เที่ยวไปคิดไป...ภูฏานดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า (4-112)


ภูฏาน...ไม่ได้บ้าจี้หรือมุ่งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนละเลยวัฒนธรรมและยังคงธรรมชาติไว้ โดยไม่ดัดแปลงจนเสียความเป็น "ภูฏาน"

นมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศภูฏาน เมื่อ 24-28 มิถุนายน 2557 ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบันทึกก่อนหน้านี้คือ “ช้าหรือเร็ว...แรงบันดาลใจจากภูฏาน” ว่ามีเรื่องราวที่ตนเองสนใจ (จะว่าไป...ไม่ว่าได้ไปที่ไหน ฉันก็ตื่นตาตื่นใจทุกครั้ง) มากมายจนเขียนบันทึกไม่แล้วเสร็จเสียที ในบันทึกนี้จึงตั้งใจเขียนเฉพาะในส่วนที่อยากบันทึกจริงๆไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นแล้ว ด้วยนิสัยส่วนตัวก็จะคอยกังวลเพราะทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่เสร็จ ดังนั้นข้อมูลในบันทึกนี้จึงเป็นข้อมูลที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังได้อ่าน ยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องใดๆ อย่างเป็นทางการค่ะ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโปรแกรมท่องเที่ยวในภูฏาน

การเดินทางไปท่องเที่ยวภูฏาน (Bhutan อ่านว่า ภู-ตาน แต่เจ้าของประเทศบอกว่าอยากให้ออกเสียงว่าภู-ทานมากกว่า) ชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) ต้องเดินทางไปกับบริษัททัวร์ เพราะภูฏานไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเอง (Backpack) โดยไม่มีไกด์ท้องถิ่น ซึ่งระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2557 นี้ เป็นช่วงพิเศษสำหรับคนที่สนใจจะไปเยือนภูฏาน โดยรัฐบาลภูฏานลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าโรงแรมที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเหยียบแผ่นดิน ฯลฯ ลงเกือบร้อยละ 50 ทำให้ค่าทัวร์ไปภูฏาน 5 วัน 4 คืนราคาอยู่ที่ 38,000 – 41,000 บาท/คน ซึ่งที่ผ่านมานั้นราคาทัวร์ไปภูฏานแตะอยู่ที่ 50,000 บาท/คน ขึ้นไป อย่างไรก็ตามในช่วง 3 เดือนที่ว่านี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งทำให้การเดินชมสถานที่ต่างๆ และการเดินทางระหว่างเมืองท่องเที่ยวไม่ค่อยสะดวกนัก สายการบินที่มาลงที่เมืองพาโร มี 2 สายเท่านั้นคือ ดรุกแอร์(สายการบินแห่งชาติ) และ Bhutan Airlines (เอกชน) ซึ่งต้องแวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองกัลกัตตา อินเดีย ประมาณ 30 นาที สนามบินของภูฏานมีแห่งเดียวคือที่เมืองพาโร เนื่องจากเป็นเมืองเดียวที่มีที่ราบมากพอสำหรับการทำสนามบินได้ และเวลาของประเทศภูฏานช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

กำหนดการเดินทางเยือนภูฏานครั้งนี้ ได้ไปเยือน 3 เมืองคือ เมืองพาโร เมืองทิมพู และเมืองพูนาคา ซึ่งอยู่ทางแถบตะวันตกของประเทศ ภูฏานตั้งอยู่บริเวณรอยต่อพรมแดนระหว่างทิเบตของจีนกับอินเดียบริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศ แนวเทือกเขาหิมาลัย โดยอยู่ใต้ประเทศจีนและอยู่เหนือประเทศอินเดีย

คนภูฏานเรียกประเทศตัวเองว่า "ดรุกยูล" แปลว่าดินแดนของมังกรสายฟ้า เป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่เทียบเท่ากับ 6 จังหวัดภาคเหนือของไทย (มีพื้นที่ 38,394 ตารางกิโลเมตรขนาดพอๆ กับสวิสเซอร์แลนด์ ) มีประชากร 7-8 แสนคน เมือง “ทิมพู” เป็นเมืองหลวงใหม่ที่ย้ายมาจากเมืองหลวงเก่า “พูนาคา” เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ภูมิประเทศของภูฏานเป็นที่ราบสูง เฉลี่ยกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตลอดการท่องเที่ยวในภูฏานจึงต้องขึ้นๆ ลงๆ บันไดทั้งทางราบทางชันเกือบตลอดทาง

ศาสนาและความเชื่อ

คนภูฏานนับถือศาสนาพุทธนิกายตันตระ นับถือพระโพธิสัตว์ปางต่างๆ เชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิด โดยมี “ลามะ” เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ชาวภูฏานนิยมลูกชายคนโตของครอบครัวบวชเป็น “ลามะ” ซึ่งเป็นการบวชตลอดชีวิต คนภูฏานส่วนใหญ่จิตใจดี ใจเย็น และมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและช้าๆ (Slow life) ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การรอทานอาหาร เขาจะละเมียดละไมปรุงอาหาร ไม่รีบร้อนแม้จะมีลูกค้ามานั่งรออยู่เต็มร้านแล้ว เขาบอกยิ้มๆว่า "ทานอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ ไม่มีต่อสุขภาพ..." อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือเขามีวิถีชีวิตที่ผูกพันและศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา ในเกือบทุกที่ แม้ตามแหล่งช้อบปิ้งหรือหัวไร่ปลายนา ก็จะมี "กงล้อมนตรา" ให้ชาวบ้านที่เดินผ่านไปผ่านมาได้หมุน ซึ่งเขาเชื่อว่าการหมุนกงล้อฯ 1 ครั้งเท่ากับการสวดมนต์ 108 จบแล้ว

กงล้อมนตราในแหล่งร้านค้าขายของในตลาด

กงล้อมนตรา

สกุลเงินและการช้อบปิ้ง

ภูฏานใช้เงินที่เรียกว่าเงินนูร์ (นูร์ดรัม)ค่าเงินพอๆ กับเงินรูปีของอินเดีย มีธนบัตรราคาตั้งแต่ 1-1000 นูร์ ไม่เห็นเหรียญโลหะที่ใช้ซื้อขายกัน ข้าวของเครื่องใช้และอาหารส่วนหนึ่ง มาจากจีนและและอินเดีย ไกด์บอกว่าสินค้า อาหารจากไทย เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในภูฏาน รวมๆ ฉันรู้สึกคล้ายกับได้ไป ร้าน 7-11 ของไทย แชงกรีลาของจีนและอินเดียรวมกัน ร้านขายของในตลาด ส่วนใหญ่เจ้าของร้านเป็นชาวอินเดียและชาวจีน ในตลาดสดที่ขายผัดสดผลไม้จึงเป็นคนภูฏาน ของที่ระลึกคือ ผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งมีลวดลายเฉพาะค่อนข้างหนาหนัก เครื่องทองเหลืองต่างๆ ของที่ระลึกต่างๆ ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับที่ประเทศจีนและอินเดีย (ซื้อมาเพื่อขายให้นักท่องเที่ยว)

   

ร้านค้าของชำเล็กๆ ซื้อขายผ่าหน้าต่าง มีสินค้ามากมาย

ภาษา:ภูฏานใช้ภาษาซองคา(ภาษาของภูฏาน) และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่เดินไปตามถนนหนทาง สอบถามเส้นทาง แม้การต่อรองราคาของก็โต้ตอบกับเราเป็นภาษาอังกฤษได้ทุกคน แม้กระทั่งคนขับรถ ยามของโรงแรม และคนขนกระเป๋า เด็กนักเรียนที่เริ่มเรียนหนังสือจะได้เรียนเป็นทวิภาษา คือเรียนทั้งภาษาซองคาและอังกฤษไปพร้อมๆ กัน

 


อาหาร ผัก ผลไม้: อาหารการกิน ได้รับอิทธิพลจากทิเบตและอินเดีย อาหารในร้านบางแห่งคล้ายอาหารอินเดีย คือมีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมหลัก มีโรตีและแกงต่างๆ รวมทั้งซุปถั่วเขียว ซึ่งอร่อยมาก เนื้อสัตว์นำเข้ามาจากอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นเนื้อไก่ เนื่องจากคนภูฏานไม่ฆ่าสัตว์ การจับปลาก็ใช้วิธีเดินไปตามริมแม่น้ำ ปลาตัวใดกระโดดขึ้นมาบนฝั่งแสดงว่าเขาพร้อมจะไปเป็นอาหาร ก็จะนำมาทำอาหารได้ (ฟังแล้วคิดถึงเรื่องพระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลา) อาหารที่นี่เน้นผัก ผลไม้ และชีทจากนมวัวหรือนมจามรี มีพริกเป็นเครื่องปรุงหลัก ไม่เผ็ดจัดแต่สีแดงเข้ม โดยรวมแล้วสำหรับฉันอาหารภูฏานไม่แย่จนเกินไป ผลไม้ที่เห็นมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน คือ ลูกพีช (ลูกท้อ) แอบเปิ้ล กล้วยหอม แต่กล้วยหอมที่นี่ลูกป้อมๆ สั้นๆ คล้ายกล้วยน้ำว้า เสิร์ฟทั้งที่เปลือกยังเขียวๆ แต่เนื้อข้างในสุกหวานแล้ว

    

บน...ลูกพีช (ลูกท้อ) หวานหอมลูกโต  ล่าง...มะม่วงสุก (งอม) หวานแต่ไม่ค่อยหอม

รายได้หลักของประเทศ: ไกด์ท้องถิ่นคุณ "อูเก็น" บอกว่ารายได้ของภูฏานคือ 1.รายได้จากการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้อินเดียและจีน 2.ด้านการท่องเที่ยว และ 3.ด้านเกษตรกรรม

       

ทิวทัศน์ริมทางมีแต่ท้องนาเขียวขจีและภูเขาเขียวชอุ่ม

การคมนาคม: เนื่องจากภูฏานมีภูมิประเทศอยู่ในที่ราบสูง เส้นทางมักเป็นทางเขา ขรุขระ วกวน รถยนต์ที่ใช้มักเป็นคันเล็กๆ คล่องตัว คณะทัวร์ที่ไปจะใช้รถบัสขนาดเล็ก ประมาณ 20 ที่นั่ง สำหรับในตัวเมืองหลวงจะเห็นรถยนต์มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถของญี่ปุ่นและอินเดีย ในภูฏานไม่มีสัญญาณไฟเขียวไฟแดง แต่ไม่ค่อยปรากฏมีอุบัติเหตุร้ายแรงใดๆเลย

ที่อยู่อาศัย: สถาปัตยกรรมของภูฏานมีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ลวดลายด้านนอกอาคารจะเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของภูฏาน ไกด์เล่าว่า ไม่มีกฏหมายบังคับ แต่เขาขอร้องและทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ภายนอกอาคารบ้านเรือนขอให้ตกแต่งเหมือนๆกันในสไตล์ภูฏาน เพื่อเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของชาติเอาไว้ แต่ภายในบ้านในอาคารตกแต่งได้ตามชอบใจ นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย คล้ายแฟลตซึ่งสีภายนอกอาคารจะเป็นสีขาว ต่างจากอาคารอื่นๆ ที่มักใช้สีสันสดใสทั้งแดง เหลือง เขียว ฯลฯ

 

สาธารณสุขและการแพทย์: เมื่อเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คนภูฏานจะได้รับการรักษาฟรี ไม่มีการเก็บเงิน ถือเป็นบริการพื้นฐานของชีวิต และการรักษาพยาบาลฟรีนี้ยังครอบคลุมรวมไปถึงนักท่องเที่ยวด้วย (ตาโตเลย สุดยอดมากๆ) แม้คนภูฏานจะไม่ใช่คนที่มีอายุยืนติดอันดับโลก และอัตราการตายของทารกแรกเกิดก็สูงมาก (จน WHO บ่น) แต่ฉันเชื่อว่า คุณภาพชีวิตของคนภูฏานได้มาตรฐาน มีความสุข พอเพียงอย่างยั่งยืน ต่างจากหลายประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่คุณภาพชีวิตนั้นไม่สามารถรับรองได้ หลายคนมีอายุยืนแต่ต้องรับประทานยาเป็นกำๆ ในแต่ละมื้อ ป่วยออดๆแอดๆ ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า... “อายุสั้นหรืออายุยืนยาวเท่าใด คงไม่สำคัญเท่าเมื่อยังอยู่นั้น อยู่อย่างมีคุณภาพหรือไม่

 

   แม่และเด็กชาวภูฏาน แม่จะแบกลูกไปทุกที่โดยมัดลูกไว้ด้านหลัง 

ข้อสำคัญคือฉันเห็นความสุขสงบ ความงดงามอ่อนโยนในแววตาของคนภูฏานทั่วไปแม้ภูฏานจะติดอันดับประเทศที่ยากจนในโลก แต่กษัตริย์ของภูฏานพระองค์ที่ 4 กล้าหาญพอที่ประกาศในที่ประชุมของสหประชาชาติว่า “ภูฏานเน้นและสนใจที่ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness-GNH)” มากกว่าจะสนใจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP)”จนทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานเป็นที่สนใจ ผู้คนต่างอยากไปเยือน แต่รัฐบาลภูฏานกลับ "จำกัด" จำนวนนักท่องเที่ยวและอีกหลายมาตรการ เช่น กำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200 USD./คน/วัน (ในช่วง Low season) และ 250 USD/คน/วัน (High season) ไม่ได้บ้าจี้หรือมุ่งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนละเลยวัฒนธรรมและยังคงธรรมชาติไว้ โดยไม่ดัดแปลงจนเสียความเป็น "ภูฏาน" ไม่เว้นแม้กระทั่ง สัตว์ประจำชาติ ที่เรียกว่า "ทาคิน" ซึ่งมีตัวเป็นวัวหัวเป็นแพะ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยขอไปเลี้ยงดูที่อเมริกา แต่รัฐบาลภูฏานปฏิเสธ (อยากรู้จริงๆ ว่าให้เหตุผลอะไร...เก่งจริงๆ)

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ได้ไปเยี่ยมชมทุกเมือง คือ “ซอง” (Dzong) ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งรวมเอา วัด วัง ป้อมปราการและสถานที่ราชการไว้ด้วยกัน เนื่องจากปฐมกษัตริย์ผู้รวบรวมให้ภูฏานเป็นปึกแผ่นคือ พระทิเบตที่เรียกว่า “ลามะ” ซึ่งลามะที่รวบรวมและสถาปนา ราชอาณาจักรภูฏานคือ “ท่านซับดุง งาวัง นัมเกลพระอริยสงฆ์จากทิเบตนั่นเอง

ดังนั้น “ซอง” (Dzong) คือ สัญลักษณ์ของภูฏาน ซึ่งเป็นที่รวมและเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม การเมือง การปกครอง และความเชื่อมั่นในพุทธศาสนานิกาย “ตันตระ” อย่างชัดเจน


ภาพคัทเอ้าท์ขนาดใหญ่ที่สนามบินเมืองพาโร เป็นภาพของกษัตริย์จิ๊กมี่พระราชาธิบดีองค์ที่ 5 และพระราชินี

ตาชิโซซอง สถานที่สำคัญในเมืองพาโร

ภายในพูนาคาซอง เมืองหลวงเก่า

ธงมนตราที่จารึกอักษรคำสวดมนต์ต่างๆ ที่คนภูฏานเชื่อว่าลมจะช่วยพัดพามนตราอันเป็นศิริมงคลไปทั่ว

นอกจาก “ซอง” (Dzong) อันใหญ่โตสง่างามของทุกเมืองที่ไปเยือนแล้ว (ที่ชอบคือเขาให้เข้าชม "ซอง" หลัง 17.00 น. คือเลิกงานแล้ว จึงให้คนเข้าชม ไม่ใช่เอาใจนักท่องเที่ยวจนคนทำงานต้องถูกรบกวน) คณะทัวร์จะได้ไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพาโร ที่ทำการไปรษณีย์ภูฏาน โรงเรียนสอนงานศิลปะ มหาสถานแด่กษัตริย์ พระองค์ที่ 3 ของภูฏาน เจดีย์กรุกวังเยลลาคัง 108 องค์ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการขับไล่กองกำลังทหารต่างชาติหัวรุนแรงทางภาคใต้ของภูฏาน วัดชิมิลาคัง ซึ่งลามะชื่ ท่าน Drukpa Kunley ซึ่งใช้คำสั่งสอนที่แปลกประหลาดกว่าลามะท่านอื่นๆ ใช้สัญลักษณ์ “เพศชาย” เป็นเครื่องรางของขลังในการป้องกันและขับไล่ปีศาจร้าย ไปสักการะพระศรีสัจธรรม พระพุทธรูปกลางแจ้งที่ชาวสิงคโปร์ร่วมกันบริจาคเงินสร้าง สวนสัตว์แห่งชาติที่มีสัตว์ประจำชาติคือ “ทาคิน” (ตัวเป็นวัว หัวเป็นแพะ) เยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติวัดคิชู ลาคัง อันงดงาม

ไฮไลท์ของการเยือนภูฏานคือ การขึ้นเขาไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนวัดทักซัง (Tiger’s nest) ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเกือบ 3,000 เมตร โดยมีทางเดินที่สูงชันคดเคี้ยว ระยะทางจากที่จอดรถไปถึงเชิงเขา ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีทางเลือกสองทางคือ เดิน และ ขี่ม้า ซึ่งทัวร์จะจัดให้ ระยะทาง 3 กิโลเมตรนั้น ม้าต้องพักเหนื่อยและให้คนได้เข้าห้องน้ำ 1 ครั้ง รวมระยะเวลานั่งบนหลังม้า เกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นเมื่อถึงเชิงเขา ซึ่งม้าไม่สามารถขึ้นไปได้อีก

   

   บน... วัดทักซัง (Tiger’s nest)   ล่าง...บางตอนของบันไดชันๆ ขึ้นลงเขาทักซัง

วัดทักซัง (Tiger’s nest) ตั้งอยู่ที่เมืองพาโร (Paro) เป็นเมืองที่ถูกโอบอยู่ในวงล้อมของขุนเขา บนระดับความสูง 2,280 เมตร มีแม่น้ำปาชูไหลผ่าน วัดถ้ำพยัคฆ์เหิน “วัดทักซัง” เป็นมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ที่องค์กูรูปัทมสัมภวะ(ผู้นำเอาศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่ยังดินแดนแห่งนี้) ได้เดินทางมาบำเพ็ญภาวนาและเจริญสมาธิอยู่ในถ้ำบนชะง่อนเขา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ชาวภูฏาน กล่าวว่าท่านได้เหาะมาบนหลังเสือตัวเมีย มายังหน้าผาแห่งนี้เพื่อทำวิปัสนากรรมฐาน จึงได้ชื่อว่า ถ้ำเสือ (Tiger’s nest) หลังจากที่สำเร็จสมาธิแล้ว ท่านได้สร้างศาสนสถานแห่งนี้ขึ้น ชาวภูฏานมีความเชื่อว่าครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องได้ขึ้นมาแสวงบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเจริญก้าวหน้าของชีวิตการเดินทาง: รถจะสามารถขึ้นได้แค่เนินเขาเท่านั้น จากนั้นเลือกเดินทางได้ 2 แบบ คือ เดินเท้า หรือ ขี่ม้า ขึ้นไปยังวัด เส้นทางเป็นเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ และมีหน้าผาสูงชันจากด้านล่าง หากเลือกเดินเท้าขึ้นไปใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง จะถึงจุกพักครึ่งทาง พักดื่มน้ำชากาแฟ จากนั้นเดินทางต่ออีกราว 1 ชั่วโมง ก็จะถึงทางดินลูกรัง(หากเลือกขี่ม้าก็จะมาสุดท้ายที่นี่เช่นกัน แต่ใช้เวลาน้อยกว่า) จากนั้นเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นบันไดขึ้นลง 700 ขั้น (คล้ายตัว V) ไปสู่ยัง วัดทักซัง ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะมากมาย รวมทั้งทิวทัศน์ที่ชมจากที่สูงเกือบ 3,000 เมตรนั้นงดงามวิจิตรยิ่ง ก่อนเข้าไปในวัดจะมีจุดฝากกระเป๋าและกล้อง (เนื่องจากห้ามถ่ายภาพบริเวณวัด) จากนั้นก็เดินวนเวียนขึ้นๆ ลงๆ บันไดไปกราบพระโพธิสัตว์หลายที่ โดยแต่ละที่จะมีลามะอยู่ประจำ ท่านจะสวดมนต์ เทน้ำมนต์ให้ดื่มและพรมศีรษะพร้อมทั้งแจกขนมลูกอมเพื่อเป็นศิริมงคลด้วย

  

ช่วงลงจากวัดทักซังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ต้องทดสอบกำลังกายกำลังใจ เพราะไม่มีม้าให้ขี่ เนื่องจากการลงเขาชันๆ ทางลื่นๆ นั้น หากขี่ม้าจะอันตรายมาก แม้การเดินลงเขาก็ต้องใช้ไม่เท้าช่วยพยุงตัว และรองเท้าที่สวมใส่ก็ควรเป็นรองเท้าที่สวมสบาย ไม่รัดบีบหน้าเท้า เนื่องจากต้องใช้ปลายเท้าจิกพื้นตอนเดินลงเขานั่นเอง ดังนั้นข้อแนะนำคือต้องใช้รองเท้าที่สวมสบายและหากยิ่งเป็นรองเท้าที่เปิดด้านหน้ารองเท้าได้ จะดีที่สุด

กลับจากภูฏาน

ฉันเล่าถึงความดีงามของภูฏานมากมายจนเพื่อนกระเซ้าว่า...ทำไมภูฏานถึงดีขนาดนี้ ย้ายไปอยู่ภูฏานเสียเลยดีไหม?

ฉันอมยิ้ม คิดอยู่ไม่นานก็ตอบว่า...

...ภูฏานน่าอยู่จริงๆ ภูมิประเทศงดงาม อากาศสดชื่นมีมลพิษน้อย อาหารสดสะอาดปราศจากสารเคมี และผู้คนน่ารัก... แต่ ฉันก็ยังรักเมืองไทยที่สุด เพราะบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งเป็นที่ฝังรกรากของเรานั้น...จะนำไปเปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้หรอก...จริงไหมจ้ะ

อ้างอิง (บางส่วน)

- ภาพแผนที่สหราชอาณาจักรภูฏาน จากhttps://www.google.co.th/search?q=%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%8F%E0%B8%B2%E0%B8%99&espv=2&tbm=isch&imgil=5zJKa4Ib_qzQ7M%253A%253Bhttps%253A%252F%252Fencrypted-tbn2.gstatic.com%252Fimages%253Fq%253Dtbn%253AANd9GcTy2q8qfh3BYLOxTOou3dXuc-NO5yIe3zoPuzv7ZAWNNVq5mbts0Q%253B542%253B324%253Btesyy9Dz-EOukM%253Bhttp%25253A%25252F%25252Fwww.2by4travel.com%25252Fhome%25252FData-travel%25252Fbhuta%25252Fkhxmul-prathes-phutan&source=iu&usg=__JIsKQDnN_c2vQAHxISd4qygt4FQ%3D&sa=X&ei=GXvDU5XpCIWfugTE54K4BQ&ved=0CB8Q9QEwAQ&biw=1067&bih=528&dpr=1.5#facrc=_&imgrc=5zJKa4Ib_qzQ7M%253A%3Btesyy9Dz-EOukM%3Bhttp%253A%252F%252Fwww.2by4travel.com%252F_%252Frsrc%252F1282099508593%252Fhome%252FData-travel%252Fbhuta%252Fkhxmul-prathes-phutan%252FBhutanMap.jpg%3Bhttp%253A%252F%252Fwww.2by4travel.com%252Fhome%252FData-travel%252Fbhuta%252Fkhxmul-prathes-phutan%3B542%3B324

- ข้อมูลบางส่วนจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%8F%E0%B8%B2%E0%B8%99

หมายเลขบันทึก: 572499เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในภูฏานไม่มีสัญญาณไฟเขียวไฟแดง แต่ไม่ค่อยปรากฏมีอุบัติเหตุร้ายแรงใดๆเลย

เหตุเพราะ คนที่นี่ใจเย็น ความรีบร้อน จึงไม่มี ที่สำคัญ  ผมว่า คือสติ  

..

ธรรมชาคิที่นี่ งามมากเลยนะครับ

มองผ่าน ๆ คล้ายบ้านเรา  ต่างกันตรงสิ่งก่อสร้างนะครับ

..

คุณหยั่งรากฯ โชคดีมาก ๆ เลยนะครับ ที่ได้ขึ้นไปที่วัดทักซัง 

เดินถึงแค่ตีนเขา ก็นับว่าเยี่ยมแล้วนะครับ สำหรับคนต่างแดนที่ไม่ชินกับอากาศ

ต่อจากนั้นนั่งม้า (ม้าที่นี่คงฝึกมาดีทีเดียวเลยนะครับ) 

..

วัดทักซัง ..เท่าที่ทราบเป็นวัดที่น่าอัศจรรย์ใจในการปลูกสร้างเลยใช่มั้ยครับ

บุญกุศลมาก ๆ เลยที่มีโอกาสได้ไปกราบไหว้ ครั้งหนึ่งในชีวิต

..

อ่านบันทึกนี้ด้วยใจที่เป็นสุขเช่นเดียวกันครับ

.

ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีค่ะคุณ แสงแห่งความดี...

ขอบคุณที่มาเยือนและมาอ่านบันทึกยืดยาวนี้ค่ะ

ธรรมชาติที่ภูฏานสวยงามมากค่ะ ต้นไม้ ดอกไม้มากมายทุกทีเขียวชอุ่มค่ะ

และคงจะจริงดังที่คุณแสงฯ กล่าวคนที่นี่มี สติอย่างมั่นคง เพราะมีกฏหมายห้ามสูบบุหรี่และดื่มเหล้าในที่สาธารณะที่ค่อนข้างรุนแรง และด้วยวิถีชีวิตแล้วคนภูฏานแนบแน่นศรัทธาในคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าค่ะ

สำหรับม้าที่ขึ้นเขาทักซังนั้น ทางบริษัททัวร์จัดหาให้ จะมีเจ้าของม้า 1 คน ดูแลม้า 4-5 ตัวและเดินตามคอยกำกับให้ม้าเดินขึ้นเขา ส่วนตัวเคยขี่ม้ามาบ้างแต่ไม่เคยขี่ม้าขึ้นเขา ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะ เช่นหากขึ้นที่สูงชันเราต้องพยายามก้มตัวลงให้ชิดคอม้า หากม้าลงเขาเราต้องดึงตัวไปข้างหลังห่างจากคอม้า ตามหลักสมดุลแรงนั่นเองค่ะ และที่แน่ๆ เราต้องนิ่งและสื่อสารกับม้าที่เราขี่ให้ได้ เราต้องปลอบเขา (ลูบแผงคอเบาๆ) พูดกับเขาดีๆ และร้องส่งเสียงดังม้าจะตกใจ ไม่ใช่น้ำหอมทาโลชั่นที่ทำให้เขาผิดกลิ่น ฯลฯ ... สนุกมากเพราะอยู่บนหลังม้าเกือบ 2 ชั่วโมงเลยค่ะ

เรื่องศรัทธาในการขึ้นไปนมัสการพระบนวัดทักซังนั้น ส่วนตัวมีพอประมาณ แต่คิดเพียงว่าในชีวิตหนึ่งต้องขึ้นไปให้ได้อย่างปลอดภัย (คงไม่ได้ไปภูฏานบ่อยๆ) และไม่ผิดหวังเลยค่ะ อากาศและบรรยากาศกลิ่นธูปควันเทียน รวมทั้งความเอื้ออาทรของเพื่อนร่วมทางที่เผอิญเดินมาพบกันทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ต่างมีน้ำใจไมตรี และ...ที่สำคัญมากๆ สำหรับตัวเองคือการได้ขึ้นไปเพื่อช่วยพี่สาวคนโตและเพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันในทริปนี้ให้ท่านได้ขึ้นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่่ท่านต้องการค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งที่แวะมาอ่าน แบ่งปันความสุขให้ค่ะ  :)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท