จิตตปัญญาเวชศึกษา 215: การแพทย์ทางเลือก... เลือกให้ดี


การแพทย์ทางเลือก.. ต้องเลือกให้ดี

มีศัพท์ทางการแพทย์อยู่คำหนึ่งคือ Complementary and alternative medicine CAM) ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่าเป็นการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน หรือวางอยู่บนระเบียบวิธีการศึกษาเดียวกันกับกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ conventional medicine (คำวิทยาศาสตร์การแพทย์ผมใส่เข้ามาโดยวิสาสะ นึกไม่ออกว่าควรจะใช้คำว่าอะไรดี) ปกติหมอตามโรงพยาบาลจะใช้การรักษาที่มีเรื่องการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) เป็นพื้นฐานความรู้ แต่เนื่องจากมนุษย์มีการรักษามานาน มีหลายๆเรื่อง หลายๆวิธี ที่เป็นการสังเกตหรือเป็นความรู้บอกต่อๆกันมานานนับชั่วคนบ้าง แต่ไม่ได้ถูกยืนยันด้วยระเบียบวิธีทางการวิจัย แต่ก็ยังคงใช้รักษาอยู่ มีปัจจัยเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา อารมณ์ความรู้สึกเป็นองค์ประกอบอยู่ไม่น้อย

คำว่า Placebo ที่คนชอบแปลง่ายๆว่า "ยาหลอก" เป็นภาษาละติน แปลเป็นอังกฤษว่า "I shall please" เมื่อคนมีความรู้สึกว่ากำลังถูกรักษา กำลังถูกดูแล ร่างกายสามารถเกิดกลไกในการเยียวยาตนเองขึ้นมาได้ มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ ทางชีววิทยาจริงๆ แต่ไม่ใช่เพราะสารเคมีในยา แต่เพราะกลไกต่างๆในร่างกาย ฮอร์โมน เอนดอร์ฟิน ฯลฯ มีนัยยะสำคัญคือ
๑) มีการเยียวยาเกิดขึ้นจริง
๒) มีข้อจำกัดว่าจะเยียวยาได้แค่ไหน เนื่องจากเป็นกลไกที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับสาเหตุ อาจจะเป็นเพียงบรรเทาอาการเท่านั้น
๓) หมดความเชื่อก็หมดการกระตุ้นกลไกนี้
๔) ผลไม่สม่ำเสมอ และไม่คงที่ ทั้งในตัวคนๆเดียว และที่แน่ๆคือสำหรับคนแต่ละคนที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆก็คือ ไม่การันตี

placebo effects ไม่ได้เกิดขึ้นในคนที่ได้รับยาหลอกเท่านั้น จะเกิดขึ้นในคนที่ได้รับยาจริงด้วย แต่คนที่ได้รับยาจริงจะมีผลจากตัวยาจริงๆเพิ่มเข้าไป ในการศึกษาเปรียบเทียบ จึงเป็นการเปรียบเทียบผลระหว่าง placebo อย่างเดียว กับ placebo+ยาจริง ยาในแพทย์แผนปัจจุบันคือยาที่พิสูจน์แล้วว่ามีผลเหนือกว่าการใช้แต่ยาหลอกอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

ปัจจุบันมีรายงานมากขึ้นว่าการใช้ complementary and alternative medicine มีการแสดงผลการรักษาด้วย ซึ่งน่าสนใจว่า นอกเหนือจากสภาวะความเชื่อและศรัทธาอันมีพลังเยียวยาแล้ว ในวิธีเหล่านั้นมีองค์ประกอบที่เป็นเภสัชวิทยาในการรักษาจริงหรือไม่และมากน้อยเพียงไร และสามารถสะกัดตัวยาเหล่านี้ให้ควบคุมขนาดและสัมฤทธิผลได้หรือไม่

แต่การนำเอาการรักษาแบบนี้มาเผยแพร่ในสังคมก่อนมีการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ในสังคมที่เต็มไปด้วย emotion ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ที่สามารถจะฮือฮาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นคุ้งเป็นแควนั้น ในแง่นึง สังคมแบบนี้จะมี placebo effects ได้เยอะ เผลอๆกินน้ำเปล่าก็เริ่มหายแล้วก็มี (ไม่ถึงกับหายจริงๆ แต่คิดว่าหาย) ปัญหาก็คือ
๑) อาการดีขึ้นชั่วคราว แต่สาเหตุโรคไม่ได้ถูกรักษา placebo effects มีผลทางอาการเจ็บ ปวด ทรมาน แต่การออกฤทธิ์ตรงๆกับตัวก่อโรคไม่ชัดเจน
๒) แทนที่จะได้รับรักษาสาเหตุแต่เนิ่นๆ ก็จะมาอีกทีต่อเมื่อกลไกของร่างกายรับไม่ไหวแล้วที่จะคุมอาการ เรียกว่า "สายเกินไปที่จะหายขาด"
๓) บางครั้งการรักษาแบบนี้มีการเรียกค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก เป็นการตั้งราคาตามอารมณ์ เหมือนขายของพวกสวยๆงามๆทั้งหลายแหล่ ยิ่งได้ผลในกลุ่มที่มีความเขื่อว่ายิ่งแพงน่าจะยิ่งดี ยิ่งไกลน่าจะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งพิศดารมีพิธีกรรมแปลกๆด้วยน่าจะยิ่งน่าเลื่อมใสเป็นอย่างมาก เป็นสังคมอวิชชา

ดังนั้นสำหรับคนที่มีความเชื่อ มีความศรัทธา ก็ควรพึงตระหนักว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากจะเผยแพร่ให้คนอื่น แม้ว่าจะด้วยความหวังดี ก็ควรจะมีจริยธรรมและสติด้วยว่า เรากำลังใช้ placebo รักษาตัวเองรึเปล่า หรือว่าการรักษานี้มันได้ผลจริงๆกันแน่ ถ้ายังไม่แน่ใจก็เก็บไว้ในใจตัวเองก็ได้ ไม่มีพิษมีภัยต่อใคร แต่ไม่ควรจะไปป่าวประกาศเหมือนรู้ว่ามันได้ผลแน่ๆ ทำแบบนั้นเหมือนจะเป็นเจ้าลัทธิอะไรสักอย่างมากกว่า

แพทย์แผนปัจจุบันก็ควรตระหนักถึงประโยชน์ในการที่เราจะใช้ placebo effects นี้ด้วย หากในการดูแลรักษาผู้ป่วย เราทำให้เกิดสภาวะ I Shall Please ในจิตใจผู้ป่วยด้วย เราจะทำให้ยาของเรา การรักษาของเรา เพิ่มความ "ศักดิ์สิทธิ์" มากยิ่งขึ้นอย่างมาก เพราะบางทีทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่ I shall please ไม่เกิด เผลอๆมันกลายเป็น I shall hurt you ไปเสียยังงั้น

ขี้เกียจวิจารณ์ละครไทยที่เผยแพร่มอมเมาสังคมแล้ว อันนั้นเป็น terminal cancer ยากแก่การเยียวยา สันดอนพอขุดได้ สันดานที่มาจากความไม่รู้ ความโลภ และความหลงนี้ยากนักที่จะทำอะไร ประชาชนต้องหาภูมิคุ้มกันให้ตนเองมากขึ้น ดูจะเป็นวิธีเดียว

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๗ นาที
วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 583210เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2014 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2014 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อโรคา.สุขสวัสดี.ตลอดไปเจ้าค่ะ..

ขอให้มีความสุขสมปรารถนาทุกประการค่ะ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท