การพัฒนาข้าราชการ


ย้ำว่า การพัฒนาข้าราชการพลเรือนที่เน้น learning นี้ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติงานประจำนั่นเอง หรือเน้นให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องกล่าวว่า เรียนรู้จากการมุ่งดำเนินการพัฒนางานของตน ซึ่งก็เข้าหลักการทำงานแบบ CQI (Continuous Quality Improvement) นั่นคือใช้หลักการ "เรียนรู้จากการปฏิบัติ" และเน้น "เรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ" ซึ่งก็คือใช้หลักการ การจัดการความรู้ (Knowledge Management - KM) นั่นเอง ซึ่งก็จะตรงกันกับหลักการ Adult Learning


วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ เป็นวันที่ผมมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะได้มีโอกาสทำประโยชน์เล็กๆ ให้แก่บ้านเมือง ในเรื่องการพัฒนาข้าราชการ โดยคุยกับท่านรองเลขาธิการสำนักงาน ก.พ. มล. พัชรภากร เทวกุล และคณะอีก ๒ ท่าน คือ ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง นส. สุลักขณา ธรรมานุสติ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน นางสุทธิลักษณ์ เอื้อจิตถาวร เรานัดพบกันที่ มสช.

ท่านรองเลขาฯ กพ. อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ สองเล่ม ที่จัดพิมพ์จำหน่าย โดยสำนักพิมพ์ Openworlds คือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ กับ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : ๗ หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ ที่ผมเป็นผู้เขียนคำนิยมทั้งคู่ และคิดว่าน่าจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการปฏิรูประบบการพัฒนาข้าราชการพลเรือน ท่านจึงให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอมาคุยกับผม

การพูดคุย นำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ของการพัฒนาข้าราชการพลเรือน เน้นที่การเรียนรู้ จากการปฏิบัติงาน คือเน้น learning ไม่ใช่เน้น training อย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ที่จริงก็ต้องใช้ทั้ง learning และ training โดยสัดส่วนน่าจะอยู่ที่ 80:20 หรือ 90:10 คือลงทุนและลงเวลาต่อ learning มากกว่าหลายเท่า ไม่ใช่ละเลยเรื่อง learning ทำแต่ training อย่างในปัจจุบัน

ย้ำว่า การพัฒนาข้าราชการพลเรือนที่เน้น learning นี้ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติงานประจำนั่นเอง หรือเน้นให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องกล่าวว่า เรียนรู้จากการมุ่งดำเนินการพัฒนางานของตน ซึ่งก็เข้าหลักการทำงานแบบ CQI (Continuous Quality Improvement)

นั่นคือใช้หลักการ "เรียนรู้จากการปฏิบัติ" และเน้น "เรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ" ซึ่งก็คือใช้หลักการ การจัดการความรู้ (Knowledge Management - KM) นั่นเอง ซึ่งก็จะตรงกันกับหลักการ Adult Learning

หลักการจัดการความรู้ บอกว่าในการกระทำมีความรู้ คนที่ทำสิ่งใดได้ เป็นคนมีความรู้ในสิ่งนั้น แต่เป็นความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่มีคุณค่ามาก แต่คนที่มีความรู้ปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นผู้รู้จริง จะรู้จริงต้องมีการตีความหาความหมายของความรู้ปฏิบัตินั้น โดยเอาความรู้เชิงทฤษฎี เข้าไปตีความ ทำความเข้าใจให้ได้ความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) กระบวนการนี้ จะให้ง่ายและสนุก ต้องทำเป็นกลุ่ม หรือเป็นทีม บางคนเรียกกระบวนการนี้ว่า การถอดความรู้ และมีคนเรียกวงจรการยกระดับความรู้ ด้วยการหมุนวงจรระหว่างความรู้ปฏิบัติ กับความรู้ทฤษฎี ว่า SECI Circle

การพัฒนาข้าราชการแนว learning จากการปฏิบัติงานตามปกติ จึงเป็นการใช้เครื่องมือ PLC นั่นเอง เท่ากับว่า การพัฒนาข้าราชการแนวใหม่ ต้องมีการจัดการ ส่งเสริม สนับสนุน จัดกระบวนการ ให้ข้าราชการ รวมตัวกันเป็น "กลุ่มเรียนรู้" (Learning Community) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานของตน

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ใช้ จิตวิทยาเชิงบวก คือนำเอาผลสำเร็จเล็กๆ ในการพัฒนางาน มาตั้งวง ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) กัน ซึ่งก็คือกระบวนการ KM นั่นเอง

การพัฒนาคน ส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ การพัฒนา ๓ร ๑ว ได้แก่ ร แรงบันดาลใจ, ร ความร่วมมือ (ทักษาด้านความร่วมมือ) และ ร เรียนรู้ (ทักษะในการเรียนรู้) ส่วน ว คือ วินัยในตน (self-discipline) หากมีปัจจัยหลัก ๔ ตัวนี้แล้ว การพัฒนาและเรียนรู้ด้านอื่นๆ รวมทั้งความดีงามความถูกต้อง และสมรรถนะ จะตามมาเอง ผ่านกลไกของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

การพัฒนาข้าราชการ ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาวะผู้นำ เพื่อให้ข้าราชการทุกคนมีทักษะ ฉันทะ และวิริยะ ในการปฏิบัติตนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ซึ่งจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ในการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ หรือใน PLC แต่จะไม่เกิด โดยการพัฒนาข้าราชการด้วยการฝึกอบรม (Training) ถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปให้ การเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนเกิดทักษะภาวะผู้นำนี้ เรียกว่า Transformative Learning

ข้าราชการพลเรือนที่ดี ต้องเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม เป้าหมายนี้ไม่สามารถบรรลุได้ ด้วยการเทศน์ หรือสั่งสอน แต่จะบรรลุได้ด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามแนวทางหรือวิธีการที่กล่าวแล้วข้างต้น

ผมได้เรียนแนะนำ ต่อท่านผู้บริหารทั้งสามท่านว่า ควรไปร่วมประชุมใน Quality Day ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สักครั้ง เพื่อทำความเข้าใจวิธีดำเนินการ หรือการปฏิบัติ ตามแนวที่ผมเรียนเสนอ การประชุมนี้จัดทุกปี ในเดือนกรกฎาคม ครั้งละ ๒ วัน

ผมมีความสุข ที่ทีมงานผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. แสดงความกระตือรือร้นกับการกลับไปเตรียมขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวทางที่เล่านี้ โดยผมปวาณาตัวว่า ยินดีไปพูดให้ที่ประชุมแกนนำ สร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการพัฒนาข้าราชการพลเรือนดังกล่าว คงจะได้นำความคืบหน้ามาเล่าต่อไป

การพูดคุยครั้งนี้ เป็นข่าวของสำนักงาน ก.พ. ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 582873เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ เขียนด้วยความปิติสุข จึงมีคำที่เขียนผิดหลายคำ (ปกติท่านจะตรวจทานอย่างดีก่อนปลอ่ยออกมา)
  • ทักษะความร่วมมือ, ปวารณาตัว
  • ผมอ่านด้วยความปิติสุขเช่นกัน เพราะผมได้ใช้วิธีการแบบนี้และทำเช่นนี้อยู่แล้ว..
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท