ร่วมงานถอดบทเรียนนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว (๑)


เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน นี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญด้วยความขอบคุณให้ไปร่วมประชุม และให้ความเห็นในฐานะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่๑/๒๕๕๗ ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ที่จัดร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ กทม. ที่สนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ให้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาคระยะที่ ๒ โดยได้จัดหลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (มกราคม ๒๕๕๖ - ธันวาคม ๒๕๕๘) โดยมีบุคลากรท้องถิ่นจากเทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบลของอปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)ในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง ๑๓ ตำบลใน ๕ จังหวัด จำนวน ๘๐ คน เข้าร่วมในโครงการนี้

การประชุมในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทีมนักถักทอชุมชนฯแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ อปท ที่ได้รับการพัฒนาเข้าหลักสูตรนักถักทอจากโครงการข้างต้น มานำเสนอความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนงาน ที่ประกอบด้วย กิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการพัฒนาเด็กและเยาวชน แกนนำเยาวชน เด็กและเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม ผู้ปกครองของแกนนำเยาวชนและเด็กที่ร่วมกิจกรรม ผู้ใหญ่ใจดี และผู้รู้ในชุมชนที่ร่วมกิจกรรม รวมทั้งนักถักทอชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ

ท่ามกลางปัญหาของชุมชนตั้งแต่ระดับครอบครัว ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ ความไม่มั่นคงในสถานภาพของพ่อ-แม่-ลูก ที่ผู้ปกครองไม่สามารถเป็นครูคนแรกของลูกในการสอนวิชาชีวิต เป็นผลกดดันให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมถอยของเด็กและเยาวชน เช่น หนีเรียน ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การขาดระเบียบวินัย ทะเลาะวิวาท ฯลฯ ในหลายกรณีส่วนใหญ่วัด โรงเรียนและครูไม่มีพลังและสร้างแรงบันดาลใจเพียงพอในการเรียนรู้ทั้งในเชิงจริยธรรมและเป้าหมายชีวิตที่เหมาะสม ผู้นำและคนในชุมชนขาดความเอาใจใส่ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา หากแต่ทำงานแบบแยกส่วนและไม่มีกระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนที่เหมาะสม สังคมจึงอ่อนแอมากยิ่งขึ้น




นวคิดในการสร้างนักถักทอท้องถิ่น จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะเข้าไปเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชน โดยผ่านกลไกขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท) ซึ่งมีนโยบาย งบประมาณ และคนที่ทำงานกับชุมชนโดยตรง เช่น นักพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนการศึกษา เจ้าหน้าที่วิเคระห์นโยบายและแผน ฯลฯ ซึ่งทุกตำแหน่งต้องทำงานเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ทั้งบทบาทหน้าที่และวิธีการทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารอปท. (นายก/ปลัด) เป็นผู้พัฒนากลไกในการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปอย่างยั่งยืน



งานขับเคลื่อนที่นำเสนอครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) การจัดการเรียนรู้ให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่วัยใส บอกเล่าโดยนักถักทอจาก อบต.ป่างิ้ว(จ.อ่างทอง) และ อบต.ดอนมะสังข์จ.สุพรรณบุรี) ( ๒) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง โดยนักถักทอชุมชนจากเทศบาลเมืองแก อบต.วัดดาว (จ.สุรินทร์) อบต.ไผ่กองดิน(จ.สุพรรณบุรี) และอบต.หนองสาหร่าย(จ.สุพรรณบุรี) (๓) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบ โดย อบต.อินทร์บุรี(จ.สิงห์บุรี) อบต.หนองขาม (จ.สุพรรณบุรี)อบต.และเทศบาล ไผ่กองดิน(จ.สุพรรณบุรี) อบต.ดอนมะสังข์ (จ.สุพรรณบุรี) อบต.หนองสนิท และอบต.เมืองลีง (จ.สุรินทร์) (๔) การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนครอบครัว โดย อบต.หนองอียอ อบต.ป่างิ้ว และอบต.หนองสาหร่าย (บ้านห้วยม้าลอย หมู่สี่)


เส้นทางสู่นักถักทอชุมชน และผลสำเร็จระดับหนึ่งของการทำงานของนักถักทอชุมชนเหล่านี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลได้รวบรวมเป็นหนังสือถอดบทเรียนเชื่อมร้อยและถักทอ ในการสร้างกลไกพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ weblink ของมูลนิธิสยามกัมมาจล :


http://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/842/8620



กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่างให้ความเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของบทบาทนักถักทอชุมชน ต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายให้เกิดการคิดเอง ทำเอง ของชุมชน โรงเรียนครอบครัว เด็กและเยาวชน ที่สมควรจะให้มีการขยายผลออกไปให้ทั่วประเทศโดยเร็ว และขณะเดียวกัน ต้องสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนทุกวัย ในมิติต่างๆทุกรูปแบบ เพื่อการพัฒนาที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างราบรื่นตลอดเส้นทางอย่างยั่งยืน

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความสำคัญของลักษณะคำถามที่จุดประกายความคิดของผู้เล่าในการถอดบทเรียน ว่าเยาวชนได้เรียนรู้อะไรบ้าง มากกว่าเพียงการถ่ายทอดความรู้สึกหรือความรู้ที่ได้รับ แต่ต้องตั้งโจทย์คำถาม เพื่อให้โต้ตอบได้ว่าสิ่งที่เรียนรู้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเป็น Transformative Learning และเสริมเพิ่มเติมด้วยแนวคิดเรื่องทฤษฏีการเรียนรู้และความสามารถของบุคคลในการควบคุม กำกับ และประเมินความคิด (Metacognition) ของตนเอง

รศ.ประภาภัทร นิยม ได้เล่าประสบการณ์ของเด็กอนุบาลดูแลเป็ดป่วย ที่สะท้อนความคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน >> ทักษะการคิดที่เป็นแก่น >> ทักษะการคิดขั้นสูง ของเด็กเพื่อแก้ปัญหาอาการป่วยของเป็ด ทุกขั้นตอน ด้วยความอดทน ความรักเมตตา และสามารถสร้างการเรียนรู้แก่ตนเองอย่างเป็นระบบ




รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า แนวคิดของโครงการนี้ เกิดจากนวัตกรรมของการพัฒนาทุนมนุษย์ในท้องถิ่นเอง ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และอปท.ลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง และสร้างการมีส่วนร่วมด้วยกันกับชุมชน โดยเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน รู้จักแสวงหาข้อมูลและใช้ข้อมูล บนฐานของการทำงานเป็นทีม สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเยาวชนแบบประสานสัมพันธ์ ด้วยการใช้ "ทุกข์" เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา

ผอ.ชัยพัฒน์ ไชยสวัสดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า การดูแลพ่อ-แม่วัยใส ต้องดูแลป้องกันปัญหาด้วยกระบวนการพัฒนาทั้ง IQ และ EQ ซึ่งจะสร้างนิสัยการทำความดี ควรส่งเสริมให้กำลังใจให้รางวัลยกย่องด้วย อีกทั้งอยากขอฝากให้นักถักทอชุมชนมาร่วมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนขยายผลต่อ อปท.อื่นๆด้วย

นพ.อุดม เพชรสังหาร ได้ให้ข้อคิดว่า จากการศึกษาผลงานวิจัยของ ดร.ซาราห์ เจ วิลสัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดนตรี สมองและสุขภาวะ แห่งสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น พบว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็นโรคขาดความสุขใจ ดังนั้นที่ประเทศออสเตรเลีย จึงใช้กิจกรรมดนตรีไปกระตุ้นวงจรความสุขในสมอง .และช่วยพัฒนาความสามารถในการจัดการตนเอง ซึ่งน่าจะพิจารณานำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเยาวชนได้



อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ให้แง่คิดว่า การพัฒนาเยาวชน ควรคำนึงถึงทิศทางอนาคตของบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไร เราต้องพัฒนาเยาวชนโดยพิจารณาถึงกระบวนคิดเพื่อสังคม การมีส่วนร่วม และประชาธิปไตย เป็นหลักด้วย

คุณปิยาภรณ์ มัณฑจิตร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเสนอผลงานของนักถักทอ อาจมองเห็นแค่ที่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ความจริงยังมีเรื่องราวซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมากมาย การออกแบบกิจกรรมมี่ทั้งรูปแบบผู้ใหญ่ทำ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กมี active learning จัดอบรมเพื่อพัฒนาเด็ก และอีกรูปแบบหนึ่งคือให้เด็กคิดเอง ทำเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ข้าพเจ้าได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเลี้ยงหลานว่า เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก ทำอย่างไรให้นักถักทอชุมชนจะกระตุ้นให้เด็กเกิดความกล้าและมั่นใจที่จะคิดเอง ทำเอง ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างของเยาวชน ๖ ภูมิภาค ในโครงการเธอคือแรงบันดาลใจ ที่มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สนับสนุนยกย่องเยาวชนที่มีความตั้งใจในการทำความดีแก่ชุมชนและสังคมในท้องถิ่นต่างๆอย่างต่อเนื่อง ล่วงเข้าปีที่ ๖ มีโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมส่งเข้ามาให้พิจารณารวมกว่าสองพันโครงการ สำหรับเรื่องคุณแม่วัยใสนั้น จำเป็นต้องหาแนวคิดและวิธีการป้องปรามอย่างเป็นธรรมชาติและสัมฤทธิ์ผลด้วย

......................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 570749เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

มีตอนที่ ๒ ใช่ไหมครับ

วิจารณ์

เป็นโครงการที่ดีเยี่ยมจริงๆค่ะ   เป็นการเชื่อมร้อย และถักทอ.....  ทักทอตั้งแต่ครอบครัว  ไปถึงระดับต่างๆๆ นะคะ  ครอบครัว ===>  โรงเรียน  ===> ชุมชน  ===> ท้องถิ่น ระดับๆ   หมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  เป็นพลัง  และมีพลังนะคะ   และพลังที่มีพลังที่สุด  น่าจะเริ่มที่ครอบครัวก่อน นะคะ   

ขอบคุณพี่ใหญ่ ค่ะ

ยอดเยี่ยมค่ะ เป็นกิจกรรมที่ทำครบทุกมิติเลยนะคะพี่ใหญ่ คงมีกลุ่มติดตามผลมานำเสนอนะคะ น่าจะสำเร็จอย่างงดงามเพราะทำพร้อมกันทุกระดับด้วยค่ะ 

...การดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน...เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศนะคะ...ด้วยความชื่นชมมากๆค่ะ

เห็นทั้ง 4 โครงการเลยครับ

ดูเหมือนว่าเป้นหนองสาหร่ายที่กาญจนบุรีใช่ไหมครับ

(๑) การจัดการเรียนรู้ให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่วัยใส บอกเล่าโดยนักถักทอจาก อบต.ป่างิ้ว และ อบต.ดอนมะสังข์ ( ๒) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง โดยนักถักทอชุมชนจากเทศบาลเมืองแก อบต.วัดดาว อบต.ไผ่กองดิน และอบต.หนองสาหร่าย (๓) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบ โดย อบต.อินทร์บุรี อบต.หนองขาม อบต.และเทศบาล ไผ่กองดิน อบต.ดอนมะสังข์ อบต.หนองสนิท และอบต.เมืองลีง (๔) การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนครอบครัว โดย อบต.หนองอียอ อบต.ป่างิ้ว และอบต.หนองสาหร่าย (บ้านห้วยม้าลอย หมู่สี่)

ขอบคุณมากๆครับ

นักถักทอชุมชน ฟังแล้วรู้สึกดีมากนะคะ

โครงการทั้งหมดดูว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่พี่เล่ามาได้นะคะ  แต่ทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นทั่วไป และเข้าไปในระบบ  คงจะเป็นงานที่ใหญ่และยาก ซึ่งถ้าขยายไปได้มากๆ ก็จะยอดเยี่ยมเลยนะคะ

มาให้กำลังใจคนทำสิ่งดีๆ เพื่อเด็กๆ ค่ะ

<p>มีดอกไม้มาฝากมีรักมามอบให้..กับ..ทุกๆท่าน..ที่มีใจถักทอชุมชน..เจ้าค่ะ..</p>

เด็กๆ และเยาวชน   ยังเป็นลมหายใจของอนาคตเสมอ...

ขอบพระคุณครับ

อ่านแล้วสนใจเข้าถึงจิตวิญญาณและการบ่มเพาะตนเองของนักถักทอมากค่ะ  

      กว่าจะมาเป็นนักถักทอชุมชน

        ขอบคุณพี่ใหญ่มากค่ะ

           ยาดมเอง

ถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว
พัฒนาสังคม พัฒนาการศึกษา เป็นเรื่องเดียวกัน ดีมากเลยครับคุณครู

^_^

มีเพื่อนมีเครือข่ายนะคะคุณพี่ใหญ่

Prof. Vicharn Panich

ธวัชชัย

อ.นุ

โอ๋-อโณ

ขจิต ฝอยทอง

Dr. Pop

nui

แผ่นดิน

noktalay

ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ไทบ้าน

ป.

ณัฐพัชร์

ธิรัมภา

ยายธี

เพ็ญศรี

Dr. Ple

tuknarak

บุษยมาศ

Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

กุหลาบ มัทนา

*สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่งานเสวนานักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเยาวชนนี้ค่ะ

* ศ.นพ.วิจารณ์....ขอบคุณมากค่ะที่สนับสนุนให้เขียนตอนที่ ๒ ซึ่งดิฉันกำลังจะขึ้นบันทึกต่อไปอีกหลังจากเข้าร่วม Morning Dialog กับมูลนิธิสยามกัมมาจล คุยกันเบื้องหลังการสนับสนุนโครงการนี้ ร่วมกับคุณสุทิน(แอ๋ม) ในวันที่ ๒๔ มิย.นี้เพื่อเก็บเรื่องเล่าให้ครบถ้วนค่ะ..

* น้อง Dr.Ple...ใช่แล้วค่ะที่ต้องเริ่มเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์จากพ่อ-แม่ ผู้ปกครองในครอบครัวก่อน เพื่อสร้างรากฐานให้แข็งแรง อย่างที่ น้อง Dr.Ple ได้เล่าไว้ในบันทึกอย่างน่าสนใจมากๆค่ะ..

* น้องกุหลาย มัทนา...เรามีการติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนเป็นระยะ เพื่อถอดบทเรียนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งจะได้นำมาเล่าต่อไปค่ะ

* น้อง Dr.Podjana...การประสานงานอย่างใกล้ชิดจากทุกระดับสังคมของภาคส่วนในท้องถิ่น สร้างพื้นฐานอันยั่งยืนต่อการพัฒนาเยาวชนค่ะ

* น้องดร.ขจิต....ชุมชนหนองสาหร่าย อยู่ที่อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี .....ที่นี่มีการขับเคลื่อน "โครงการเยาวชนคนดีศรีสุพรรณ" ที่ขยายผลออกไปทุกพื้นที่ใน จ.สุพรรณบุรี จะได้นำมาเล่าต่อไปค่ะ

* น้อง nui...เห็นตรงกันในเรื่องการขยายผลออกไปให้กว้างขวาง...ขณะนี้เมื่อเราสร้างต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมสมควรที่จะชักชวนชุมชนที่สมัครใจมาร่วมเป็นเครือข่าย ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนค่ะ..

* คุณยายธี...ขอบคุณภาพดอกไม้ฟ้หม่นาสวยงาม พร้อมความรักต่อชาวถักทอชุมชนที่นำมาฝากกัน ขอให้คุณยายธีมีความสุขกับธรรมชาติรอบตัวมากๆค่ะ

* น้องแผ่นดิน...หัวใจของโครงการนี้คือการพัฒนาเยาวชน โดยเสาหลักของสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ทั้งในเชิงพื้นที่ บุคคล และโครงสร้างองค์รวมของประเทศค่ะ...

* น้องพานทอง...ขอบคุณมากค่ะที่ให้กำลังใจและเห็นคุณค่าของนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นเช่นนี้ค่ะ

* น้องอ.นุ...ใช่ค่ะ..บูรณาการเป็นเรื่องเดียวกันในการพัฒนาเยาวชน...เป็นการปฏิรูปสังคมอีกแบบหนึ่งที่ทำได้เลยไม่ต้องรอเป็นประเด็นระดับชาติ..

* น้องทพญ.ธิรัมภา....งานพัฒนาเยาวชนมีพลังกว้างขวาง ด้วยเครือข่ายทั้งในเชิงพื้นที่และบุคคล ที่ร่วมแรงกายใจเพื่อความสุขของเด็กๆค่ะ.

ในหลายเรื่อง การถอดบทเรียนผ่านมุมมองผู้บริหาร  ก็สื่อให้เห็นถึงความสสำเร็จเชิงนโยบายไปในตัว
และเมื่อถอดบทเรียนผ่านคนทำงาน (คนหน้างาน)  โดนตรงก็ทำให้เราเห็นถึงกลยุทธ แนวทางอันเป็นปัญญาปฏิบัติ...

หากนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน  ผมว่าระบบและกลไกจะแจ่มชัดมากมหาศาลเลยทีเดียวครับ

น้องแผ่นดิน....

* ขอบคุณกำลังใจ และยินดีมากค่ะที่มาร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องเส้นทางของบรรลุเป้าหมายของงานที่ต้องมีองค์ประกอบของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และมีการประเมินร่วมกัน เพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท