สานเสวนา เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี"


ควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่ในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอในการจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวก สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนนี้ ให้สามารถซื้ออุปกรณ์ได้ในราคาถูก แล้วแต่กรณี โดยพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งาน และฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้น เป็นรายกรณีไป

สรุปผลการสานเสวนา เรื่อง "การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี"

จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ๓๐๔ ชั้น ๓ อาคารซอฟแวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมสานเสวนา เรื่อง "การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี"

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

๒. เพื่อทราบแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

๓. เพื่อทราบแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ แนวทางในการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ

ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. รณรงค์ส่งเสริมให้คนพิการ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตในชุมชน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีบริการที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือสถานที่ที่จัดบริการไว้ในลักษณะของศูนย์บริการในชุมชน หมู่บ้าน เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาพบว่ามีสถิติคนพิการมาใช้น้อยมาก

๒. ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดยต่อยอดจากงานประจำในการดูแลสวัสดิการคนพิการที่ดำเนินการอยู่โดยปกติ โดยจัดบริการให้เหมาะสมกับประเภทคนพิการในแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่

๓. ควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่ในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอในการจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวก สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนนี้ ให้สามารถซื้ออุปกรณ์ได้ในราคาถูก แล้วแต่กรณี โดยพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งาน และฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้น เป็นรายกรณีไป

๔. ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชันต่างๆ สนับสนุนให้กับคนพิการ โดยให้มีความเหมาะสมกับสภาพความพิการของคนพิการแต่ละประเภท ความพิการของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการทางสายตา ทางการได้ยิน ให้มีโอกาสเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญทั่วไป เทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้เมื่อหลอมรวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือคนพิการ

๕. ส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ และ/หรือแอพพลิเคชันต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ตามเกณฑ์มาตรฐานฉบับภาษาไทย ภายใต้ชื่อ "Thai Web Content Accessibility Guidelines” (TWCAG) หรือเกณฑ์มาตรฐานสากล อันแนวทางในการส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ในการรับข้อมูลสารสนเทศและรับบริการอิเล็กทรอนิกส์

๖. ส่งเสริม สนับสนุนการสร้าง การพัฒนาสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความพิการของคนพิการแต่ละประเภท โดยให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ให้ยกเว้นกรณีที่นำเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์มาผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อคนพิการและไม่มีการแสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์ให้สามารถกระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

๗. สนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรมครูเพื่อผลิตสื่อสำหรับสอนเด็กพิการ เพื่อที่ครูจะได้นำความรู้ไปสร้างสื่อสอนเด็กพิการที่อยู่ในความรับผิดชอบได้อย่างเหมาะสมกับสภาพความพิการของเด็กต่อไป

๘. ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับการใช้งานที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ด้วย

๙. กำกับดูแลและส่งเสริมให้รายการโทรทัศน์มีคำบรรยายตัวอักษร/บรรยายเสียง ภาษามือ เพื่อรองรับคนพิการทุกประเภทให้สามารถเข้าถึงรายการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ ทั้งนี้ให้มีการควบคุมมาตรฐานในเรื่องดังกล่าวด้วย

๑๐. ส่งเสริมให้ชุมชน ท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ให้มากขึ้น

๑๑. การบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้เอื้อต่อการการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสทช. โดยตรง

๑๒. พัฒนาและคุ้มครองคนพิการไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกหลอกลวงจากการใช้บริการ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ การใช้บริการต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่หลากหลายให้ผู้พิการสามารถเลือกใช้ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความพิการ และระบบรับเรื่องร้องเรียนต้องมีการตอบสนองที่รวดเร็ว

๑๓. การให้ความรู้แก่คนพิการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ ไม่ผิดกฎหมาย รู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไม่โพสข้อความที่หมิ่นประมาทคนอื่น ไม่แชร์ข้อความที่หมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือการดำเนินการใดๆ ที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้น

๑๔. สร้างวิทยากรแกนนำในกลุ่มคนพิการเพื่อไปถ่ายทอด ขยายผลเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของคนพิการในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

๑๕. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ควรพัฒนาระบบบริการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นและครบวงจร และมีช่องทางการติดต่อที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการในการติดต่อใช้บริการต่างๆ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปติดต่อ ณ ที่ตั้งของหน่วยงานนั้นๆ

แนวทางในการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ

ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางในการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. จัดให้มีโครงข่ายการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับคนพิการ ที่สามารถใช้งานได้โดยสะดวก เช่น การให้ SIM อินเทอร์เน็ตฟรี, Wi-Fi ฟรี โดยอาจมีการลงทะเบียนที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนคนพิการ เพื่อยืนยันตัวบุคคลว่าผู้ใช้งานเป็นคนพิการจริง เป็นต้น

๒. เพิ่มการสนับสนุนทางด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับการดำเนินงานของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งจุดบริการในพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

๓. กสทช. ควรดำเนินบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น โครงการเดซี่สำหรับคนพิการทางสายตา โครงการทีทีอาร์เอสของผู้พิการทางหู นอกจากนั้นก็จะมีในเรื่องของโครงการจีไอเอส โครงการเลขหมายฉุกเฉิน ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนเพื่อให้คนพิการ ตามถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เป็นต้น

๔. สถานที่ตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตควรเข้าถึงได้โดยสะดวก และมีบรรยากาศเอื้อให้คนพิการเข้าไปใช้งาน

ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมสานเสวนาฯ ในรูปแบบโต๊ะกลม

สามารถดาน์โหลดภาพบรรยากาศการสานเสวนาได้ที่ www.facebook.com/Convergence.BTFP.Fund

หมายเลขบันทึก: 577214เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2014 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2014 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท