อยู่กับครู…


จำได้ว่าตอนเด็กๆพ่อปลุกเราให้ตื่นไปช่วยกันทำนา เด็กๆห่วงนอนก็มักขัดข้องใจ พ่อก็เฝ้าบอกว่า ต้องช่วยกัน ไม่งั้นเราต้องจ้างแรงงานมาทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ลูกๆควรจะช่วยพ่อแม่ ฟังน่ะรู้เรื่องแต่ใจมันอยากนอน หน้ามุ่ยเชียวเรา อิอิ

พ่อเลี้ยงควายถึกสองตัวไอ้ม่วงกะไอ้มั่น ใครอย่าไปแตะเชียว พ่อเลี้ยงมันอ้วนและเป็นควายคู่ชีพ จะไถนา เทียมเกวียนบรรทุกข้าวเปลือกจากนาเข้าบ้านก็ต้องสองตัวนี่ ตัวอื่นไม่เอา และเจ้าสองตัวก็เชื่อฟังพ่อคนเดียว คนอื่นไปใช้คำสั่งต่างๆ มันไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ หากพ่อส่งเสียงเท่านั้น ไอ้ม่วงไม้มั่น ปฏิบัติตามคำสั่งพ่อหมด

ช่วงไถนาปีหนึ่ง พ่อเอาลูกควายมาฝึก เทียมแอกที่บ่าเอาไถขนาดเล็กสุดมาติดตั้งแล้วติดเชือกบังคับจากสายตะพายไปสู่หางไถ พ่อจะเริ่มจับไถตั้งขึ้นพร้อมไถ โดยให้ลูกควายหนุ่มเป็นแรงงาน แต่ต้องฝึกมันเพราะเป็นครั้งแรกที่ลูกควายจะเป็นแรงงานลากไถไปตามผู้จับหางไถ..

มันไม่เข้าใจคำสั่ง "ทูน" กะ "ถาด" พร้อมกับส่งสัญญาณทางสายเชือกคือ ดึงเชือก กับ สั่นเชือก เมื่อเป็นครั้งแรกที่ลูกควายฝึกใหม่ยังไม่เข้าใจคำสั่ง พ่อจึงให้ผมเดินประกบลูกควายที่ข้างๆหัวมัน คอยบังคับมันตามคำสั่งของพ่อที่ต้องการฝึกลูกควายตัวนี้ให้ไถนาไปตามที่ผู้บังคับต้องการ เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้ลูกควายกระทำตามคำสั่ง คำสั่งพร้อมส่งสัญญาณทางสายเชือกให้เดินตรงให้ไปทางซ้าย ให้ไปทางขวา ให้เดินเร็วๆ ให้เดินช้าลง

สมัยนี้ใช้รถไถนากันหมดแล้ว แต่สมัยก่อนยังใช้ควายไถนา การบังคับคันไถ บังคับควายเพื่อไถนาให้ได้คุณภาพนั้นเป็นศาสตร์และศิลป์ พ่อจะเข้มงวดเรื่องนี้มาก คันไถพ่อจึงมีลักษณะพิเศษ ใหญ่ หนัก ใบผานจะใหญ่ และคม หัวหมูที่ติดผานต้องมาจากไม้จริง ควายที่มาเทียมคันไถต้องร่างกายใหญ่โต เข้มแข็ง จะไถนาพ่อจะพิจารณาว่านาแปลงนี้จะลักษณะดินเป็นอย่างไร ดินเหนียวแข็ง หรือดินร่วน ดินนาโดนฝนมามากน้อยแค่ไหน บริเวณนาทั้งหมดมีวัชพืชหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จะไถนาจะเดินทางตะวันออกสู่ตะวันตก หรือทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ดี เหล่านี้ล้วนต้องมีความรู้ มีศาสตร์ และจึงตัดสินใจตั้งต้นเพื่อให้คนอื่นๆที่มาไถนาร่วมกันทำตาม

พ่อจะไถนาไป บอกกล่าวผมไปด้วย การไถนาจะให้ระหว่างแถวของร่องไถห่างหรือถี่ อยู่ที่การบังคับหางไถ บังคับควาย ล้วนมีผลต่อดินที่ไถออกมาเป็นก้อนใหญ่เล็ก หรือแตกละเอียด ซึ่งมีผลต่อการปลูกข้าว พื้นที่นาของทุ่งวิเศษชัยชาญนั้นเป็นที่ราบ ใช้นาหว่านในสมัยก่อนนั้น การทำนาดำมีเพียงเขตชลประทานแต่ก็มีขนาดพื้นที่ชลประทานไม่มากนัก..

พ่อจะจู้จี้เรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพการไถนามาก อยากให้ทำให้ดีที่สุด อยากสอนให้ลูกทุกคนทำให้เป็น และทำให้ดีด้วย ชีวิตของพ่อผ่านเรื่องนี้มาตลอดจึงรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุด เหตุผลเพราะอะไร พ่อจะเฝ้าสอนสั่งให้เด็กอย่างเราเข้าใจ และฝึกฝนปฏิบัติตาม... ให้เข้าถึงความจริง ปฏิบัติให้จริง แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดี

ใช่ครับ พ่อผมเป็นครูครับ....

ระลึกถึงพ่อ ระลึกถึงครู....ทุกท่าน

คำสำคัญ (Tags): #ครู#พ่อ กับ แม่
หมายเลขบันทึก: 584043เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2015 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2015 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พ่อแม่เป็นครูคู่แรกของเรานะคะ วันนี้คิดถึงท่านมาก ๆค่ะ ท่านเป็นครูให้หลาย ๆเรื่องนะคะ

เรื่องไถนาน่าสนใจมากค่ะ ต้องสอนควายเหมือนกัน ชอบอ่านบันทึกนี้ค่ะ

สมัยนี้ชาวนาคงใช้รถไถนะคะ รู้สึกว่ามีโรงเรียนฝึกควายให้ไถนาด้วย อยากขอความรู้ว่าทำไมจึงอยากกลับไปใช้ควายอีกคะ ข้าวจากนาที่ใช้ควายทำนากับใช้รถไถมีคุณภาพเหมือนกันหรือไม่คะ ขอบคุณค่ะ

จำได้ในความเป็นครู...ระลึกถึงพระคุณครู อาจารย์ทุกท่านค่ะ

" กล้วยไม้ออกดอกนาน ฉันใด
การศึกษาเป็นไป ฉันนั้น
แต่ออกดอกคราใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม " ...ศ.มล.ปิ่น มาลากุล

ท่าน GD ครับ ปัจจุบันผมห่างไกลจากเรื่องราวที่เขียนบันทึกนี้ไปแล้ว มือที่เคยจับหางไถ มาจับปากกาแล้้วครับ อิอิ แต่ขออนุญาตตอบตามมุมมองของผมนะครับ

ถาม: ...ทำไมจึงอยากกลับไปใช้ควายไถนา...

ตอบ: มีคนกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าการใช้ความไถนานั้นเป็นองค์ประกอบการพึ่งตนเองมากกว่าการใช้รถไถนาที่ต้องพึ่งพิงผู้รับจ้างและน้ำมันที่เป็นพลังงาน การเลี้ยงควายยังได้มูลควายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใส่นาอีก ซึ่งเป็นจุดเด่นของแนวคิดการกลับไปเลี้ยงควายเอาไว้ไถนา

แต่ คนที่เห็นต่างคือ การเลี้ยงควายไถนาต้องมีแรงงานดูแลเขา ซึ่งองค์ประกอบครอบครัวปัจจุบันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ลูหลานไม่ได้ทำนาแล้วไปใช้แรงงานในโรงงาน หรือไปทำงานในเมือง ไปเรียนหนังสือรับราชการ ไม่ทำนาแล้วจึงไม่มีแรงงานเพียงพอมาดูแลควาย และการใช้ควายไถนาช้า ใช้เวลานานในการไถนากว่าจะเสร็จกินเวลานานเป็นสัปดาห์ หากใครมีที่นามากก็ยิ่งเสียเวลาเยอะ การใช้รถไถนาเพียงวันสองวันก็เสร็จ เร็วดี และไม่ต้องดูแล เพราะจ้างรถไถนาที่มีคนลงทุนรับจ้าง

ถาม: ...ข้าวจากนาที่ใช้ควายทำนากับใช้รถไถมีคุณภาพเหมือนกันหรือไม่.....

ตอบ:.. เป็นคำถามที่ดีครับ จริงๆไม่เคยมีการศึกษาทางวิชาการถึงความแตกต่างของข้าวที่เป็นผลผลิตจาการใช้ควายไถนากับข้าวที่ได้จากใช้รถไถนา ครับ ในทัศนะผมนั้น ใช้มุมมองที่พ่ออธิบายผมก็อธิบายได้ว่า ชาวนาที่ก้าวหน้าจะสังเกตุว่าดินที่ได้จากการไถนาแบบต่างๆกันนั้นมีผลต่อการเกิดของข้าวอย่างไรบ้าง แต่ผมว่าน่าจะมีผลต่อนาหว่าน เพราะ "ขี้ไถ" หรือดินที่ไถแล้วจากควายไถ กับดินที่ได้จากรถไถนั้นแตกต่างกัน เมื่อหว่านเมล็ดข้าวลงไปเมล็ดข้าวจะจมลึกหรือตื้นไปในขี้ดินที่ไถแล้วนั้นต่างกัน การที่เมล็ดข้าวอยู่ตื้นหรือลึกมีผลต่อการงอกและความแข็งแรงของต้นข้าว รายละเอียดขอให้นักวิชาการข้าวเป็นผู้อธิบายดีกว่าผมนะครับ


ปกติการใช้รถไถนั้น ผานไถจะลงดินลึกกว่าไถด้วยควาย ดินที่ได้จากการใช้รถไถจะเป็นก้อนๆมากกว่าหากที่นาตรงนั้นเป็นดินเหนียว

ส่วนนาดำนั้นแตกต่างจากนาหว่าน หลังไถนาแล้วจะเอาน้ำเข้าแปลงนาแล้วไถหรือคราดดินที่แช่น้ำนั้นให้ได้ดินนที่ละเอียดเหมือนโคลน เพื่อให้ปักดำกล้าข้าวได้ง่ายและลึกลงไปในดินได้ง่าย ดังนั้นการใช้รถไถน่าที่จะดีกว่าเพราะรถไถสามารถทำได้ลึกกว่า

ข้อดีของดินร่วนหรือการไถเอาขี้ดินออกมาเยอะไนั้นจะทำให้ดินโปร่ง อากาศเข้าไปได้ดี มีส่วนช่วยให้กล้าข้าวเอาอากาศไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ความจริงข้อนี้ ในปัจจุยันจึงมีคนศึกษาเรื่อง "ถ่านไบโอชา" เพื่อเอาไปผสมดินใส่ต้นพืชหรือแปลงนาข้าว เพราะถ่านไบโอชาจะทำให้ดินโปร่งเหมาะกับระบบรากพืชครับ

ขอเรียนย้ำว่าผมไม่ใช่นักวิชาการข้าว จึงตอบไปตามที่ผมเข้าใจ หากมีนักวิชาการข้าวมาช่วยอธิบายจะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ขอบคุณ Pojana Ed.D ครับ เป็นศิษย์ Ed. ที่ไหนครับ

พ่อเป็นครู

ทำให้ลูกได้เรียนรู้มากเลย

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆครับพี่

เป็นครูที่ดุด้วยซี กว่าจะโตมาได้ ตูดลายหมดเลย อิอิ อิอิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท