กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา (๒)


ข้าพเจ้าขอเล่าต่อจากบันทึก กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา (๑)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาด้วย " ๖ โครงการพัฒนาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง" ประกอบด้วยกระบวนการดังนี้

(๑) พัฒนากรอบความคิด (Growth Mindset) มีงานวิจัยกว่า ๔๐ ปี ของศาสตรจารย์ Carol S.Dweck พบว่า กรอบความคิดและศักยภาพของคนเราสามารถพัฒนาได้ และคนที่มี Growth Mindset มีความคิดที่อยากจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค นี่คือหัวใจของความสำเร็จ

(๒) ครูสอนคิด (Socratic Teaching) มีที่มาจากนักปราชญ์ชาวกรีก โสเครติส ที่สอนผ่านการสนทนา (dialogue) ร่วมกันอภิปราย การสอนวิธีนี้ ครูมีหน้าที่หลักคือการตั้งคำถาม ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เปิดกว้างทางความคิด รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง มากกว่าการเชื่อในสิ่งที่คนบอก

(๓) พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก (Student -Teacher Relationship) เพียงเอา "ใจแลกกับใจ" เด็กจะเกิดความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดตามอย่างต่อเนื่อง

(๔) พี่ช่วยน้อง ผองเพื่อนช่วยกัน (Peer Tutoring) การส่งเสริมให้เพื่อนที่เรียนเก่ง ช่วยเพื่อนที่เรียนช้ากว่า พบว่าทั้งเด็กที่เป็นผู้สอนเก่งขึ้น ส่วนเด็กที่เป็นผู้เรียนเก่งขี้นด้วยเช่นกัน ทำให้ครูเบาแรง และยังช่วยสร้างความรักสามัคคี ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

(๕) การพัฒนาครูเพื่อการดูแลเด็กพิเศษในเบื้องต้น (Inclusion) ครูผู้สอนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กพิเศษสามารถเรียนรู้ในชั้นเรียนปกติได้ และสามารถพัฒนาไปได้ตามศักยภาพของตน เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกันในสังคม

(๖) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (Parental Involvement) ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กให้มากขึ้น เช่นกิจกรรมวันพบผู้ปกครอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองพบครูพร้อมเด็กทุกรายวิชา

เพียงช่วง ๖ เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง กับ ๔ โรงเรียน ประกอบด้วย ๒ รร.ในกทม. คือ รร.จิตรลดา และ รร.วัดรางบัว ๑ รร.ในจังหวัดพิจิตร คือ รร.บางมูลนากภูมิวิทยาคม และ ๑ รร.ในจังหวัดลพบุรี คือ รร.สัตยาไส ได้ผลตอบรับดีเกินคาด สะท้อนวิถีปฏิบัติที่พัฒนาขึ้น ดังนี้

(๑) การคืนครูสู่ห้องเรียน ลดงานกระดาษของครู สอนหนังสือด้วยความรัก และส่งเสริมผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและกิจกรรมของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี คือ ครูและเด็กได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกัน ครูแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันดีที่มีต่อเด็ก และมีการตอบสนองต่อเด็กที่เหมาะสม เน้นการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์ที่มีอยู่นั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกหรือไม่ ?...คำตอบคือ มีบรรยากาศการเรียนที่เป็นมิตร ครูผู้สอนมีความไวต่อปฏิกิริยาของเด็ก และครูใส่ใจต่อความคิดเห็นของเด็กแต่ละคน

(๒) ครูได้เป็นตัวอย่างของการมีกรอบความคิดแบบเติบโต โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพพัฒนาได้ และส่งเสริมให้เด็กมีใจรักในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ท้อถอย เด็กจึงมีความกระตือรือร้นในการเรียน ใส่ใจ สนุกกับการแก้ปัญหา และการพัฒนสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ทำให้มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการศึกษามากยิ่งขึ้น

(๓) ครูได้ตั้งคำถามที่ดี เป็นคำถามที่กระตุ้นให้คิดในเรื่องที่สนใจได้ชัดเจน คิดได้ลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นคำถามที่ช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจกับตัวเอง หลักสำคัญจึงไม่ใช่การสอน แต่เป็นการสร้างความร่วมมือในการคิด วิเคราะห์ ค้นหาความรู้ร่วมกัน และเครื่องมือสำคัญคือการใช้คำถามที่มีคุณภาพ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสนใจใฝ่รู้จากภายในตัวผู้เรียน สนุกที่จะคิด คิดเก่ง คิดดี คิดมีประโยชน์ นอกจากนี้การเปิดให้มีการอภิปราย เกิดบรรยากาศของความเกื้อกูลเป็นมิตร ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การร่วมมือกันอย่างเสรีและมีเหตุผล

(๔) เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร ฝึกความรับผิดชอบ และได้รับคุณค่าในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีครูช่วยดูแลเนื้อหาให้ถูกต้อง ครูมีบทบาทด้านการจัดการ การกำหนดเป้าหมาย และให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆในการจัดกิจกรรม เป็นการแสดงออกถึงความยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก


(๕) การเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กให้มากขึ้นในกิจกรรมวันครูพบผู้ปกครองเป็นรายวิชา โดยเน้นใส่ใจรายละเอียดของเด็กแต่ละคน ได้เกิดพัฒนาด้านการศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครอง และเด็กอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยผู้ปกครองเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น ทั้งในด้านหลักสูตรที่ครูสอนในวิชาต่างๆ และการดูแลเอาใจใส่เด็กในวิชาต่างๆมากขึ้นเป็นพิเศษ และที่สำคัญ เด็กและผู้ปกครองให้ความเคารพเชื่อถือครู มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยจึงเป็นเรื่อง "ใจกับใจ" เมื่อครูมีความใส่ใจที่จะสอน เด็กย่อมมีความสนใจอยากจะเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

ข้าพเจ้าขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ที่ได้เปิดโอกาสให้เข้าร่วมรับฟังแนวคิดดีๆในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน


...........................................................................................................................................................................................


หมายเลขบันทึก: 578898เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2014 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

การใส่ใจ  การสนใจ  การทำงานด้วยใจ การเห็นอกเห็นใจกันและกัน  และเข้าใจกัน  การเรียน  การสอน  ผลลัพธ์การเรียนและการสอน  น่าจะดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

รักการศึกษามากขึ้นเลยครับ พี่ใหญ่ ;)...

วิธีนี้จะเป็น multiple-way communications เด็กก็จะมีความคิดอ่าน กล้าแสดงออก มีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น ส่วนครูก็ได้สนับสนุนเด็กให้มีการเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น และเข้าใจความคิดของนักเรียนมากขึ้น อยากเห็นระบบการศึกษาแบบนี้ในเร็ว ๆ วันจัง win-win นะคะพี่ใหญ่

การประเมินคุณภาพครูด้วยกระดาษล้มเหลวมากๆ...คนที่สำคัญที่สุดอยู่ใกล้ตัวครูคือนักเรียนและผู้ปกครองนะคะ...สะท้อนคุณภาพครูได้ดีที่สุดค่ะ

"พูดให้ฟัง ทำให้ดู
เป็นอยู่ให้เห็น สงบเย็นให้สัมผัส
วัดกันด้วย..ใจ ใครคือครู ครูคือใคร
ใช่..คนสำคัญ เป็นหัวใจของการศึกษาไทยครับ
"

ขอบพระคุณครับคุณครู ^_^

"บังเอิญในชีวิตได้รับประสพการณ์ชนิดนี้..เมื่อต้องรับหน้าที่สอน..ที่(สอน)ไม่ได้"ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านๆมาและเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะต้องจดจำไป..จนหายใจไม่ได้.."..และทำให้..กลายเป็นคน(ประหลาด)..ไป..อิอิ..

เพราะการสอนคือการเรียนรู้..จากผู้เรียน..เจ้าค่ะ..

(ขอโทษที่ตอบเมล์ไม่ได้ถูกล้อคอีกแล้วแก้ไม่เป็น..ค่ะ)...

ยายธีคงถึงเมืองไทย..๒๕..พย.นี้..เจ้าค่ะ...ขอขอบพระคุณ..เจ้าค่ะ..

ชอบใจแต่ละโครงการ

อยากเห็นโครงการเหล่านนี้ลงภาคปฎิบัติทั้งประเทศครับ

ขอบคุณพี่ใหญ่

น้องไปหาหนังสือเหล่านี้ได้ที่ไหนครับ

ขอบคุณมากครับ

ลุ้น ๆ ค่ะ  คุณป้าใหญ่  หวังว่าจะเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในทศวรรษนี้  จากการศึกษาเปลี่ยน

(ขอเรียก "คุณป้าใหญ่"   เหมือนเดิมนะคะ  ไม่ชินสักทีค่ะ  อิ อิ)

Prof. Vicharn Panich

อ.นุ

โอ๋-อโณ

ขจิต ฝอยทอง

Wasawat Deemarn

ธิรัมภา

ยายธี

Dr. Ple

ณัฐรดา

ฤทธิไกร มหาสารคาม

Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

ลูกสายลม

กุหลาบ มัทนา

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่รูปแบบการปฏิรูปการศึกษาแบบ "ใจกับใจ"ระหว่างครู-ลูกศิษย์-ผู้ปกครอง อย่างใกล้ชิดเช่นนี้ค่ะ

* น้อง Dr.Ple...นี่คือแนวทางที่ทำไม่ยาก หากมีใจศรัทธาต่อกันอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องค่ะ

* น้องWasawat...พี่ใหญ่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายแห่งทำอยู่แล้วอย่างจริงจัง จีงอยากให้ช่วยกันเล่าเพื่อเป็นแรงบันดาลใจดีๆต่อกันค่ะ

* น้องกุหชาบ มัทนา....ยังจำได้ว่า สมัยโบราณยุคที่เป็นนักเรียน ครูบาอาจารย์ท่านใส่ใจในลูกศิษย์เป็นอย่างมากทีเดียว เหมือนเรานำแนวคิดเก่าๆมาเตือนความจำสู่การปฏิบัติอีกนะคะ

* น้อง Dr.Pojana...เป็นเช่นนั้นจริงๆค่ะ..การประเมินผลแบบผิวเผินอย่างปัจจุบัน ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างครูและลูกศิษย์ค่ะ

* น้องอ.นุ....ยินดีที่สะท้อนแก่นแท้ของแบบอย่างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจริงๆค่ะ

* คุณยายธี...ขอบคุณที่มาเพิ่มประสบการณ์ที่เจ็บปวดนั้น...เราต้องมีความหวังบนเส้นทางสายตรง ที่ใช้ใจเป็นตัวนำค่ะ...คุณยายธีกลับมาช่วงนั้น..โปรดส่งเบอร์โทร.ทาง email..แล้วนัดกันนะคะ

* น้องดร.ขจิต...ยินดีค่ะที่สนใจหนังสือ "กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา(The Key of Education Reform)"...ติดต่อที่มูลนิธิยุวสถิรคุณนะคะ

* หลานทพญ.ธิรัมภา...บันทึกนี้หวังให้เป็นการจุดประกายในการช่วยกันปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มจากสัมพันธภาพภายในโรงเรียนร่วมกันอย่างเข้มแข็งแท้จริงค่ะ....ขอบคุณที่กลับไปเป็นป้าของหลานที่น่ารักมีน้ำใจค่ะ

กุญแจ 6 ดอก เพื่อการปฏิรูปการเรียนการสอนนะคะ ถ้าครูทำได้ก็มีความหวังว่าคุณภาพการศึกษาจะดีกว่าวันนี้นะคะ

เพียง 6 เดือนเท่านั้นก็เห็นผลทางบวกแล้ว เกรงว่าจะเหมือนการทดลองอื่น ๆที่..ถ้าครูไม่ได้รับการอบรม และทดลองเองระยะยาว ผลก็จะเลือนหายไป 

ดูจากโรงเรียนที่ไปทดลองแล้ว เป็นโรงเรียนทีเด็กมีภูมิหลังที่ต่างกัน และตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนก็ต่างกันด้วย  แต่ละโรงเหมือนเป็นตัวแทนเข้ารับการทดลอง ถ้าได้ผลในทางเดียวกันก็แสดงว่าเป็นกุญแจได้สำหรับโรงเรียนแต่ละประเภทนั้น ๆ น่าจะขยายแนวคิดและวิถึปฏิบัติออกไปได้ แต่จากประสบการณ์เห็นว่าเป็นงานที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลานาน จึงจะยั่งยืนค่ะ

ขอขอบคุณ พี่ใหญ่ที่นำสิ่งดีๆด้านการพัฒนาการศึกษามาแบ่งปันครับ

GD

เขียวมรกต

บุษยมาศ

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่แนวทางปฏิรูปการศึกษาแบบใจถึงใจนี้ค่ะ

* น้องGD...ขอบคุณมากที่มาร่วมให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ ซึ่งสะท้อนถึงความห่วงใยในความยั่งยืนของการพัฒนาการศึกษาในรูปแบบใหม่ นี้…การติดตามผลในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งหากตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบ่มเพาะครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง ด้วยใจถึงใจ อย่างแท้จริง ย่อมรัดร้อยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ

* น้องเขียวมรกต...พี่ใหญ่จะนำประสบการณ์ของโรงเรียนที่ขยายผลการปฏิบัติในแนวนี้มาเล่าอีกค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท