"ผู้สร้างสรรค์โลก"



เราเคยสงสัยกับสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าเรา (สมุด ดินสอ ปากกา โต๊ะ คอมพ์ มือถือ นาฬิกา ต้นไม้ บ้าน รถ ถนน สายน้ำ ท้องฟ้า ดวงดาว อากาศ) หรือไม่ว่า "สรรพสิ่ง สรรพรูป สรรพปรากฏการณ์" ที่เกิดขึ้นแล้วดำรงอยู่ในโลก มีเส้นทางอิสระของมันด้วยศิลปะอย่างสร้างสรรค์ (เกิดขึ้น สัมพันธ์ สร้างผล และถูกทำลาย) อย่างไร

ทั้งหมดนี้อยู่ในรูป ๒ ภาค คือ ภาคที่เกิดเอง และภาคที่เกิดตาม หรือมองในแง่เทววิทยามีสองคือ ผู้สร้างและสิ่งถูกสร้าง มันเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่า สิ่งที่เราพบเห็นเป็นรูปธรรมของวัตถุทั้งหมดบนโลกนั้น มีพิมพ์เขียวหรือมีแม่แบบมาจากไหน?

ทางศาสนาเทวนิยมมองว่า สรรพสิ่งถูกสร้างโดยพระเจ้า แล้วปล่อยให้สัตว์ สิ่งต่างๆ เป็นไปเองอย่างอิสระ เท่าที่รู้มีพระเจ้าหลายศาสนาที่ต่างว่า พระเจ้าของตนคือ ผู้สร้างสรรพสิ่ง ถ้าอย่างนั้น พระเจ้าเหล่านั้น ร่วมมือกันอย่างไรในการสร้างสรรพสิ่ง และมีความรับผิดชอบสรรพสิ่งนั้นอย่างไร

พระเจ้าเหล่านั้นทะเลาะกันเรื่องการสร้างสรรพสิ่งหรือไม่ หรือแบ่งกันบริหารอย่างไร โดยเฉพาะศาสนาฮินดูกล่าวว่า "พระพรหมคือ ผู้สร้าง พระศิวะ เป็นผู้ปกป้อง พระนารายณ์คือ ผู้ทำลาย" แนวคิดนี้เป็นคติหรือมีนัยแฝงอะไรไว้


ในด้านปรัชญา เพลโตบอกว่า สรรพสิ่งจำลองมาจากแบบทั้งสิ้น สิ่งที่ปรากฏบนโลกที่เห็นนี้ ล้วนเป็นสิ่งจำลองมาจากแม่แบบอมตะที่อยู่เหนือผัสสะทั้งสิ้น ดังนั้น แบบจำลองนี้จึงไม่เป็นอมตะ เป็นสิ่งจำลอง เป็นสิ่งที่เรียกว่า "มายา" เช่นเดียวกับคติของพราหมณ์ แต่ข้อสงสัยคือ "แม่แบบอมตะ" (Idea) นี้ เพลโตคิดว่า มันมีอยู่ก่อนสรรพสิ่งแล้ว ก่อนพระเจ้าอีก แต่เขาเกิดทีหลังศาสนาบางศาสนาอีก สิ่งต่างๆ นั้น เขาหมายถึง จิตวิญญาณของสัตว์ด้วย

ในด้านดาราศาสตร์หรือจักรวาลวิทยา ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของการกำเนิดเวลา (บิ๊กแบง) อะตอม กาแล็กซี่ ระบบสุริยะ โลก ธาตุ ธุลี เทหวัตถุ จนกลายเป็นดวงดาวที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมา ก็ไม่ได้บอกถึงผู้สร้างว่าใคร แต่ศึกษาด้านพลังงานดึงดูดและผลักดัน เช่น โปรตรอน อีเล็กตรอน นิวตรอน เรื่องนี้นักปรัชญาชื่อ เดโมคลีตุสก็ได้ศึกษาเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์มาด้วย อำนาจหรือพลังงานคือ สิ่งสร้างสรรค์ให้สรรพสิ่งมีกระบวนการอย่างสัมพันธ์

ในแง่วิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือทันสมัย ศึกษาด้านเหตุและผล ทดลอง สังเกตเอา เพื่อให้เห็นว่า สรรพสิ่งนั้นมีจุดกำเนิดและวิวัฒน์ต่อสิ่งอื่นๆ อย่างไร กระแสโลกยุคใหม่กำลังอาศัยกระบวนการด้านนี้ เพื่อพิสูจน์สรรพสิ่งว่า มีจริง เป็นจริง พิสูจน์ได้ กระนั้น ก็ใช่ว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นศาลสูงสุดที่จะประเมินหรือยุติปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่น่าสังเกตนี้คือ วิทยาศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติหรือเหนือผัสสะ

ด้านจักรกลวิทยา เชื่อว่าพลังงานหรือสสารมีอยู่ทั่วจักรวาล ทุกที่ล้วนมีพลังงานด้วยกันทั้งสิ้น พื้นฐานของมันคือ พลังลม แสง การโคจร การหมุน การเผาไหม้ การเคลื่อนไหว ฯ เหล่านี้คือ กลไกสำคัญในการสร้างสรรค์พลังงานให้เกิดกลายเป็นศิลปะ รูปทรงหรือวัตถุต่างๆ เช่น แสงแดดคือ พลังกำเนิดให้เกิดการไหลเวียนของลม ความร้อนของแดดจะเผาไหม้น้ำในทะเล ให้ระเหยเป็นไอ ลอยไปรวมกันบนอากาศ จากนั้นก็ถูกลมพัดพาไปที่ต่างๆ จนก่อให้เกิดฝน กระแสไฟฟ้า เรียกกระบวนการนี้ว่า "ระบบนิเวศน์"


ส่วนมนุษยนิยม เชื่อในอำนาจหรือพลังกลทางกายและสมอง เป็นผู้รังสรรค์สิ่งต่างๆ ให้เกิดรูปทรงขึ้น แนวคิดนี้เป็นการมองมาศัพยภาพของมนุษย์เองว่า เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นผู้กุมสรรพสิ่งให้อยู่มือได้ แนวคิดนี้ เป็นการลดทอนอำนาจของพระเจ้าลง แล้วมาให้ความเชื่อถือศรัทธาในตัวมนุษย์ว่ามีอำนาจเหนือพระเจ้าจึงเกิดคำว่า "superman" ขึ้น


ดังนั้น มนุษยนิยมมองว่า มนุษย์คือ ผู้สร้างพระเจ้า มิใช่พระเจ้าสร้างมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์กุมธรรมชาติด้วยการแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติและสร้างสรรค์ธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขต ยังมีคติอื่นๆ อีกมากมายที่มีแนวคิดเฉพาะในเรื่องการสร้าง การแต่ง การจัดการ บริหารสรรพสิ่งในโลกและเหตุให้สิ่งต่างๆ เป็นไป ให้เกิดความงามหรือนำไปใช้ได้อย่างมีค่า มีคุณต่อมนุษย์ โลกพูดไม่ได้ จักรวาลก็พูดไม่ได้ สรรพสิ่งก็พูดไม่ได้ ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า ใครคือ ผู้สร้างสรรค์โลก สรรพสิ่งให้เป็นไปอย่างสวยงาม

มีแต่มนุษย์ที่กล่าวอ้างจากเบื้องบนว่า เป็นผู้สร้าง แต่ก็บอกไม่ได้ว่า อยู่ไหน มีลักษณะอย่างไร ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า สมองห้องแคบๆ ของมนุษย์นี่เองคือ ผู้รังสรรค์โลกให้เป็นไป จึงขอเรียงลำดับผู้สร้างสรรค์โลก สรรพสิ่งให้เป็นไป ตามกรอบในตัวโลกเอง และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ดูสวยงาม มีศิลปะจนเราหลง เราชอบ เราแสวงหามาครอบครองเต็มบ้าน เต็มห้อง ที่สุดเราก็ใช้มันเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวันอย่างขาดมันไม่ได้

แท้จริงแล้ว มันไม่ได้เกิดมาจากพระเจ้าหรือำนาจใด หากเกิดแต่องค์ประกอบของกันและกันช่วยประคับประคอง ประสาน ประสม ค้ำจุนหนุนเนื่องให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างกลมกลืนซึ่งมีดังนี้--

๑) "กาลเวลา" (Time)

กาลเวลาคือ จุดกำเนิดการวัด การประเมินความยืนยาว ความคงทน หรือคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆ ว่า มีอายุ มีความคงทนอยู่บนโลกนี้นานเท่าไหร่ ดังนั้น ทุกสรรพสิ่งจึงถูกกาลเวลาวัดได้ว่า มีอายุกาลเท่าไหร่ มีอายุยืนเท่าไรเช่น ชีวิตของมนุษย์ เกิดมานานเท่าไหร่ กี่ปี กี่เดือน กี่วัน กี่ชั่วโมง กี่นาที กี่วินาที เราสามารถวัดเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ว่า มีอายุเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ นอกจากนี้ เรายังวัดการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งว่า เดินทางนานเท่าไหร่ รวมถึงเรายังสามารถวัดการเดินทางไปยังนอกโลกได้ว่า กี่ปี กี่ปีแสง

ดังนั้น เวลาจึงเป็นกลไกผลักดันและโอบอุ้มให้สัตว์มีชีวิตไปตามกลไกของอายุไข โดยมีเวลาเป็นตัวผลักดันให้เป็นไปตามสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดนั้นๆ การดำเนินไปของเวลานี้ จึงก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สรรพสิ่งจนตกผลึกหรือสร้างสรรค์ให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปสู่ความเข้มแข็ง คงทนหรือเสื่อมลง

เช่นชีวิตที่กำเนิดบนโลกด้วยเวลายาวนาน ย่อมทำให้สายพันธุ์นั้นแข็งแแรง คงทน ต่อการอยู่รอดตามอายุไข และเกิดการถ่ายทอดทางสายดีเอ็นเอจนถึงปัจจุบันได้ และเวลานี่เอง ทำให้โลกมีระบบการหมุนเวียนแห่งฤดูกาลต่างๆ ได้ จนสรรพสัตว์ต้องผันตนเองตามกาลเวลาอย่างเหมาะสมและรู้จักปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ต่อกาลเวลา แล้วเกิดศิลปะที่สวยงามรอบตัวเรา เพราะเวลานี่เองหล่อหลอม รังสรรค์ขึ้น


๒) "แสงแดด" (Sunlight)

แสงแดดคือ พลังงานจากแสงจากดวงอาทิตย์ที่เผาไหม้ตัวเอง ทำให้เกิดความร้อนและเกิดปฏิกิริยาต่อดวงดาวบริวาร ทำให้ดวงดาวเหล่านั้น มีแสงส่องถึง เกิดปฏิกิริยาต่างกันไป เช่น ดวงดาวที่อยู่ใกล้ทำให้เกิดความร้อนเกินไป ทำให้ดาวนั้นร้อนจนทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ กระนั้น ดาววงในก็ยังเป็นผู้รับแสงหรือความร้อนนั้นไว้ เพื่อแบ่งเอาความเข้มข้นของแสงไว้ จนให้ดาวบริหารวงนอกนั้น ลดแรงปะทะหรือความเข้มลงได้ ทำให้โลกตกอยู่ห้วงกึ่งกลางระหว่างร้อนกับเย็น จึงทำให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมาได้

ความร้อนหรือแสงจึงกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้สิ่งมีชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้รับแสงแดดให้เพียงพอต่อความเจริญเติบโตของตน ชีวิตในระยะแรกเริ่มกำเนิดในน้ำทะเล ทำให้ต้องจมอยู่ในความเยือกเย็น และต้องการความเข้มแข็งทางกายภาพจึงต้องอาศัยพลังแสงแดดหรือความร้อนช่วยขับเคลื่อนให้ตนเองเกิดความสมบูรณ์ขึ้นหรือเกิดการสังเคราะห์แสง จนทำให้พืชเจริญงอกงามแข็งแรงซึมซับรับเอาพลังงานไว้ข้างใน

ด้วยเหตุนี้เอง แสงแดดจึงเป็นพลังสร้างสรรค์ให้กับสิ่งมีชีวิตได้เจริญเติบโต เกิดพลังงานให้ผลักดันให้เกิดการผลิตผลออกมาเช่น ดอกไม้ ผลไม้ พืช ผัก ธัญญาหาร พลังงานกาย การเติบโต เกิดการสั่งสมความคิด ประสบการณ์ และเกิดทฤษฎี ความรู้ต่างๆ ในการสร้างสรรค์ชีวิต สิ่งต่างๆ พัฒนาปฏิวัติสังคมโลกให้งดงาม ให้เกิดคุณค่าต่อตนเองสังคมนั้นได้ เหล่านี้ล้วนอาศัยแสงแดด เป็นเครื่องนำพาให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การสร้างสรรค์ทั้งสิ้น


๓) "พลังลม" (Wind)

พลังลมคือ เป็นพลังที่แปรมาจากพลังงานแสงแดด ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาสัมพันธ์ขึ้น เมื่อแสงกระทบโลก ในขณะโลกหมุนรอบตัวเอง ผิวโลกกระทบกับแสงต่างตำแหน่งกัน ทำให้เกิดคลื่นพลังลมถ่ายเท พัดพาให้เกิดการไหลเวียน เนื่องจากความร้อนจะไปกระตุ้นให้ความเย็นหรือบรรยากาศในอากาศเกิดการเคลื่อนไหว หรือเกิดการแปรปรวน ทำให้เกิดพลังงานลมขึ้นมา ลมจึงเป็นพลังงานผลักดันให้เกิดการผลักไสให้มวลอากาศถ่ายเทแปรเปลี่ยนไป

เมื่อผิวโลกมีลม ในขณะท้องทะเลระเหยเป็นไอ ทำให้ไอน้ำทะเลลอยขึ้นบนอากาศ จากนั้นจึงถูกลมพัดพาไปตามแรงเหวี่ยงของโลก จนทำให้อากาศเบื้องบนปั่นป่วนขึ้น ลมจึงพัดหมุนตามแรงโคจรของโลกด้วย จากนั้น ลมจึงพัดไอน้ำ เมฆฝนไปตามวงรอบโลก เมื่อไอน้ำนั้นเคลื่อนไปบริเวณที่เย็นเช่น ป่าไม้ หรือแถบป่าฝนชื้น เมฆฝนก็จะกลั่นหยดลงต่ำกลายเป็นฝน ทั้งหมดนี้มาจากแรงพัดพาของลม เราจึงได้ยินเสมอเมือเกิดพายุว่า พายุไต้ฝุ่น ดีเปรสชั่น เป็นต้น

นอกจากนั้น พลังงานลมยังสร้างสรรค์ให้ชีวิตดำเนินไปด้วย เช่น ในสิ่งมีชีวิตต้องอาศัยพลังงานลมขับเคลื่อนเลือดให้ไหลเวียนอย่างสม่ำเสมอในกระแสเลือดเรียกว่า อ๊อกซิเจน สัตว์จึงมีปอดเพื่อการนี้ เราจึงไม่สามารถขาดลมได้ภายใน ๕ นาที ทั้งพืชและสัตว์จึงต้องการอากาศฟอกเลือด ฟอกพลังงานร่างกายให้สมบูรณ์ หากขาดลมเราก็จะไม่มีแรง เราพูดได้เพราะแรงลมจากปอดขับออกมาผ่านกล่องเสียง ชัดเจนพระเส้าหลิน พวกฤๅษีชีไพร นักโยคะ มักฝึกพลังลมปราณ เพื่อสรา้งพลังงานฉี ชี่กง ในร่างกายให้แข็งแรงได้นอกจากนี้ ในทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมของโลกสิ่งประดิษฐ์ รถยนต์กลไก ก็ล้วนอาศัยลม เช่น เครื่องพ่น ลมยางรถ ฯ


๔) "แรงโน้มถ่วง" (Gravity)

แรงโน้มถ่วงคือ พลังดึงดูดใต้โลก ซึ่งเป็นพลังงานแม่เหล็กที่โลกสะสมมาตั้งแต่กำเนิดใหม่ จนกลายเป็นพลังสำคัญในการดึงและดูดเอาสรรพสิ่งในโลกมิให้ลอยเคว้งคว้างไปไหน ทำให้เราเดินได้ ทำให้สรรพสิ่งตกอยู่บนพื้นดินได้ พืชและสัตว์ที่เกิดมาบนโลกต้องต่อสู้กับแรงดึงดูดอยู่ตลอดเวลา หลักฐานคือ "หัวใจ" เป็นเครื่องสูบเลือดหล่อเลี้ยงร่างกายให้ได้รับเลือดอย่างทั่วถึง ถ้าขาดพลังแรงดึงดูดนี้ หัวใจก็ไร้ความสำคัญ เนื่องจากว่า ร่างกายของสัตว์ที่ยืนตรงหรือตั้งฉากกับโลก จะถูกโลกฉุดรั้งดึงให้อยู่ภาวะดึงและดูด มวลสารต่างๆ ของสัตว์นั้นจึงถูกบีบคั้นให้ตกลงพื้นเสมอ

สรรพสัตว์จึงต้องมีหัวใจเอาไว้ปั้มเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย และเพื่อต่อสู้กับแรงบีบคั้นของแรงโน้มถ่วง การเอานชนะแรงนี้จึงต้องมีหัวใจทำงานอยู่เสมอ หากหัวใจไม่ทำงาน เลือดก็ไม่อาจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆได้ ส่วนนั้นก็จะตายลง นอกจากนี้ แรงโน้มถ่วงยังสร้างสรรค์โลก สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามแรงขับนี้ด้วย เช่น ของสูงย่อมเคลื่อนไปสู่ที่ต่ำเสมอ ต้นไม้เกิดการต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงอย่างสร้างสรรค์ คือ เจริญเติบโตแบบท้าทายแรงดึงดูดโลก เพราะต้นไม้จะยืนตั้งฉากกับผิวโลก เพื่อให้ตนเองได้รับแสงนั้นเอง

ดังนั้น สิ่งมีชีวิต วัตถุต่างๆ ก็ล้วนถูกแรงนี้ผลักดันให้เคลื่อนไหวไป หรือให้เปลี่ยนไปตามอำนาจของมัน นี่คือ พลังงานที่กาลิเลโอเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้น แล้วตั้งคำถามว่า มันเกิดจากอะไร จึงรู้ว่านี่คือ แรงโน้มถ่วง นอกจากนี้ ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ถูกพลังงานโน้มถ่วงนี้สลักกัดเสาะให้กลายเป็นศิลปะที่งดงามตามธรรมชาติแห่งกาลเวลา จนกลายเป็นนวัตกรรมธรรมชาติที่สวยงามเช่น หินงอก หินย้อย น้ำตก น้ำพุ น้ำค้าง ธารน้ำไหล สายน้ำ ฯ


๕) "สายน้ำ แรงน้ำ" (Perennial stream)

สายน้ำคือ พลังงานที่สืบเนื่องมาจากแสงแดด แรงโน้มถ่วง จึงทำให้เกิดกระแสน้ำและไหลไปตามพื้นผิวของโลก จากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ สุดท้ายก็ลงไปบรรจบที่ทะเล จากนั้นแสงแผดเผา น้ำก็กลายเป็นไอเมฆ ลอยไปเป็นฝน ฝนก็กลายเป็นกระแสแม่น้ำ ไหลตามพื้นผิวของโลก กระแสไหลเวียนดังกล่าวเเป็นวัฏฏจักรของธรรมชาติของโลก จนทำให้สรรพสิ่งบนโลก เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง เกิดปฏิกิริยาสัมพันธ์ขึ้น เรียกว่าระบบนิเวศน์

สายน้ำ ลำธาร ลำคลอง หนองบึง แหล่งน้ำ ล้วนเป็นการรังสรรค์ของแรงโน้มถ่วงให้น้ำหนักของน้ำไหลไปตามแอ่งหรือที่ต่ำ ทำให้น้ำต้องกัดเซาะ กะเทาะซอกซอน ก้อนหิน ดินขยะ ไปสะสมจมที่ใดที่หนึ่ง จนกลายเป็นแอ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดการทำนา ทำไร่ในที่สุด สายน้ำคือ แหล่งเกิดวัฒนธรรม ประเพณี การขนถ่าย การแลกเปลี่ยน การซื้อขาย การสมาคมกันทางน้ำ เช่น อารยธรรมแห่งแม่น้ำไนล์ แม่น้ำอเมซอน แม่น่ำหวงโห แม่น้ำโขง เจ้าพระยา เป็นต้น

ดังนั้น สายน้ำ แม่น้ำคือ แหล่งสร้างสรรค์ศิลปะ วัฒนธรรม อารยธรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน นอกจากนั้น สายน้ำคือ แหล่งกำเนิดชีวิต อาชีพ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำนั้น ให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยว ที่เพาะปลูก เลี้ยงผัก เลี้ยงปลา หล่อเลี้ยงผู้คนให้ดำเนินอย่างร่มเย็น สิ่งสร้างสรรค์ที่เราถือว่า เป็นหัวใจของสายน้ำคือ การปลูกข้าว การสัญจร ประเพณีวัฒนธรรมแข่งเรือ การบูชาแม่น้ำ วันลอยกระทง เป็นต้น นี้คือ ศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ รังสรรค์ให้โลก สังคม สิ่งมีชีวิตดำเนินไปอย่างสวยงาม


๖) "พืชไม้" (Forest)

ป่าไม้ พืช เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่กำเนิดบนโลก จึงถือว่า เป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสัตว์ให้ดำรงอยู่ได้ เพราะสัตว์ส่วนมากเป็นพวกที่กินพืช ผัก ผลไม้ เป็นหลัก ทำให้สัตว์เจริญเติบโต อยู่รอดได้เพราะมีพืชเป็นผู้ค้ำจุนให้ พืนไม้ ยังสร้างสรรค์ให้บรรยากาศโลกร่มเย็น และมันยังสร้างอากาศรอบโลกให้เกิดเป็นโอโซนปกป้องคุ้มครองจากแสงยูวีด้วย ทำให้โลกมีผิวสีฟ้าอ่อน เมื่อมองจากนอกโลก สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจึงพึ่งพิงพืชเป็นสำคัญ

ป่าไม้ พืชผล เป็นแหล่งกำเนิดอาหาร พลังงาน แรงดึงดูดความชื้น เป็นกำแพงคอยปกป้องอันตรายจากยูวี เป็นที่อยู่ของสัตว์มากมาย เป็นที่ทำมาหากินของมนุษย์ เป็นที่สร้างประโยชน์ทางยารักษาโรค สร้างอาคารบ้านเรือน เป็นแหล่งสร้างปอดโลก และเป็นที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำ สายน้ำ น้ำตก ที่ใดมีป่า ที่นั่นมีอาหาร มีน้ำ มีความชื้น และมีสัตว์ ในหลวงจึงเห็นค่าของน้ำ พระราชินีจึงเห็นว่า ป่าคือ แหล่งน้ำ จึงมีพระราชดำริเรื่อง การอนุรักษ์ป่า

ดังนั้น ป่าไม้ คือหัวใจของการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ ป่าไม้ยังสร้างพลังอันยิ่งใหญ่คือ สร้างอากาศให้โลก ให้ฝน ให้น้ำปลาอาหาร แหล่งพลังงานอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ป่ามีค่ามหาศาล จึงเกิดความต้องการอย่างมาก ทำให้มนุษย์เกิดกิเลสในการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำไม้ไปขาย ทำลายโลก ทำลายแหล่งน้ำ เป็นเรื่องน่าเศ้ราที่ป่าอเมซอนกำลังถูกตัดลงและป่าบอร์เนียวก็ถูกบุกรุกลงเรื่อยๆ

๗) "สัตว์" (Animals)

สัตว์คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติคือ ป่า น้ำ อากาศ ดิน แสง ธาตุต่างๆ สัตว์เป็นกลุ่มที่สองจากการวิวัฒนาการมาบนโลก ทำให้โลกได้รับการสร้างสรรค์จากบรรดาสัตว์น้อยใหญ่เหล่านั้นเช่น การขยายพันธุ์ของพืช การสร้างความสมดุลของป่า สัตว์ สัตว์เป็นกลุ่มที่ท้าทายการอยู่บนโลก ถ้ามีพืช ก็ต้องมีสัตว์ สัตว์เป็นผู้ทดสอบความอยู่รอดของตนเองก่อนกลุ่มที่สาม (มนุษย์)

ถ้าสัตว์อยู่รอดสัตว์กลุ่มที่สามจึงจะอยู่รอดได้ เมื่อสัตว์อยู่รอดได้ โลกก็กลายเป็นเวทีแหล่งการกำเนิดสัตว์ขึ้นมาอย่างมหาศาล สัตว์ต่างๆ จึงถือโอกาสเกิดและขยายพันธุ์บนโลกจนสืบทอดมาถึงเราในปัจจุบัน สัตว์ที่เราพบเห็นทุกวันนี้ ไม่รู้เป็นรุ่นที่เท่าไหร่ ล้วนเกิดมาจากบรรพบุรุษที่รอดพ้นได้ และสืบสายดีเอ็นเอ มายาวนานหลายล้านปี เช่น จระเข้ เต่า งู นก แมลงสาบ หนู กิ้งก่า มด สัตว์บกและสัตว์น้ำ ฯลฯ การที่พวกมันรอดมาได้ สะท้อนให้เห็นว่า มีการปรับตัวหรือวิวัฒนาการมาจนเข้มแข็ง ทนทานต่อสารพิษ และศัตรูมากมาย

ดงนั้น สัตว์ที่รอดมาได้ จึงสร้างสรรค์ตัวเองอย่างน่าทึ่งที่สุด ไม่ว่าการเอาตัวรอด การพรางตัว การสร้างพิษเพื่อปกป้องตนเอง การออกแบบออกมาเพื่อหาอาหาร การรังสรรค์สีสันที่ดึงดูดสายตา การสร้างสรรค์เสียงร้อง โครงสร้างร่างกาย การวิ่ง การบิน เขี้ยวเล็บ รูปทรง ทั้งแปลกและพิสดาร ฯ ล้วนอาศัยกาลเวลาและประสบการณ์ในการครองชีวิตจนเกิดความสมบูรณ์และลงตัวในที่สุด เรามนุษย์ก็ได้แต่ทึ่งและศึกษาอดีตของสัตว์ว่า วิวัฒนามาอย่างไรจึงรอดพ้นอุบัติภัยของโลกได้


๘) "มนุษย์" (Human Being)

มนุษย์คือ สัตว์ชนิดพิเศษที่เรียกตัวเองว่า สัตว์เหนือสัตว์ แต่ยังไม่ได้เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่า ประเสริฐ เพราะความประเสริฐนั้น ต้องได้รับการฝึกฝนก่อน ที่เราเรียกว่า มนุษย์ เลยนั้น ก็มิได้เป็นตามความหมายนี้ในแง่คุณภาพ หากแต่เป็นเพราะกฎหมายรับรองนั่นเอง กฏหมายมิได้บอกไว้ว่า ความเป็นมนุษย์มาจากไหน นอกจากศาสนา ความหมายที่ลึกบอกถึงสภาพข้างในของความเป็นมนุษย์ที่จิตใจ เช่น มีมโนธรรม มีศีลธรรม มีความเมตตา กรุณาเป็นพื้นฐานต่อกันและกัน หากขาดสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากสัตว์ป่า

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่มชุมชน จนกลายเป็นเมือง ประเทศ และเป็นดวงดาวหนึ่ง โดยอาศัยพื้นที่นั่นเป็นที่อาศัย อาศัยพวกพ้อง กลุ่มมนุษย์ด้วยเป็นที่พึ่ง โดยพื้นฐาน มนุษย์มาจากครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพ่อแม่ลูก เพราะฉะนั้น จุดกำเนิดการเข้าสังคม การอยู่สังคมคือ ครอบครัว ต่อมาคือ โรงเรียน ชุมชนและสังคม การเจริญเติบโตของมนุษย์หากอาศัยแต่เพียงร่างกายอย่างเดียวก็เป็นแต่คนพิการสมองหรือจิตวิญญาณบกพร่อง

สิ่งสำคัญในการพัฒนามนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพหรือเกิดทักษะในการสร้างสรรค์สังคมคือ การศึกษา การฝึกฝน การพัฒนาชีวิต จิตใจให้พัฒนาสูงขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ จนประณีต ละเอียดขึ้นไป อันจะก้าวให้ห่างคำว่า สัตว์มนุษย์ ไปสู่คำว่า อริยชน หรืออัจฉริยบุคคลของโลก ศักยภาพของมนุษย์มีไม่จำกัด เพราะมนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้พิสดารได้อย่างน่าทึ่งมาก ดังจะเห็นในยุคปัจจุบัน มีสิ่งประดิษฐ์ สิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ที่สร้างมาเอื้อประโยชน์ในการดำรงชีวิต

กระนั้น ศักยภาพเหล่านี้ หากมนุษย์ไม่รู้จักควบคุมตนเอง ย่อมจะส่งผลเสียต่อตนเอง ต่อสังคมและต่อโลกได้ ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เพราะความเจริญของวัตถุนิยม จึงทำให้มนุษย์มีจิตอ่อนแอต่อความเจริญ และต่อความคิดของตน จนนำไปสู่ความล่มจมในด้านคุณภาพจิตใจ กลายเป็นมนุษย์เสียจริต วิกล วิการด้านจิตวิญญาณ แทนที่จะรังสรรค์ศิลปะ สิ่งประดิษฐ์มาเสริมสร้างจิตใจให้เจริญกลับเป็นการเดินไปสู่ความเสื่อมซะงั้น นี่คือ ศักยภาพด้านการทำลาย มิใช้สร้างสรรค์


๙) "เชื้อโรค, เชื้อรา" (Disease)

เชื้อโรค เชื้อรา คือ กลุ่มสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตชั้นสูง เป็นจุลินทรีย์หรือจุลชีพที่เล็กที่เกิดมาพร้อมกับสัตว์ในทะเล เรียกว่าเป็นสัตว์เซลล์เดียว สัตว์ประเภทนี้เป็นตัวเสริมสร้าง เป็นผู้ตรวจสอบ เป็นกลุ่มคัดกรองบรรดาสัตว์ทั้งหลายให้อยู่รอดได้ โดยเข้าไปฝังตัวแทรกแซงในมวลกายสัตว์นั้น เพื่อทดสอบและอาศัยหากิน ทั้งนี้เป็นมาตรการ ๓ อย่างคือ หนึ่งพิสูจน์ความทนทาน เข้มแข็งของสัตว์สายพันธุ์นั้นว่าจะแข็งแรง พอที่จะอยู่บนโลกนี้ได้นานแค่ไหน สองเป็นแหล่งที่พึ่งพาอาศัยให้ตัวเองอยู่รอด สามเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันทั้งสองแบบวิน-วิน เช่น เชื้อราในกระเพาะ เชื้อราในลำไส้ หรือเชื้อราตามผิวหนังหรือส่วนชื้นอับ เป็นต้น

โรคและเชื้อรามีทั้งดีและไม่ดี ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ดังนั้น ร่างกายของสัตว์จึงถูกเชื้อโรคห้ำหั่น ทำลาย จ้องอาศัยครอบครองอยู่ทุกเมื่อเช่น เอดส์ มะเร็ง อีโบล่า ทั้งนี้เชื้อโรคเองก็มีวิวัฒนาการเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีเกิด มีตาย มีสืบสายพันธุ์เหมือนกัน ส่วนเชื้อราที่ถือว่าเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมคือ พวกที่เกิดตามป่า ตามสายน้ำ ลำธาร หรือสิ่งหมักดอง ที่เรานำมารับทาน หรือใช้เป็นยา เป็นตัวเร่งเสริม กระตุุ้นให้เกิดความสมดุลในร่างกาย ในพืช เช่น ปุ๋ยชีวภาพ เบียร์ ผักดอง เห็ดรา เชื้อสปอร์ของพืชและสัตว์เป็นต้น

เชื้อราเหล่านี้ ได้สร้างสัมพันธภาพกับสิ่งแวดล้อม พืชและสัตว์มาตั้งแต่ยุคแรก เช่น มดอาศัยการเลี้ยงเชื้อราเพื่อเป็นอาหารของมดงาน เชื้อเห็ดเราเอามาเพาะ เชื้อจุลินทรีย์ในเครื่องดื่ม ฯ พวกมันได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ และสร้างความสมดุลให้แก่ร่างกายเราหรือสร้างความสมดุลให้แก่พืชและสัตว์ จนกระทั่งทั้งสองอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีกันได้ อยู่ที่ว่า เราเข้าใจมัน และจะนำใช้ประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์ได้อย่างไร ต้องคอยรอนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไปว่าโรคสมัยใหม่ (โรคออนไลน์) ใครจะรักษาได้

๑๐) "อุบัติการณ์" (Incident)

เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกแม้เราจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัวและล้วนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งสิ้นก็ตาม การเกิดอุบัติภัยต่างๆ นั้น เป็นการสร้างสรรค์ จัดระบบให้สรรพสิ่งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะโลกมีกระบวนการของมัน โดยมิได้มีไมตรีหรือมีจิตใจต่อผู้ใด สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาอาศัยโลก จึงต้องจำยอมรับอุบัติภัยต่างๆ ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุที่โลกเป็นอยู่เช่นนี้ สัตว์ พืช จึงต้องเรียนรู้ หาทางป้องกัน ปรับตัว ตื่นตัว ระวังตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ตนเองอยู่รอด เช่น ประเทศที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดตลอดเวลา ต้องรู้จักการอยู่ การนอน การสร้างสิ่งป้องกันอันตรายตัวเอง เป็นการสร้างโปรแกรมแห่งความมีสติ ปัญญาอย่างต่อเนื่อง หรือเหตุการน้ำท่วมบ่อยๆ ผู้คนที่อาศัยในถิ่นนั้นจะรู้เองว่า จะป้องกันอย่างไร เหมือนกับกรณีรถประสบอุบัติเหตุ คนขับจะรู้และระวังเอง

อุบัติการณ์ต่างๆ บนโลก สังคม ชีวิต ย่อมเป็นการสอนมนุษย์ให้รู้จักว่า นี่คือ โลกที่ที่ซึ่งมีภัยอยู่เสมอ เป็นการเตือนให้พึงระวังไว้ เพราะเราพึ่งเกิดมาบนโลกนี้แค่เมื่อวาน เรามิได้เหนือโลกหรือไม่ได้รู้ใจโลกทั้งหมด อนึ่งภัยที่ยิ่งใหญ่คือ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด โรคระบาด อุกกาบาต ฯ ย่อมเป็นภัยที่เราเลี่ยงไม่ได้ เท่ากับภัยหนึ่งที่ถือว่า เป็นภัยแห่งมรดกสายพันธุ์ของเราคือ ภัยจากการเกิด การแก่ การเจ็บป่วย และการตาย เป็นเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้เมื่อเกิดมา แต่เราอยากจะเกิดมาตาย เกิดตาย อยู่เช่นนี้อีกหรือไม่ ลองถามคนแก่อายุ ๘๐ - ๙๐ ปีว่า ทรมานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีอุบัติภัยเหล่านี้พระพุทธเจ้าก็คงไม่หาทางหลุดพ้น เพราะพระองค์รู้แท้แล้วว่า เส้นทางชีวิตเกิดตาย เป็นทุกข์ถาวร ยังไม่หาทางรอดพ้นอีก ก็โง่อยู่ทุกภพทุุกชาติ ดังนั้น ภัยของชีวิตจึงสร้างสรรค์ให้เราหาทางออก เช่น ใครมีทุกข์ ก็พยายามแก้ปัญหานั้น ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ประสบทุกข์ ไม่เจอภัยเลย ชีวิตเจอแต่ความสุข สบาย แล้วเราจะประมาทไปมากเท่าไร และมืดมนไม่เห็นทางออกเป็นแน่ แต่นี่เพราะโลก ชีวิต มีสิ่งเสียดแทงเราจึงหาทางออกจากภัยนี้ได้


ผลลัพธ์จึงเกิดขึ้นทั้งหมดดังกล่าวนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งมีการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อโลก ในขณะเดียวก็มีผลร้ายด้วย หากสรุปก็จะได้ว่า สรรพสิ่งมีคู่กันเสมอเช่น กลางวัน กลางคืน ดี ชั่ว ดำ ขาว เป็นคุณสมบัติที่เรียกว่า ทวิภาวะหรือหยิน หยาง เหมือนกับชีวิตเรามีต้น (เกิด) และปลาย (ตาย) พร้อมกันเสมอ หน้าที่ของเราคือ เรียนรู้ ดูวิเคราะห์ แล้วนำมาพัฒนา ภาวนาจิตใจ ให้อยู่เหนือปรากฏการณ์ ภายใต้เงื่อนไขของโลกและกายนี้อย่างอริยชน ดังนั้น สิ่งที่ได้ สิ่งที่พบจากผู้สร้างสรรค์โลก ชีวิต สรรพสิ่งคือ--


๑) รู้จักเกิดกฎ กติกา โลก สังคม ตนเองอย่างเข้าใจจากกว้าง มาหาตัวเอง แล้วยอมรับตามกฏเหล่านั้น อย่างดุษฎี

๒) เกิดสัญชาตญาณที่จะเอาตัวรอด และใจรอด จากอุบัติภัยทั้งหลาย จึงให้ฝึกสติ สะสมปัญญา ไว้คอยควบคุมสัญชาตญาณของตนเอง

๓) รู้ซึ้งถึงสายใยแห่งความสัมพันธ์ต่อสรรพสิ่งว่า ไม่มีสิ่งใดแยกแตกจากกัน เหมือนเด็ดดอกไม้หนึ่งดอก กระฉอกถึงดวงดาวฉันนั้น

๔) จงหาทางสร้างสรรค์และหารูปแบบ การสร้างเสริมศิลปะของชีวิตให้ดูงดงาม น่าอยู่ น่าชม เบิกบานใจ ในความงามของศิลปะของโลกและชีวิต

๕) แล้วจงนำมาตรองในสมอง หาประสบการณ์ เชื่อมโยงกฏสากล กฏเฉพาะ มองในมุมในของอัตลักษณ์หรือัตทัศน์ ให้เกิดนวัตกรรมทางปัญญา เพื่อสนองสังคมที่กำลังล่มจมและชีวิตที่กำลังหลงทาง ให้โลก ให้สังคมตื่นตัว ตื่นตา และตื่นปัญญาอย่างแท้จริง

--------------------------------(๒๗/๑๑/๕๗)--------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 581284เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Another insightful write-up!

I think I have similar 'view' but with a different language like I would say 'energy' rather than just 'sunlight' (sunlight is an energy package containing different radiations in different wavelengths) ; I would say "CO2 reducers" rather than 'Forest"; CO2 producers instead of animals and human (Human is the greatest CO2 producers ever in the the 3 billion years history of this 'earth'. While bacteria and plants have for billions of years reduced CO2 so that the earth become live-able. Human had in a last 100 years reversed this condition for life! Human is releasing billions of years of CO2 back into the atmosphere and expected to live happily forever, ...).

There are 'laws of Nature' as well as 'laws of Culture' that we must observe. In the final analysis 'Dhamma' is what we are talking about. Dhamma is essentially laws of Nature and Culture as understood by wisdom of Buddhists.

ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท