Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หากนายมา โยน คนสัญชาติเมียนมาร์ จะมาลงทุนในประเทศไทย เขาจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างไร ?


กรณีศึกษานายมา โยน : สิทธิในสถานะคนเข้าเมืองและคนอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทย

ของนักลงทุนต่างด้าวในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗

------------

ข้อเท็จจริง[1]

-----------

นายมา โยนเกิดที่ประเทศเมียนมาร์เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๙ จากบิดามารดาซึ่งมีสัญชาติเมียนมาร์ โดยระบุในหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลเมียนมาร์ เขาเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์

เขาป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ไม่ปรากฏว่า เขามีประวัติอาชญากรรม เขาประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจค้าอัญมณีและพลอย

ในวันนี้ เขามีโครงการจะร่วมลงทุนกับคนจีนไต้หวันซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย โดยจะนาพลอยดิบจากแอฟริกาใต้มาเจียรนัยและทาเป็นเครื่องประดับในประเทศไทย

--------

คำถาม[2]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า

(๑) จะต้องใช้กฎหมายใดพิจารณาปัญหาการเข้ามาและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจในประเทศไทย ? เพราะเหตุใด ?

(๒) โดยกฎหมายดังกล่าว เขาจะมีโอกาสที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง ?

(๓) โดยกฎหมายดังกล่าว เขาจะมีโอกาสที่จะได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ? เพียงใด ?

------------

แนวคำตอบ

------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ขอตอบว่า

๑.จะต้องใช้กฎหมายใดพิจารณาปัญหาการเข้ามาและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจในประเทศไทย ? เพราะเหตุใด ?

เนื่องจากปัญหาการเข้าเมืองและการอาศัยอยู่เป็นกรณีระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและเอกชนที่ต้องการจะเข้ามาในดินแดนหรืออาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นกรณีตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กฎหมายที่มีผลกำหนดปัญหาดังกล่าวย่อมได้แก่ กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองไทยและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีผลในขณะที่นายมาโยนต้องการจะกล่าวอ้างสิทธินั้นๆ ซึ่งเมื่อปรากฏว่า นายมาโยนประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยในปัจจุบัน กฎหมายที่มีผลในปัจจุบันในเรื่องนี้ ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

๒.โดยกฎหมายดังกล่าว เขาจะมีโอกาสที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง ?

โดยผลของมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวโดยทั่วไปที่อาจได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองไทย ก็คือ บุคคลที่มีลักษณะ ๕ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) มีเอกสารพิสูจน์ตนออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล (๒) รัฐเจ้าของดินแดนอนุญาตให้เข้าเมืองได้ (๓) ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจ (๔) ไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข และ (๕) ไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม

ดังนั้น จะเห็นว่า นายมา โยนมีหนังสือเดินทางที่ออกโดยทางการเมียนมาร์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามใดเลย แม้จะปรากฏว่า เขาป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ก็มิใช่โรคติดต่ออย่างร้ายแรง นอกจากนั้นยังไม่ปรากฏว่า เขามีประวัติอาชญากรรม

จึงไม่อาจสรุปได้ว่า เขาเป็นภาระทางเศรษฐกิจ หรือ ภาระทางสาธารณสุข หรือเป็นภัยต่อรัฐและสังคม อันเป็นเหตุให้อาจปฏิเสธสิทธิในการเข้ามาในประเทศไทยของนายมาโยน

๓.โดยกฎหมายดังกล่าว เขาจะมีโอกาสที่จะได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ? เพียงใด ?

บทบัญญัติที่มีผลเกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็คือ กรณีตามมาตรา ๓๔ และ ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งอาจอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราวได้ใน ๓ สถานการณ์ และในสถานการณ์ที่สี่ เป็นกรณีตามมาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งอาจอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยในลักษณะถาวร นอกจากนั้น หากนายมา โยนได้รับการส่งเสริมการลงทุน กรณีก็อาจเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๑ อีกด้วย

จึงตอบได้ว่า นายมา โยน จึงอาจร้องขอสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ใน ๔ สถานการณ์ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ

ในประการแรก ก็คือ กรณีของธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกรณีภายใต้มาตรา ๓๔ (๕) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งโดยมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวนั้นอาจได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน ๑ ปี

ในประการที่สอง ก็คือ กรณีของการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกรณีภายใต้มาตรา ๓๔ (๖) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งโดยมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวนั้นอาจได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ครั้งละไม่เกิน ๒ ปี

ในประการที่สาม ก็คือ กรณีของการลงทุนหรือการอื่นที่เกี่ยวกับการลงทุนภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นกรณีภายใต้มาตรา ๓๔ (๗) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และโดยมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวนั้นอาจได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ตามกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเห็นสมควรสำหรับกรณี

ในประการที่สี่ ก็คือ กรณีของการที่คนต่างด้าวที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนในราชอาณาจักรเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีภายใต้มาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และโดยกฎหมายนี้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็จะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรนอกเหนือจากจำนวนคนต่างด้าวที่รัฐมนตรีดังกล่าวประกาศตามมาตรา ๔๐ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ได้ แต่ในปีหนึ่ง ๆ จะเกินร้อยละห้าของจำนวนดังกล่าวมิได้

-------------------------------------


[1] ข้อเท็จจริงที่ปรุงแต่งขึ้น

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๖ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หมายเลขบันทึก: 579870เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท