เส้นทางสาย R3A เชื่อมไทย-ลาว-จีน


หากย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 2550 ที่ถนนสายเศรษฐกิจ "R3A" ซึ่งเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผ่านเมืองต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสิ้นสุดที่เมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา แคว้นยูนนานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะสร้างเสร็จเรียบร้อยนั้น การเดินทางท่องเที่ยว ทำธุรกิจ รวมทั้งการขนส่งสินค้าระหว่างสามประเทศนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถนนหนทางแต่เดิมนั้นมีขนาดเล็ก คับแคบ ขนาดที่ว่าเมื่อมีรถขนาดใหญ่หน่อย เช่น รถทัวร์ รถบรรทุก 22 ล้อ วิ่งสวนกันก็ต้องหยุดให้คันใดคันหนึ่งผ่านไปก่อน ไม่เท่านั้นถนนยังคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาราวกับงูเลื้อย พาให้เวียนหัว

แต่ปัจจุบันด้วยเส้นทางที่ราบเรียบ กว้าง สะดวกสบายขึ้น แถมทางยังเกือบจะเป็นเส้นตรง เรียกได้ว่าเจอภูเขาตรงช่วงไหนก็จะสร้างอุโมงค์ลอดผ่านภูเขาในช่วงนั้น ทำให้ระหว่างทางจะพบว่ามีอุโมงค์เป็นสิบๆ แห่ง บางอุโมงค์ก็สั้นเพียงไม่กี่อึดใจ บางอุโมงค์ก็ยาวหลายกิโลเมตรจนถึงเกือบสิบกิโลเมตรขึ้นอยู่กับขนาดของภูเขาที่ตัดผ่าน

ไม่เท่านั้น ในส่วนที่เป็นหุบเหวที่เคยต้องตัดถนนลัดเลาะไปตามไหล่เขาก็กลายมาเป็นสะพานขนาดใหญ่ที่สร้างข้ามเหวกันไปเลย หากใครเคยไปก็จะเห็นว่าบางสะพานนั้นสูงจนแทบมองไม่เห็นก้นเหว ทำให้การเดินทางแทบจะกลายเป็นเส้นตรงมุ่งสู่เชียงรุ่ง เรียกว่า รถบรรทุก 22 ล้อ ของจีนแล่นสวนกันได้สบายๆ

วัดพระยืนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของเชียงรุ่ง

"มีคนบอกว่า ความจริงรัฐบาลจะทำให้ถนนเป็นเส้นตรงไม่ต้องมีโค้งมีเลี้ยวก็ได้ แต่ก็กลัวว่าคนขับรถจะหลับเสียก่อนเพราะว่าหากเป็นทางตรงก็จะขับรถง่ายเกินไป" ยุ่ย หนาน หั่น หรือ อิ นาง คำ ชื่อไกด์สาวในภาษาไทลื้อ หรือจะเรียกง่ายๆ เป็นภาษาไทยที่เจ้าตัวบอกว่าชื่อ ตาล-เนตรนภา เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มกว้าง และเล่าต่อว่า ก่อนหน้าที่ถนนสายนี้จะสร้างเสร็จนั้น เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา เงียบมาก มีรถราในเมืองไม่เยอะ แต่ในช่วง 3 ปีหลังมานี้การจราจรเริ่มติดขัดเพราะมีรถในเมืองเพิ่มมากขึ้น มีคนเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนเมืองเชียงรุ่งนั้นก็มีทั้งนักท่องเที่ยวจีนเองที่มาจากตอนกลางของประเทศ และนักท่องเที่ยวไทยที่มักเดินทางเข้ามาตามเส้นทาง R3A ทำให้ปัจจุบันมีไกด์ที่พูดภาษาไทยได้พอสมควร

หยาง ซา รองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เล่าถึงลักษณะของสิบสองปันนาว่า มีประชากรประมาณ 1.499 ล้านคน โดยสิบสองปันนาเป็นเขตท่องเที่ยว เขตธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอันดับสองของประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีต้นชาป่าอีกกว่า 80,000 ไร่ ทำให้สิบสองปันนามีสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ยางพาราและชาผู่เอ๋อ

นักท่องเที่ยวชาวไทยร่วมกิจกรรมกับชนพื้นเมือง

นอกจากนี้ สิบสองปันนายังเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างคุนหมิง จีน ไทย และหลวงพระบาง ลาว ทั้งทางถนน รถไฟ และเครื่องบิน ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นไปด้วยความสะดวก ทำให้ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวทั้งคนจีนและคนไทยเดินทางมาท่องเที่ยวปีละกว่า 14,943,050 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย

ฟง โป๋ว รองผู้อำนวยการองค์การท่องเที่ยว เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เล่าว่า การท่องเที่ยวในสิบสองปันนานั้นมี 2 ลักษณะ คือ แบบที่มาเป็นบริษัททัวร์และแบบที่มาท่องเที่ยวเป็นคาราวาน ซึ่งคนไทยเดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่ปีละกว่า 400,000 คน จากการเดินทางที่สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งหากโครงการสี่เหลี่ยมทองคำระหว่างพม่า ไทย ลาว และจีน ที่กำลังดำเนินโครงการอยู่เสร็จเรียบร้อยก็จะส่งผลให้การเดินทางไปมาระหว่าง 4 ประเทศนี้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ในเรื่องของภาษานั้น ปัจจุบันในสิบสองปันนามีการเรียนการสอนภาษาประเทศในเอเชียกันอย่างแพร่หลาย อาทิ ภาษาไทย พม่า เป็นต้น โดยมีโรงเรียนสอนภาษาเหล่านี้โดยเฉพาะ รวมทั้งยังมีการสอนในโรงเรียนบางแห่งอีกด้วย ส่วนภาษาอังกฤษนั้นไม่ค่อยมีคนนิยมเรียนกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรปมีน้อย สถานที่ท่องเที่ยวจึงมักไม่มีพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีเพียงภัตตาคารขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้นที่มีแต่ก็น้อยมาก

ทำให้เกิดปัญหาว่า นักท่องเที่ยวไม่สามารถสื่อสารกับพนักงานโรงแรม/ร้านอาหารได้เลยหากปราศจากไกด์ เพราะพนักงานเหล่านี้ก็มักจะพูดภาษาจีนและไม่มีความรู้ทางด้านภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลย

"ส่วนใหญ่คนที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษและภาษาไทยมักจะไม่เข้ามาทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยวเนื่องจากมองว่ารายได้น้อย มักจะไปทำงานในธุรกิจอื่น อย่างเป็นพนักงานในบริษัทที่ส่งออกยางพาราหรือในบริษัทผลิตชาผู่เอ๋อ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญจากเชียงรุ่งเนื่องจากมีรายได้ที่ดีกว่า อีกทั้งการท่องเที่ยวไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ทำเงินรายได้หลักเข้าสู่สิบสองปันนา"ฟง โป๋วกล่าว และว่า แต่ในอนาคตอาจมีการพิจารณาในเรื่องภาษาต่อไปหากมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากขึ้น

เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากที่จะเข้ามาสัมผัสกับดินแดนสิบสองปันนา แต่ติดขัดปัญหาในเรื่องของการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานมาก ต้องนั่งรถบัสอ้อมไปมาตามลาดเขาตลอดทั้งวัน ตอนนี้ก็เป็นโอกาสดีหากอยากเข้ามาสัมผัสดินแดนที่มีกลิ่นอายใกล้เคียงกับล้านนาบ้านเรา เพราะถนนหนทางสะดวก รวมทั้งมีไกด์ภาษาไทยให้บริการเป็นจำนวนมาก

เมืองสิบสองปันนาในวันนี้จึงนับว่าเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่มีเสน่ห์น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

.โดย .ชุติมา สิริทิพากุล..........

(ที่มา:มติชนรายวัน 20 ก.ค.2557)

คำสำคัญ (Tags): #เที่ยวลาว#ถนน R3A
หมายเลขบันทึก: 575438เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท