มาตรวจสุขภาพด้านการเงินกันเถอะ 1 (2-160)


....คิดแล้ว...ให้ตระหนกตกใจจริงๆด้วยสิ แต่เมื่อ "ตระหนก" แล้วต้อง "ตระหนัก" อย่างมีสติ การมีสุขภาพการเงินที่ดี ทำให้เราใช้ชีวิตจนถึงวันสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีและไม่เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง...นี่นา


ผู้เขียนคิดอยู่นานว่าควรโพสต์เรื่อง " สุขภาพการเงิน" หรือไม่ เกรงว่าโพสต์ไปแล้วจะ ผิดที่ผิดทาง แต่หลังจากทบทวนอยู่หลายรอบก็ตัดสินใจว่า เรื่อง สุขภาพการเงิน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการที่จะอยู่อย่างมี "สุขภาพดี" ในสังคมปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ในกลุ่มเพื่อนฝูง หากเอ่ยปากพูดเรื่อง "เงินๆทองๆ" จะถูกมองว่า น่าเกลียด ไม่รู้กาลเทศะ ดูเหมือนคนงก หิวเงิน ดูไปแล้วไม่น่าคบเลย แต่ยุคนี้เมื่อใช้คำว่า " การวางแผนทางการเงิน" กลับดูดี มีสไตล์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ☺

ผู้เขียนเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญจริงจังกับ "การวางแผนทางการเงิน" เมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะมีโอกาสจับพลัดจับผลูไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมหนึ่ง เกี่ยวกับ "การวางแผนทางการเงิน" ให้กับผู้กำลังจะเกษียณอายุของที่ทำงาน ซึ่งการได้ไปร่วมประชุมนี้เปลี่ยนมุมมองไปอย่างสิ้นเชิง รู้สึกขอบคุณที่ได้รับโอกาส "ตรวจสุขภาพทางการเงิน" ของตัวเองอย่างละเอียด แต่ก็แอบคอมเม้นท์ไว้ในใจว่า

"น่าจะได้ฟังเรื่องอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานแล้ว ทำไมต้องจัดให้คนที่กำลังจะเกษียณอายุ มันจะทันหรือเล่านี่?"

แต่เดิมนั้นผู้เขียนจะมีวิธีเก็บเงินด้วยการแยกเป็นบัญชี 4 ประเภท ได้แก่

1.บัญชีค่าใช้จ่ายประจำ สำหรับการกินอยู่ เดินทาง สังคม และเอาเงินใส่ซองให้แม่ทุกเดือน

2.บัญชีความสุข สำหรับการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ และการซื้อหนังสือประจำเดือน เพราะเป็นคนรักการเดินทางและชอบอ่านหนังสือ

3.บัญชีทำบุญ สำหรับการทำบุญตามเทศกาล ตามศรัทธา และตามที่มีการร้องขอ

4.บัญชีเงินสะสม เป็นเงินส่วนที่เหลือจากบัญชีอื่นๆ ในแต่ละเดือน ซึ่งบางเดือนก็ไม่มีเงินเหลือใส่ในบัญชีนี้เลย

แบงค์เก่า 5 บาท รุ่นนี้หายากแล้วนะคะ...☺


การแยกบัญชีเงินไว้เช่นนี้ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านการเงิน อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าไม่เคยมีปัญหาเงินขาดมือ และมีเงินเก็บสะสมในบัญชีจำนวนหนึ่ง

แต่... การไปประชุมครั้งนั้น ทำให้ตระหนักถึง "สุขภาพการเงิน" ของตัวเอง (จะช้าไปไหมนี่ รีบนับนิ้ว เรามีเวลาก่อนเกษียณอีกกี่ปี) เพราะหากคิดตามที่วิทยากรตั้งคำถามคือ "หลังเกษียณอายุการทำงานแล้ว (60ปี) จะใช้ชีวิตต่ออีกกี่ปี 10, 20, 30, 40 ปี และเคยคิดคำนวณไว้หรือยังว่าต้องใช้เงินเท่าไรหลังเกษียณอายุ ซึ่งหมายถึงจะไม่มีรายได้ประจำต่อไปแล้ว..."

จากการตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองอย่างเร็วๆ ก็อดจะตกใจไม่ได้ จากที่เคยคิดอย่างชิลๆ สบายใจว่า เรามีเงินเก็บ ไม่มีหนี้ มีบ้านอยู่ มีพี่ๆ คอยเอื้อเฟื้อเลี้ยงดู เรียกว่า บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ มาตระหนกว่าหากไม่มีความช่วยเหลือเหล่านี้ในวันหนึ่ง จะอยู่ได้ด้วยตัวเองกับเงินเก็บสะสมที่มีอยู่ไหวไหม? ความจริงที่น่าตกใจคือ... ขนาดคิดอย่างสมถะที่สุดคือใช้จ่าย เดือนละ 20,000 บาท และถ้ามีชีวิตอยู่ต่อไปถึงอายุ 80 ปี (หลังเกษียณ 20 ปี) หมายถึงต้องใช้เงินปีละ 240,000 บาท จำนวน 20 ปีคือ 4,800,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ เพิ่มมาให้เราต้องระวังรักษาตัว ค่าเงินเฟ้อ ฯลฯ

คิดแล้ว...ให้ตระหนกตกใจจริงๆด้วยสิ แต่เมื่อ "ตระหนก" แล้วต้อง "ตระหนัก" อย่างมีสติ การมีสุขภาพการเงินที่ดี ทำให้เราใช้ชีวิตจนถึงวันสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีและไม่เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง...นี่นา

อย่างแรกที่ผู้เขียนทำทันทีที่ได้ฟังท่านวิทยากร คือ เปลี่ยนการเก็บเงิน โดยเก็บเงินเข้า " บัญชีเงินสะสม" ก่อนแบ่งใส่บัญชีอื่น

นั่นคือ "เก็บก่อนใช้"

บันทึกหน้าผู้เขียนจะค่อยๆชวนคุยและแบ่งปันวิธีการที่ตัวเองปฏิวัติเพื่อ "สุขภาพการเงินที่ดี" (ในอนาคต) นะคะ สำหรับท่านที่มีความรู้และมีสุขภาพด้านการเงินดีอยู่แล้ว จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ยิ่งเป็นพระคุณค่ะ...☺

หมายเลขบันทึก: 588497เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2015 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

เงินเพื่อสุขภาพในอนาคต (ยามชรา) อาหารเพื่อสุขภาพคิดกันอยู่ตลอดเตือนกันบ่อยๆ ทำกันได้บ้างไม่ได้บ้าง เมื่อเกิดโรคแล้วจึงรู้สึก ดีจังค่ะอ่านแล้วดูไม่คุ้น แต่สำคัญมากทีเดียว ยิ่งเมือยามแก่ชราไม่มีลูกหลานหรือญาติพี่น้องที่จะพึ่งพาได้ ซึ่งคนรุ่นหลังก็หวังจะพึ่งน้อยลง ต้องพึ่งตัวเองตลอดไปกันแล้ว เงินเพื่อสุขภาพ คงต้องเริ่มคิดเตรียมกันไว้ ซึ่งเห็นด้วยนะคะ ควรจะมีการเตือนกันตั้งแต่เริ่มทำงาน ไม่ควรจะเตือนหลังเกษียณ 60 ปี ซึ่งบางคนมีโรคเกิดขึ้นแล้วด้วย ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นกว่าตอนทำงาน แต่บางคนทราบอยู่แล้วแต่ก็ไม่พร้อมในหลายๆด้านที่จะมีเงินเก็บ น่าเป็นห่วงนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


เรื่องดีมากค่ะน้องปิง....ติดตามแบบว่าทำยังไงก็จะไม่มีบัญชี 4 ประเภทได้ตราบใดที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง..อิอิ ประมาณว่ารายจ่ายเกินรายรับนะคะน้องปิง...แต่ก็ดีที่มี กบข.

สวัสดีค่ะพี่ กานดาน้ำมันมะพร้าว

ขอบพระคุณพี่มากค่ะที่สนใจและยังให้ข้อคิดดีๆ ด้วย

สมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายมักสอนให้ เก็บออมเงิน แต่ปัจจุบันเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็เพียงร้อยละ 0.50-0.75 ยังไม่ถึง 1 บาท ถ้าเก็บเงินไว้เฉยๆ ในธนาคารแต่ละปีเงินของเราจะลดค่าไปแล้ว 2.25-2.50 บาทเมื่อหักจากเงินเฟ้อที่ประมาณร้อยละ 3

โลกและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนตามไม่ทัน จริงอยู่ที่เราไม่ได้ฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายเงินไปในทางอบายมุข แต่เราคงต้องตื่นตัวและดู Trend ของยุคสมัย ไม่เช่นนั้น ดูท่าว่าจะอยู่ได้ยากค่ะ :)

สวัสดีค่ะพี่ตูม krutoom

น้องเองแต่ก่อนก็ไม่ชอบ กบข. คิดว่าจะมาหักเงิน มาบังคับเอาเงินเราไปทำไมนี่... แต่ปัจจุบัน ผลตอบแทนของ กบข. อยู่ในระดับร้อยละ 4.5-5.6 ต่อปี ซึ่งหากได้ยากมากในการนำเงินไปฝากแล้วจะได้ผลตอบแทนระดับนี้ ยกเว้นเมือปี 2551 เท่านั้นที่ กบข. ขาดทุน จนมีโครงการ Undo ในปีนี้ ซึ่งน้องเสียดายคนที่จะ Undo หากอยู่กับ กบข. จนเกษียณเกินกว่า 15 ปี ไม่ควรออก แต่ถ้ารุ่นแรกๆ ที่เข้า กบข. ก็จะมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ควรออกค่ะ

บันทึกหน้าน้องจะเล่าว่า วิทยากรนักวางแผนทางการเงินสอนอะไรบ้าง นอกจาก ออมก่อนใช้แล้ว ยังไม่พอ จะต้อง นำเงินไป "ลงทุน" ด้วยค่ะ :)

ไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงมีความตระหนก (ไม้หัน ตั้งใจหายค่ะ ^^) เรื่องนี้ตั้งแต่แรกทำงานค่ะ

มาปูเสื่อติดตามตอนต่อไปเลยทีเดียว

ไม่มี กบข. แต่จ่ายเข้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ กบข. คือ 3-5%หากเป็นหุ้นผสมตราสารหนี้ซึ่งคนส่วนมากเลือกค่ะ

มีความเห็นแลกเปลี่ยนเล็กน้อย เรื่อง เงินเฟ้อค่ะว่า หากสังคมไทยเป็นแบบญี่ปุ่น อาจเกิดปัญหาเงินฝืดแทน (เหมือนครั้งหนึ่งเรากลัวประชากรล้นโลก ลูกมากจะยากนาน ตอนนี้กลายเป็นเด็กมีน้อยเกินไป) แต่ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพจะเป็นตัวเอก จากที่เห็นมา ผู้ป่วยที่นอน รพ. วันหนึ่งๆ ค่าตรวจ ค่าใช้ยาคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนก็มี (หลักหลายพัน ถึงหมื่น) และเป็นค่าใช้จ่ายที่ปฎิเสธ ต่อรองได้ยาก
..เราอาจงดซื้อเสื้อผ้า งดกินอาหารนอกบ้านได้ แต่อดรักษาความเจ็บป่วยทรมานไม่ได้

การลงทุนในสุขภาพกาย ใจ สมรรถนะ และประกันสุขภาพ อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สำหรับทศวรรษหน้าค่ะ

มาบอกว่ามีแบ็ง 5 บาท แต่มีแค่ 2 ใบ

ชอบใจการแบ่งเงินไปทำบุญด้วยครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ ป.

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่นำมาแบ่งปันนะคะ เพิ่งจะลงทุนในกองทุนรวมเกี่ยวกับด้านสุขภาพ "Health Care" ของธนาคารทหารไทยค่ะ และเห็นด้วยอย่างยิ่่งว่า สิ่งที่มาพร้อมกับสังคมสูงอายุคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

คุณหมอ ป. มีความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินดีอยู่แล้ว ส่วนตัวเองนี่เพิ่งจะมา ตระหนกตกใจ เมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ :)

สวัสดีค่ะอ. ขจิต ฝอยทอง

ตอนนี้แบ่งบัญชีใหม่เป็น 5 บัญชีแล้วค่ะ :)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท