ปัญหาดินเค็มในอีสาน


ดินเค็มเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชุ่มชื้น ทั้งในเขตชลประทานและเขตอาศัยนํ้าฝน พื้นที่ดินเค็มในประเทศไทยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และพื้นที่ชายทะเล ปัญหาดินเค็มหรือนํ้าเค็มมีผลกระทบโดยตรงต่อการเกษตร ทำให้การเจริญเติบโต ผลผลิต คุณภาพของพืช และรายได้ของเกษตรกรลดลง ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เมื่อความรุนแรงของปัญหามากขึ้นส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม เกษตรกรทำมาหากินไม่ได้ ต้องย้ายพื้นที่ทำกินหรืออพยพไปหางานในเมือง

เรื่องนี้ นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาดินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อดำเนินกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพดินมีปัญหา 3 ชนิด ประกอบด้วย ดินเปรี้ยว ดินกรดและดินเค็ม สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาดินเค็มจะเน้นดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากดินเค็มได้แพร่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดกว่า 15 ล้านไร่ ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา เป็นต้น โดยพบว่าดินเค็มเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลจะแพร่กระจายเร็วมาก นอกจากนี้พื้นที่บางแห่งยังถูกทิ้งร้างจนเกิดความแห้งแล้งและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแปรสภาพเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกหลัก

ดังนั้น กรมฯจึงมีนโยบายแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ โดยจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา ควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งผิวดินและใต้ดิน มีการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วบนคันนา เช่น ยูคาลิปตัส โสนแอฟริกัน ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก สามารถช่วยควบคุมปริมาณน้ำเค็มไม่ให้กระจายขึ้นมาบนดิน ปรับรูปแปลงนา วางระบบระบายน้ำและควบคุมน้ำใต้ดินเค็ม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มและป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม โดยใช้วิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและลงทุนน้อย และเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดินเค็มให้มีศักยภาพ สามารถปลูกพืชเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เพิ่มผลผลิตพืชเพื่อการบริโภคและผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากผลการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมายังทำได้ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปัญหาที่ยังรอการแก้ไข ดังนั้น การพัฒนาของกรมฯ เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรโดยเฉพาะหมอดินอาสาที่กระจายอยู่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เคยประสบปัญหามาก่อน และสามารถแก้ไขจนประสบความสำเร็จเป็นจุดเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั่วไปให้มีพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น “โครงการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล” ซึ่งเป็นโครงการที่ส่วนวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เข้าไปดำเนินการเพื่อช่วยแก้ปัญหาดินเค็มให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ อำเภอโนนศิลาและอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดินเค็มได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่กินดีอยู่ดี และจากความสำเร็จดังกล่าวนี้ เราจะนำมาเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาดินเค็มจะหมดไปหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือสืบไป.

จาก เดลินิวส์  2 กรกฏาคม 2557

คำสำคัญ (Tags): #ดินเค็ม
หมายเลขบันทึก: 575444เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I am puzzled by this 

...โดยพบว่าดินเค็มเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลจะแพร่กระจายเร็วมาก นอกจากนี้พื้นที่บางแห่งยังถูกทิ้งร้างจนเกิดความแห้งแล้งและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแปรสภาพเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกหลัก

ดังนั้น กรมฯจึงมีนโยบายแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ โดยจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา ควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งผิวดินและใต้ดิน มีการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วบนคันนา เช่น ยูคาลิปตัส โสนแอฟริกัน ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก สามารถช่วยควบคุมปริมาณน้ำเค็มไม่ให้กระจายขึ้นมาบนดิน ปรับรูปแปลงนา วางระบบระบายน้ำและควบคุมน้ำใต้ดินเค็ม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและยั่งยืน...

the top passage says soil salinity problems are worse in dry soil and the solution, in the bottom passage, is to grow water loving plants to suck up water and dry the soil.

Please explain to a layperson who knows little about soil engineering ;-)

ไปบุรีรัมย์

เสียดายไม่ได้พบอาจารย์

ปัญหาดินเค็ม

น่าช่วยกันแก้ไขครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท