เรื่องเล่าจาก ประชุมวิชาการ APN ครั้งที่ 2/2557 เรื่อง Capstone Project : All in one ตอนที่ 1 เก็บบางประเด็น


ตราบที่ APN ต้องเกี่ยวพันกับงานยาก ซับซ้อนมาก และเกี่ยวข้องกับบุคลากรหลายฝ่าย APN จึงต้องใช้หลายสมรรถนะในการบูรณาการงานนั้นให้สำเร็จ... Capstone Project จึงเป็นรายงานที่สะท้อนผลลัพธ์การใช้สมรรถนะของ APN ได้ดี

สมาคมผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ประเทศไทย) จัดให้มีการประชุมวิชาการประจําปี ครั้งที่ 2/2557 ระหว่างวันพฤหัสบดี-วันเสาร์ที่ 23-25 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ เรื่อง โครงการบูรณาการการวิจัยกับการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการแบบครบวงจร (Capstone Project: All in one)

การจัดประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของทางสมาคมที่สนับสนุน/เพิ่มพูนงานด้านวิชาการแก่ APN ในระบบเดิมและผู้สนใจเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจัดทำโครงการบูรณาการการวิจัยกับการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ ที่เราเรียกกันว่า Capstone Project ให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ในระบบใหม่) ที่พึงประสงค์ในระดับที่เทียบเคียงกับสาขาอื่นได้อย่างสมศักดิ์ศรี

Capstone Project จึงเป็นรายงานโครงการที่สะท้อนภาพผลงานของ APN ในบทบาทหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการพยาบาลที่ใช้ความรู้เชิงประจักษ์ในกลุ่มประชากรที่ตนรับผิดชอบ เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในทางที่ดีขึ้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุประธานผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนของการสร้างงานแบบ Capstone project


ขอนำบางประเด็นมาเล่า ดังนี้

เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษา งบประมาณที่จำกัด รวมถึงการตัดสินใจไม่เหมาะสมในการให้บริการต่างๆ ทำให้ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริการทางสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพบริการด้วยการบูรณาการการวิจัยกับการปฏิบัติจึงมีความสำคัญ

อาจารย์ให้ความหมาย "การบูรณาการการวิจัยกับการปฏิบัติ" ไว้ว่า

  • เป็นการรวมกันของการวิจัยกับการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ
  • ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และสูญเสียทั้งเงินทอง เวลา
  • การปฏิบัติต้องใช้ วิชาการ ใช้ EBP
  • ใช้วิธีการวิจัยในการประเมินประสิทธิภาพ

ความสำคัญอยู่ที่ต้องนำความรู้ใหม่มาบูรณาการให้เหมาะกับบริบทของสถานบริการแต่ละแห่ง

กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้ คือ

1.การแปลงงานวิจัยให้อยู่ในรูปของความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ที่สามารถใช้ทางทางคลินิกได้

2.ต้องค้นหาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยเร่งการยอมรับและการใช้ evidence based เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงคุณภาพ

อาจารย์ให้ศาสตร์โมเดลต่างๆ (Model of Knowledge Transformation) และศาสตร์ทางการพยาบาลมากมาย ที่สามารถนำมาเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น

  • The ACE Star Model (Stewen, 2004)
  • Stetler Model (Stetler, 2001)
  • The IOWA Model (Tilter et al.,2001)
  • The John Hopskin's Evidence Based Practice Model (Newhouse et al, 2001)
  • Caledonian Development Model (Tolson, Booth and Lowndes, 2008)
  • Evidence Based Practice Model for Staff Nurse (Reavy and Tovernier, 2008) เป็นต้น
  • ...

...

ผศ.ดร.พิกุล นันทชัยพันธ์ อุปนายกคนที่ 1 สมาคมผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพการบริการ เพื่อยกระดับผลลัพธ์ของการปฏิบัติ ที่มีการสังเคราะห์และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based projects) บูรณาการการวิจัยกับการปรับปรุงการปฏิบัติทางคลินิก

โดยในเนื้องานควรแสดงให้เห็นถึงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังต่อไปนี้

  • การแปลงผลงานวิจัยลงสู่การปฏิบัติการ
  • ประเมินหลักฐานเชิงประจักษ์
  • การประยุกต์งานวิจัยในการตัดสินใจ
  • การดำเนินการจัดทำนวัตกรรมทางคลินิก
  • พัฒนารูปแบบและระบบใหม่ๆ

อาจารย์กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงมีศักยภาพในการสร้างงานมากมาย แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่อง การเขียนบทความหรือรายงานผลงานเชิงวิชาการเพื่อเผยแพร่ จึงควรพัฒนาต่อไปได้อีก

จากการบรรยายของอาจารย์ทุกท่าน รวมทั้ง APN ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีหลายท่าน สามารถติดตามต่อได้จากเว็ปไซต์ APN ที่นี่ค่ะ

ผศ.ดร.พิกุล นันทชัยพันธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า "Capstone Project ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก แต่เป็นเรื่องของการวางแผน"

โครงร่างโครงการ (Capstone Project Proposal) มีส่วนประกอบ ดังนี้

1.ชื่อหัวข้อ (Title of the capstone project)
2.ความเป็นมาและความสำคัญ (Background and significance)
3.กรอบแนวคิด/ทฤษฎี (Conceptual/Theoretical Framework)
4.วัตถุประสงค์โครงการ (Objectives)
5.รายละเอียดโครงการ – การดำเนินโครงการ
6.แผนการประเมินผลโครงการ
7.แผนงานสำหรับดำเนินโครงการ
8.แผนการใช้งบประมาณ

อาจารย์บรรยายเรื่อง "การเขียน Capstone Project" ไว้โดยละเอียด สามารถติดตามต่อได้จากเว็ปไซต์ APN ที่นี่ค่ะ

...

ส่วนการคิดต่อยอด Capstone project ขอเล่าในบันทึกถัดไปค่ะ

ขอขอบพระคุณคณาจารย์และสมาคมฯ ที่ให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพบพานแต่สิ่งดีๆ ค่ะ


กฤษณา สำเร็จ

11 พฤศจิกายน 2557

หมายเลขบันทึก: 579898เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท