209. อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย


>>>

           การประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2557 ณ อาคารฟอรั่ม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี  จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาไท และเครือขายเพื่อนปฏิรูป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของภาคีหุ้นส่วนสร้างสังคมการเรียนรู้เพื่อคนทั้งมวล (Partnership in Creating a Learning Society for All) โดยในการประชุมจะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางวิชาการและการทดลองฝึกปฏิบัติจริง พร้อมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

           การประชุมครั้งนี้ เป็นการนำเสนอสาระสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ใน 9 ประเด็นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการยกระดับการเรียนรู้ของสังคมไทย ให้เป็นผลสำเร็จในอนาคตได้แก่ รากแก้วแห่งชีวิตชีวิตเด็กบนแผ่นดินไทย การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพแก่คนทั้งมวลห้องเรียนสอนคิดครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ อิสรภาพโรงเรียนเสรีภาพในการเรียนรู้เด็กอ่านโลก อ่านชีวิต อ่านสื่อปฏิวัติการเรียนรู้สู่การจัดการเชิงพื้นที่สังคมแห่งการเรียนรู้สู่อาเซียนอันนำไปสู่การพัฒนาเด็กปฐมวัยการพัฒนาครูการดูแลเด็กด้อยโอกาสไปจนถึงระบบการบริหารจัดการใหม่ที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นต้นซึ่งข้อมูลในการจัดการประชุม ปฏิบัติการครั้งนี้ได้จากการสังเคราะห์มาตรการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ภายใน 6-10 ปี โดยปรับให้เข้ากับบริบทในสังคมไทยผู้เข้าร่วมงาน ขึงไม่ใช่แค่เรียนรู้ข้อมูลวิชาการ แต่ยังสามารถทดลองฝึกปฏิบัติจริงในงานพร้อมสื่อและคู่มือเพื่อสามารถนำไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง

           การเข้าร่วมประชุมตลอดระยะเวลา 3 วันมีกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างหลากหลาย ใน 3 ส่วน คือ การรับฟังการประชุมวิชาการ ที่ห้องประชุมใหญ่ 4 ห้องการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องย่อย และห้องนำเสนอกรณีศึกษาจำนวน 24 ห้องย่อยซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถเลือกเข้าร่วมการประชุมได้ตามความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยมีกิจกรรมหลักๆ ตามห้องประชุมวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งห้องนำเสนอกรณีศึกษา ดังนี้

          -  ห้องปฏิบัติการห้องเรียนสอนคิด : ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ในหัวข้อ “รูปแบบการเรียนการสอนตามหลักการเรียนรู้เป็นทีม” เพื่อสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้เป็นทีมและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิทยากรโดย ดร.สายพิณสีหรักษ์โรงเรียนเทพศรินทร์คลองสามสิบ ปทุมธานี

          - ห้องปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพแก่คนทั้งมวล ในห้องนำเสนอกรณีศึกษา “จุดเปลี่ยนการแนะแนวอาชีพ จุดเปลี่ยนการศึกษาเพื่อการมีงานทำ” โดยนางวิภา เกตุเทพา ประธานกรุงเทพมหานคร สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย และนางวิชุดาฐิติโชติรัตนาอาจารย์สาขาจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          - ห้องปฏิบัติการห้องเรียนสอนคิด : ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ในหัวข้อ มัลติพอยท์เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอนในถิ่นทุรกันดาร โดยวิทยากร จาก คณะครูโรงเรียนบ้านห่างหลวง และบ้านแม่อ่างขาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

          - ห้องปฏิบัติการห้องเรียนสอนคิด : ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ในหัวข้อ การใช้ Social Network ในการจัดการเรียนการสอนวิทยากรโดย ดร.เกศทิพย์ศุภวานิช โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์กาญจนบุรี

>>>

          ทั้งนี้  การปฏิรูปการศึกษาต้องผลักดัน การปฏิรูปการเรียนเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนใหม่ เน้นให้ความสำคัญกับผู้เรียน ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญ คือ หลักสูตรสอนแบบอ่านท่องจำเป็นคำ และให้เรียนหลักไวยกรณ์ตั้งแต่เล็ก ทำให้ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่ยากและน่าเบื่อ

        ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงการสอนใหม่ ส่งเสริมให้มีหนังสือดี มีห้องสมุดที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมให้คนรักการอ่าน และอ่านแล้วต้องคิดเป็นด้วย นอกจากนี้ต้องปรับปรุงการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่โดยเฉพาะโรงเรียนชายขอบ ในพื้นที่สูงที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต้องเริ่มสอนจากภาษาที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวันก่อน ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีมากกว่าสอนภาษากลางตั้งแต่ต้น จึงต้องมีกระบวนการพัฒนาครูอย่างจริงจัง

         อย่างไรก็ตาม ในการปฏิรูปการศึกษาต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจให้พื้นที่ ชุมชน และโรงเรียนมีอิสระ มีความสมดุลในการบริหารกับส่วนกลาง เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องอาศัยการวางกติกาจากส่วนกลาง เช่น การจัดสอบครู ที่พบว่าการให้แต่ละพื้นที่จัดสอบเองก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความยากง่ายของข้อสอบ จึงไม่สามารถวัดผลได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษาต้องใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่อง และต้องตอบโจทย์ในพื้นที่และชุมชนให้ได้

          นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องระบบบริหารจัดการศึกษาใหม่ที่ได้จากการสังเคราะห์ความรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาว่า ต้องยกระดับคุณภาพครู เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนการเรียนรู้ในห้องเรียน ,ลดช่องว่างคุณภาพแต่ละโรงเรียนเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในทุกพื้นที่เข้าถึงโรงเรียนที่ดี ,ขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ,สร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อการอ่านและพื้นที่การอ่าน และปรับปรุงหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังทัศนคติและทักษะการทำงานที่ดีในอนาคต...

>>>

หมายเลขบันทึก: 574367เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2014 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2014 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท