เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน


คุณครูเกมส์ - สาธิตา รามแก้ว คุณครูเจ้าของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๕ ใคร่ครวญการเติบโตของตัวเองในช่วงเวลาไม่ถึงปี ที่เข้ามาเริ่มต้นชีวิตความเป็นครูที่โรงเรียนเพลินพัฒนา และสะท้อนออกมาในบันทึกชื่อ "เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน" เอาไว้ว่า




จุดเริ่มต้น


ไม่ว่าจะเริ่มต้นทำสิ่งใด ฉันมักจะเริ่มต้นจากตนเองก่อนเสมอ แล้วกระบวนการคิด ก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นการลงมือทำ!! วันหนึ่งเมื่อฉันเลือกอาชีพ "ครู" ให้เป็นบทบาทและหน้าที่ในการงาน เส้นทางการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของฉันได้เริ่มต้นแล้ว

"ครู" ในทัศนะของฉัน คือ "ผู้เป็นแบบอย่าง" หรือ "ผู้ชี้ทาง" ที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการการเป็นครู คือ"การคิดแผนการสอน" ซึ่งนำไปสู่การเกิดการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่ดีนั้น ควรจะเป็นการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ฉันคิดว่า "ครู" ไม่ควรทำหน้าที่ฝึกให้นักเรียนมีทักษะด้านวิชาการเพียงด้านเดียว ขณะเดียวกัน "ครู" ควรฝึกให้นักเรียนมีทักษะด้านการใช้ชีวิตที่ดีด้วย ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้รับทักษะตามที่เราคาดหวัง


คิดและทำแผน!!


ขั้นตอนการเตรียมการสอน รูปแบบและเนื้อหาที่จะเกิดขึ้นไปสู่เด็กๆ นั้น ได้ผ่านการระดมความคิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญด้วยวิธีการต่างๆ โดยมี คุณครูเจน – ญาณิสา ครูคู่วิชา และ คุณครูใหม่ – วิมลศรี ครูผู้เป็นแบบอย่าง หรือ ผู้ชี้ทางให้แก่ใครหลายๆ คน ซึ่งรวมถึงฉันด้วย! ครูใหม่คอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาตลอดเส้นทางการเรียนรู้นี้ และจากความคิดดังกล่าว ทำให้เราได้ร่วมเส้นทางเดียวกันเพื่อสร้างแผนการสอนนี้ขึ้น ฉันนิยามแผนการสอนนี้ให้กับตนเองว่า "แผนแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ"

"แผนแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ" ที่ว่านี้ คือ แผนที่เน้นการเรียนรู้ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยผู้เรียนเอง เราจึงคิดสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน เพื่อทำให้เกิดการอยากรู้ อยากเรียน และเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ โดยรูปแบบของความสนุกสนานนั้นจะแทรกซึมผ่านเนื้อหาที่ได้เรียนรู้

ด้วยเหตุนี้ "ครู" จึงได้บูรณาการเนื้อหาให้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมรอบข้างของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงให้ได้มากที่สุด เช่น เรื่องการคบเพื่อน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฯลฯ และมีการยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริงของครู ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูและเด็กๆ ร่วมกัน บรรยากาศในห้องเรียนมักเต็มไปด้วยความกระหายใคร่อยากเรียนอยากรู้!! ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า "เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน"


เมื่อการสร้างแผนกลายเป็นงานที่สนุก ครูจึงค้นพบ "ความง่าย" ใน "ความยาก"


เมื่อเอ่ยถึง เรื่องของ "หลักภาษาหรือฉันทลักษณ์" ไม่ว่าจะลักษณะใด หลายคนคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ "ยุ่งยาก ซับซ้อน น่าเบื่อและไม่สนุก" เช่นเดียวกันเมื่อเด็กๆต้องสะสมคลังคำให้กับตนเอง "ครู" จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิธีคิดเหล่านี้หายไป โดยการทำเรื่องที่รู้สึก "ยาก" ให้เป็นเรื่องที่ "สนุก"

เริ่มต้นจากภาวะพร้อมเรียน ครูได้นำเด็กๆ เข้าสู่คลังคำประสม ดังนั้น เด็กๆ จะได้คิดคำประสมก่อนเข้าสู่บทเรียนในทุกๆ ครั้ง โดยครูจะเป็นคนเริ่มคิดคำก่อน แล้วให้เด็กๆ ประสมคำด้วยตนเอง ยกตัวอย่าง คือ ครูเริ่มต้นด้วยการให้คำว่า"แม่" ในครั้งแรก เด็กๆ จะต้องคิดหาคำอื่นๆ มาต่อท้ายคำ เช่น แม่พระ แม่ธรณี แม่บ้าน แม่กุญแจ แม่คงคา แม่น้ำ ฯลฯ ต่อมาการประสมคำว่า "น้ำ" เช่น น้ำนม น้ำพุ น้ำย่อย น้ำมนต์ น้ำใส น้ำใจ ฯลฯ

เมื่อเด็กๆ สามารถเชื่อมโยงไปสู่คำว่า "น้ำใจ" นั้น ครูชวนเด็กๆ คิดใคร่ครวญคำๆ นี้ โดยให้เด็กได้ทบทวนตนเองและบุคคลในครอบครัวของตนเองถึงการแสดงออกใดบ้าง ที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่ดีต่อกัน ตลอดการประสมคำครั้งสุดท้ายคือ การประสมคำที่"ขึ้นต้น" ด้วยคำว่าใจ หรือ คำที่ "ลงท้าย" ด้วยคำว่าใจ และคำว่า "ใจ" ที่สามารถวาง "สลับที่" กันได้ โดยการประสมคำแต่ละครั้ง ครูจะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามวันเกิดของตนเอง หรือให้นักเรียนนับจำนวนเลข และแบ่งกลุ่มออกเป็น ๓ กลุ่ม หรือแบ่งกลุ่มตามหมู่สีแดงชาด ฯลฯ (วิธีการเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขที่สร้างร่วมกันระหว่างครูและเด็ก)

ในขณะเดียวกันตลอดการทำกิจกรรม ครูจะคอยเน้นย้ำกับนักเรียนอยู่เสมอว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อสะท้อนให้เราได้มองเห็นและรู้จักตนเอง และเพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับความรู้สึกนึกคิดการพึ่งพาอาศัย การทำงาน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ร่วมกันในบรรยากาศที่ไม่เพียงแต่ครูเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางทำให้เราทุกคนต่างได้มีโอกาสซึมซับวิธีคิดที่ดีเหล่านี้ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งวิธีคิดที่เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นนั้น ไม่เพียงแต่สะท้อนตัวตนของเด็กๆ เอง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนของแต่ละครอบครัวด้วย

หลังจากนั้นครูจึงเชื่อมโยงเรื่องดีๆเหล่านี้ไปสู่การให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องของการเขียนย่อหน้า และการแต่งโคลงสี่สุภาพ เรื่อง "คำพ่อแม่สอน" ดังตัวอย่างของเด็กหญิงมัชฌิมา เตชสิทธิ์สืบพงษ์ (นะโม)


ตัวอย่างการเขียนย่อหน้า


"พ่อแม่สอนเรื่องการคบคน แม่บอกให้คบเพื่อนดี พากันทำสิ่งดี แนะนำกันในทางที่ถูกต้อง แต่คนไม่ดีก็คุยได้ช่วยได้ ให้สงสารเขา อย่าเมินเขา และแม่ก็ให้คบเพื่อนมากๆ ปรับตัวกับสังคมได้ง่าย แต่ก็ห้ามติดเพื่อนมากเกินไป ให้คิดว่า "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล "

ตัวอย่างการแปลงข้อความร้อยแก้วที่เขียนให้เป็นโคลงสี่สุภาพ

พ่อแม่นั้นสั่งสอน นานา

เรื่องเพื่อนพ้องนั้นหนา เลือกคบ

เพื่อนดีคบกันมา มีสุข

คนไม่ดีถ้าพบ ให้สงสารกัน


จากนั้นครูให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการสรุป ว่าจากการที่ได้ฟังเรื่อง "คำพ่อแม่สอน" ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้ ความคิดอะไรใหม่ๆ บ้าง นักเรียนห้อง ๕/๔ สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า "คำสอนของพ่อแม่" ทำให้รู้ว่าเพื่อนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน และถ้าเรารู้นิสัยของเพื่อน ก็จะเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกันได้"


การเรียนรู้ที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง


- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน

เนื่องจากแผนการสอนที่ผสมผสานระหว่างความรู้และความสนุกสนานควบคู่กัน บรรยากาศของห้องเรียนจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกท้าทาย นักเรียนมีความพยายามคิด ค้นคว้า หาคำตอบคำด้วยตนเองและรู้สึกสนุกกับการคิดคำประสม นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอความคิดใหม่ เช่น ทุกครั้งที่การเรียนการสอนเสร็จสิ้น จะมีการการสรุปการเรียนรู้ด้วยการเขียนบรรยายสั้นๆ แต่ครั้งนี้นักเรียนมีการร้องขออยากสรุปการเรียนรู้เป็นโคลงสี่สุภาพ และถึงแม้ว่าคาบเรียนในครั้งนั้นได้จบลงไปแล้ว แต่ความสนุกสนาน ตลอดจนภาพบรรยากาศ และความประทับใจที่เกิดขึ้น ยังคงมีการหยิบยกมากล่าวให้ได้หวนคิดถึงอยู่เสมอ ๆ


- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู

ในฐานะของฉันที่ทำหน้าที่ "ครู" สิ่งที่เรียกว่า "ความสำเร็จ" นั้น นอกจากการนำนักเรียนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้แล้ว "การสร้างแผนการสอน" ที่เอื้ออำนวยให้บรรยากาศในห้องเรียนมีทั้งความสนุกสนานและความรู้ควบคู่กันไปนั้น นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากคิด อยากเขียน อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้นี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ฉันสังเกตตนเองนับตั้งแต่วันแรกของการเป็น "ครู" ทำให้รู้ว่า หากเรามีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาในการสอนที่ดีในทุกครั้ง การเรียนรู้แต่ละครั้งจะเป็นไปด้วยความราบรื่น น่าประทับใจ และหากแผนที่เราสร้างนั้นเป็นแผนที่เน้นให้มีแรงบันดาลใจผสมผสานอยู่ด้วยอย่างสร้างสรรค์ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดด้วยแล้ว ไม่เพียงแต่ตัวเด็กจะได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์แล้ว ตัวครูก็ยังได้รับความรู้สึกอิ่มเต็มกับเส้นทางแห่งการเรียนรู้นี้ไปด้วย



คุณครูเกมส์ – สาธิตา รามแก้ว บันทึก

หมายเลขบันทึก: 588954เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2015 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2015 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้น่าสนใจครับ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท