พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

​น้องธงชัย แซ่ลี : คนรุ่นที่สาม ซึ่งเกิดในประเทศไทย หลานชายไร้สัญชาติของผู้อพยพ/อดีตคนที่หนีภัยความตายจากประเทศลาว


น้องธงชัย แซ่ลี : คนรุ่นที่สาม ซึ่งเกิดในประเทศไทย หลานชายไร้สัญชาติของผู้อพยพ/อดีตคนที่หนีภัยความตายจากประเทศลาว

เอกสารประกอบการศึกษาวิทยานิพนธ์หัวข้อ "อดีตคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทย : ศึกษาการจัดการโดยรัฐไทย" โดย น.ส.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

เขียนเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ปรับปรุงเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗

---------------------------------------------------------------------------------------

จุดเริ่มต้นของการปรากฏตัวของน้องชัย กับผู้ศึกษา

น้องชัย หรือ นายธงชัย แซ่ลี นักศึกษาไร้สัญชาติปรากฏตัวกับผู้ศึกษา โดยการหารือเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศของคนไร้สัญชาติกับนายยอด ปอง หรือ น้องยอด ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในโครงการวิจัยเด็กด้อยโอกาสข้ามชาติไทย-เมียนมาร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศาสตร์ วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ นายยอด ปอง จึงได้หารือมาที่คณะนักวิจัยเพื่อขอคำแนะนำทางกฎหมายให้กับน้องชัย และรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิจัยจึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง วิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของน้องชัยตาม ม.๒๓ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

หลังจากน้องชัยได้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและเข้ามาเป็นกรณีศึกษาในโครงการวิจัยฯ อย่างเป็นทางการ ผู้ศึกษา ในฐานะของผู้ช่วยวิจัยที่รับผิดชอบงานบูรณาการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับกรณีศึกษาในโครงการวิจัย จึงได้กำหนดวิธีการพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยตามกฎหมายร่วมกับน้องชัย ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่น้องชัยได้กล่าวอ้างไว้ ศึกษากระบวนการยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตาม ม.๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เตรียมเอกสาร และได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการหารือกับนายอำเภอเวียงแก่นผู้รักษาการตามกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมในการยื่นคำร้อง ซึ่งนับว่าเป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อลงมือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับน้องชัยจริงๆ[1]

วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน นักวิจัยในโครงการฯ คุณวีระ อยู่รัมภ์ อนุกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่เป็นภาคีหลักในโครงการวิจัย ตลอดจนผู้ศึกษาฯ ในฐานะผู้ช่วยวิจัย และนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พาน้องชัยไปยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตาม ม.๒๓

นอกจากน้องชัยและครอบครัวก็ให้ความยินยอมในการเป็นกรณีศึกษาต้นแบบของโครงการวิจัยฯ ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตั้งแต่การศึกษาข้อเท็จจริงและปัญหาการใช้สิทธิของสมาชิกในครอบครัวในฐานะอดีตคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย

น้องชัยคือใคร? เขาคืออดีตคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่?

รัฐไทยดูแลน้องชัยในสถานะใด? โดยอาศัยบทบัญญัติกฎหมายใด ?

ข้อเท็จจริงน้องธงชัย แซ่ลี : ปัญหาการเป็น อดีตคนหนีภัยความตายในประเทศไทย ของน้องชัย

นายธงชัย แซ่ลี หรือ น้องชัย เกิด ณ บ้านเลขที่ ๘ หมู่บ้านห้วยคุ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ โดยนางไม้ว่าง แซ่ลี มารดาเป็นผู้แจ้งการเกิดย้อนหลัง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านกลาง และจัดทำสูติบัตรประเภทบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีลักษณะชั่วคราว หลังจากนั้นจึงย้ายชื่อจากทะเบียนบ้านกลางมาอยู่ที่บ้านห้วยคุ เลขที่ ๘๒ หมู่ที่ ๘ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว ท.ร.๑๓ และปัจจุบันถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ชุมชนบนพื้นที่สูง (ชาวเขา ๑๙ เผ่า)) มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ น้องชัย อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เกิดในสถานะคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทยที่มีเพียงสิทธิอาศัยชั่วคราว ในขณะที่นางไม่ว่าง มารดาซึ่งปัจจุบันมีสถานะคนสัญชาติไทย และนายบี บิดารวมถึงน้องๆ อีก ๘ คนถือสัญชาติอเมริกันและปัจจุบันทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา น้องชัยไม่มีโอกาสเดินทางไปอยู่กับครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเชื่อว่าน้องชัยเป็นบุตรของคนสัญชาติอเมริกันและยินดีออกวีซ่าครอบครัวให้น้องก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าเขาไม่มีเอกสารเดินทางของคนต่างด้าวที่ออกโดยรัฐไทยเพื่อใช้เดินทางระหว่างประเทศ บิดามารดาของน้องชัยจึงทำบันทึกข้อตกลงแต่งตั้งคุณตาคุณยาย และน้าจังลีเป็นผู้ปกครองของน้องชัย

น้องชัยเข้าศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ ที่โรงเรียนบ้านห้วยคุ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเม็งรายราชวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

หากพิจารณาเฉพาะตัวน้องชัยจะพบว่าเขาไม่ใช่คนที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่เมื่อกลับไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของบิดามารดาและสมาชิกในครอบครัว เพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของน้องชัย จึงพบว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับ "ความเป็นอดีตคนหนีภัยความตายในประเทศไทย" ด้วยเหตุผลในลักษณะต่อไปนี้

ประการแรก มารดาของน้องชัย คือ นางไมว่าง แซ่ลี เป็นอดีตคนหนีภัยความตายที่เกิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒ ในศูนย์อพยพอำเภอปัว จังหวัดน่าน จากมารดาคือนางป้า แซ่จ๊าง คนชาติพันธุ์ม้งในประเทศลาว (ม้งลาว) ที่หนีภัยความตายจากการสู้รบช่วงสงครามอินโดจีนจากแขวงไชยะบุรีเข้ามาทางจังหวัดน่าน ในประเทศไทย และบิดาคือนายยงยุทธ อนุสาวรีย์ดอย ชาวเขาชาติพันธุ์ม้งดั้งเดิมที่เกิดในจังหวัดน่านประเทศไทย (ม้งไทย) แต่เพิ่งได้รับการพิสูจน์ความเป็นคนดั้งเดิมและรับรองสัญชาติไทยหลังนางไมว่างเกิดแล้ว นางไมว่างมีสูติบัตรผู้อพยพ ส.ศอ. ตอนที่ ๒ บุคคลผู้นี้ไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓ ในปีที่เธอเกิดนั้นภัยการสู้รบและผลกระทบต่อความอยู่รอดของชีวิตที่เกิดกับชาวม้งลาว เพราะเหตุว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าเป็นทหารช่วยกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกันและกองกำลังร่วมทหารอาสาของไทย รบกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ประเทศ สปป.ลาว ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้นางป้าไม่สามารถพาเธอเดินทางกลับประเทศต้นทางได้แน่นอน ในยุคนั้นนางไม่ว่างจึงเป็น คนหนีภัยความตายที่เกิดในประเทศไทย

ประการที่สอง ยายของน้องชัย คือ นางป้า อนุสาวรีย์ดอย (หรือชื่อเดิมนางป้า แซ่จ๊าง) เป็นอดีตคนหนีภัยความตายที่เข้ามาในประเทศไทย เธอเป็นคนชาติพันธุ์ม้ง (ม้งลาว) เกิดในแขวงไชยะบุรี ประเทศ สปป.ลาว เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างประเทศ สปป.ลาว กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์โดยการร่วมรบของชาวม้ง ทำให้ม้งลาวที่แม้จะเป็นชาวเขาธรรมดาก็ไม่สามารถอยู่อาศัยในประเทศ สปป.ลาวได้ ประกอบกับแขวงไชยะบุรีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการสู้รบ ดังนั้นนางป้า บิดาและน้องๆ จึงหนีภัยความตายเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพอำเภอปัว จังหวัดน่าน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ ถือบัตรประจำตัวผู้อพยพ หลังจากนั้นจึงแต่งงานกับนายยงยุทธ ม้งไทยที่อาศัยอยู่ชายแดนไทยระหว่างจังหวัดน่าน-แขวงไชยะบุรี ในช่วงที่เกิดการต่อสู้และข่มขู่จากลัทธิคอมมิวนิสต์จึงหนีเข้าไปอยู่แขวงไชยะบุรี ประเทศสปป. ลาว แต่เมื่อภัยการสู้รบจากสงครามอินโดจีนมาถึง จึงกลับเข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่ศูนย์อพยพบ้านน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในสถานะผู้หลบหนีเข้าชาวลาวภูเขาที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งนายยงยุทธรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยได้ ทำให้นางป้าตัดสินใจไม่ตามบิดาและน้องๆ ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (Resettlement) แต่เลือกที่จะก่อตั้งครอบครัวในประเทศไทยกับนายยงยุทธ เพราะในปี พ.ศ.๒๕๓๓ นโยบายการจัดสรรคนหนีภัยความตายในศูนย์อพยพเพื่อปิดศูนย์ คือ ๑.ส่งกลับประเทศต้นทาง ๒.ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม และ ๓.พิสูจน์สัญชาติไทยให้กับผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวลาวภูเขาที่เคยอาศัยในประเทศไทยและกลับถิ่นฐานเดิม ม้งลาวที่ประสงค์ไม่ไปตั้งถิ่นฐานใหม่จะถูกจัดสรรให้อยู่ที่ศูนย์อพยพเชียงคำ จังหวัดพะเยา เมื่อนางป้าและลูกๆ ๖ คนถูกจัดให้อยู่ในศูนย์อพยพเชียงคำ นายยงยุทธก็ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยในศูนย์อพยพเชียงคำด้วย เพราะสิทธิในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ทั้งที่โดยหลักการเมื่อได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยแล้วจะต้องออกไปอยู่นอกศูนย์ฯ หลังจากนั้น พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อนายยงยุทธตัดสินใจออกมาตั้งรกรากนอกศูนย์อพยพตามคำชักชวนของนายเกรียงศักดิ์ ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยคุซึ่งเริ่มตั้งชุมชนชาวม้งที่นั่น ทำให้นางป้าและลูกๆ ก็ติดตามออกมาอาศัยที่บ้านห้วยคุ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น โดยการอนุญาตของเจ้าหน้าที่ศูนย์อพยพเพราะเหตุว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวคนสัญชาติไทยนับแต่นั้น ต่อมานางป้าและลูกๆ ๖ คนรวมถึงนางไมว่าง ก็ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิอาศัยถาวรประเภทคนเข้าเมือง ไร้สัญชาติ นอกกำหนดจำนวนคนต่างด้าวเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง ตั้งแต่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖ และได้รับการแปลงสัญชาติไทย พ.ศ.๒๕๔๘

ประการที่สาม บิดาของน้องชัย คือ นายบี แซ่โซ้ง เป็นอดีตคนหนีภัยความตายที่เคยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่เลือกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม เป็นคนชาติพันธุ์ม้ง (ม้งลาว) เกิดวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ณ แขวงคำม่วน เมืองคำเกิด ประเทศลาว หนีภัยการสู้รบโดยตามนายพลวัง เปา ผู้นำชาวม้งเข้าประเทศไทยทางชายแดนไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านวินัย อำเภอปากชม จังหวัดเลยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ ศูนย์อพยพนี้จัดไว้สำหรับชาวม้งลาวที่ต้องการไปประเทศที่สาม หลังจากนายบีขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ก็ได้รับการอนุญาตไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ จากนั้น พ.ศ.๒๕๓๖ นายบีกลับเข้ามาเยี่ยมญาติและตามหาบิดา คือ นายเบลี๊ยตู้ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก ประเทศไทยหลังพ้นจากการคุมขังในประเทศ สปป.ลาว ข้อหาปล่อยคนม้งหนีออกนอกประเทศ สปป.ลาว นายบีพาบิดาไปอาศัยกับญาติ ณ บ้านห้วยคุ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จึงได้พบรักและแต่งงานกับนางไมว่างในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ต่อมานายบีได้รับอนุญาตแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๘ ลูกๆ อีก ๘ คนซึ่งเป็นน้องๆ ของน้องชัยจึงได้รับรองสัญชาติอเมริกัน

จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวถึงคนหนีภัยความตายในรุ่นที่ ๑ และรุ่นที่ ๒ และการพัฒนาสถานะสู่การเป็นอดีตคนหนีภัยความตายของคุณยายป้า คุณแม่ไมว่าง คุณพ่อบี เพราะสาเหตุแห่งภัยความตายสิ้นสุดลง จึงวิเคราะห์ว่าน้องชัยเองเป็นคนรุ่นที่ ๓ ที่มีสถานะเป็นบุตรหลานของอดีตคนหนีภัยความตาย เขาไม่เคยเผชิญภัยการสู้รบเช่นบุพการี และในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๗ ที่น้องชัยเกิดแม้ว่าอาจจะยังมีภัยความตายในประเทศต้นทางของบุพการีก็ตาม รัฐไทยก็ไม่เคยผลักดันน้องชัยสู่ภัยดังกล่าว โดย "พฤตินัยรัฐไทยยอมรับหลักการอยู่เป็นครอบครัวระหว่างคุณยายป้า แม่ไม่ว่าง และน้องชัย ทำให้น้องชัยได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันน้องชัยไม่ถูกรับรองในสถานะบุตรหลานของคนหนีภัยความตายนั่นเอง"

รัฐไทยรับฟังน้องชัยในสถานะใด

อย่างไรก็ตามแม้ตามข้อเท็จจริงน้องชัย จะเป็นบุตรและหลานของอดีตคนหนีภัยความตายในประเทศไทย แต่การรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร รัฐไทยกลับรับฟังการปรากฏตัวของน้องชัยในสถานะของชนกลุ่มน้อย กลุ่มชุมชนบนพื้นที่สูง เพราะว่าน้องชัยอาศัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นหนึ่งใน ๒๐ จังหวัดที่อยู่ในนิยามของ "พื้นที่สูง" ทั้งที่โดยหลักการจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ไม่ได้กำหนดบุคคลเป้าหมายโดยอาศัยสาระสำคัญของการเป็นคนหนีภัยความตาย แต่มีเป้าหมายเพื่อการบันทึกคนที่อาศัยใน "พื้นที่สูง" ในสองลักษณะ คือ ๑.เป็นคนดั้งเดิมติดแผ่นดินแต่ตกสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ หรือ ๒.เป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะผิดกฎหมายถึงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ปรากฏว่าน้องชัยไม่ใช่ทั้งสองกรณี ดังนั้นกรณีศึกษาของน้องขัย จึงเป็นตัวอย่างของอดีตคนหนีภัยความตายที่พลัดหลง เพราะแม้ว่ารัฐไทยยอมรับฟังว่าเป็นบุตรหลานของอดีตคนหนีภัยความตายในประเทศไทยโดยสังเกตจากการที่รัฐไทยจัดทำสูติบัตรที่ระบุว่านางไมว่างคือมารดาของน้องชัย แต่ก็เป็นเพียงการรับฟังโดยปริยายเท่านั้นเพราะน้องชัยถูกรับรู้ในสถานะชนกลุ่มน้อย กลุ่มชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดในชีวิตของน้องชัย และการรับฟังในลักษณะนี้แม้จะคุ้มครองสิทธิของน้องชัย แต่ก็เกิดความบกพร่องต่อการคุ้มครองสิทธิประการอื่นในสถานะบุตรหลานของอดีตคนหนีภัยความตายเช่นกัน

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


[1] โปรดดู หน้า ๓๙ ใน "รายงานการศึกษาวิจัยการบูรณาการองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยสู่การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับกรณีศึกษาจากเรื่องจริงที่ใช้เป็น "ต้นแบบ" ในศึกษาวิจัยในปีที่สอง ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – พม่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๖" เขียนรายงานโดย น.ส.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

หมายเลขบันทึก: 585496เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท