือศิลปะชั้นสูงของสติปัญญาในการแก้ไข...

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะแนวทางปฏิบัติตนให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัด ว่าเป็นพื้นฐานและหลักประกันสำคัญ ในการสร้างความสมบูรณ์และมั่นคง ให้กับผู้ประหยัดและครอบครัว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับผลที่อาจจะเกิดขึ้น จากสภาวะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังพระราชดำรัส พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ความตอนหนึ่งว่า

“...การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้าการประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนสติให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดว่าเป็นพื้นฐานความประพฤติที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ความตอนหนึ่งว่า

“...การประหยัด เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ... ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประหยัดนี้ให้มาก... การประหยัดนี้ ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้...”             

  • การพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ได้ประโยชน์สูงสุด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาวัสดุได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มี อยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูง และใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก ทรงเน้นเรื่อง ความคุ้มค่าและคุ้มทุน แต่ไม่ใช่เป็นการขาดทุนหรือกำไร ดังเช่นที่หลักวิชาการสมัยใหม่ยึดถือ
  • การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้มิได้หมายความว่า จะต้องใช้ชีวิตอย่างขี้เหนียวหรือตระหนี่ หรือปิดประเทศ และปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ หากแต่เป็นการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและเข้าถึงตนเอง รู้ศักยภาพและความสามารถของตนเอง ตลอดจนเข้าใจบริบทและ สถานการณ์ในประเทศ สามารถพัฒนาประเทศและเชื่อมโยงกับตลาดหรือสถานการณ์ภายนอกได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสชี้แจงไว้ในการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ความตอนหนึ่งว่า

“...แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการแก้ปัญหาทั้งในเมืองใหญ่และในชนบทคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายความว่า จะต้องใช้ชีวิตอย่างขัดสนและตระหนี่ และไม่ได้หมายความว่าจะต้องปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกได้โดยการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ซึ่งทำให้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เนื่องจากระบบการซื้อขายจะทำเป็นกลุ่ม ซึ่งหมายถึงว่ามีค่าใช้จ่ายน้อยลงและใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยคำนึงว่า จะต้องมีการควบคุมงบประมาณรายจ่ายในระดับหมู่บ้านและชุมชนอย่างเป็นระบบและพอเพียง ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องมีความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา...”

ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าไว้ในหนังสือตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน  (๒๕๕๖, หน้า ๘๘) ความตอนหนึ่งว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงห้าม ถ้าใครพอมีเงินจะซื้อของแพงบ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เข้าไปถวายงานใหม่ๆ พยายามมองพระเจ้าอยู่หัว มองจนทรงรู้สึกพระองค์ มองที่ข้อพระหัตถ์อยากรู้ว่าทรงใช้นาฬิกาอะไร ทรงยื่นให้ดูแล้วรับสั่งว่ายี่ห้อใส่แล้วโก้ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้นาฬิกาเรือนละ ๗๕๐ บาท ผู้รู้สึกได้เลยว่าต่อไปนี้จะซื้ออะไรสักอย่างต้องหยุดคิดทันทีเมื่อเหลือบไปเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ ดินสอก็ใช้แบบถูกที่สุด เราต้องฉลาด รวยไม่เป็นไรแต่ให้อยู่อย่างคนจนและให้รวยอย่างยั่งยืน และแล้วเราจะรักษาความซื่อสัตย์สุจริตได้ สุดท้ายเราก็นำอะไรไปไม่ได้ที่เหลือไว้ก็คือชื่อเสียง ความรักความเคารพ ให้คนเขากราบไหว้บูชาหรือไม่เท่านั้นเอง...”

  •      หากพิจารณาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การประหยัดนั้นคือการใช้จ่าย อย่างพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และเป็นการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปด้านหนึ่ง คือ ขี้เหนียว หรือสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง คือฟุ่มเฟือยคนที่ดำเนินชีวิตอย่าง ประหยัด และพอประมาณจะเป็นคนเรียบง่าย สมถะ และมีสันโดษในการดำเนินชีวิต คือ ไม่สร้างเงื่อนไขชีวิตที่ขาดเหตุผลหรือนำไปสู่ความฟุ้งเฟ้อ จนทำให้เป็นหนี้สิน ดังนั้น ท่ามกลาง สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน หากประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันดำเนินชีวิตอย่างฉลาดรู้ตามแนว พระราชดำริ คือ ศึกษาและทำความเข้าใจแนวพระราชดำริและมีไหวพริบที่จะนำมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ รู้จักใช้อะไรก็ตามอย่างประหยัด ไม่ขี้เหนียว ก็จะทำให้ประเทศไทยมีเงินออมมาก และมีทุนที่เพียงพอสำหรับลงทุนโครงการใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้มากโดยไม่ต้องไปกู้ยืม ใครจนเกินตัว หรือเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ตรงกันข้าม หากประชาชนชาวไทยรู้จักดำเนินชีวิต อย่างประหยัดทั้งในชีวิตประจำวันและในการทำงาน ประกอบธุรกิจที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและ สังคม ตลอดจนประหยัดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน นำไปสู่วิถีชีวิต ที่พอเพียงในที่สุด
  •       พื้นฐานสำคัญเบื้องต้น แห่งแนวทางการปฏิบัติตนตาม แนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ผู้ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและความฟุ่มเฟือยลง ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ไม่ใช่ ตระหนี่ถี่เหนียวไม่ยอมใช้เงินเลย ส่วนการใช้จ่ายจะมากน้อย เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับอัตภาพของแต่ละบุคคลจากรายได้ที่สุจริตและไม่คดโกง หรือเบียดเบียนให้ คนอื่นได้รับความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้ ความประหยัดจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง คือ การตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเงิน ฉลาดใช้ ฉลาดออม และฉลาดทำบุญตามอัตภาพ

โดยเฉพาะระดับครอบครัวนั้น ประการสำคัญ อันดับแรกนั้น ต้องพัฒนาสมาชิกในครอบครัว ให้ปลอดจากหนี้สินและมีฐานะดีขึ้นอย่างน้อยในระดับพอกินพอใช้ก่อน แล้วจึงพัฒนาต่อเนื่อง ให้เป็นครอบครัวที่อยู่ดีกินดี เป็นครอบครัวที่พึงประสงค์ในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ให้บังเกิดผลต่อไป โดยต้องเริ่มต้นจาก การรู้จักจัดการแผนการเงินของตนเองและครอบครัว ประหยัดอดออม ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วย มีเหตุมีผล ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น จนกลายเป็น ความฟุ่มเฟือยจนเกินอัตภาพที่เป็นอยู่ แต่ให้ปลูกฝังนิสัยความประหยัด สร้างวินัยรักการออมและ มีทักษะในการจัดการทางการเงินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปลูกฝังในวัยเด็กให้รู้จักคุณค่าของเงิน ใช้จ่ายอย่างมีวินัย รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำ เพื่อให้รู้ถึงสถานะการเงินของตน จะได้ ใช้จ่ายตามอัตภาพและฐานะของตนและครอบครัว และเมื่อสะสมเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็นได้ อย่างพอเพียงแล้ว ให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปทำทานในโอกาสต่างๆ เพื่อปลูกฝังความมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจ ผู้อื่น ลดความเห็นแก่ตัว และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านศีลธรรมและวัฒนธรรมการให้ ให้บังเกิด ขึ้นในตัวเด็กและสมาชิกของสังคม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งสู่การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ตามรอยพระยุคลบาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิต ดังที่ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าไว้ในหนังสือตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน  (๒๕๕๖, หน้า ๙๔) ความตอนหนึ่งว่า “...พระองค์ทรงไม่ยึดติดกับวัตถุ ทรงประหยัดมาก คงเคยเห็นภาพหลอดยาสีฟัน พระองค์ทรงบีบหลอดยาสีฟันจนลีบ มหาดเล็กเชิญออก นำหลอดใหม่มาวาง ทรงมีรับสั่งให้นำกลับมา แล้วรับสั่งกับทันตแพทย์ว่าที่เหลืออยู่นี้ฉันใช้ต่อได้อีก ๕ วัน เห็นหรือไม่ว่าแม้พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่ทรงใช้อะไรก็ทรงประหยัด เมื่อพระองค์ทรงงานเสร็จพอเสด็จฯ ออกจากห้องก็จะทรงปิดไฟทันที ทรงเป็นแบบอย่างของการใช้ของอย่างคุ้มค่า ประหยัด เรียบง่าย ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ท่านข้าราชการทั้งหลายลองปฏิบัติดูแล้วจะรู้ผล...”

การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในเรื่องประหยัดเรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

จากการศึกษาแนวทางความประพฤติของประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างสำเร็จ จนทำให้มี ฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงและสามารถยึดอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพาราและสวนลองกองเป็นแนวทางในการหาเลี้ยงชีพ พบว่า การปลูกฝังนิสัยแห่งการประหยัด ให้ใช้จ่ายอย่างไม่ฟุ่มเฟือย นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจเพื่อการดำเนินชีวิตที่มั่นคง โดยควรดำเนินการควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการออม ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว พร้อมถ่ายทอดและส่งเสริมให้เพื่อนบ้านรู้จักการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคงในปัจจุบันด้วย

นอกจากการเพิ่มรายได้ จากอาชีพทำนา ทำสวนแล้ว ผู้ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควรมุ่งลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยปลูกไม้ผล หรือพืชหมุนเวียนและปลูกพืชผัก สวนครัว เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงปลา และดำเนินชีวิตอย่างประหยัด โดยนำผลผลิตที่เป็นส่วนเกินจาก การบริโภคในครอบครัวไปขายใน ตลาดชุมชนและต้องทำบัญชี ครัวเรือน รู้จักออมและปรึกษาหารือกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อวางแผนการลงทุนในแต่ละปีอย่างรอบคอบ การดำเนินชีวิตด้วยวิธีนี้ จะทำให้มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

       การประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียง นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน และสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติเองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อโลกด้วย ดังกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า “...ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”               

  

เอกสารอ้างอิง

สุเมธ  ตันติเวชกุล. (๒๕๕๖). ตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (๒๕๕๖). สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,

 

หมายเลขบันทึก: 565085เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2014 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2014 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจบทความนี้ครับ

ทรงประหยัดมาก

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

อยากให้คนไทยดำเนินรอยตามครับ

ขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท