งานบุญ


แท้ที่จริงแล้ว "บุญ"ในอีกแง่มุมหนึ่งคือการเอื้อเฟื้อ และการสร้างประโยชน์ให้คนอื่นหรือทั้งการที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดความปิติ เป็นความสงบและ ความสุขได้ง่ายๆ ในขณะนั้นเอง

โลกหมุนผ่านไปเร็วมาก

แม่ต้อยรู้ตัวอีกครั้งก็ว่างเว้นจากการเขียนเรื่องราวลงในบล้อกนี้เกือบสามปีแล้ว

จากสายตาที่ต้องไป รักษา ต้อกระจก จนตอนนี้ อาการค่อยดีขึ้นมากแล้ว

วันนี้จึงเอาเรื่องราวที่เคยเขียนไว้มาลงอีกครั้งหนึ่งคะ

หวังว่าคงจะยังจำแม่ต้อยกันได้นะคะ


มองลงมาจากเครื่องบินที่ลดระดับลงอย่างช้าๆ แม่ต้อยชะโงกหน้าจากหน้าต่าง บริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ บ้านเกิดของแม่ต้อย เจิ่งนองขยายวงกว้างไปเกือบจะทั้งเมือง บ้านเรือน ไร่นา วัดวาอาราม ถนนหนทาง จมอยู่ใต้น้ำสีขุ่นคลัก ชาวบ้านคงเดือดร้อนน่าดู น้ำท่วมคราวนี้หหนักหนาสาหัสจริงๆ

แม่ต้อยมาเชียงใหม่คราวนี้ เพื่อมาร่วมงานทอดผ้าป่าของโรงพยาบาลลำพูน ที่มีแผนการขยายโรงพยาบาลชุมชนในเขตเมือง สร้างศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งแม่ต้อยได้บอกบุญมายังน้องๆทุกคนด้วยแล้ว

อันที่จริงในช่วงเวลานี้ เป็นความลำบากในการแบ่งปันความเมตตา ความกรุณาเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่น เพราะเหตุว่าบ้านเมืองเรากำลังประสบภัยพิบัติอย่างหนักนั่นเอง แต่ก็ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้กลับมิได้เป็นข้ออุปสรรคในการทำความดี แม่ต้อยจึงได้ปัจจัยจำนวนหนึ่งเพื่อไปสมทบกับกัลยาณมิตรท่านอื่นๆ

ทีมงานรพ.ลำพูนมารับ และพาแม่ต้อยไปกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้าอร่อย พร้อมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และช่างบังเอิญเสียจริงๆที่ในวันนั้นคุณหมอสมบูรณ์ศักดิ์ และภรรยา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูนได้แวะมาเยี่ยมเยือนน้องๆ เราจึงได้พบกันอย่างไม่คาดฝัน

หลังจากนั้น แม่ต้อยจึงได้เข้าไปที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อารามหลวงแห่งนี้นับว่าเป็นในส่วนหนึ่งของชีวิตแม่ต้อยที่ได้ปลูกฝัง ความดีงามการปฏิบัติตน นับตั้งแต่เด็กๆ แม่ต้อยยังจำได้ว่าเคยมาอธิษฐานให้สอบได้ที่ดีดีเสียด้วย ( และแม่ต้อยก็ ได้ที่หนึ่งทุกปีนะ จะบอกให้ )

ใครที่ได้ดูทีวีเรื่อง"รอยไหม" คงจำฉากที่เขาแข่งทอผ้ากัน ก็เป็นที่นี่แหละคะ สวยงามมากจริงๆ

ที่ระเบียงวัด แม่ต้อยเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่แม่ต้อยเคยรู้จัก นั่งล้อมวงกันเพื่อแต่งดาเครื่องไทยทาน ที่จะถวายวัดในวันพรุ่งนี้ และรวมทั้งเพื่อนฝูงของแม่ต้อยตั้งแต่สมัยเป็นสาวๆ ทุกคนนำ ก้านไม่ไผ่มาเหลาให้สวยงาม พร้อมทั้งพันด้วยกระดาษอย่างประณีต หากใครที่ทำไม่เรียบร้อย ดังเช่นที่แม่ต้อยทำ ก็จะไม่ผ่านการพิจารณาให้นำเอาไปปักบนต้นผ้าป่าได้

อีกกลุ่มหนึ่งก็จะร่วมกันเปิดซองเงินที่ทุกๆคนร่วมกันทำบุญ เพื่อที่จะนำไปแลกเป็นธนบัตรใบใหม่ๆ ในการถวายแก่พระสงฆ์ในวันพรุ่งนี้

สำหรับคนไทย การทำกิจกรรมทุกอย่างสำหรับถวายทาน จะต้องประกอบด้วยจิตใจที่สงบ มีความละเอียด และสวยงาม เพื่อให้ได้มีโอกาสถวายสิ่งที่ดีที่สุด สวยงามที่สุดแก่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าผู้ปฏิบัติ เช่นนี้จะได้พานพบแต่สิ่งที่ดีดี ในภายภาคหน้า

เพื่อนคนหนึ่งของแม่ต้อยเธอจะพิถีพิถันในการจัดดาผ้าป่าอย่างละเอียด การจัดวางไม้ไผ่ที่ใสธนบัตรต้องมีรูปที่สวยงาม เป็นระเบียบ ไม่เก้งก้าง หรือเป็นรูโหว่ หากใครฝีมือไม่ถึง ก็จะไม่มีโอกาสได้เสียบธนบัตรในต้นผ้าป่าของเธอได้

ความตั้งอก ความตั้งใจ เช่นนี้ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญที่พระธาตุแห่งนี้เกิดความเลื่อมใส และขอทำบุญร่วมด้วยอีกมากมาย

แท้ที่จริงแล้ว "บุญ"ในอีกแง่มุมหนึ่งคือการเอื้อเฟื้อ และการสร้างประโยชน์ให้คนอื่นหรือทั้งการที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดความปิติ เป็นความสงบและ ความสุขได้ง่ายๆ ในขณะนั้นเอง

เย็นนั้นแม่ต้อยได้ทานอาหารพื้นเมืองแบบอร่อยสุดๆ เช่น แกงผักเชียงดา แกงคูณใส่ปลากด และน้ำพริกหนุ่ม จิ้นส้ม แม่ต้อย และหมอกุ้ง หมอวิรัช นั่งคุยกันอย่างเพลิดเพลิน จนเวลาล่วงเลยไปไม่รู้ตัว

วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ อันเป็นวันที่เราจะถวายผ้าป่า แม่ต้อยจึงเข้าไปเตรียมการที่วัดอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มีเพื่อนๆมาร่วมด้วยอีกมากมายรวมทั้งเพื่อนๆ พี่ที่ทำงานในรพ.ลำพูนทั้งหมด มีหลายๆ คนที่เคยทำงานด้วยกันมาในสมัยก่อน แวะเข้ามาร่วมกิจกรรม ประดิษฐ์ข้าวตอกดอกไม้มาร่วมแต่งดาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในวงสนทนาจึงดังกระหึ่มด้วยเรื่องราวแต่หนหลัง

พิธีทอดผ้าป่าทำไปด้วยความเรียบง่าย เพราะว่าในช่วงนี้มีการประกาศให้เตรียมการเฝ้าระวังน้ำที่ไหลท่วมบ่ามาอย่างเต็มที่

ท่านเจ้าอาวาสได้ให้พร แก่ทุกๆท่านที่ร่วมทำบุญในครั้งนี้ ว่า การสร้างโรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้คนที่เจ็บป่วยนี้นับว่าเป็นมหากุศล จะทำให้เราเป็นผู้มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วย

แม่ต้อยจึงขอนำพรที่ดีงามนี้มาให้สำหรับน้องๆทุกๆคนด้วยนะคะ และแม่ต้อยยังได้ โทรศัพท์มาบอก น้องปรมินทร์ว่าได้ส่งกุศลผลบุญให้หลานแล้วด้วยในวันนี้

เมื่อเสร็จงาน เราต้องช่วยกันเก็บกวาด ทุกสิ่งทุกอย่างในวัดให้เรียบร้อยดังเดิมด้วย ไม่ให้เป็นภาระของวัดหรือผู้อื่น

แม่ต้อย ล่ำลาเพื่อนๆที่มาช่วยทั้งแรงกายและกำลังทรัพย์ก่อนเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่ ด้วยความปิติและอบอุ่นใจ

ก่อนขึ้นเครื่อง พอมีเวลาสักนิด แม่ต้อยจึงมาแวะที่วัดสวนดอก วัดที่เก่าแก่ของเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง

พบว่าเขากำลังเตรียมจัดสิ่งของเพื่อทำพิธี " สืบชะตาหลวง" ในวันที่๑ ตุลาคม

ซึ่งเป็นพิธีที่จัดทำในงานอันเป็นสิริมงคล เพื่อให้มีความก้าวหน้า หรืองานมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น เครื่องพิธี ประกอบด้วย ไม้ค้ำ หรือไม้ก้ำ ( ภาษาเหนือ) จำนวนสามเสา หมายความถึงความหนักแน่น ความยั่งยืน ที่จะเป็นหลักให้กับชีวิต มีเครื่องตบแต่งมากมายที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม อันประกอบด้วย ดอกไม้ ผลไม้ มงคล กล้วย อ้อย มะพร้าว เป็นต้น บนเสาค้ำนั้นจะมีการตบแต่งด้วย สะพาน เงิน ทองที่จะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคในชีวิตไปได้ และผู้ที่จะสืบชะตาต้องเข้าไปนั่งในเสาค้ำนี้ตลอดพิธี โดยมีด้ายมงคล ครอบที่ ศรีษะโยงไปยังพระที่เจริญพระพุทธมนต์

มีกระทงใส่ข้าวตอกดอกไม้ และอาหาร เรียกว่า " สะตวง" สำหรับท้าวสี่ทิศ ตามความเชื่อของล้านนา

แม่ต้อยเข้าไปนั่งคุยกับพ่ออุ้ยที่มาจัดเครื่องพิธีกรรมต่างๆนี้ โดยไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นญาติผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านติดกันที่อำเภอสารภีในอดีตสมัยแม่ต้อยมีอายุยังไม่ถึงสิบขวบ โลกช่างกลมแท้ๆ ต่างคน ต่างก็ดีใจแบบสุดๆ ที่ได้เจอกันในวันนี้และยังได้ทราบว่า ท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้านอีกด้วย

แม่ต้อยขอเล่าเรื่องการไปทำบุญให้น้องๆฟังเท่านี้นะคะ ผลบุญที่ได้ร่วมทำบุญคงส่งให้ทุกๆคนมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ต่อไปอย่างแน่นอน

ขออนุโมทนานะคะ

สวัสดีคะ

คำสำคัญ (Tags): #งานบุญ
หมายเลขบันทึก: 587904เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2015 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท