ฟังครูเปิดใจ


          บ่ายวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมโชคดีจริงๆ ที่ได้ฟังครูเปิดใจว่าตนเองเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ หรือเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอย่างไรบ้างซึ่งในภาษาทั่วๆ ไปก็คือ เปลี่ยนวิธีสอนอย่างไรบ้างและนักเรียนบอกครูว่าอย่างไรเมื่อครูเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

          เหตุการณ์เกิดที่ห้องประชุมของโรงเรียนแหลมสิงห์วิทยาคม “อาทรสังขะวัฒนะ ๔ อุปถัมภ์” ต. พลิ้วอ. แหลมสิงห์จ. จันทบุรีในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (AAR) ของโครงการพัฒนาศิษย์ด้วยระบบ หนุนนำต่อเนื่อง (Coaching) เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ของนักเรียนในจังหวัดจันทบุรีโดยเน้นจัดการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning

          มีผู้เข้าร่วมประชุม ๓ กลุ่ม คือ ครู, coacher, และนักวิจัย มาจากทั้งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอื่น ในโครงการพัฒนาศิษย์ด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง ที่สนับสนุนโดย สกว. และ สพฐ. โดยที่วงนี้คุยกันเรื่องครู ชั้นมัธยม สอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

          ครูยุพดี ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมท่าแคลงAAR พฤติกรรมการสอนของครู ที่เปลี่ยนไปหลังได้รับ coaching ว่า(๑) ก่อนรับการโค้ช ครูจะสอนตามเอกสารหลักสูตรที่กำหนดโดย กระทรวงศึกษาธิการเป็นการ “สอนให้จบ”แต่หลังรับการโค้ช ครูจะคิดวางแผนจัดการเรียนรู้วางแผนตั้งคำถาม(๒) ใช้ IT ช่วยการสอนได้ดีขึ้นครูวางแผนใช้ตัวช่วยการเรียนรู้จาก ICT เช่นจาก YouTube เอามาแปลช่วยความเข้าใจของนักเรียนที่ฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง(๓) เข้าใจศักยภาพของเด็กที่แตกต่างกันเพราะเด็กที่ท่าแคลงเป็นครอบครัวประมงชายฝั่ง ขาดเรียนบ่อย เพื่อไปช่วยพ่อแม่ออกทะเล หารายได้จะมีรายได้วันละ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท(๔) เข้าใจทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ผมบันทึกเสียงการเสวนานี้ เอากลับไปฟังซ้ำที่บ้านด้วยความชื่นใจและบอกตัวเองว่าหากครูคิดถึงศิษย์ อยู่ทุกลมหายใจอย่างที่ครูยุพดี และครูคนอื่นๆ อธิบาย และเอาใจใส่ศึกษาและพัฒนาวิธีทำหน้าที่ครู อย่างไม่หยุดยั้งดังที่ โครงการ Teacher Coaching เข้าไปหนุนการศึกษาไทยมีโอกาสฟื้นคุณภาพได้ อย่างแน่นอน

          ฟื้นได้เพราะเรามี “ครูเพื่อศิษย์” อยู่แล้วเมื่อเข้าไปหนุนวิธีการที่ถูกต้องที่เป็น active learning ถูกจริตของเด็กยุคใหม่ ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน

          เมื่อผมทำหน้าที่ “คุณอำนวย” กระตุ้นให้ครูสะท้อนความคิดอย่างอิสระ อย่างเปิดใจ ว่าตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมา วิธีจัดการเรียนรู้แบบใหม่ นักเรียนได้อะไร ครูโรงเรียนเบญจม ที่เพชรบุรี บอกว่าโรงเรียนเบญจม เป็นโรงเรียนของเด็กเก่ง พบว่าเด็กช่วยกัน คนเก่งช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อนและพบว่าเด็กเรียนอ่อนก็เก่งในบางเรื่อง และพบว่าเด็กได้ความรู้ ที่คงทน (รู้จริง - mastery) ท่านผู้อ่านเห็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเชิงจริยธรรม ของนักเรียนที่เรียนเก่งไหมครับ

          ครูผู้ชายจากโรงเรียนมัธยมท่าแคลง สอนคณิตศาสตร์ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อเด็กอ่อนมีปฏิกิริยา ในต่อต้าน จากการที่ครูให้ทำงานครูไม่ท้อ เข้าประชิดและตั้งคำถามนำ จนเด็กทำงานสำเร็จนักเรียนบอกว่า “ทำไมครูไม่สอนอย่างนี้ ตั้งแต่แรก”

          การเรียนรู้แบบ active learning ช่วยให้เด็กเรียนอ่อน เด็กเบื่อเรียน มีที่ยืนในชั้นเรียนเพราะการเรียนรู้ แบบลงมือทำและคิด เป็นการเรียนรู้แบบที่ตรงตามธรรมชาติของมนุษย์

          นี่คือหลักฐานเรื่องจริงจากโรงเรียนไทย ที่แสดงว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เกิดขึ้นเองในตัวเด็กเมื่อจัดการเรียนรู้แบบ active learning ให้เด็กลงมือทำ ตามด้วยการคิดไตร่ตรอง(reflection)

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 566741เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท