ตามรอยพระยุคลบาทเศรษฐกิจพอเพียง วิถีสู่ความสุขใจของคุณแม่แสงจันทร์ นรทัศน์


ทศพนธ์ นรทัศน์

[email protected]

ปฐมบทสู่ความพอเพียง

คุณแม่แสงจันทร์ นรทัศน์ เป็นคุณแม่ของผู้เขียน อาศัยอยู่ที่บ้านขวัญเมือง ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในอดีตที่ผ่านมานั้นคุณแม่แสงจันทร์ก็เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นเดียวกับชาวบ้านโดยทั่วไป โดยยังไม่ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ทำให้การทำเกษตรมีผลตอบแทนที่ไม่มากนักเพราะเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสัมปะหลัง อ้อย หรือข้าว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เมื่อผลผลิตออกมาพร้อมๆ กัน ราคาที่จำหน่ายได้ก็ไม่สูงมากนัก

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง และเห็นว่านี้คือคำตอบที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทให้ดีขึ้นได้จริง เป็นคำตอบที่ผู้เขียนใช้เวลาในการค้นหามานานถึง ๑๓ ปี (นับแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔) ในขณะนั้นผู้เขียนได้ลงไปทำงานกับชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่เราพยายามหาคำตอบและยังไม่พบก็คือเราจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เขาเหล่านั้นอย่างไร อะไรที่จะทำให้เขามีรายได้ตลอดทั้งปีนอกเหนือจากฤดูกาลทำนาซึ่งมีเพียงปีละ 1 ครั้ง … การทดลองเล็กๆ ได้เริ่มขึ้นกับครอบครัวของผู้เขียนเอง โดยผู้เขียนได้มอบเงินให้คุณแม่แสงจันทร์ฯ จำนวนหนึ่งไปเป็นทุนในการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา โดยผู้เขียนจะค่อยเล่าและอ่านแนวคิด ทฤษฎี องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคนบันทึกไว้ในเว็บไซต์เกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงปศุสัตว์ ให้คุณแม่แสงจันทร์ฟังทุกคืน... แม้เพียงเวลาไม่นานผลสำเร็จก็ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรทฤษฎีใหม่

ทฤษฎีใหม่เป็นเครื่องมือการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมเข้าใจได้ง่าย โดยเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ โดยมีการจำแนกแบ่งการใช้พื้นที่ดินเพื่อกิจกรรมด้านการเกษตรที่หลากหลาย มีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ เพื่อเป้าหมาย คือ การพออยู่พอกินในครัวเรือน พึ่งตนเองได้ก่อนพัฒนาไปสู่การรวมพลัง สร้างความเข้มแข็งของชุมชน และขยายไปสู่การสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต

“…ทฤษฎีใหม่ นี่จะขยายขึ้นไปได้อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้าๆ

เพราะว่าจะต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยๆ

แต่ว่าค่อยๆ ทำ และเมื่อทำแล้วก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง

ที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบอัตภาพ คืออาจไม่รวยมากแต่พอกินไม่อดอยาก ฉะนั้นก็นึกว่าทฤษฎีใหม่นี้ คงมีประโยชน์ได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗


“...เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง. คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ. ได้เขียนไว้ในทฤษฎีนั้นว่าลำบาก เพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน. ไม่ใช่ว่าทำง่ายๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นทฤษฎีของในหลวง แล้วจะทำได้สะดวก. และไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่. ถ้าค่อยๆ ทำไป ก็จะสามารถขยายความคิดของทฤษฎีใหม่นี้ไปได้ โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้ แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศ หรืออาจจะช่วยสภาพภูมิประเทศ โดยหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม... ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้. แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน. ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้.”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑


แม้ว่าคุณแม่แสงจันทร์ฯ จะยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ทั้งหมดเนื่องจากข้อจำกัดของเงินทุนในการดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับกระพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น จึงได้ใช้วิธีทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

ขั้นที่ ๑ – การผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน และพอเพียง

  • ส่วนแรก เป็นพื้นที่สระน้ำเพื่อไว้ใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภค แต่น้ำยังมีไม่เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ซึ่งต้องเก็บสะสมเงินทุนไว้ขุดสระน้ำในอนาคตเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอใช้ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี
  • การมีแหล่งน้ำที่พอเพียงนั้น ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง เพราะในหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น หัวใจสำคัญคือ ต้องมีน้ำ เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ส่วนใหญ่ต้องการน้ำ ดังพระราชดำรัส น้ำ คือ ชีวิต การมีสระน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอตลอดปี ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึง การควบคุมให้ดี มีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย ในพื้นที่ที่แห้งแล้งบางแห่งที่แล้งซ้ำซาก ปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝนหรือน้ำค้าง สระน้ำจะเป็นประโยชน์ในการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ไว้ใช้เสริมการเพาะปลูกและการอุปโภคในฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี
  • ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี รวมถึงใช้เป็นอาหารเป็ด ไก่ ห่าน บางส่วน
  • ส่วนที่สาม เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชผัก สมุนไพรต่างๆ เพื่อเป็นอาหารและใช้สอย เช่น ต้นยางพารา มะม่วง ยูคาลิปตัส ขนุน สะเดา มะกอก มะละกอ กระถิน มันสัมปะหลัง อ้อย ผักหวาน แก่นตะวัน พืชผักสวนครัวต่างๆ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่าย แจกจ่ายเพื่อนบ้าน และจำหน่ายเป็นรายได้บางส่วน
  • ส่วนที่สี่ เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เพื่อมีความมั่นคงในที่พักอาศัย ที่ทำกิน โดยในส่วนที่เป็นจุดเด่นที่สุดในการเริ่มทำเศรษฐกิจพอเพียงของคุณแม่แสงจันทร์ฯ นั่นคือการนำไก่พันธุ์ไข่มาเลี้ยงจำนวน 50 ตัว และเป็ดพันธุ์ไข่ 15 ตัว ซึ่งเลี้ยงในระบบเปิด ทำให้สัตว์ไม่เครียดและมีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต ไม่มีการฆ่าสัตว์ที่เลี้ยงหรือขายให้คนอื่นนำไปฆ่า แต่เป็นการเก็บไข่ที่ได้ขายให้เพื่อนบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งประสบความสำเร็จดีมาก และทำให้มีความสุขจากการเป็นผู้ให้ นอกจากไก่และเป็ดพันธุ์ไข่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์อื่นร่วมด้วย เพื่อดูเล่นและจำหน่ายให้ชาวบ้านที่สนใจนำไปเลี้ยงต่อเท่านั้น ห้ามนำไปฆ่า เช่น ไก่บ้าน, ไก่ดำภูพาน 1, ห่าน, เป็ดเทศ เป็นต้น

ขั้นที่สอง- การรวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์

ในขั้นนี้ คุณแม่แสงจันทร์ฯ ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะพัฒนางานในขั้นที่หนึ่ง ให้ประสบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม สามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดแก่ชาวบ้าน เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนบ้าน ชุมชน และการเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้เพื่อนบ้านและประชาชนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละคนให้ดียิ่งขึ้นตามอัตถภาพ และในอนาคตจะได้มีการนำดอกผลที่ได้มาตั้งเป็นกองทุนการศึกษาเพื่อพระภิกษุ สามเณร เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม การส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรมอันดีงาม ให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคีด้วยวิถีชีวติแบบพอเพียง

ขั้นที่สาม-การประสานงาน จัดหาแหล่งทุนจากภายนอกชุมชน

ในทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าสู่ภายนอกนี้ เมื่อการดำเนินการในขั้นที่สองมีความมั่นคงแล้ว ก็จะได้ขยายผลเป็นความร่วมมือกับองค์กรภายนอกตามหลัก บวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน/ราชการ) ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศตามศักยภาพต่อไป

จุดเด่นเศรษฐกิจพอเพียงวิถีพุทธ

จากการที่ผู้เขียนได้ประจักษ์ในธรรมะของพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรมแล้ว ดังที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า "ทุกชีวิต...ก่อนแต่จะได้มาเป็นคน เป็นสัตว์ อยู่ในปัจจุบันชาติ ต่างเป็นอะไรต่อมิอะไรมาแล้วมากมาย แยกออกไม่ได้ว่า...มีกรรมดีกรรมชั่วอะไรบ้าง ทำกรรมใดก่อน ทำกรรมใดหลัง และทั้งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาติอดีตทั้งหลาย ย่อมมากมายเกินกว่าที่ได้มากระทำในชาตินี้ ในชีวิตนี้อย่างประมาณมิได้ กรรมดีกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ แม้ว่าผลจะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจเรียงลำดับตามเหตุที่ได้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผลทั้งหลายย่อมเกิดแน่ แม้เหตุได้กระทำแล้ว"

ผู้เขียนจึงได้ร้องขอให้คุณแม่แสงจันทร์ฯ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในครั้งนี้ โดยงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ไม่ฆ่าไก่ เป็ด จะเก็บจะเฉพาะไข่มาบริโภค หรือจำหน่าย รวมถึง ห่าน หมู วัว ฯลฯ ที่นำมาเลี้ยงด้วย หากจะจำหน่ายให้คนอื่นก็ต้องมั่นใจว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ซื้อไปเพื่อนำไปฆ่า ความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่แสงจันทร์ฯ ได้สัญญาว่าจะไม่ฆ่าสัตว์เหล่านั้น แต่ที่ยังขอร้องไม่สำเร็จก็คือบรรดากุ้ง หอย ปู ปลา

จากการถอดบทเรียนของคนที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะเกิดการยกระดับคุณธรรมให้สูงขึ้น มีเมตตา กรุณาต่อสรรพสัตว์ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ที่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็น ไก่ เป็ด ปลา ฯลฯ ผู้เขียนจะพยายามขยายผลแนวคิดนี้ให้กว้างขวางออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเชื่อว่า ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย. - ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้. และ โลโก ปตฺถมฺ ภิกา เมตฺตา. - เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก.

รางวัลแห่งความสำเร็จในเบื้องต้น

นอกจากความสุขใจที่ได้เอื้อเฟื้อเพื่อนบ้านด้วยการจำหน่ายไข่ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดแก่เพื่อนบ้านแล้ว และความสุขอันเกิดจากการละเว้นการฆ่าสัตว์ดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา คุณแม่แสงจันทร์ ได้รับการคัดเลือกในระดับตำบลสหัสขันธ์เข้ารับรางวัลแม่ดีเด่น จากนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลแห่งความสำเร็จดังกล่าวทำให้คุณแม่แสงจันทร์ มีกำลังใจและความมุ่งมั่นทำเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมิได้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวเท่านั้น หากแต่ยังเผื่อแผ่ออกไปยังเพื่อนบ้าน ชุมชน สังคม และประเทศชาติในที่สุด

บทส่งท้าย

ไม่เพียงแต่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่เท่านั้น คุณแม่แสงจันทร์ ยังได้เป็นผู้แทนของผู้เขียนซึ่งมีอีกบทบาทหนึ่งคือ ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club—www.ictforall.org) ในหลายโอกาสท่านก็ได้เป็นผู้แทนของผู้เขียนในการดำเนินงานต่างๆ เช่น การมอบทุนการศึกษา “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรนุช สูงสว่าง” ของชมรมฯ แก่นักเรียนอยากจนในอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีปฏิปทาในพระบวรพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตร และเข้าวัดทำบุญในประเพณีสำคัญทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่นอันเนื่องด้วยศาสนา

ผู้เขียนในฐานะลูก รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดสู่แม่ จนเกิดการปฏิบัติที่สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ...กระผมมีความตั้งใจว่าหากได้มีโอกาสโอนไปรับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สำนักงาน กปร.) จะได้อุทิศตนในเวลาราชการที่เหลืออีกประมาณ ๒๕ ปี ลงไปขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมกว้างขวางออกไป ถวายเป็นพระราชกุศลและสานต่อพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงอุทิศพระอุตสาหะทั้งมวลตลอดพระชนชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในชนบทห่างไกล ...และบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ เครื่องมือในการขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง.

สำหรับท่านที่สนใจแวะไปเยี่ยมชมและให้กำลังใจคุณแม่แสงจันทร์ ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถแวะไปเยี่ยมชมได้ที่ บ้านเลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๑๐ บ้านขวัญเมือง ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตัวบ้านตั้งอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๓๓ ถนนสาย ๒๒๗ (สหัสขันธ์-สมเด็จ) ห่างจากตัวอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวเข้าไปจากถนนใหญ่ประมาณ ๑๐๐ เมตร โทร.สอบถามรายละเอียดได้ที่ ๐๘๙ ๘๒๔ ๗๔๐๙ หรือแจ้งมาทางอีเมลของกระผม [email protected]
ก็ได้ครับ _/|\_

หมายเลขบันทึก: 575096เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 02:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท