การสังเกต วิเคราะห์ และถ่ายทอดเรื่องราว ๓ ระดับ : เรียนรู้วิธีเรียนรู้ด้วยกระบวนการท้องถิ่นศึกษา


ผมจะพานักศึกษา ปี ๑ สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปฝึกฝนวิธีเรียนรู้สถานการณ์และปรากฏการณ์ทางสังคมจากภาคสนามและนอกห้องบรรยาย เพื่อได้วิธีเรียนรู้ อ่านสังคม และมีประสบการณ์เชิงสังคม ด้วยกระบวนการทางความรู้และการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ได้พัฒนาวิธีคิดวิธีมองต่อสังคมด้วยประสบการณ์ที่ประจักษ์กับของจริงด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้การศึกษาเรียนรู้จากความมีประสบการณ์ผ่านความรู้ที่ถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ มีความสมบูรณ์มากขึ้น

รวมทั้งให้เป็นโอกาสได้ฝึกฝนเทคนิคและวิธีการทำงานข้อมูลในสถานการณ์จริง ที่จะทำให้มีทักษะในการคิดและสื่อสาร เช่น การถ่ายภาพเก็บข้อมูล การวาดภาพเพื่อทำงานข้อมูล การเดินสำรวจและการเป็นนักสังเกตเพื่อศึกษาและทำงานข้อมูล การตั้งคำถาม การสนทนาและสัมภาษณ์ การอภิปราย การศึกษาประวัติชุมชน การศึกษาและสร้างบทสนทนาเรื่องเล่า รวมไปจนถึงการวิเคราะห์ การเขียนถ่ายทอด การทำสื่อ การสื่อสารและนำเสนอ การรายงานและสื่อสะท้อนสถานการณ์สังคม การสะท้อนข้อมูลแก่ชุมชน

ที่สำคัญคือ การออกแบบกระบวนการ ให้นักศึกษาได้อยู่่ในบรรยากาศของการใช้ชีวิตร่วมกัน ได้ทำงานบนความแตกต่างหลากหลายเป็นหมู่คณะ ได้ระดมความคิดและพัฒนาตัวตนร่วมกับผู้อื่น ได้ทำงานเป็นทีม ได้กินอยู่หลับนอน เห็นชีวิตจิตใจผู้อื่น ได้แก้ปัญหา ได้เรียนรู้ความเสียสละ ได้ดูแลช่วยเหลือกัน ได้เผชิญความยากลำบาก และมีประสบการณ์ชีวิตที่มีความหมายในชุดเดียวกัน

การเรียนรู้และฝึกทักษะพื้นฐาน

การปูพื้นและเตรียมทักษะความพร้อม เพื่อลงไปศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเองกับของจริงภาคสนาม ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตามจุดหมายของการเรียนการสอนในรายวิชานี้ ผมคำนึงถึงการได้พัฒนานักศึกษาในทุกด้านให้ได้มากที่สุด ก่อนเข้าสู่กระบวนการท้องถิ่นศึกษาภาคสนาม จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนทักษะ ทั้งกระบวนการคิด หลักปฏิบัติ สิ่งที่ควรและไม่ควรทำเมื่อไปเรียนรู้กับชุมชน เทคนิคเครื่องมือ วิธีการและระบวนการต่างๆ รวมทั้งการฝึกฝนทักษะทีม และการจัดระบบต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาดำเนินการและทำให้กระบวนการทั้งหมดเป็นการศึกษาเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมไปด้วย

ให้หลักเพื่อการสังเกต วิเคราะห์ และถ่ายทอดเรื่องราว ๓ ระดับ

การสังเกต การวิเคราะห์ และวิธีถ่ายทอดเรื่องราว ให้เชื่อมโยงครอบคลุม ๓ ระดับ ที่จะทำให้กระบวนการทางความรู้และกระบวนการทางความคิด ไม่หลุดแยกส่วนไปจากความเป็นจริงในวิถีชีวิต ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้กระบวนการทางการปฏิบัติและสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิต รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้บนวิถีปฏิบัติ ไม่หดแคบและหลุดกรอบจากการเข้าใจและเชื่อมโยงกับโลกกว้าง

จัดสถานการณ์เพื่อฝึกฝนตนเองนักศึกษา

นำสิ่งของมาจัดวางอยู่บนโต้ะหน้าห้องบรรยาย แล้วให้นักศึกษาได้สร้างความมีประสบการณ์และฝึกฝนการสังเกต การวิเคราะห์ และวิธีถ่ายทอดเรื่องราว ให้เชื่อมโยงครอบคลุม ๓ ระดับ บรรยากาศในห้องบรรยายเปลี่ยนไปสู่สภาพที่ไม่เป็นทางการและการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง นักศึกษาสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือ ถ่ายภาพ บันทึกเสียง และเดินสำรวจรอบๆด้วยตนเอง ตามแนวคิดและวิธีการที่ต้องการ

เขียน นำเสนอในห้อง และส่งเป็นผลงานส่วนบุคคล

จากนั้น นักศึกษาทุกคนก็บันทึกข้อมูล วิเคราะห์ และเขียนรายงานถ่ายทอด ๓ ะดับ กระบวนการดังกล่าวนี้ ใช้เวลาหลังจากให้แนวคิดและวางกรอบการเรียนรู้ทักษะปฏิบัติ ๑๕-๒๐ นาที จากนั้น ก็ให้นักศึกษาแต่ละคนอ่านผลงานของตนแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้อง ได้ความสนุกสนานและสามารถมีส่วนร่วมทางการปฏิบัติได้อย่างท่วถึงทุกคน

การสรุปและสะท้อนการเรียนรู้ที่ได้รับ

จากนั้น ก็สรุปและเสริมแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องให้เป็นการปิดท้าย เปิดประเด็นให้นักศึกษาได้อภิปราย แสดงทรรศนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เป็นกระบวนการในส่วนปิดท้าย ที่มีนัยสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ใน ๔ ประการ อันได้แก่ (๑) เพื่อเป็นขั้นตอนและช่วงเวลาให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการแสดงความคิดเห็นเชิงสื่อสะท้อนความหมาย ต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้และสิ่งที่ได้รับ (๒) เพื่อเป็นกระบวนการสำรวจและประเมินอย่างมีความหมาย ให้อาจารย์ผู้สอนสามารถสรุปผลของการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการที่เล็กน้อยแต่สื่อสะท้อนความหมายได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ (๓) เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถเห็นประเด็นสำหรับเสริมความรู้และสร้างสาระการสรุป ให้มีความจำเพาะกับชุดประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะต่างๆของนักศึกษา ที่ปรากฏให้เห็นได้ (๔) เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้และจัดโอกาสให้นักศึกษาที่มีทักษะการสร้างความรู้ขึ้นในตนเอง (Constructive Learning)ได้สร้างมโนทัศน์รวบยอดและสรุปการเรียนรู้เป็นระบบวิธีคิดเชิงหลักการ เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 588813เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2015 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2015 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาเยี่ยมอาจารย์ด้วยความระลึกถึงครับ

..

อาจารย์สบายดีนะครับ


ได้เรียนรู้กับอาจารย์ไปด้วย

โชคดีของนักศึกษาที่ได้เรียนรู้กับอาจารย์

ขอบคุณมากๆครับ

สบายดีครับคุณแสงแห่งความดี ขอบคุณมาก ทางใต้น่าจะร้อนแล้งน้อยกว่า กทม.และที่อื่นๆนะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สอนเรื่องการทำสื่อกราฟิคและการทำงานความคิดสร้างสรรค์เพื่อผลิตและเผยแพร่สื่อใหม่ ให้นักศึกษาเรียน ยังได้ใช้สื่อที่นำเอาภาพถ่ายทิวทัศน์ฝีมือของคุณแสงแห่งความดี กับภาพถ่ายครอบครัว มาทำเป็นงานกราฟิค ยกตัวอย่างให้นักศึกษาดูประกอบการบรรยาย แล้วก็นึกถึงคุณแสงแห่งความดีอยู่พอดีเหมือนกัน

ขอบคุณครับอาจารย์ขจิตครับ สักวันขึ้นไปทางเหนือนี่ นอกจากไปนอนและนั่งคุยกันแล้ว หากมีโอกาสก็อยากให้นักศึกษาผมได้เรียน เล่น สนุก กับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และได้เรียนรู้อย่างบูรณาการไปด้วย จากอาจารย์ มากเลยนะครับ...

อ่านแล้วทำให้อยากเห็นตัวอย่างผลงานที่นักศึกษารายงานออกมาบ้างจังค่ะ อาจารย์ น่าจะสนุกนะคะ

ตรงที่อาจารย์พูดถึงนี้แหละครับ ดร.โอ๋-อโณ ครับ ที่ทำให้ผมต้องออกแบบกระบวนการและเน้นให้นักศึกษา ต้องได้มาเรียนและฝึกฝนเรื่องนี้ แล้วก็ต้อง รวบรวมมาบันทึกและรายงานเผยแพร่ไว้ก่อน ทั้งเลยนึกได้ว่าจะต้องเขียนบันทึกและขายความไว้ด้วย ขอบพระคุณครับ

ก่อนที่จะทำกระบวนการนี้ ผมสังเกตว่า นักศึกษานอกจากไม่ค่อยมีทักษะเชิงทฤษฎีแล้ว ทักษะและวิธีการใช้สื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการศึกษาเรียนรู้ก็ไม่ค่อยดี บรรยาย ก็บรรยายไปเถิด เขาและเธอก็มักจะโผล่จากโลกดิจิทัลมาสัมผัสกับเราเป็นระยะๆแบบผิวเผิน โดยบางคนก็ช่วยกันบันทึกเสียงไว้ และหลายๆคน ก็จะเงยหน้าดูสื่อการบรรยายเป็นระยะๆ หากมีสื่อและการพูดเรื่องใหม่ ก็ยกมือถือถ่ายรูปไว้ เสร็จแล้วก็นั่งรูดและแช๊ตสื่อมือถือต่ออย่างหมกมุ่น

พอถามหรือตั้งประเด็นให้อภิปราย เพื่อฝึกฝนวิธีสร้างความรู้และความรอบด้านด้วย ก็พูดและอภิปรายไม่เป็น อีกทั้งมักตั้งคำถามเหมือนให้เราสร้างคำตอบเพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้วิธีแบบเลือกกาถูกผิด เริ่มพูดและแสดงแนวคิดจากความเข้าใจเป็นเบื้องต้นของตนเองก่อนแทบไม่เป็น จะดุหรือเคี่ยวเข็ญมากไปก็กระไรอยู่ เพราะก็เห็นว่าเป็นอย่างนี้กันไปเสียมากแล้วในสังคม แม้แต่ในที่ประชุมของนักวิชาการและคนทำงาน ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนเดิมในสังคมก็เป็นอย่างนี้ แต่จะให้หยุดกับสภาพอย่างนี้ก็ไม่ไหวครับ หากทำอย่างนี้ก็ไม่รู้จะมาสอนหนังสือทำไม เลยก็พาเขาเดินและยืนขึ้นตรงความเป็นจริงที่เป็นนี่แหละครับ

ผมให้ทุกคนเขียนบรรยายตามสิ่งที่ตนเองเห็น โดยให้หลักคิดและวิธีทำก่อน พอเสร็จแล้ว ก็ให้อ่านดังๆให้เพื่อนๆทั้งห้องได้ฟังอย่างที่ตนเองเห็นและเขียน .. หลักคิดก็คือ ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใน และให้มีตัวช่วยสำหรับการพรรณา อธิบายแจกแจง และถ่ายทอดความคิดอ่านต่างๆออกมาให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้มากกว่านั่งดาวโหลดเงียบๆ หรือพูดได้เพียงคำโดดๆ จำพวก ใช่ -ไม่ใช่ ถูก-ผิด เหมือนเครื่องจักรที่พ่วงอยู่กับมือถือและสื่อ IT เฉยๆ

ผลที่ออกมาก็ใช้ได้ครับ ดีขึ้นมานิดหนึ่งในแง่ที่สามารถเขียนและถ่ายทอดบางเรื่องออกมาได้ทุกคน แต่การที่จะได้ประเด็นที่ดี และได้สาระการเรียนรู้ที่ดีนี่ อย่างที่ต้องการไหมนี่ ยังไม่รีบตรงนั้นครับ เอาแค่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ของห้องเรียนและเห็นการแสดงออกที่มีความหมายต่อการเรียนรู้มากกว่าเดิม ก่อนน่ะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท